เหมือนกับว่ายุคสมัยเปลี่ยนไปแล้ว ในสมัยก่อน ‘การสร้างกำไร’ ก็เหมือนจะเป็นสิ่งเดียวที่เจ้าของธุรกิจต้องคิดถึง แต่ในปัจจุบันที่ทุกคนสามารถเข้าถึงและมองเห็นปัญหารอบตัวได้อย่างชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาทางสังคมและสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการทำธุรกิจ หลายองค์กรก็เริ่มมีการผลักดันด้านการทำกิจกรรมเพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม
ในบทความนี้เรามาดูกันว่า Corporate Social Responsibility หรือ CSR นั้นแปลว่าอะไรกัน มีความสำคัญอย่างไรกับองค์กรและเศรษฐกิจ กลยุทธ์ต่างๆของ CSR ที่ธุรกิจใช้กันนั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง
Table of Contents
Corporate Social Responsibility (CSR) คืออะไร
Corporate Social Responsibility (CSR) หมายถึงความรับผิดชอบต่อสังคม คือการดำเนินการธุรกิจเพื่อให้องค์กรสามารถทำเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม CSR สามารถมาในรูปแบบของการจัดการธุรกิจเชิงกลยุทธ์ การกุศล การสนับสนุนองค์กรอื่น หรือการทำเพื่อสังคม โดยเป้าหมายสูงสุดคือการสร้างสังคมที่ยั่งยืน
ธุรกิจในระบบทุนนิยมส่วนมากจะถูกเข้าใจว่า ‘ทำทุกอย่างเพื่อกำไร’ จนไม่สนใจผลลัพธ์ของการทำธุรกิจต่อสังคมและสภาพแวดล้อม อาจจะเป็นการใช้พลาสติกมากเกินไป การขายสินค้ากดราคาขององค์กรขนาดใหญ่จนทำให้ร้านทั่วไปต้องปิดตัว หรือการนำทรัพยากรธรรมชาติมาใช้มากเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
และยิ่งเป็นธุรกิจที่มีขนาดใหญ่ ‘ผลเสีย’ ของการกระทำพวกนี้ก็จะมีเยอะมากขึ้น
ในทางตรงกันข้าม เวลาพูดถึงการทำ CSR ขององค์กร หลายคนอาจจะคิดถึงการออกไปบริจาคขอให้คนยากจน ให้โรงเรียนต่างๆ หรืออาจจะคิดถึงองค์กรใหญ่ๆที่เปลี่ยนมาใช้กระดาษแทนพลาสติกเพื่อลดปัญหาโลกร้อน แต่จริงๆแล้ว CSR เป็นไปได้มากกว่านั้น
สรุปก็คือ CSR หรือการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม ควรประกอบด้วยกิจกรรมที่องค์กรทำมาเพื่อช่วยเหลือหรือ หรือตอบแทนสังคม เพื่อให้องค์กร พนักงาน และสังคมภายนอก สามารถอยู่ร่วมกันได้ และเป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจให้กับพนักงานอย่างหนึ่ง
CSR มีความสำคัญอย่างไร
Corporate Social Responsibility (CSR) มีความสำคัญเพราะองค์กรไม่สามารถประกอบการได้หากไม่มีสังคมหรือสิ่งแวดล้อมเอื้ออำนวย แรงจูงใจของการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมก็คือการรักษาสังคมและรักษาสิ่งแวดล้อมเพื่อให้องค์กรสามารถทำงานต่อไปได้ในระยะยาว แม้จะเสียกำไรในระยะสั้น
ยกตัวอย่างเช่น องค์กรอยากจะใช้สินค้าพลาสติกที่มีต้นทุนน้อย แต่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมเยอะใน 50-100 ปีข้างหน้า หรือองค์กรอยากจะเปลี่ยนมาใช้พลาสติกให้น้อยลง เพื่อรักษาสิ่งแวดล้อมไว้ เพื่อให้ยังมีโลกอยู่ให้ทำธุรกิจต่อไป
ถึงแม้ว่าจะไม่ได้มีมาตรการบังคับทางกฎหมาย แต่องค์กรส่วนมากก็อยากให้ความสำคัญเรื่องความรับผิดชอบทางสังคม ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลเพราะองค์กรอยากทำดีด้วยตัวเอง ทำดีเพราะอยากกระตุ้นพนักงาน หรือทำดีเพราะอยากให้ลูกค้าประทับใจ
การที่ลูกค้าสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ง่ายขึ้น แปลว่าทั้งลูกค้าก็จะรับรู้ถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับสังคมและสิ่งแวดล้อมได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
โดยเฉพาะอย่างยิ่งปัญหาที่เกิดขึ้นที่เป็นผลกระทบจากการกระทำขององค์กร ในกรณีนี้ลูกค้าส่วนมากก็เริ่มมีความคาดหวังให้องค์กรรับผิดชอบต่อสังคมมากขึ้น หลายคนเลือกหาเฉพาะสินค้าจากองค์กรที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคมด้วยซ้ำ
ในเชิงของธุรกิจนั้น หากการแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม แปลว่าองค์กรสามารถดึงดูดลูกค้าที่ชอบสินค้าที่รับผิดชอบต่อสังคมได้ ก็เท่ากับว่าองค์กรจะสามารถเรียบเรียงความต้องการของลูกค้าและการกระทำขององค์กรให้ตรงกันได้
ซึ่งก็นับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดีอย่างหนึ่ง (หากเราขายสินค้ารักโลก ลูกค้าที่อยากช่วยสิ่งแวดล้อมก็จะเข้าหาเรา เป็นการตลาดที่ตรงไปตรงมาที่สุด)
ความรับผิดชอบสังคมเพื่อสิ่งแวดล้อมเป็นแค่ตัวอย่างที่เราเห็นได้บ่อยในสังคมปัจจุบันนี้ แต่จริงๆแล้วกิจกรรมเพื่อสังคมมีอีกหลายอย่างมากมาย ไว้ผมจะมาอธิบายในส่วนท้ายของบทความนี้นะครับ
หากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหารองค์กร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมตั้งใจทำมาก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ
กลยุทธ์ CSR – ประโยชน์ของ CSR สำหรับธุรกิจ
การทำเพื่อสังคมเป็น ‘เป้าหมาย’ ขององค์กร แต่เป้าหมายก็ไม่ได้อธิบายถึงวิธีการจัดการทำและประโยชน์ต่างๆของการทำเพื่อสังคม ในส่วนนี้เรามาลองดูกันว่ากลยุทธ์ CSR มีอะไรบ้าง และแต่ละกลยุทธ์ทำเพื่ออะไรกัน
ภาพลักษณ์ในสังคม – ภาพลักษณ์เป็นประโยชน์ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดแต่ก็ควรเป็นสิ่งที่องค์กรคิดถึงหลังสุดเวลาทำกิจกรรมเพื่อสังคม ลูกค้าส่วนมากตัดสินบริษัทจากสิ่งที่ลูกค้าเห็น เช่นภาพพนักงานบริษัทกำลังช่วยเหลือสังคม หรือสื่อที่เจ้าของธุรกิจบริจาคเงินให้กับโรงเรียนยากจน
องค์กรที่แสดงให้ลูกค้าเห็นว่าชอบช่วยเหลือคนอื่นก็มักที่จะเป็นองค์กรที่ลูกค้าชอบ อย่างไรก็ตามกิจกรรมเพื่อสร้างภาพลักษณ์อย่างเดียวนั้นอาจจะแสดงออกถึงความไม่จริงใจ ซึ่งทำให้เห็นผลตรงข้าม
สร้างแบรนด์ – กิจกรรมสร้างภาพลักษณ์ที่ถูกทำอย่างต่อเนื่อง และมีความเกี่ยวข้องกับวิสัยทัศน์ทางธุรกิจ ก็จะทำให้เกิดแบรนด์ที่ดี แบรนด์ที่ถูกสร้างขึ้นผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมก็มักที่จะเป็นแบรนด์ที่มีความแตกต่างและสามารถมัดใจลูกค้าได้ในระยะยาว เพราะสามารถทำให้ลูกค้าเชื่อได้ว่าเป็นองค์กรที่มีความรับผิดชอบ มีความจริงใจ
ในส่วนนี้หากใครสนใจ ผมแนะนำให้ศึกษาบทความนี้เพิ่ม วิธีสร้างแบรนด์ที่ใช้ได้จริง (Branding)
ลดค่าใช้จ่าย – กลยุทธ์ CSR ที่ดีนั้นควรจะสร้างผลประโยชน์ให้กับองค์กรทั้งในระยะสั้น แล้วก็รักษาสังคมหรือสภาพแวดล้อมในระยะยาวได้ด้วย ยกตัวอย่างเช่น การลดการใช้พลาสติกในกระบวนการที่ไม่จำเป็น อย่างการห่อสินค้ามากเกินไปเป็นต้น ในส่วนนี้นอกจากบริษัทจะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายของบรรจุภัณฑ์แล้วยังเป็นการทำเพื่อสิ่งแวดล้อมอีกด้วย
หลายองค์กรมีแรงจูงใจให้ประหยัดค่าใช้จ่ายผ่านลดใช้ ลดของเสียอยู่แล้ว
ยกตัวอย่างเช่นองค์กรที่มีการบริหารการปฏิบัติการผ่านเทคนิคอย่าง Kaizen 5ส แต่องค์กรส่วนนี้ส่วนมากจะไม่ได้ทำการประชาสัมพันธ์ประกาศข้อมูลให้สังคมรู้เยอะ เพราะบางอย่างถือว่าเป็นความลับของบริษัท แต่หากใครสนจศึกษาเรื่อง การลดค่าใช้จ่าย-ลดของเสีย ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตได้ ผมแนะนำให้อ่านบทความของผมเรื่อง Kaizen คืออะไร และ 5ส คืออะไร
ความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง – ไม่ว่าจะเป็นการประหยัดเพื่อลดค่าใช้จ่าย หรือการสร้างภาพลักษณ์สร้างแบรนด์ กิจกรรมช่วยสังคมส่วนมากมักทำให้องค์กร ‘สร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง’ ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง
ในยุคเศรษฐกิจปัจจุบัน ที่ธุรกิจมีการแข่งขันสูง การสร้างความได้เปรียบเหนือคู่แข่งทั้งในส่วนของค่าใช้จ่าย หรือในส่วนของการที่เราชนะใจลูกค้า ก็ถือว่าเป็นกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับองค์กรที่ต้องการประกอบการช่วยเหลือสังคมได้ในระยะยาวอยู่แล้ว
เข้าถึงลูกค้ามากขึ้น – ข้อดีของการสื่อสารผ่านทาง CSR ก็คือลูกค้ามีแนวโน้มที่จะนำไปพูดต่อมากขึ้น หากเทียบกับการประชาสัมพันธ์หรือการขายทั่วไป หากองค์กรไม่ได้ที่ใจลูกค้าจริงๆโอกาสที่ลูกค้าจะนำประโยชน์หรือข้อดีขององค์กรไปบอกต่อให้คนอื่นนั้นก็มีไม่เยอะ
แต่ในทางตรงข้าม การช่วยเหลือคนอื่น การช่วยเหลือสังคม เป็นการประชาสัมพันธ์ที่มักจะได้รับผลตอบรับดี เพราะเป็นประชาสัมพันธ์ผ่านการให้ ไม่ใช่การขออะไรจากลูกค้า (เช่นขอให้ซื้อ ขอให้สนใจ)
นอกจากนั้นแล้ว สื่อหลายๆอย่างเช่นโฆษณา นิตยสารหรือเว็บไซท์ข่าว ก็มีแนวโน้มที่จะช่วยองค์กรประชาสัมพันธ์ส่วนด้านการช่วยเหลือสังคม ซึ่งหากเป็นการประชาสัมพันธ์ทั่วไป (ที่ไม่ใช่เพื่อสังคม) บางองค์กรอาจจะต้องซื้อพื้นที่สื่อด้วยซ้ำ
เข้าถึงพนักงานมากขึ้น – CSR ยังเป็นวิธีประสานความสัมพันธ์ระหว่างองค์กรกับพนักงานได้ดีอีกด้วย การทำเพื่อสังคมทำให้พนักงานรับรู้ได้ว่าตัวเองเป็นส่วนหนึ่งของเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่กว่าการสร้างกำไร นอกจากจะทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นมากขึ้นแล้วยังลดโอกาสที่พนักงานจะหมดไปหรือลาออกอีกด้วย
CSR ในส่วนนี้ถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การบริหารบุคลากรในบริษัท หากใครสนใจสามารถศึกษาบทความนี้ของผมต่อได้ Human Resource (HR) คืออะไร? ทำอะไรบ้าง?
ในส่วนนี้เราได้ดูกันไปแล้วว่า CSR สามารถนำมาใช้เป็นกลยุทธ์ในธุรกิจได้อย่างไรบ้าง และมีประโยชน์กับส่วนไหนขององค์กร ในส่วนต่อไปเรามาลองดูกันว่าประเภทกิจกรรมของ CSR ต่างๆมีอะไรบ้าง
ประเภทกิจกรรมของ CSR – 5 ประเภทกิจกรรมของ CSR ที่คุณเห็นได้บ่อย
เราจะเห็นได้ว่า Corporate Social Responsibility (CSR) สามารถมาได้ในหลายรูปแบบ บางอย่างก็ทำเพื่อสังคม บางอย่างก็ทำเพื่อสิ่งแวดล้อม โดยรวมแล้วกิจกรรมแสดงความรับผิดชอบของสังคมสามารถแบ่งได้ออกมาเป็น 5 ประเภทหลักดังนี้
การบริจาคเพื่อการกุศล (Philanthropic CSR) – กิจกรรม CSR ที่เราจะเห็นองค์กรทำบ่อยที่สุด โดยเฉพาะในองค์กรบริษัทของคนไทย ก็คือการบริจาคเพื่อการกุศล
หลายองค์กรมีทรัพย์สินทรัพยากรมากมาย อย่างไรก็ตามองค์กรส่วนมากก็ไม่รู้วิธีที่จะแปลทรัพย์สินพวกนี้มาสู่การทำกิจกรรมเพื่อสังคม เพราะฉะนั้นสิ่งที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือการบริจาค อาจจะมาในรูปแบบการบริจาคเงินโดยตรง หรือการบริจาคตามความต้องการของสังคม
ผมไม่ได้บอกว่าการบริจาคเป็นสิ่งที่ไม่ดี การทำเพื่อสังคมทุกอย่างดีหมด โดยเฉพาะการบริจาคให้กับกลุ่มคนที่ต้องการใช้เงินส่วนนี้จริงๆ แต่หากองค์กรอยากที่จะรับประโยชน์จากกิจกรรม CSR ให้มากกว่านี้ โดยเฉพาะส่วนที่เข้าถึงพนักงานกับลูกค้า องค์กรอาจจะต้องหาวิธีทำกิจกรรมเพื่อสังคมที่มีความซับซ้อมมากกว่า
ความรับผิดชอบสังคมต่อสิ่งแวดล้อม (Environmental CSR) – ด้วยสาเหตุใดๆอย่าง คนส่วนมากเริ่มให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมและธรรมชาติมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นปัญหาโลกร้อน ปัญหาพลาสติก ควันฝุ่น หรือปัญหาทรัพยากรทางธรรมชาติ
ซึ่งถึงแม้ว่ารัฐบาลจะมีนโยบายเพื่อสนับสนุนให้องค์กรรักโลกมากขึ้น หลายๆปัญหาที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมก็ยังจำเป็นต้องให้องค์กรระดับใหญ่ออกมาแก้ไขด้วยตัวเองอยู่ดี
ส่วนมากแล้วกิจกรรมเพื่อสังคมด้านสิ่งแวดล้อมจะมาในรูปแบบของการลดขยะ ลดของเสีย แล้วลดการผลิตสารคาร์บอนไดออกไซด์ แต่การที่องค์กรจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้จริงๆ ต้องอาศัยการออกแบบกระบวนการทำงาน ออกแบบสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ใหม่อีกครั้ง ซึ่งส่วนมากก็จะกระทบต่อรายได้กำไรของบริษัทโดยตรง
จริยธรรมในองค์กร (Ethical CSR) – ทุกคนก็คงรู้ว่าจริยธรรมเป็นสิ่งที่ดี แต่องค์กรที่ทำงานอยู่ภายใต้กรอบกฎหมายอยู่แล้ว บางทีก็อาจจะลืมไปว่าต่อให้กฎหมายไม่ได้กำหนดไว้ บางเรื่องก็เป็นเรื่องที่ไม่ดีไม่ควรทำอยู่ดี หัวข้อในส่วนนี้กว้างแล้วก็มีความซับซ้อนมาก ผมจะขออธิบายแค่หลักการพื้นฐานก่อนละกัน
จริยธรรมในองค์กรมาได้ในหลายรูปแบบมาก ตั้งแต่วิธีการดูแลและให้สวัสดิการพนักงาน ขั้นตอนในการปฏิบัติงานต่างๆ หรือแม้กระทั่งการเลือกคู่ค้าทางธุรกิจที่มีจริยธรรมที่เท่าเทียม
แต่จริยธรรมสำหรับธุรกิจนั้นก็ยังมีความ ‘เป็นสีเทา’ อยู่เยอะ บริษัทขนาดเล็กก็อาจจะใช้ซอฟต์แวร์ไม่ถูกกฎหมาย บริษัทขนาดใหญ่ก็อาจจะอาศัยช่องโหว่ทางบัญชีเพื่อลดภาระภาษีของตัวเอง
ผมจะขอยกอีกหนึ่งตัวอย่างปัญหาจริยธรรมในองค์กรที่ต่างประเทศได้มีถกเถียงกัน เช่นการองค์กรไปจ้างบริษัทที่จีนผลิตสินค้า โดยที่คู่ค้าที่จีนบังคับให้พนักงานทำงานในสภาพแวดล้อมที่ไม่ดี ในกรณีนี้บริษัทที่ทำงานกับบริษัทในจีนถือว่าถูกจริยธรรมหรือเปล่า
แน่นอนว่าบริษัทที่ทำกิจกรรม CSR ส่งเสริมจริยธรรมในธุรกิจนั้นก็คงดีกว่าบริษัทที่ไม่ได้ทำอะไรเลย แต่ถ้าใครสนใจศึกษาเรื่องจริยธรรมในธุรกิจเพิ่มเติม ผมได้เขียนบทความไว้ตรงนี้สามารถอ่านก็ได้ครับ จริยธรรมทางธุรกิจคืออะไร – ความสำคัญของจริยธรรมในองค์กร
การรับผิดชอบต่อสังคม (Social Responsibility) – การช่วยเหลือสังคม โดยเฉพาะสังคมที่ทางองค์กรได้ทำงานใกล้ชิดด้วย เป็นกิจกรรม CSR ที่เราก็เห็นได้บ่อยเหมือนกัน อาจจะเป็นการแก้ปัญหาด้านสาธารณสุข ด้านความปลอดภัย หรืออาจจะเป็นการแก้ปัญหาความแตกต่างในชนชั้นสังคมเป็นต้น
อีกหนึ่งตัวอย่างการรับผิดชอบต่อสังคมก็คือ การที่องค์กรใหญ่ๆออกมาทำการช่วยเหลือประชาชนหรือประเทศเวลาที่มีปัญหาต่างๆ เช่นกันออกมาช่วยระดมทุนให้กับโรงพยาบาล การช่วยสร้างงานเพิ่มตอนเศรษฐกิจวิกฤต หรือการบริจาคต่างๆเวลาที่ประเทศชาติมีปัญหา
องค์กรอย่าง Starbucks ก็ขึ้นชื่อเรื่องการทำกิจกรรมเพื่อสังคม ยกตัวอย่างเช่นการที่ Starbucks เลือกที่จะซื้อเมล็ดกาแฟจากคนปลูกเม็ดกาแฟโดยตรงโดยตรง เพื่อสนับสนุนให้ชาวนาชาวไร่ได้รับเงินมากขึ้นไม่ต้องผ่านตัวกลาง (ในกรณีนี้ Starbucks อาจต้องเพิ่มกระบวนการทำงานให้ซับซ้อนมากขึ้น แต่ก็เป็นการลดต้นทุนให้ตัวเองได้เช่นกัน)
การอาสาช่วยเหลือชุมชน (Community Volunteering CSR) – อาสาสมัครในรูปแบบของการระดมให้พนักงาน หรือคู่ค้าธุรกิจสละเวลาและแรงงานเพื่อช่วยเหลือชุมชน โดยเฉพาะชุมชนที่อยู่ใกล้กับองค์กร
การอาสาสมัครเป็นวิธีการให้องค์กรสามารถเข้าร่วมกับชุมชน แล้วก็สร้างสัมพันธ์กับพนักงานในองค์กรได้เป็นอย่างดี
อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่พนักงานทุกคนที่อาจจะชอบกิจกรรมแบบนี้ และองค์กรใดต้องคำนึงถึงปัญหาการให้พนักงานทำงานนอกเวลาหรือการขอให้พนักงานสละเวลาส่วนตัวมาทำงานอาสาสมัครด้วย ซึ่งหากพนักงานไม่ได้อยากทำจริงๆก็อาจจะเป็นปัญหาภายหลังได้
ในส่วนของการอาสาสมัครช่วยเหลือชุมชนนั้น ก็ได้มีการถกเถียงการบ้างว่าระหว่างการอาสาสมัครช่วยเหลือกับการบริจาคเงิน สิ่งไหนเป็นทางเลือกที่ดีกว่ากัน การบริจาคเงินอาจจะแสดงถึงความไม่จริงใจบ้าง
แต่หากเราคิดว่าแทนที่องค์กรจะให้พนักงาน ซึ่งอาจจะไม่มีทักษะช่วยเหลือชุมชนที่ดี เช่นการสร้างบ้านสร้างโรงพยาบาล มาทำงานส่วนนี้ การที่องค์กรให้พนักงานกลับไปทำงานตัวเองแล้วนำกำไรมาจ้างคนที่มีทักษะเหมาะกับการทำงานจริงๆอาจจะได้งานที่มีประสิทธิภาพมากกว่า
สุดท้ายนี้ผมคิดว่า การทำดีอะไรสักอย่าง ก็ดีกว่าการไม่ได้ทำอะไรเลย แม้ว่าการกระทำนั้นจะดูออกมามีความจริงใจ หรือมีประโยชน์ต่อผู้รับมากแค่ไหน แต่สำหรับองค์กรที่อยากจะนำหลักการกิจกรรมช่วยสังคมมาเป็นกลยุทธ์ทางธุรกิจ ไม่ว่าจะเพื่อพัฒนาภาพลักษณ์ สร้างความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน หรือเพื่อกำไรขององค์กรก็ตาม กลยุทธ์ CSR ก็เป็นหนึ่งในตัวเลือกที่ธุรกิจควรจะกลับมาพิจารณาทุกปี
ผมหวังว่าบทความนี้จะให้ความรู้ทุกคนได้ไม่มากก็น้อย สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ
ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ
- Human Resource (HR) คือใคร? ทำอะไรบ้าง? (คุณสมบัติ HR ที่ดี)
- ทํายังไงให้พนักงานรักองค์กร – วิธีทำให้พนักงานมีความสุข
- วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร? วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีอะไรบ้างนะ?