ตั้งแต่ มาร์ค ซัคเคอร์เบิร์ก ก่อตั้งบริษัท Facebook พฤติกรรมผู้บริโภคก็เปลี่ยนไปทันที…ทำให้โอกาสของการตลาดดิจิตอล หรือ Digital Marketing ระเบิดออกมา
ทุกวันนี้เวลาพูดถึงการทำการตลาดออนไลน์ คนไทยส่วนมากก็มักจะนึกถึงการตลาดผ่าน Facebook และ Instagram ซึ่งก็เป็นช่องทางที่มีผู้ใช้งานเยอะ เป็นตลาดที่ใหญ่มาก อย่างไรก็ตามช่องทางที่ใหญ่ก็จะตามมาด้วยการแข่งขันที่เยอะมาก นักการตลาดและเจ้าของธุรกิจมองเห็นโอกาสของการตลาดดิจิตอลในช่องทางอื่นๆด้วยก็จะทำให้ธุรกิจเหนือกว่าคู่แข่งคนอื่นได้ง่าย
ในบทความนี้เรามาดูกันว่าการตลาดดิจิตอล หรือ digital marketing มีอะไรบ้าง มีประเภทต่างๆอะไรบ้าง และ หน้าที่ของนักการตลาดดิจิตอลนั้นคืออะไรกันแน่
Table of Contents
การตลาดดิจิตอล คืออะไร (Digital Marketing)
Digital Marketing หรือ การตลาดดิจิตัล หมายถึงการตลาดผ่านอินเทอร์เน็ตและอุปกรณ์ดิจิตอล เช่นคอมพิวเตอร์ และ โทรศัพท์มือถือ เป็นสื่อกลางในการโปรโมทสินค้าหรือบริการ ธุรกิจสามารถใช้ช่องทางการตลาดดิจิตอล เช่น เสิร์ชเอนจิน (search engine) โซเชียว มิเดียร์ (social media) อีเมล และ เว็บไซต์เพื่อเข้าหาลูกค้า
คำว่า การตลาดดิจิตอล (digital marketing) นั้นเป็นคำที่ถูกใช้ควบคู่ไปกับ ‘การตลาดออนไลน์’ (online marketing) ซึ่งก็ไม่แปลกอะไร เพราะการที่ผู้บริโภคอยู่ในโลกออนไลน์เยอะ ก็แปลว่าโอกาสในการเสพสื่อดิจิตอลก็เยอะขึ้น
หากเทียบกับการตลาดดั้งเดิม เช่นการซื้อโฆษณาทีวี การซื้อพื้นที่ป้ายตามถนน การแจกใบปลิว การตลาดแบบดิจิตอลก็ถือว่าเป็นเทคนิคแบบใหม่ที่เพิ่งมีมาไม่กี่สิบปีในประเทศไทย (จริงๆ digital marketing มีมานานมากกว่านั้น แต่เนื่องจากสมัยก่อนอินเตอร์เน็ตค่อนข้างช้า แถมไม่ใช่ทุกคนที่มีมือถือ smart phone ก็เลยทำให้ยังไม่เป็นที่นิยมมาก)
วัตถุประสงค์ของ Digital Marketing
วัตถุประสงค์หลักของ Digital Marketing ก็คือการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าที่ต้องการขายฝ่ายเครื่องมือดิจิตอลและออนไลน์ การตลาดแบบนี้มีตัวเลือกที่หลากหลาย สามารถให้ข้อมูลที่เจาะลึก ธุรกิจสามารถเริ่มทำการตลาดด้วยงบที่น้อยในตอนแรก แล้วค่อยปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามผลประกอบการในเวลาจริง
เราจะเห็นแล้วว่าธุรกิจสมัยนี้ หากไม่ใช่ธุรกิจขายของออนไลน์ไปเลย ก็จะเป็นธุรกิจที่มีเพจ Facebook หรือเว็บไซต์เป็นของตัวเอง แม้แต่ร้านขายข้าวแกงบางทีก็ยังมีตัวตนอยู่ในโลกออนไลน์ นั้นก็เพราะว่าการตลาดดิจิตอลเป็น ‘การสื่อสารหลักที่ผู้บริโภคนิยม’ หมายความว่าหากลูกค้าของเราอยากจะหาข้อมูลหรือหาร้านค้าอะไร ลูกค้าส่วนมากก็คาดหวังและต้องการถ้าสามารถหาข้อมูลส่วนนี้ได้ในโลกออนไลน์
สรุปง่ายๆก็คือ การตลาดดิจิตอลเป็นวิธีที่บริษัทจะสามารถแข่งขันกับเจ้าอื่นได้
แน่นอนว่าการตลาดดิจิตอลนั้นประกอบไปด้วยช่องทางการตลาดออนไลน์หลากหลายชนิด แต่ละช่องทางก็จะมีกลุ่มลูกค้าไม่เหมือนกัน ลูกค้าแต่ละกลุ่ม แต่ละช่องทางก็จะมีพฤติกรรมที่แตกต่าง นั่นก็แปลว่าการตลาดดิจิตอลสามารถตอบโจทย์ของธุรกิจได้หลากหลายขนาด หลากหลายชนิด ขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกช่องทางการตลาดให้เหมาะกับงบการตลาดและกลุ่มลูกค้าของเราได้หรือเปล่า
การสื่อสารการตลาดดิจิตอล Digital Marketing Communication
การสื่อสารการตลาดดิจิทัล คือรูปแบบการสื่อสารระหว่างบริษัท หรือเจ้าของแบรนด์ กับผู้บริโภค ผ่านทางสื่อดิจิตอลต่างๆ ตัวอย่างของเครื่องมือการสื่อสารการตลาดดิจิตอลได้แก่ การซื้อโฆษณาออนไลน์ การทำ SEO การใช้อีเมล และ การสื่อสารกับลูกค้าผ่าน Social Media
หากคุณเข้าใจคำว่าการสื่อสารการตลาด (Marketing Communication) ที่เป็นการใช้เครื่องมือการตลาดต่างๆในการติดต่อลูกค้า คุณก็จะเห็นได้ว่า ‘การสื่อสารการตลาดดิจิตอล’ ก็คือการสื่อสารการตลาดแขนงใหม่ที่ใช้เครื่องมือดิจิตอลเป็นหลัก
ขึ้นชื่อว่าเครื่องมือดิจิตอล เครื่องมือเทคโนโลยีต่างๆ เราก็ต้องเข้าใจว่าเครื่องมือพวกนี้สามารถเปลี่ยนแปลง หรือหายไปจากตลาดเลยได้ง่าย เพราะเทคโนโลยีใหม่สามารถเข้ามาแทรกแซงเทคโนโลยีเก่าได้เสมอ โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมที่ผู้บริโภคพร้อมที่จะทดลองทดสอบอะไรใหม่ๆได้ง่าย
นอกจากนั้นแล้ว นักการตลาดดิจิตอลยังต้องคำนึงถึงทั้งช่องทางการสื่อสารและวิธีการสื่อสารด้วย ไม่ว่าจะเป็นการทำโฆษณาภาพ (display advertising) โฆษณาวีดีโอ (video advertising) หรือจะเป็นการโฆษณาผ่านช่องทางแบบฟอร์มต่างๆอย่าง Google และ Facebook ในส่วนนี้ผมได้ลงรายละเอียดเพิ่มเติมไหมในส่วนถัดไปของบทความ
‘การตลาดดิจิตอล’ นั้นประกอบไปด้วยทั้งศาสตร์และศิลป์ มีทั้งการเรียนรู้เครื่องมือต่างๆ การอ่านและวิเคราะห์ data รวมถึงการใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างโฆษณา สร้าง Content ให้ลูกค้าดูด้วย ซึ่งทั้งศาสตร์และศิลป์นี้ก็ต้องถูกออกแบบมาให้เหมาะกับช่องทางการตลาดที่เหมาะสม ในส่วนถัดไปเรามาลองดูกันว่าประเภทของการตลาดดิจิตอลและช่องทางการตลาดดิจิตอลแบบต่างๆมีอะไรบ้าง
ประเภทของการตลาดดิจิตอล – ช่องทางการตลาดดิจิตอลแบบต่างๆ
ในส่วนนี้จะเป็นการรวบรวมประเทศและช่องทางการตลาดดิจิตอลทั้งหมดไว้นะครับ ช่องทางการตลาดที่จะต้องมีอยู่หลากหลาย แถมแต่ละช่องทางผมก็ลงข้อมูลอย่างละเอียด ค่อนข้างยาวเลยทีเดียว หากใครสนใจจะอ่านทั้งหมดเลยก็ได้ หรือจะข้ามไปอ่านแค่หัวข้อที่ตัวเองสนใจก็ได้ครับ ผมจัดเรียงหน้าให้เปิดผ่านได้ง่ายพอสมควร
Content Marketing
Content Marketing หมายถึงการสร้างคอนเทนต์เพื่อที่จะใช้สร้างแบรนด์ หาคนเข้าเว็บไซต์ หรือหาลูกค้า โดยที่ช่องทางการและรูปแบบการทำ content marketing ได้แก่
บล็อก – ส่วนมากจะมาในรูปแบบการเขียนบทความลงเว็บไซต์ หรือลงเพจ facebook เพื่อให้ความรู้ลูกค้าและแสดงให้ลูกค้าเห็นว่าคุณเป็นผู้เชี่ยวชาญ โดยท้ายที่สุดแล้วเป้าหมายของการเขียนก็คือการหาลูกค้า
Infographics อินโฟกราฟฟิค – บางครั้งลูกค้าก็ชอบที่จะดูแทนที่อ่าน ทำให้ content ให้ข้อมูลในรูปแบบภาพอย่างอินโฟกราฟฟิค lสามารถเข้าถึงลูกค้าได้กว้างขึ้น หากเราลองดูใน Social Media แล้ว ส่วนมากคอนเทนต์ ที่จะถูกแชร์ก็คือคอนเทนต์แนวนี้
วิดิโอ – เป็นรูปแบบการทำคอนเทนต์เหมือนบทความ แต่จะเป็นรูปแบบวิดิโอแทน วิดิโอเป็นการทำคอนเทนต์รูปแบบใหม่ที่ social network ต่างๆเริ่มผลักดันมากขึ้นเรื่อยๆ เหมาะสำหรับการสร้างตัวตน สร้างความน่าเชื่อถือในสายตาลูกค้า
E-book และการดาวน์โหลดต่างๆ – เว็บไซต์อาจจะทำการแจกข้อมูลในรูปแบบของ e-book หรือไฟล์ชนิดต่างๆให้สามารถดาวน์โหลดได้ ส่วนมากแล้วจะเป็นการแรกไฟล์กับข้อมูลลูกค้า เช่น อีเมล ชื่อ เพื่อให้บริษัทสามารถติดต่อคนกลุ่มนี้ได้ผ่านวิธีการอื่นๆ
Search Engine Optimization (SEO)
เป็นการปรับแต่งเว็บไซต์ให้จัดอันดับได้ดีขึ้นใน seach engine ต่างๆ (ซึ่งส่วนมากก็คือบน Google) การที่ได้อันดับใน Google หมายถึงว่าเราจะมีผู้เข้าเว็บไซต์มากขึ้น ที่สำคัญก็คือการเพิ่มคนเข้าเว็บไซต์ผ่าน SEO นั้นไม่มีค่าใช้จ่ายอะไรเลย การทำ SEO เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีเว็บไซต์ หรือ บล็อก และพร้อมที่จะลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างคอนเทนต์ต่างๆ
การตลาดดิจิตอลด้วย SEO ควรจะดูส่วนพวกนี้
On Page SEO – เป็นการทำ SEO ที่เราสามารถควบคุมได้มากที่สุด หมายถึงการสร้างคอนเทนต์ หรือจัดหน้าเว็บไซต์ เช่นการตั้งชื่อหน้า จัดหัวข้อหลัก หัวข้อย่อย และทำลิงค์ระหว่างหน้าในเว็บไซต์ของเราให้เข้าถึงกัน
Off Page SEO – หมายถึงกิจกรรมที่ควรทำนอกเหนือจากการปรับแต่งเว็บไซต์ของคุณเอง Google จะดูจำนวนลิงค์ที่เว็บไซต์อื่นโยงเข้ามาถึงบทความในเว็บไซต์เราด้วย ว่าเว็บของเรา ‘ดีและน่าพูดถึง’ มากแค่ไหน ยิ่งมีคนลิงค์เข้ามาเยอะ เว็บเรายิ่งได้ตำแหน่งดี การทำ Off Page SEO ที่ดีคือการเข้าหาเว็บไซต์อื่นในอุตสาหกรรมเพื่อทำการประชาสัมพันธ์เว็บไซต์ของเรา
Technical SEO – เป็นการทำ SEO ที่ค่อนข้างยาก เพราะต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวเยอะ การออกแบบโครงสร้างเว็บไซต์ การจัดการ code หลังบ้าน หรือแม้แต่การปรับขนาดของรูปภาพและวีดีโอในเว็บไซต์ เป้าหมายหลักก็คือการทำให้เว็บไซต์เร็วขึ้นและทำให้ Google อ่านข้อมูลเว็บไซต์เราได้ง่ายขึ้น
Social Media Marketing
หมายถึงการสื่อสารกับลูกค้าผ่านทางแพลตฟอร์มที่เรียกว่า Social Media ต่างๆ โดยที่ช่องทางที่คนมักนิยมใช้กันก็คือ Facebook Twitter Instagram และ Line
ผมคิดว่าทุกคนก็น่าจะรู้จัก Social Media อยู่แล้ว ธุรกิจอาจจะเขียนบทความลงไปในบล็อกลงเว็บไซต์ แล้วก็ใช้แพลตฟอร์ม Social Media ต่างๆเพื่อเผยแพร่ข้อมูลพวกนี้
อย่างไรก็ตามในยุคสมัยนี้ Social Media ต่างๆไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram ก็เริ่มหวงไม่ให้คนออกจากเว็บไซต์ตัวเอง การโพสต์บทความหรือข้อความลงไปในเพจหรือหน้าร้านก็เริ่มมีคนเห็นน้อยลงเรื่อยๆ ทำให้ธุรกิจต้องเปลี่ยนไปเป็นการซื้อโฆษณา ยิงโฆษณาแทน (ทำฟรีไม่ได้สวัสดี ต้องเสียเงิน)
Pay Per Click (PPC)
การตลาดแบบยิงแอด ยิงโฆษณา เพื่อให้ลูกค้าทัก เข้ามาดูเว็บไซต์ จะถูกเรียกว่า PPC หรือ Pay Per Click (จ่ายตามจำนวนคลิก) เพราะส่วนมากการตลาดแบบนี้จะคิดเงินตามจำนวนลูกค้าที่คลิกเข้ามาดูจริง ในประเทศไทย PPC ที่คนใช้กันเยอะก็จะมี Google และ Facebook
PPC สำหรับ Google ก็คือการจ่ายเพื่อให้จัดอันดับโฆษณาให้สูงกว่าการจัดอันดับทั่วไปแบบ SEO ส่วนการทำ PPC แบบ Facebook ก็คือการที่โฆษณาของเราไปโผล่ระหว่างที่ผู้ใช้งาน Facebook-Instagram กำลังเล่นอยู่ (เรียกว่า newsfeed) สามารถเป็นในรูปแบบ ภาพ หรือ วิดิโอ ก็ได้
Sponsored Content (Influencer)
หมายถึงการไปสปอนเซอร์บริษัทหรือบุคคลที่มีคนรู้จัก เพื่อให้ตัวตนเหล่านั้นช่วยโปรโมทสินค้าให้กับเรา ในสมัยก่อนว่าจะเป็นการจ้างดาราการจ้างนักร้อง แต่สมัยนี้คนดังมีตัวตนอยู่ในอินเตอร์เน็ตเยอะมาก ทำให้ตัวเลือกของการหาคนโปรโมทเยอะขึ้น ที่สำคัญก็คือค่าใช้จ่ายลดลง
เราจะเห็นได้บ่อยในอุตสาหกรรมความสวยความงาม ไม่ว่าจะเป็นให้คนมาช่วยขายครีม ให้คนมารีวิวบริการหรือสินค้า หรือแม้แต่การช่วยโพสโปรโมทร้านให้ ในขณะเดียวกันสปอนเซอร์แบบนี้ก็สามารถช่วยโปรโมทแบรนด์ทางอ้อม แทนที่จะเป็นการขายหรือการโฆษณาโดยตรงก็สามารถเปลี่ยนเป็นการให้ความรู้ผู้บริโภคแทนก็ได้
Online PR การประชาสัมพันธ์ออนไลน์
การตลาดประชาสัมพันธ์ออนไลน์ หมายถึงการนำความรู้ ข่าว หรือบทความที่เกี่ยวกับธุรกิจของเราไปฝากลงในเว็บไซต์อื่น ก็คือเป็นการประชาสัมพันธ์ธรรมดาที่เราเห็นได้ทั่วไป แต่ทำกับสื่อออนไลน์ หากเป็นการประชาสัมพันธ์ผ่าน Social Media ก็คงอยู่ได้ไม่นาน แต่ถ้าเป็นการประชาสัมพันธ์ลงเว็บไซต์ ข้อมูลพวกนี้ก็จะเป็นสิ่งที่ลูกค้าเข้าถึงได้ตลอดไป
ประชาสัมพันธ์สามารถมาได้ในหลายรูปแบบ จะเป็นการคุยกับนักข่าวโดยตรง การติดต่อนักรีวิวออนไลน์ การนำบทความข่าวของเราไปฝากโพสต์กับเว็บไซต์ที่เกี่ยวข้อง
อย่างไรก็ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคและผู้อ่านในโลกออนไลน์ก็จะแตกต่าง เมื่อก่อนบริษัทอาจจะสามารถทำการประชาสัมพันธ์ทีเดียว ตอบคำถามลูกค้าทีเดียว แล้วก็เตรียมปิดงานเลยได้ แต่ในสมัยนี้หลังจากที่ประชาสัมพันธ์เสร็จแล้ว ผู้บริโภคและผู้ฟังก็จะมีคำถามและสามารถโพสต์ถามได้ทุกที่ ในกรณีนี้เราก็ต้องมีทรัพยากรมากพอที่จะช่วยให้เราพูดคุยกับลูกค้า
Email Marketing
เป็นเรื่องที่น่าแปลกที่ผู้บริโภคทุกคนมีอีเมลอยู่แล้ว แต่บริษัทส่วนมากกลับไม่ใช้อีเมลเป็นเครื่องมือสื่อสารเลย อีเมลเป็นสื่อที่ใช้โฆษณาสินค้า ให้โปรโมชั่นส่วนลดต่างๆ หรือแม้แต่ใช้นำเสนอข่าวต่างๆที่เกี่ยวกับองค์กร เรียกว่าแทบจะไม่ต่างจากเบอร์โทรศัพท์เลย แต่เราสามารถส่งอีเมลได้ในจำนวนเยอะกว่า ถูกกว่า หากเทียบกับการให้พนักงานโทรหาลูกค้า ส่งSMS หรือแม้แต่ส่งไลน์แบบ broadcast
เราจะเห็นได้ว่ามีแต่บริษัทใหญ่ๆใช้อีเมลได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงๆ โดยอีเมลส่วนมากที่เราเห็นก็จะมี อีเมลต้อนรับลูกค้าใหม่ อีเมลนำเสนอข่าวสารต่างๆ อีเมลหลังจากที่ลูกค้าได้โหลดของจากเว็บไซต์ไป อีเมลโฆษณาและส่วนลดสำหรับลูกค้า และการนำเสนอข้อมูลข้อแนะนำการใช้สินค้า
Affiliate Marketing
Affiliate Marketing เป็นการตลาดผ่านการให้คนช่วยแนะนำ โดยส่วนมากบริษัทมักจะให้ค่าคอมมิชชั่น บุคคลหรือองค์กรช่วยโปรโมทสินค้าอาจจะเป็นการผ่านช่องทางเว็บไซต์ส่วนตัวหรือทางเพจ Social Media ต่างๆ
องค์กรที่จะทำ Affiliate Marketing ได้ต้องมีระบบหลังบ้านที่ดี เพื่อที่จะสามารถตรวจสอบข้อมูลการแนะนำลูกค้าได้อย่างชัดเจน เพราะฉะนั้นเราจะเห็นได้ว่ามีแต่ธุรกิจออนไลน์ขนาดใหญ่ที่จะใช้ระบบ Affiliate Marketing ได้ดี
เทรนด์การตลาดดิจิตอล (Digital Marketing Trends)
สุดท้ายนี้เรามาลองดูเป็นการตลาดดิจิตอล ที่นักการตลาดออนไลน์ทุกคนต้องหันมาจับตามอง ไม่อย่างนั้นตามคู่แข่งไม่ทันแน่ๆ
#1 ค่าโฆษณาจะสูงขึ้นเรื่อยๆ
สุดท้ายแล้วค่าโฆษณาก็จะราคาสูงขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้มาหลายปีแล้ว แต่ยิ่งชัดเจนมากขึ้นใน 2-3 ปีนี้ พอยิ่งมีคนโฆษณาบน Facebook Google เยอะ การประมูลแย่งพื้นที่โฆษณา แย่งสมาธิของลูกค้าก็ยิ่งมีการแข่งขันสูง
หมายความว่าแพลตฟอร์มโฆษณาออนไลน์เก่าๆ อย่าง Facebook กับ Google อาจจะไม่เหมาะสำหรับธุรกิจขนาดเล็กที่ไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้อีกต่อไป
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าธุรกิจขนาดเล็กจะไปไม่รอดนะครับ ธุรกิจขนาดเล็กต้องหันไปจับช่องทางการตลาดอื่น หรือหาวิธีสร้างสรรค์เรียกลูกค้าที่ดีกว่านี้
#2 วีดีโอและการ Live สด
จากที่เมื่อก่อนเราสามารถทำโฆษณาง่ายๆ โพสภาพ โพสตัวอักษร ก็เข้าถึงลูกค้าได้แล้ว แต่ในวันนี้โฆษณาแบบเก่าทั้งมีราคาแพง และไม่ได้ดึงดูดใจลูกค้าอีกต่อไป ทุกวันนี้การทำโฆษณาแบบวิดิโอนั้นทำให้ผู้ขายสามารถแสดงความจริงใจ ความน่าเชื่อถือให้กับลูกค้าได้อย่างไม่เคยมีมาก่อน
มากไปกว่านั้นก็คือการ Live สด ที่ผู้ขายสามารถสื่อสารพูดคุยกับลูกค้าได้อย่างทันที แถมยังเป็นช่องทางให้ความรู้และความสนุกกับผู้ชมได้ด้วย เราจะเห็นได้ว่าการ Live เป็นเทรนด์การตลาดดิจิทอลสำหรับทวีปเอเซียที่ฝั่งอเมริกายังไม่นิยมมากนะ ดูได้จาก ‘นัก Live สด’ ในประเทศจีนที่สามารถปิดการขายได้วันละหลายร้อยล้านบาทก็มี ทำเอาเซียนนักการตลาดดังๆอายกันเลยทีเดียว
#3 เปลี่ยนจากยุคขายตรงไปเป็นยุคทำคอนเทนต์
จริงๆเราก็จะเห็นได้มาหลายปีแล้วว่าลูกค้าเริ่มไม่เชื่อการตลาดที่เน้นการขายอย่างเดียว หมายความว่ามุมมองของการตลาดดิจิตอลได้เปลี่ยนไปเป็นการให้ความรู้ ให้ความบันเทิงกับลูกค้าด้วย ตามคำพูดที่มีมานานแล้วว่า Content is King
แต่ในสมัยนี้การสร้างคอนเทนต์นั้นก็มีได้หลายอย่าง หลายช่องทาง นักการตลาดดิจิตอลจำเป็นที่จะต้องสามารถออกแบบคอนเทนต์ให้เหมาะกับกลุ่มลูกค้าหลักให้ได้ ทุกวันนี้ทั้ง Google และ ทั้งผู้บริโภคก็ฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ทำให้การแอบเนียนแอบขายผ่านคอนเทนต์ทำได้ยาก
#4 แพลตฟอร์มใหม่คือโอกาสของธุรกิจขนาดเล็ก
ในสมัยก่อนเราจะเห็นว่าบริษัทใหญ่ๆไม่ค่อยลงมาเล่นในแพลตฟอร์มออนไลน์เยอะ เพราะถือว่าเป็นตลาดเล็กทำแล้วไม่คุ้ม แต่ในสมัยนี้บริษัทยักษ์ใหญ่ทั้งในและนอกประเทศก็ทุ่มเงินสุดตัวกับการทำการตลาดดิจิตอล โดยเฉพาะในแพลตฟอร์มขนาดใหญ่อย่าง Google และ Facebook
ในกรณีนี้ธุรกิจขนาดเล็กก็เริ่มที่จะแข่งขันกับองค์กรขนาดใหญ่ได้ยาก ธุรกิจขนาดเล็กเสียเปรียบทั้งในงบการตลาด งบการสร้างคอนเทนต์
แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าจะไม่มีทางออกเลย สิ่งที่ธุรกิจขนาดเล็กต้องทำก็คือการหาแพลตฟอร์มใหม่ๆ เพื่อสร้างตลาดที่คู่แข่งใหญ่ๆยังไม่กล้าที่จะลงไปเล่น เหมือนที่สมัยก่อน Facebook ยังเป็นตลาดเล็กตลาดบริษัทใหญ่ ในสมัยนี้เราก็ต้องหาแบบฟอร์มใหม่เพื่อเข้าไปสร้างฐานลูกค้าก่อนใคร ยกตัวอย่างเช่น TikTok เป็นต้น
#5 ประสบการณ์ของลูกค้า และการทำ Omni-Channel
แม้ว่าเครื่องมือการตลาดจะพัฒนามามากแค่ไหน สุดท้ายแล้วประสบการณ์ของลูกค้าก็เป็นตัวกำหนดอยู่ดีว่าลูกค้าจะซื้อหรือไม่ซื้อ ในสมัยก่อนนั้นที่ลูกค้าอาจจะมีทางเลือกไม่เยอะ การตลาดดิจิตอลก็เลยไม่จำเป็นที่จะต้องให้ประสบการณ์กับลูกค้าให้ที่ดีมาก ในสมัยนี้ความต้องการของลูกค้าก็ได้เปลี่ยนไปแล้ว
Omni-Channel หมายถึงการที่บริษัทมีหลายช่องทางการตลาด การติดต่อลูกค้า และทุกช่องทางเชื่อมโยงกันอย่างแท้จริง ลูกค้าสมัยนี้ทั้งทักเข้ามาในไลน์ โทรเข้ามา บางคนก็ติดต่อผ่าน Instagram ด้วย และสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังก็คือบริษัทจำเป็นที่จะต้องรู้ข้อมูลของลูกค้าทุกช่องทาง ยิ่งเราบริการตัวนี้ได้ดีมากแค่ไหน ลูกค้าก็จะซื้อเยอะขึ้น ซื้อบ่อยขึ้น
ในส่วนนี้ก็ต้องหวังพึ่งเทคโนโลยีใหม่ๆอย่างเดียวเลย ที่จะทำให้ข้อมูลลูกค้าแต่ละแพลตฟอร์มสามารถเชื่อมโยงกันง่ายๆ แต่ระหว่างที่รอรอก็จำเป็นที่จะต้องฝึกพนักงานให้สามารถใช้เครื่องมือต่างๆอย่างดีเยี่ยม เช่นพนักงานตอบไลน์ต้องสามารถเข้าไปอ่านข้อความใน Facebook ได้ แต่ต้องสื่อสารเชื่อมโยงกับพนักงานรับโทรศัพท์ได้ด้วย
หัวใจของการตลาดดิจิตอลก็คือการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง
คนที่ติดตามข่าวสารการตลาดดิจิตอล การตลาดออนไลน์มาสักพัก ก็คงเห็นแล้วว่าการตลาดดิจิตอลนั้นมีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก ซึ่งหัวใจหลักของนักการตลาดดิจิตอลก็คือความสามารถในการตามเทรนด์ต่างๆและเครื่องมือใหม่ๆให้ทัน ในภาษาคนทำธุรกิจเรียกว่า ‘การปรับตัว’
ยุคนี้ไม่ใช่ยุคของธุรกิจที่สามารถนิ่งอยู่เฉยๆได้ ลูกค้าใหม่ๆ ผู้บริโภคใหม่ๆ พร้อมที่จะเปิดรับเทคโนโลยีใหม่ๆและโอกาสใหม่ๆจากธุรกิจเสมอ หากธุรกิจของเราไม่ทำตามสิ่งที่ลูกค้าต้องการ ธุรกิจอื่นก็พร้อมที่จะแทรกแซง
หากคุณชอบบทความเกี่ยวกับการตลาดดิจิตอล ผมแนะนำให้อ่าน 2 บทความด้านล่างนี้นะครับคิดว่าน่าจะเป็นบทความที่ให้ความรู้ ให้ความบันเทิงกับคุณได้พอควรเลย
Ecommerce คืออะไร? เหมือนกับการตลาดออนไลน์หรือเปล่านะ?
Digital Transformation คืออะไร? มีข้อดีข้อเสียอะไร