การคิดต้นทุนขาย กําไร และราคาขาย – สูตรคิดต้นทุนสินค้า

การคิดต้นทุนขาย กําไร และราคาขาย - สูตรคิดต้นทุนสินค้า

สำหรับคนที่ค้าขายหรือทำธุรกิจนั้น การคิดต้นทุนขายก็เป็นเรื่องที่สำคัญ หากเราคิดต้นทุนผิดเราก็อาจจะคิดราคาขายผิด ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ทำให้หลายธุรกิจขายขาดทุนกันมาแล้ว

ในบทความนี้เราจะมาดูวิธีคำนวณและคิดต้นทุนขาย เพื่อใช้ในการคำนวณราคาภายหลัง

วิธีคำนวณต้นทุน – สูตรการคิดต้นทุนสินค้า

ในความเป็นจริงแล้ว ธุรกิจซื้อมาขายไป (หรืออาชีพพ่อค้าแม่ค้า) ก็คงคิดว่าการคำนวณต้นทุนเป็นสิ่งที่ไม่ยาก ตรงไปตรงมา เพราะเราซื้อของมาเท่าไร ต้นทุนของเราก็คงจะเท่ากับราคาซื้อ แต่สำหรับบางธุรกิจ เช่นธุรกิจโรงงาน หรือ แม้แต่คนทำขนม ก็อาจจะคิดต่าง

เพราะสำหรับบางธุรกิจ ต้นทุนสินค้าจะมาจากวัตถุดิบหลายๆอย่างที่นำมาใช้ผสมรวมกัน พอเรามีวัตถุดิบหลายๆอย่าง ที่มาในหลายราคา หลายส่วนผสม คนที่ต้องคำนวณต้นทุนวัตถุดิบก็อาจจะงงได้ นอกจากนั้นแล้วก็ยังมีส่วนของต้นทุนค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าไฟ ค่าแรง ค่ารถ ค่าของเสีย ที่ทำให้การคำนวณยากขึ้นไปอีก

โดยรวมแล้ว สูตรของต้นทุนคิดดังนี้ครับ

ต้นทุนรวม = ต้นทุนวัตถุดิบ + ค่าแรง + ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 

ซึ่งก็ไม่ต้องกังวลไป ในส่วนต่อไปเรามาดูวิธีคำนวณต้นทุนในแต่ละแบบกันอย่างละเอียดกันเลยครับ

ต้นทุนแต่ละอย่างมีอะไรบ้างนะ

วัตถุดิบคำนวณอย่างไร

ในกรณีที่เราต้องทำการผสมหรือรวมวัตถุดิบ ให้คำนวณต้นทุนดังนี้

ต้นทุนวัตถุดิบ = ปริมาณที่ใช้ x ราคาที่ซื้อมา / ปริมาณที่ซื้อมา 

ซึ่งปริมาณจะคิดเป็นน้ำหนัก (แป้ง อาหารต่างๆ หรือสารเคมี) จำนวนชิ้น (ไข่ไก่ หรือตะปู) หรือจะคิดเป็นแบบอื่นๆตามที่ใช้งานจริงก็ได้

ยกตัวอย่างเช่น หากเราซื้อแป้งมาในราคาที่ 40 บาท ต่อ 1000g (หนึ่งถุง) และเราใช้ทำขนมแค่ 75g ต้นทุนที่เราได้ใช้จริงก็คือ 75 x 40 / 1000 หรือเท่ากับ 3 บาทนั่นเอง  

แน่นอนว่าในกรณีที่ ‘สูตร’ ของเรามีวัตถุดิบหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นการทำขนม ที่มีแป้ง น้ำตาล ไข่ โกโก้ เราก็ต้อง ‘คำนวณต้นทุนของวัตถุดิบทุกอย่าง’ แล้วนำทุกอย่างมาบวกรวมกันอีกที หากเราเข้าใจหลักการพื้นฐานแล้ว การคำนวณต้นทุนวัตถุดิบไม่ได้เป็นเรื่องยาก แค่ต้องทำหลายรอบตามจำนวณวัตถุดิบก็เลยอาจจะจุกจิกนิดหน่อย

อีกหนึ่งปัญหาของต้นทุนวัตถุดิบของ ‘การผลิตแบบมีสูตร’ ก็คือ สูตรของเราอาจจะใช้ในการผลิตสินค้าหลายชิ้น เช่นทำขนมหนึ่งครั้งอาจจะได้ขนมออกมา 20 ชิ้น ในส่วนนี้เราก็ต้อง นำต้นทุนมาหารต่อจำนวนชิ้น ที่ผลิตออกมาได้ด้วย 

ยกตัวอย่างเช่น สมมุติว่าต้นทุนวัตถุดิบทำขนมของเรารวมกันแล้ว (รวมต้นทุน ไข่ แป้ง น้ำตาล และ ทุกอย่าง)  อยู่ที่ 196 บาท และ สูตรนี้นำขนมออกมาได้ 24 ชิ้น ต้นทุนวัตถุดิบต่อผลผลิตหนึ่งชิ้นก็คือ 196/24 หรือ 8.16 บาท

จริงๆแล้วในทางบัญชี ต้นทุนวัตถุดิบจะสามารถแบ่งได้เป็นต้นทุนวัตุดิบทางตรง (Direct Labour Cost) และ ต้นทุนวัตถุดิบทางอ้อม (Indirect Labour Cost) แต่ในบทความนี้เราจะไม่ดูเรื่องคำศัพท์เทคนิคกัน เราจะดูแค่วิธีคำนวณพื้นฐานเพื่อให้ทุกคนสามารถทำไปใช้คำนวณได้ง่ายๆ

ค่าแรงต่อการผลิตคำนวณอย่างไร

ค่าแรงต่อการผลิตถือว่าเป็นอีกหนึ่งคำถามที่คนคิดบ่อย ปกติแล้วหากเราเป็นบริษัทแล้วมีการจ้างพนักงานเพื่อดูแลกระบวนการผลิตโดยเฉพาะ เช่นการจ้างพนักงานมาเดินเครื่อง เงินเดือนส่วนนี้ก็จะถูกนำมาคิดเป็นต้นทุนการผลิตได้โดยตรง

เช่น เงินเดือนพนักงานสองคนคือ 30,000 บาท และแต่ละเดือนเราผลิตของออกมาได้ 100,000 ชิ้น (ใช้จำนวนเฉลี่ยของหลายๆเดือนจะได้ตัวเลขที่คงที่มากกว่า) ค่าแรงต่อการผลิตครั้งนี้ก็คือ 30,000 บาท / 100,000 ชิ้น ก็คือ 0.3 บาทต่อชิ้น 

ในกรณีที่เราต้องจ้างพนักงานประจำ ให้คำนวณต้นทุนค่าแรงดังนี้

ต้นทุนค่าแรง = ปริมาณที่ผลิต / เงินเดือนพนักงานที่ดูแลด้านการผลิตโดยตรง

ซึ่งหน่วยที่เราจะได้ก็คือ บาทต่อหน่วยสินค้า

ปัญหาที่หลายๆคนเจอก็คือ บางคนทำขนมเอง คำนวณค่าแรงตัวเองไม่ถูก กลัวทำแล้วเหนื่อยไม่คุ้มค่าแรง หรือสำหรับบางธุรกิจที่มีการจ้างพนักงานเข้ามาช่วยแค่บางเวลา (เช่น เข้ามาช่วยส่วนผลิตแค่ 2-3 ชั่วโมงต่อวัน เป็นต้น) ในกรณีนี้เราจะคำนวณต้นทุนค่าแรงอย่างไร

เพื่อที่จะตอบคำถามนี้ สิ่งที่คุณต้องตอบให้ได้ก็คือ ‘เวลาที่ใช้ในกระบวนการผลิต’ หากเป็นการทำขนมคุณก็ต้องลองทำดูก่อนว่า ‘ทำจริงใช้เวลากี่ชั่วโมง’ หรือถ้ามีการจ้างพนักงานมาช่วยบางเวลา เราก็ต้องหาเลขเฉลี่ยให้ได้ว่าแต่ละอาทิตย์หรือแต่ละเดือน ปกติพนักงานให้เวลากับการผลิตมากแค่ไหน (ข้อมูลควรมาจากการเก็บข้อมูลจริงหลายๆเดือน แล้วค่อยนำมาหาค่าเฉลี่ย)

พอได้ตัวเลขชั่วโมงแล้ว หลังจากนั้นก็แค่เป็นการคำนวณค่าแรงต่อชั่วโมงของพนักงานเหล่านั้น เป็น เงินเดือน หารด้วยชั่วโมงทำงานจริงต่อเดือน 

ซึ่งพนักงานเงินเดือนปกติถ้าทำ 8 ชั่วโมงต่อวันก็จะทำงานประมาน 200-210 ชั่วโมงต่อเดือน 

หรือหากคุณจะคำนวณค่าแรงของตัวเอง คุณสามารถเลือกได้ตามข้อแนะนำสองอย่างนี้

#1 คิดตามเงินเดือนที่คุณสามารถจ้างคนอื่นมาทำได้ – หากเป็นงานง่ายๆก็คิดตามเงินเดือนขั้นต่ำ 300-500 บาทต่อวัน หรือหากเป็นงานที่คุณว่าต้องมีทักษะหน่อย ก็ให้ประเมินตามความเหมาะสมครับ เวลาคุณจะจ้างคนมาทำให้แทนในอนาคต ตัวเลขการประเมินนี้จะช่วยคุณได้ภายหลัง 

#2 คิดตามเงินเดือนจริงของคุณ หากคุณไปสมัครงานประจำ – เป็นการคิด ‘ค่าเสียเวลา’ ที่ตรงไปตรงมาที่สุด หากเราเงินเดือน 30,000 เงินเดือนต่อชั่วโมงของเราก็คือประมาน 150 บาท แต่วิธีนี้ก็ไม่ได้เหมาะกับทุกกรณี หากคุณเป็นคนเงินเดือนหลักแสน การเอาเงินเดือนนี้มาคิดต้นทุนการทำขนมก็คงไม่ค่อยคุ้มเท่าไร 

ในส่วนนี้ไม่ได้มีสูตรตายตัวนะครับ ให้คิดตามที่ตัวเองรับได้อีกที หากไม่รู้อะไรจริงๆก็คำนวนตามค่าแรงขั้นต่ำ (ต่ำที่สุดที่คุณคิดว่าน่าจะจ้างได้) ไปก่อนเลยก็ได้ แล้วก็นำตัวเลขนี้มาหารตามจำนวนชั่วโมงที่ทำงานจริงไปก่อน 

โดยรวมแล้ว ตัวเลขต้นทุนที่คนปวดหัวกันก็คือวัตถุดิบกับค่าแรงเนี่ยเหล่ะครับ อย่างไรก็ตามสำหรับคนที่เป็นมือใหม่ในการคิดต้นทุน ผมก็แนะนำให้คำนวณต้นทุนด้านล่างรวมเข้าไปด้วย เวลาเราตั้งราคาสินค้าเราจะได้ไม่ขาดทุนภายหลัง

วิธีคำนวณค่าใช้จ่ายอื่นๆ

ค่าไฟ – ค่าไฟจริงๆแล้วเป็นตัวเลขที่ตรงไปตรงมามาก เราสามารถคิดเป็นค่าไฟต่อชั่วโมง ต่อเครื่องจักร ได้เลยด้วยซ้ำ แต่สำหรับธุรกิจส่วนมาก การคิดง่ายๆอย่าง ‘การนำค่าไฟแต่ละเดือน มาหารต่อจำนวนผลิต’ ก็เป็นทางออกที่ง่ายและใช้ได้ผลจริง 

เช่นเดือนนี้จ่ายค่าไฟไปหมื่นนึง ผลิตของออกมาได้ 30,000 ชิ้น ค่าไฟก็จะอยู่ที่ 100,000/30,000 หรือ 3.33 บาทต่อชิ้น

แต่สำหรับคนที่อยากคิดค่าไฟให้ละเอียดมากขึ้น อาจจะเพราะเปิดโรงงานที่ผลิตหลายอย่าง หรือทำขนมอยู่บ้าน ไม่สามารถแยกมิเตอร์ได้ วิธีคำนวณค่าไฟต่อเครื่องคิดดังนี้ครับ

ค่าไฟ = W จากเครื่อง x จำนวนชั่วโมง x ยูนิทไฟที่บ้าน / 1,000

ซึ่งตัวแปรทั้งสามอย่าง คุณก็ต้องไปเก็บข้อมูลเอาเองครับ

W จากเครื่อง ให้ดูในคู่มือเครื่องใช้ไฟฟ้าหรือดูที่หลังเครื่องก็ได้ 
จำนวนชั่วโมงที่เปิดเครื่อง ให้ลองทำจริงแล้วจับเวลาเฉลี่ยดู คุณต้องทำเพื่อคำนวณต้นทุนค่าแรงอยู่แล้ว
ยูนิทไฟที่บ้าน ดูจากบิลค่าไฟฟ้า หรือจะโทรไปถามที่กรมไฟฟ้าของคุณก็ได้

ซึ่งเราก็ต้องนำต้นทุนค่าไฟฟ้ามาหารตามจำนวนของที่ผลิตหนึ่งครั้งเหมือนกัน เพื่อจะหาต้นทุนต่อชิ้น เช่น เปิดเครื่องหนึ่งชั่วโมงค่าไฟ 50 บาท ผลิตได้ 20 ชิ้น ค่าไฟก็ตกที่ 50/20 หรือ 2.5 บาทต่อชิ้น 

ค่ารถ – หากหารค่าน้ำมันไม่เป็น (คิดจากที่ใช้จริง ตามรถของแต่ละคน) ก็ให้เทียบด้วยการจ้างแทกซี่แทน หรือจะกดเข้า Application Grab เพื่อให้ทาง App คำนวณราคาประเมินให้ก็ได้

ค่าของเสีย – ยกเว้นว่าคุณจะเป็นคนที่เก่งมาก มีกระบวนการที่สมบูรณ์แบบ การผลิตของทุกอย่างก็ต้องมีของเสีย แม้แต่การทำขนมในบ้าน ในตอนแรกให้ประเมินไว้ก่อนว่าทำ 10 ชิ้น อาจจะเสีย 1 ชิ้น หรืออยู่ในอัตรา 10% หมายความว่าหลังจากที่คุณได้ต้นทุนวัตถุดิบแล้วก็ให้เพิ่มเต้นทุนของเสียไปอีก 10% (คูณต้นทุนวัตถุดิบด้วย 1.1)

ค่าของเสียเบื้องต้น = ต้นทุนวัตถุดิบ x (1 + อัตราของเสีย)

โดย อัตราของเสีย = ของเสียที่ผลิตได้ในหนึ่งรอบ / จำนวนของที่ควรผลิตได้ทั้งหมด

ตัวเลขนี้ควรนำมาปรับภายหลัง หากคุณเริ่มทำไปซักพัก (5 ครั้ง 10 ครั้ง) คุณก็จะมั่นใจได้มากขึ้นว่าค่าของเสียกี่เปอร์เซ็นต์กันแน่ นอกจากนั้นแล้วหลังจากที่คุณทำมาได้ครึ่งปี หรือหนึ่งปี คุณอาจจะต้องลองวัดค่าตัวเลขส่วนนี้อีกที เพราะยิ่งคุณทำบ่อย คุณก็ยิ่งเก่ง อัตราของเสียก็จะน้อยลง

อย่างไรก็ตาม อัตราของเสีย จริงๆแล้วครอบคลุมถึงค่าไฟ ค่าแรง ค่ารถ ด้วย แต่ในสูตร ผมถึงได้เรียกว่า ‘ค่าของเสียเบื้องต้น’ เพื่อให้คำนวณง่ายๆคิดจากต้นทุนวัตถุดิบก่อน (ยุ่งยาก และไม่คุ้มเวลาทำสำหรับมือใหม่ที่เริ่มต้น) แต่ถ้าคุณอยากทำบัญชีธุรกิจอย่างจริงจัง คุณก็ต้องคิดให้รอบคอบมากขึ้น

ต้นทุนอื่นๆ – แน่นอนว่าต้นทุนจริงๆแล้วมีอีกเยอะ ตัวอย่างเช่น ค่าบรรจุภัณฑ์ ค่าจ้างพนักงานส่วนการที่เกี่ยวกับการขายโดยตรง (เช่น ผู้จัดการฝ่ายขาย ที่อาจจะไม่ได้ดูแลลูกค้า แต่มีไว้คุมพนักงานฝ่ายขายอีกที) ในส่วนนี้หากคุณสนใจผมแนะนำให้ศึกษาเรื่อง การบัญชีต้นทุน (Cost Accounting) เพิ่มนะครับ

ในเบื้องต้นแล้วการคำนวณต้นทุนก็จบแค่นี้ (ย้ำว่าในเบื้องต้น เพราะถ้าคุณไปคุยกับนักบัญชี คุณก็คงต้องเรียนอีกเยอะ) ในส่วนต่อไปเราจะนำต้นทุนเหล่านี้มาคำนวณเป็นราคาสินค้ากันครับ

การนำต้นทุนไปคิดราคาสินค้า

จริงๆแล้วการตั้งราคาสินค้าทำได้หลายแบบ เราไม่ต้องคิดจากต้นทุนก็ได้ (เช่นตั้งราคาตามคู่แข่ง ตั้งราคาแพงตามที่ลูกค้าสามารถจ่ายได้) แต่สำหรับเจ้าของธุรกิจหลายคนนั้น การนำต้นทุนไปคิดราคาสินค้าก็คือวิธีที่ทำให้เรามั่นใจได้ว่าเรา ‘จะขายอย่างมีกำไร’

ปัญหาเรื่องการตั้งราคาผิดจนขาดทุนเป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อย บางคนขายของต้นทุนสูง แต่ขายในราคาเท่าคู่แข่งราคาถูก (โดนลูกค้าต่อราคาบ่อย) ก็เลยขายขาดทุน ในส่วนนี้หากคุณคำนวณต้นทุนเป็น และคุณมีตัวเลขในใจแล้วว่าคุณไม่สามารถขายต่ำกว่าราคานี้ได้ คุณก็จะสบายไปหนึ่งขึ้นครับ

หลักการนำต้นทุนไปคิดราคาที่เรียบง่ายที่สุดก็คือ ‘การคูณเท่าตัว’ หากต้นทุนของคุณรวมกันทั้งหมดก็คือ 20 บาทต่อชิ้น ราคาขายส่งก็ควรจะอย่างน้อยสองเท่าของราคาผลิต และราคาขายปลีกก็ควรจะเท่าตัวของราคาขายส่ง

การตั้งราคาปลีกและส่งตั้งแต่แรกแบบจะทำให้คุณขายไม่ขาดทุนหากโดนต่อราคา และยังให้โอกาสคุณหายใจด้วยเผื่อคุณต้องเปลี่ยนราคาภายหลัง เพราะในโลกธุรกิจ การปรับราคาให้น้อยลงทำได้ง่ายกว่าการเพิ่มราคาครับ เพราะฉะนั้นการเริ่มที่ราคาสูงไว้ก่อนก็เป็นการให้โอกาสตัวเองภายหลัง

ยกตัวอย่างนะครับ

ต้นทุนผลิต – 20 
ราคาขายส่ง – 40-60 
ราคาขายปลีก – 80-120

แน่นอนว่าคุณก็ต้องนำไปปรับตามความเหมาะสมอีกที ปรับตามคู่แข่งในตลาด หรือตามฐานะของกลุ่มลูกค้าหลักคุณ หรือหากคุณทำการตลาดเยอะ เอาสินค้าไปขายในห้าง (โดนปรับค่า GP) ราคาคุณก็ต้องสูงขึ้นอีก แต่ในทางตรงข้าม ถ้าคุณรับสินค้าเจ้าอื่นมาขาย (เห็นง่ายๆก็พวกน้ำอัดลมโค้ก) คุณก็คงไม่สามารถขายได้ราคาแพงกว่าราคาที่คนผลิตกำหนดมาเท่าไร

คำแนะนำส่วนนี้ไม่ใช่กฎที่ตายตัว ให้นำไปใช้เป็นแนวทาง แล้วปรับตามความเหมาะสมจริงๆอีกที (อิงลูกค้าเราเป็นหลัก)

ข้อเน้นย้ำก็คือ คุณต้องมั่นใจว่าคุณคำนวณต้นทุนของตัวเองถูก หากยังไม่มั่นใจก็ลองกลับไปอ่านส่วนที่แล้วใหม่ หรือจะจัดเตรียมข้อมูลเบื้องต้นแล้วไปจ้างคนทำให้ก็ได้ครับ

กำไรจากการขายหนึ่งครั้ง

ก่อนอื่นเลยเรามาดูสูตรคำนวณกำไรกันก่อน

กำไร = รายได้ – ต้นทุน 

หรือถ้าคุณขายแค่หนึ่งชิ้น 

กำไร = ราคาขาย – ต้นทุนต่อหน่วย

โดยเบื้องต้นแล้ว กำไรเป็นสิ่งที่คำนวณไม่ยาก หากคุณคำนวณต้นทุนเป็น คุณก็หากำไรได้แล้ว ส่วนมากพวกที่ทำแล้วคิดกำไรไม่ได้ก็เพราะขายสินค้าหลายอย่าง หรือมีวัตถุดิบเยอะ ธุรกิจพวกนี้ถ้าเราเก็บข้อมูลบัญชีไม่ละเอียด เราก็จะมึนตัวเลข พลาดเรื่องคำนวณง่ายๆ

ในส่วนนี้ผมจะขอแนะนำแค่สองอย่าง ก็คือเรื่องของ เงินลงทุนเบื้องต้น และ การคืนทุน หากคุณทำธุรกิจซื้อมาขายไป คุณก็คงมีต้นทุนเรื่องการซื้อของใช่ไหมครับ แต่ต้นทุนพวกการตกแต่งร้าน การซื้อที่ เราจะคิดด้วยหรือเปล่า? และถ้าเราทำขนมขาย เราต้องคิดค่าเครื่องอบขนมด้วยไหม?

ลงทุนอะไรไปบ้าง – ยกเว้นว่าธุรกิจคุณจะไม่มีการลงทุนอะไรเลย คุณก็ต้องห้ามลืมค่าที่ดิน ค่าตกแต่งร้าน หรือแม้แต่ค่าเรียนทำขนม 

อยากคืนทุนกี่ปี – ให้พิจารณากำไรจากการขายทั้งหมดต่อเดือน เพื่อดูว่าเราต้องขายกี่เดือนกว่าจะคืนทุนที่เราลงไปก่อนหน้านี้ (หากคุณเริ่มธุรกิจใหม่ ยังไม่มีข้อมูลรายได้ย้อนหลัง ก็ให้ลองขายไปก่อน 2-3 เดือน แล้วค่อยกลับมาพิจารณาใหม่)

ในเรื่องจุดคืนทุนสามารถอ่านบทความของผมได้ที่ Breakeven Point คำนวณยังไง บทความนี้จะลงข้อมูลไว้ละเอียดมากกว่าครับ

ข้อแนะนำนะครับ หากเป็นสิ่งที่คุณมีอยู่แล้ว (พ่อแม่ให้มานานแล้ว) เราไม่ต้องคิดไปในต้นทุนก็ได้ เช่น หากบ้านคุณมีเครื่องอบขนมอยู่แล้ว ส่วนนี้ก็ถือว่าเป็น ‘ข้อได้เปรียบ’ ของเราที่ทำให้เราตั้งราคาได้ต่ำกว่าคนอื่น แต่ถ้าคุณต้องเก็บเงินซื้อที่ดิน หรือเก็บเงินซื้อเครื่องจักรเพิ่ม ส่วนนี้ก็ควรถูกนำไปคำนวณเป็นค่าใช้จ่ายตอนเริ่มต้นด้วย 

หรือถ้าคุณต้องซื้อเครื่องทำขนมใหม่ (ทำบ่อยจนเครื่องเก่าเสีย หรือขยายร้าน) ส่วนนี้ก็ต้องนำไปคิดเพิ่มเป็นค่าใช้จ่าย 

ผมหวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้ทุกคนได้ไม่มากก็น้อย หากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหาร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมตั้งใจทำมาก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

และสำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด