‘วัฒนธรรมองค์กร’ คือปัจจัยที่สำคัญที่สุดในการทำธุรกิจที่เหนือกว่าเงินหมุน และกลยุทธ์เฉือนคมคู่แข่งต่างๆ
เพราะต่อให้เจ้าของบริษัทเก่งแค่ไหน มีเงินเยอะเท่าไร เจ้าของคนเดียวก็ไม่สามารถทำทุกอย่างด้วยตัวเองได้ เพราะฉะนั้นพนักงานคือตัววัดว่าบริษัทเราจะไปได้ไกลแค่ไหน และสิ่งที่จะช่วยผลักดันพนักงานได้ดีที่สุดก็คือ ‘วัฒนธรรมองค์กร’
วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร?
วัฒนธรรมองค์กรหมายถึง ค่านิยม ทัศนคติ มาตรฐาน และ ความเชื่อที่ทุกคนในบริษัทมีร่วมกัน วัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่สร้างเป้าหมายขององค์กร เป็นตัวกำหนดกลยุทธ์ และวิธีที่ทุกคนในบริษัททำงาน การสร้างวัฒนธรรมองค์กรคือหัวใจสำหรับความสำเร็จขององค์กร
สิ่งที่มักมาคู่กับวัฒนธรรมองค์กรก็คือจริยธรรมขององค์กร (corporate ethics) ซึ่งเป็นส่วนประกอบของค่านิยมองค์กร และภาพลักษณ์ขององค์กร (corporate image) เช่นภาพลักษณ์ที่คนนอกมีต่อวัฒนธรรมขององค์กรเป็นต้น (สามารถอ่านเพิ่มได้ที่นี่ แบรนด์คืออะไร และ จริยธรรมทางธุรกิจที่ดี)
ทุกคนคงทราบดีว่า วัฒนธรรมองค์กรของแต่บริษัทไม่เหมือนกัน และนี่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ระบบการทำงานและทัศนคติของพนักงานแต่ละที่ไม่เหมือนกัน การนิยามวัฒธรรมองค์กรสามารถทำได้ด้วยการตอบคำถามดังนี้
- สิบคำที่ใช้ในการอธิบายองค์กรนี้คืออะไร
- อะไรสำคัญที่สุดในบริษัทนี้
- คนแบบไหนถึงจะได้เลื่อนตำแหน่งในบริษัท
- พฤติกรรมแบบไหนถึงจะได้รับรางวัลในบริษัทนี้
- ใครเหมาะและใครไม่เหมาะในบริษัทนี้
ทุกองค์กรมีวัฒนธรรมเป็นของตัวเองทั้งนั้น อย่างไรก็ตามไม่ใช่ทุกบริษัทที่จะรับรู้ถึงวัฒนธรรมของตัวเอง และไม่ใช่ทุกวัฒนธรรมที่จะมีประโยนช์ต่อบริษัท บางบริษัทอาจจะมีวัฒนธรรมที่ผู้บริหาร ‘นิยาม’ ขึ้นมา แต่วัฒนธรรมการทำงานจริงๆของพนักงานกลับไม่เหมือนคำนิยามพวกนั้น
วัฒนธรรมองค์กรมีผลกับประสิทธิภาพการทำงานยังไง
หากเราสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี องค์กรของเราก็จะพัฒนาไปในทิศทางที่ดีมากขี้น
เหตุผลแรกคือ พนักงานปัจจุบันของเราก็จะมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนมากขึ้น เวลาพนักงานมีคำถามที่ไม่เข้าใจหรือมีการโต้แย้งกันระหว่างสองแผนกเพราะผลประโยชน์ขัดแย้งกัน พนักงานก็จะสามารถกลับมาดูคุณค่าขององค์กรเพื่อที่จะตัดสินใจร่วมกันได้ว่าตัวเลือกที่ดีที่สุดคืออะไร โดยที่เจ้าของบริษัทหรือหัวหน้าไม่ต้องเข้ามาแทรกแซงเลย
และหนึ่งในวิธีการทำให้ทิศทางของพนักงานของพนักงานและทิศทางขององค์กรไปได้ตรงกันมากที่สุดก็คือการผลักดัน KPI ขององค์กรให้เหมาะสมกับเป้าหมายและวัฒนธรรมองค์กร สามารถอ่านเพิ่มเติมที่บทความนี้ Key Performance Indicators หรือ KPI คืออะไร? ใช้ยังไงไม่ให้คนเบื่อ
นอกจากนั้นแล้ววัฒนธรรมองค์กรยังช่วยในการ ‘ดึงดูด’ คนที่เราต้องการได้อีกด้วย หากวัฒนธรรมขององค์กรเป็นไปตามที่เรากำหนดไว้ พนักงานในองค์กรของเราก็จะรู้ได้ทันทีว่าคนแบบไหมเหมาะที่จะแนะนำหรือรับเข้ามาทำในบริษัท คนแบบไหนน่าจะประสบความสำเร็จได้ในบริษัท และคนแบบไหนที่ควรหลีกเลี่ยง
หากเรารับพนักงานที่ไม่เหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรเข้ามา บริษัทก็จะ ‘มีความเสี่ยง’ มากขึ้น เพราะพลังงานลบจะสามารถแพร่กระจายในบริษัทได้ง่าย
ผมจะขอยกหนึ่งตัวอย่างของวัฒนธรรมที่มีผลต่อระบบการทำงานนะครับ กิจการที่บ้านของผมรับพนักงานอิสลามเข้ามาเยอะ คาดว่าเมื่อหลายสิบปีที่ผ่านมาพนักงานกลุ่มหนึ่งได้ทำการแนะนำเพื่อนหรือครอบครัวเข้ามา ทำให้เวลามีวันหยุดอิสลามพนักงานในบริษัทก็จะลาพักกันเยอะมาก จนพนักงานมาขอให้ทำเป็นวันหยุดบริษัทไปเลยจะได้ไม่กระทบต่อการทำงานรวม
เราจะเห็นได้ว่าบางครั้ง ‘พนักงานส่วนมาก’ จะเป็นคนกำหนดวิธีการทำงานโดยรวมของบริษัท และ ‘พนักงานส่วนมาก’ นี้ก็สามารถเข้ามาได้หลายช่องทาง แต่ช่องทางที่เกิดขึ้นบ่อยที่สุดคือตามคำเชิญชวน (referral) หรือตามภูมิภาค (geographical)
ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทไทยเราไปเปิดสาขาที่ประเทศญี่ปุ่น เราก็ต้องรับคนญี่ปุ่นเข้ามาทำงาน และระบบการทำงานของเราก็จะมีกลิ่นอายวัฒนธรรมของคนญี่ปุ่นมากขึ้นเป็นต้น
หากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหารองค์กร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมตั้งใจทำมาก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ
ตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
วัฒนธรรมองค์กรของบริษัท Google (หรือที่เปลี่ยนใหม่เป็นชื่อ Alphabet เมื่อปี 2015) เป็นหนึ่งในตัวอย่างที่คนศึกษากันมากที่สุด คนรู้จัก Google ในบริษัทที่เป็นมิตรต่อพนักงานและให้อิสระกับพนักงานเยอะ นอกจากนั้นแล้ว Google ยังมีสวัสดีการแปลกๆเช่นการให้พนักงานทำงานจากบ้าน ให้พนักงานสามารถเบิกค่าเรียนนอกสถานที่ได้ ให้อาหารกลางวันฟรี หรือมีหมอไว้ประจำบริษัทเป็นต้น
นอกจากนั้นแล้วที่สำนักงานหลักของบริษัท Google ยังมีบริการพิเศษอีกด้วย เช่นบริการล้างรถ บริการนวด บริการทำผมเป็นต้น
การให้สวัสดีการที่ไม่เหมือนใครแบบนี้ทำให้คนมอง Google ว่าเป็นตัวอย่างของการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีที่สุด แน่นอนว่าหลายคนก็อยากจะเข้ามาทำงานกับ Google ในหนึ่งปีมีคนสมัครงานกับ Google เป็นหลักล้านคนเลย
อีกกรณีการศึกษาวัฒนธรรมองค์กรที่พูดถึงบ่อยใน MBA ก็คือวัฒนธรรมของทหาร (military) หากเรามองทหารว่าเป็นองค์กรอย่างหนึ่ง เราจะเห็นได้ว่าองค์กรนี้อาศัยความเชื่อใจและความเคารพผู้นำในตำแหน่งสูงเป็นอย่างมาก สาเหตุก็เพราะในสนามรบ หากผู้นำไม่สามารถทำให้ลูกน้องเชื่อใจได้ หรือหากลูกน้องดื้อไม่เชื่อใจผู้นำ สิ่งที่ตามมาคืออาจจะมีคนตายครับ
สำหรับประเทศไทยนั้นองค์กรอย่าง ปตท. ก็ได้รับความชื่นชมจากคนนอกว่าเป็นองค์กรที่มีความ ‘มั่นคง’ ปตทให้สวัสดิการและสิทธิประโยชน์สำหรับบุคคลในครอบครัวพนักงาน เช่น การรักษาพยาบาล ทุนการศึกษา เป็นต้น
แนวคิดวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
วัฒนธรรมองค์กรที่ ‘ถูกสร้าง’ มาควรจะมีความเหมาะสมกับอุดมการณ์และค่านิยมของบริษัท ยิ่งในยุคสมัยที่พนักงานสามารถสื่อสารกันได้รวดเร็วผ่านช่องทางโซเชียลมีเดียและช่องทางออนไลน์ต่างๆ หน้าที่ของบริษัทที่ต้องสนับสนุนวัฒนธรรมองค์กรที่ดียิ่งมีมากขึ้น
มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดได้อธิบายไว้ว่าคุณสมบัติของวัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีอยู่หกอย่างด้วยกัน
- วิสัยทัศน์ (Vision) – ตั้งแต่การตั้งพันธกิจของบริษัท (mission) ไปถึงการสร้างตัวตนของบริษัท ยกตัวอย่างเช่นวิสัยทัศน์ของ Google ก็คือ ‘อย่าเป็นคนไม่ดี’ (don’t be evil)
- คุณค่า (Values) – คือการสร้างวัฒธรรมองค์กรให้มีคุณค่าเหมาะสมกับทิศทางของบริษัท คุณค่าที่ดีจะปรับมุมมองและการทำงานของพนักงานทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว
- การปฏิบัติ (Practices) – เป็นการสร้างให้วัฒธรรมองค์กรออกมาเป็นอะไรที่พนักงานสามารถจับต้องได้ ยกตัวอย่างเช่นข้อบังคับทางจริยธรรม หรือ คู่มือการทำงานเป็นต้น
- ผู้คน (People) – คือคนในบริษัท อาจจะเป็นวิธีที่บริษัทดูแลพนักงานหรือวิธีที่บริษัทใช้ในการหาพนักงานใหม่เป็นต้น บางคนบอกว่าพนักงานก็คือวัฒธรรมขององค์กรเลย
- การเล่าเรื่อง (Narrative) – การเล่าเรื่องหรือการสื่อสารก็เป็นส่วนสำคัญของการสร้างองค์กร องค์กรหลายแห่งเน้นเรื่องวัฒนธรรมที่มีรากฐานจากผู้ก่อตั้งและก็ได้สืบทอดวัฒนธรรมนั้นมาเป็นเวลาหลายสิบปีเป็นต้น
- สถานที่ (Place) – รวมถึงตำแหน่งและการออกแบบตึกทำงานภายในกับภายนอกด้วย สิ่งพวกนี้จะเป็นตัวบอกว่าพนักงานที่ทำงานกับเรามีนัสัยยังไง และ บริษัทของเราทำงานแบบไหน ยกตัวอย่างเช่นบริษัทเทคโนโลยีต่างๆจะชอบใส่อุปกรณ์ไอทีเข้าไปในออฟฟิศเยอะๆเพื่อให้เหมาะกับพนักงานที่มีความเชี่ยวชาญด้านไอทีมากกว่า หรือบริษัทที่เน้นเรื่องการออกแบบก็จะตกแต่งออฟฟิศให้มีความสวยงามดูมีศิลปะมากขึ้นเป็นต้น
เราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีได้อย่างไร
ผมอธิบายเรื่องหกแนวคิดในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีไปแล้ว ในส่วนนี้เรามาลองดูวิธีสร้างวัฒนธรรมที่จับต้องได้กันครับ
สิ่งแรกก็คือ ผู้บริหารและเจ้าของบริษัท พนักงานมองผู้บริหารเป็นตัวอย่างอันดับหนึ่งเสมอ หากผู้บริหารสามารถทำให้พนักงานเห็นได้ว่า ผู้บริหารเชื่อมั่นและจริงจังในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี โอกาสที่พนักงานจะทำตามก็มีมากขึ้น
ตัวอย่างง่ายที่สุดก็คือการที่เจ้าของบริษัทเข้าออกงานตรงเวลา พนักงานส่วนมากหากรู้ว่าเจ้าของเข้างานตรงเวลาก็จะมีโอกาสเข้างานสายน้อยลง หรือหากพนักงานเห็นเจ้าของบริษัททำงานดึกก็จะเกรงใจไม่กล้ากลับบ้านทั้งๆที่หมดเวลาทำงานแล้ว
ต่อมาก็คือการสื่อสาร ในบางครั้งไอเดียและการกระทำอาจจะไม่พอ เราต้องหาวิธีสื่อสารที่ดีด้วย โดยรวมแล้วยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่ ยิ่งมีปัญหาด้านการสื่อสาร องค์กรขนาดเล็กสามารถสื่อสารข้อมูลได้ละเอียดกว่ามาก หากเรามีทีมเล็กทีมน้อยในบริษัทหรือบริษัทมีหลายแผนกที่ไม่ได้ทำงานร่วมกันบ่อยๆ เราต้องทำความเข้าใจว่าหัวหน้าของแต่ละแผนกมีหน้าที่ที่จะช่วยสื่อสารและพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรด้วย
สิ่งสุดท้ายคือการฝึกพนักงาน บริษัทส่วนมากจะแบ่งเวลามาส่วนหนึ่งเพื่อพัฒนาส่วนวัฒนธรรมองค์กร เช่นการทำ business outing หรือกินเลี้ยง team dinner เป็นต้น อย่างไรก็ตามหากเราต้องการพัฒนาวัฒนธรรมองค์กรอย่างมีระบบจริงๆ เราก็ควรรวมการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเข้าไปในระบบการจ้างพนักงาน ระบบการอบรมพนักงาน และ ระบบการเลื่อนขั้นพนักงานด้วย
วัฒนธรรมเด่นและวัฒนธรรมย่อย
วัฒนธรรมองค์กรนั้นมีหลากหลาย แต่ตัวอย่างที่ดีที่สุดน่าจะเป็นมหาวิทยาลัยครับ หากเราดูมหาวัทยาลัยในประเทศไทย เราอาจจะเห็นได้ว่า ‘ประเภทของนักศึกษา’ ในแต่ละมหาลัยจะมีความคล้ายกันอยู่เยอะ เด็กที่เหมือนกันก็จะมารวมกลุ่มกันได้ง่าย
ยกตัวอย่างเช่น มหาลัยA มีเด็กรวยมากกว่า หรือมหาลัยBเป็นเด็กจากจังหวัดนี้เยอะ มุมมองความคิดร่วมของนักศึกษาในแต่ละมหาลัยอาจจะเรียกได้ว่าเป็น วัฒนธรรมเด่น (dominant culture) อย่างหนึ่ง
แต่ว่าในแต่ละมหาลัยก็อาจจะมี ‘คณะ’ ที่ไม่เหมือนกัน แต่ละคณะอาจจะมีความชอบหรือพฤติกรรมที่ไม่เหมือนคณะอื่นเช่น คณะนี้เก่งเลข คณะนี้เก่งภาษาอังกฤษ คณะนี้ชอบทำกิจกรรม เป็นต้น ความชอบของคณะกลุ่มย่อยนี้เราเรียกได้ว่าเป็น วัฒนธรรมย่อย (sub-culture)
ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่ก็ยิ่งยากที่จะทำให้วัฒนธรรมเหมือนกันทั้งองค์กร ซึ่งบริษัทส่วนมากจะลดปัญหานี้ด้วยการสร้างวัฒนธรรมเด่นให้เป็นอย่างหนึ่ง (เป็นวัฒนธรรมที่ตรงต่อคุณค่าของบริษัท หรือเป้าหมายของผู้บริหาร)
แต่จะปล่อยให้แต่ละทีมหรือแต่ละแผนกสามารถพัฒนาวัฒนธรรมย่อยที่เหมาะสมของการทำงานแต่ละทีมได้มากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ฝ่ายขายมีการออกนอกบริษัทไปเจอลูกค้าเยอะ เจ้าของบริษัทเลยอนุญาตให้ไม่ต้องเข้าบริษัทบ่อยเป็นต้น
โดยรวมแล้ววัฒนธรรมย่อยทำให้การทำงานของทีมย่อยนั้นมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตราบใดที่วัฒนธรรมนั้นๆไม่ขัดแย้งต่อวัฒนธรรมหลัก องค์กรก็จะได้ประโยชน์ต่อการมีวัฒนธรรมย่อยครับ
วัฒนธรรมองค์กรที่มองเห็นและมองไม่เห็น
สำหรับบางคนวัฒนธรรมองค์กรเป็นสิ่งที่จับต้องได้ง่าย แต่สำหรับบางคนวัฒนธรรมก็เป็นอะไรที่คลุมเคลือเข้าใจยาก นั้นก็เพราะว่ามุมมองต่อวัฒนธรรมองค์กรของแต่ละคนไม่เหมือนกัน
วัฒนธรรมองค์กรสามารถถูกแบ่งเป็นสองส่วนก็คือ ส่วนที่สามารถมองเห็นได้ (visible corporate culture) และ ส่วนที่ไม่สามารถมองเห็นได้ง่าย (invisible corporate culture) ซึ่งเป็นสิ่งที่ถูกฝังลึกไว้ในรากฐานองค์กร
ส่วนที่สามารถมองเห็นได้หมายถึงสิ่งที่พนักงานสามารถมองเห็นหรือได้ยินได้ง่าย เช่นสิ่งก่อสร้างหรือรูปปั้นผู้ก่อตั้งเป็นต้น (เรียกว่า artifacts) หรือไม่ก็เป็นคำพูด คำขวัญที่ได้ยินบ่อยๆ (slogan) มหาลัยในประเทศไทยหลายแห่งแปะป้ายคำขวัญหรือสโลแกนประจำคณะไว้ที่หน้าตึก ซึ่งก็เป็นวิธีรวมทั้ง artifacts และ slogan ไว้ด้วยกัน
วัฒนธรรมองค์กรที่มองไม่เห็น เป็นสิ่งที่พนักงานสามารถรับรู้ได้จากประสบการณ์ทำงานหรือความเข้าใจในระบบขององค์กรเป็นต้น ยกตัวอย่างเช่นความคิดที่ว่า ‘เจ้าของน่าจะชอบแบบนี้’ หรือ ‘ทำแบบนี้ไม่ดีแน่ๆ’ ก็เป็นสัญญาณแรกเลยว่าเรามีวัฒนธรรมที่มองไม่เห็นอยู่
อย่างไรก็ตาม มุมมองเหล่านี้ก็สามารถมาจากความคิดของลูกค้าหรือคนภายนอกด้วยก็ได้ เช่น สินค้าบริษัทนี้มีคุณภาพ หรือ บริการร้านนี้ต้องสะอาดแน่ๆ ถือว่าเป็นภาพลักษณ์อย่างหนึ่ง
ผมหวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้ทุกคนได้ไม่มากก็น้อย สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ