แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการมีอะไรบ้าง (+15 สิ่งที่ต้องมี)

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ

ผมนั่งอยู่ในออฟฟิศวันนี้ พยายามหาคำตอบว่า ‘อะไรทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ’ กันแน่นะ

บางคนอาจจะมีทุนหรือคอนเนคชั่นมาก่อนอยู่แล้ว บางคนอาจจะฉลาดหรือเฉลียวกว่าใครตั้งแต่เด็ก

มีนักวิจัยหลายคนได้พยายามวิเคราะห์ ‘สาเหตุที่ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ’ ด้วยหลายวิธี แต่ก็ไม่มีวิธีไหนที่จะอธิบายได้เห็นภาพที่สุดเท่ากับการย้อนกับไปดูคนที่เคยประสบความสำเร็จแล้ว

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการมีอะไรบ้าง

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ มีมากกว่าการที่คุณสามารถเริ่มธุรกิจใหม่ได้ทุกวัน แนวคิดที่ดี มาจากทัศนคติที่ดีและความมานะพยายามที่จะสู้เพื่อความสำเร็จของธุรกิจ เจ้าของกิจการที่ประสบความสำเร็จย่อมมีความมั่นใจในตัวเองสูง

วันนี้เรามาลองดูแนวคิดที่ช่วยให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จกันครับ

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ ที่ประสบความสำเร็จมีดังนี้

แนวคิดที่ 1 – ผู้ประกอบการต้องสนุกไปกับงาน

ผู้ประกอบการควรจะสนุกไปกับงานของตัวเอง และมีแรงผลักดันที่จะก้าวผ่านปัญหาอยู่เสมอ ผู้ประกอบการที่ดีควรตั้งเป้าหมายให้ใหญ่ และสามารถแสดงความมุ่งมั่นที่จะทำให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง ในฐานะผู้ประกอบการ งานคือสิ่งที่คุณต้องทำและคิดถึงอยู่ตลอดเวลา…เป็นเวลานานกว่าหลายสิบปีสำหรับบางคนด้วยซ้ำ หากคุณไม่สนุกไปกับงาน ซักวันหนึ่งคุณก็จะไม่สามารถทำมันให้ดีได้

ผมเชื่อว่า ‘ความรู้สึกสนุก’ เป็นอะไรที่คนสามารถรับรู้ได้ง่าย พนักงานที่ทำงานกับเจ้าของที่มีความสุขก็จะรู้สึกสนุกไปด้วย และลูกค้าที่คุยกับพนักงานที่มีความสุขก็รับรู้ถึงความพิเศษของธุรกิจเรา ความสุขเป็นเหมือนโรคติดต่อครับ

แนวคิดที่ 1 – ผู้ประกอบการต้องสนุกไปกับงาน

แนวคิดที่ 2 – ผู้ประกอบการต้องหานวัตกรรมใหม่เสมอ

ผู้ประกอบการที่อยากชนะต้องหานวัตกรรมและไอเดียใหม่อยู่เสมอ และควรค้นหาตัวเองกับคอยมองหาวิธีใหม่ๆ ที่จะช่วยพัฒนาธุรกิจและสินค้าที่ผู้ประกอบการสามารถนำไปปฏิบัติได้จริงด้วย สำหรับคนที่กำลังเริ่มทำกิจการและยังไม่มีทุนมาก นวัตกรรมอาจจะหมายถึงการหาช่องทางการเข้าถึงหรือช่องทางการบริการลูกค้าแบบที่คุณไม่เคยทำมาก่อน หรือเริ่มจากการฟังตามความต้องการของลูกค้าไว้ก่อน

หากสนใจเรื่องนวัตกรรม สามารถอ่านบทความของผมเรื่อง Design Thinking และ Innovation หรือ นวัตกรรม คืออะไร ได้

แนวคิดที่3 – ผู้ประกอบการต้องพร้อมที่จะเปลี่ยนเสมอ

โลกธุรกิจเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอ และผู้ประกอบการที่ไม่พร้อมที่จะเปลี่ยนก็จะตกเป็นเหยื่อของธุรกิจใหม่ที่เปลี่ยนเร็วกว่า ทำตามสิ่งที่ลูกค้าขอได้มากกว่า คนที่อยู่รอดไม่ใช่คนที่ใหญ่ที่สุดหรือมีทุนเยอะที่สุด แต่เป็นคนที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้เร็วที่สุดครับ

นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงกับความคิดสร้างสรรค์ยังเป็นของคู่กัน เพราะถ้ามุมมองในการแก้ปัญหาของเราแคบไป เราจะมีพื้นที่ในการเปลี่ยนน้อยมาก หากคุณยังเปลี่ยนไม่ได้ อาจจะไม่ใช่เพราะว่าระบบคุณไม่พร้อมหรือตลาดไม่อำนวย ให้คุณลองดูปัญหาในมุมมองที่กว้างขึ้นด้วยความคิดสร้างสรรค์ที่มากขึ้นหน่อย

แนวคิดที่4 – ความสำเร็จมาจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง

ความสำเร็จของผู้ประกอบการมาจากการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเรื่องไอเดีย สินค้า การบริการ หรือเทคโนโลยีก็ตาม ผู้ประกอบการที่ดีต้องเปิดใจให้กว้างและพยายามเรียนรู้สิ่งใหม่ ธุรกิจที่จะอยู่ในจุดสูงสุดได้ตลอดเวลาคือธุรกิจที่สามารถเปลี่ยนแปลงและพัฒนาตัวเองได้ หากไม่รู้ว่าจะเริ่มยังไง ให้เริ่มจากการทำความเข้าใจเทคโนโลยีและบริการใหม่ๆที่จะช่วยลูกค้าคุณได้ก่อน

แนวคิดที่ 5 – ผู้ประกอบการต้องไม่กลัวการแข่งขัน

การแข่งขันไม่ใช่สิ่งที่ผู้ประกอบการควรกลัว จริงๆแล้วมันเป็นสิ่งที่ผู้ประกอบการควรจะชอบด้วยซ้ำ เพราะการแข่งขันเป็นสิ่งที่ช่วยให้ธุรกิจพัฒนาขึ้นไปเรื่อยๆ ตลาดที่มีการผูกขาดจะไม่สามารถพัฒนาได้อีก แน่นอนว่ามันไม่มีการผูกขาดตลอดไปหรอก

วันนี้คุณอาจจะเป็นที่หนึ่งหรือเจ้าเดียวที่ทำ คุณอาจจะมีการเขียนสัญญาผูกขาดไว้กับลูกค้าเจ้าใหญ่ แต่ซักวันหนึ่งคุณก็จะต้องมีคู่แข่ง หรือสินค้าที่คุณขายอาจจะมีการตกยุคตกเทรนได้อย่างแน่นอน หากคุณกลัวการแข่งขัน หรือรู้สึกอิ่มตัวกับสภาพตลาดตอนนี้ ศักยภาพในการพัฒนาของธุรกิจคุณจะตกลงอย่างแน่นอน

หากใครสนใจศึกษาเรื่องข้อมูลการค้าขาย ทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมแนะนำให้ลองดูอีบุ๊คเล่มนี้ของผมนะครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการมีอะไรบ้าง (+15 สิ่งที่ต้องมี)

แนวคิดที่ 6 – ผู้ประกอบการต้องมีความกระตือรือร้น

ผู้ประกอบการควรจะมีความกระตือรือร้นสูงและมีพลังงานเยอะ ในหนึ่งวันผู้ประกอบการมีปัญหาให้แก้มากมาย แต่ละอย่างก็ต้องใช้สมาธิในการทำเยอะด้วย ความกระตือรือร้นจะทำให้งานคุณละเอียดรอบคอบ ผู้ประกอบการที่ดีต้องพร้อมที่ลุกไปแก้ปัญหาเสมอและไม่รอให้คนอื่นมาตักเตือนก่อนค่อยหาวิธีตอบสนอง อะไรที่สำคัญคุณต้องพร้อมที่จะรุกก่อนเสมอ

ผู้ประกอบการที่ทำงานเพื่อแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างเดียวจะไม่สามารถผลักดันธุรกิจไปในทิศทางที่ตัวเองต้องการได้ ถ้าคุณแก้ปัญหาเฉพาะหน้าจนไม่มีเวลาทำอย่างอื่น ให้รีบสร้างระบบหรือวิธีแก้ปัญหาโดยที่คุณไม่ต้องทำเองคิดเองโดยเร็ว ผู้ประกอบการที่ยุ่งกับการดับไฟเฉพาะหน้าจะไม่สามารถมองเห็นปัญหาอื่นที่ใหญ่กว่า

แนวคิดที่ 7 – คำปฏิเสธและคำวิจารณ์เชิงแนะนำ

การยอมรับปฏิเสธและคำวิจารณ์เชิงแนะนำ คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้ผู้ประกอบการประสบความสำเร็จ ทุกหนึ่งคำวิจารณ์คือโอกาสที่ผู้ประกอบการสามารถนำมาพัฒนาตัวเอง และการที่เราสามารถรับคำวิจารณ์ได้ย่อมช่วยให้เราพัฒนาตัวเองได้เร็วขึ้น

ข้อแนะนำของเราคือให้เอาอารมณ์ส่วนตัวออกจากคำติชมและคำปฏิเสธ สิ่งที่สำคัญคือเราต้องถามว่า ทำไมถึงปฏิเสธเพื่อที่จะนำมาแก้ไข แทนที่จะโวยวายกับสิ่งที่ไม่เป็นดั่งใจ ลูกค้าที่วิจารณ์คือลูกค้าที่ยังใส่ใจอยู่ ลูกค้าที่หมดใจแล้วคงเดินออกทันทีโดยไม่พูดอะไร

แนวคิดที่ 8 – ผู้ประกอบการไม่ ‘เวิ่นเว้อ’ แต่ต้อง ‘ทำเลย’

ส่วนที่ยากที่สุดของการเป็นเจ้าของธุรกิจคือการเริ่ม หลายคนมีความคิดอยากจะทำอย่างนั้นอย่างนี้ แต่มีไม่กี่คนที่ ‘เริ่มเลย’ ผู้ประกอบการที่เริ่มก่อนและมุ่งมั่นที่จะทำให้ดีย่อมประสบความสำเร็จมากกว่าคนที่ เวิ่นเว้อ อย่างแน่นอน อ่านหนังสือร้อยเล่มก็ไม่เท่ากับการเริ่มทีเดียว คนที่ประสบความสำเร็จคือคนที่ ‘เดินหน้าทุกวัน’ เพื่อที่จะเข้าใกล้เป้าหมายให้มากขึ้น

วิธีเอาชนะความ เวิ่นเว้อ คือการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจน หากทุกวันคุณตื่นมาแล้วรู้ว่าต้องทำอะไร มีงานอะไรที่ต้องทำให้เสร็จ คุณจะประหยัด ‘เวลาในการคิด’ ได้เยอะแล้วเอาเวลาส่วนนั้นมาเป็น ‘เวลาในการทำงาน’ ได้แทน แต่การคิดวางแผนก็เป็นการทำงานอย่างหนึ่งนะครับ เพียงแต่คุณต้อง วางแผนแล้วทำด้วย ไม่ใช่แค่เอาแต่วางแผนอย่างเดียว ไม่ทำอะไรเลย

แนวคิดที่ 9 – ผู้ประกอบการที่ดีต้องทำเร็วและมีโฟกัสด้วย

คนที่ประสบความสำเร็จ ไม่ใช่คนที่ทำได้ทุกอย่างแต่เป็นคนที่ทำแต่ ‘สิ่งที่จำเป็นเท่านั้น’ ในหนึ่งวัน ผู้ประกอบการมีหลายร้อยอย่างที่ต้องทำแต่ในความเป็นจริง งานที่สำคัญมีแค่สี่ถึงห้าอย่างเท่านั้น หัวใจของการบริหารธุรกิจคือการโฟกัสในตัวงานที่สำคัญ และถ้าคุณไม่สามารถทำได้ สิ่งที่รอคุณอยู่คือความล้มเหลวนั้นเอง

ผู้ประกอบการบางคนจมอยู่แต่กับความเร็วในการทำงาน จนสุดท้ายแล้วก็รับงานมาทำทุกอย่าง มันง่ายที่จะจมอยู่กับโอกาสทางธุรกิจหลายอย่างรอบตัว แต่ถ้าเราไม่เลือกซักหนึ่งอย่างแล้วทำมันให้ดี มันก็เหมือนว่าเราไม่มีเป้าหมายอะไรเลย

แนวคิดที่ 10 – ผู้ประกอบการคือผู้บริหารความเสี่ยง

ธุรกิจและความเสี่ยงเป็นสิ่งที่แยกจากกันไม่ได้ ผู้ประกอบการบางคนอาจจะไม่กลัวความเสี่ยงอะไรเลย บางคนอาจจะกลัวมากจนไม่กล้าทำอะไร แต่ผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จคือคนที่สามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีที่สุด

บริหารความเสี่ยงคือการที่เรารับรู้ถึงข้อดีข้อเสียของทุกการตัดสินใจ และสามารถหาตัวเลือกที่ส่งผลดีมากกว่าผลเสียให้กับธุรกิจได้เป็นส่วนมาก มันไม่สำคัญว่าคุณจะกลัวหรือไม่กลัว เพราะสิ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ‘คุณจะตัดสินใจได้ดีแค่ไหน’

สังเกตว่าผมไม่ได้บอกว่า ‘ความกลัว’ เป็นสิ่งที่ไม่ดี เพราะความกลัวจะเป็นสิ่งที่เตือนให้เราทำอะไรให้รอบคอบเสมอ สิ่งที่สำคัญคือเวลาเรากลัว เราต้องหาวิธีเอาชนะความกลัวและลดความเสี่ยง แทนที่จะหยุดทำเพราะกลัวที่จะพลาด

แนวคิดที่ 11 – ผู้ประกอบการต้องบริหารอารมณ์ตัวเองก่อนที่จะหมดไฟ

เวลาเราทุ่มเทกับอะไรมากๆ ต่อให้ผลลัพธ์มันออกมาดีแค่ไหน ซักวันหนึ่งเราก็อาจจะหมดไฟได้ การหมดไฟเป็นของผู้ประกอบก็เหมือนกับจุดตายของธุรกิจเลย ผู้ประกอบการที่หมดไฟจะไม่สามารถผลักดันธุรกิจไปต่อได้อีกต่อไป เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผู้ประกอบการต้องทำก็คือการบริหารอารมณ์ ด้วยการบริหารเวลาพักผ่อนของตัวเอง อย่าคิดว่าตัวเองหรือพนักงานเป็นเครื่องจักรที่ทำงานได้ตลอดเวลา ให้คิดว่าทุกคนต้องมีเวลาในการซ่อมบำรุงเช่นกัน

แนวคิดที่ 12 – ผู้ประกอบการไม่ใช่คนเห็นแก่ตัว

หมายความว่าตัวผู้ประกอบการเองไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการทำธุรกิจ สิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันคือพนักงานและลูกค้า หากผู้ประกอบการเลือกแต่จะทำกำไรโดยไม่สนใจพนักงานหรือลูกค้า ในระยะยาวธุรกิจจะมีปัญหาอย่างแน่นอน การช่วยคนอื่นเป็นวิธีสร้างคอนเนคชั่นที่ดีที่สุดของผู้ประกอบการด้วย นอกจากนี้แล้วการทำอะไรเพื่อคนอื่นยังช่วยแก้ปัญหา ‘หมดไฟ’ ได้อีก

การให้คือการที่เราเลือกลงทุนในสิ่งที่อาจจะวัดค่าไม่ได้ในระยะสั้น และมันก็ใช้ได้กับการทำธุรกิจด้วย ยกตัวอย่างเช่นการที่เราให้สินค้าตัวอย่างกับลูกค้าเพื่อให้ลูกค้าลองใช้ก่อน หรือการแถมบริการเพิ่มเติมนิดหน่อยเพื่อซื้อใจลูกค้าเช่นกัน เราอาจจะไม่ถึงขนาดให้ทุกอย่างจนธุรกิจขาดทุน แต่เราเลือกที่จะให้ในสิ่งที่เราให้ได้เพราะเราคิดว่ามันจะส่งผลดีต่อทุกฝ่าย

แนวคิดที่ 13 – ผู้ประกอบการต้องมีจรรยาบรรณในการทำงาน

เหนือจากการเป็นคนไม่เห็นแก่ตัวแล้ว คุณต้องมีจรรยาบรรณในการทำงานมากกว่าคนอื่นด้วย จรรยาบรรณที่ดีรวมถึงการที่คุณเข้าบริษัทเร็วกว่าคนอื่นและออกจากบริษัทช้ากว่าคนอื่น หรือหมายถึงการที่คุณเลือกที่จะปฏิบัติต่อพนักงาน ลูกค้า หรือคู่ค้าทางธุรกิจด้วยความจริงใจเป็นต้น

เวลาคุณมีปัญหามากมายที่ต้องแก้ในแต่ละวัน บางครั้งมันก็คงง่ายกว่าที่จะเลือกเมินปัญหาหรือเลือกตัวเลือกที่ทำให้เราสบายกว่า แต่สำหรับโลกการทำธุรกิจที่การติดในอันน้อยนิดของเราอาจจะมีผลต่อทั้งชีวิตของพนักงาน หรือของลูกค้า เราก็ต้องคิดให้เยอะ และเลือกตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด

หากคุณคิดว่าคุณเริ่มมีปัญหาในการตัดสินใจเรื่องพวกนี้ ให้คุณลองเขียนหลักจรรยาบรรณ (Code of Ethics) พื้นฐานของธุรกิจคุณออกมาก่อน อะไรที่ไม่ตรงกับหลักจรรยาบรรณนี้และไม่ทำให้บริษัทเสียหายมากก็ให้คุณเลิกทำเลย ส่วนหากหลักจรรยาบรรณมันขัดกับรายได้หลักธุรกิจ คณก็ต้องมาดูโครงสร้างธุรกิจของคุณอีกทีแล้วว่ามันพัฒนามากกว่านี้ได้หรือเปล่า

เรื่องจรรยาบรรณเป็นสิ่งที่นักธุรกิจทุกคนควรมี (จริงๆ มนุษย์ทุกคนก็ควรมี) สามารถอ่านได้ที่นี่ จริยธรรมทางธุรกิจคืออะไร

แนวคิดที่ 14 – ผู้ประกอบการต้องเป็นผู้นำที่ดี

คุณไม่สามารถบริหารธุรกิจคนเดียวได้ ผู้ประกอบการที่ดีต้องสามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นและโน้มน้าวคนได้ ซึ่งรวมถึงพนักงาน ลูกค้า และ คู่ค้าทางธุรกิจทั้งหลาย

ผู้นำที่ดีจะรู้ว่าต้องกระจายงานยังไงและสามารถทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของลูกค้าเยอะขึ้นด้วย หากคุณสามารถกระจายงานและโน้มน้าวพนักงานได้ ผลผลิตทางธุรกิจของคุณก็จะเพิ่มขึ้นสองเท่า สิบเท่า ร้อยเท่าเลยทีเดียว (ลองอ่านบทความเรื่อง คุณสมบัติ HR ที่ดี และ Leadership ภาวะผู้นําคืออะไร)

และเนื่องจากว่าคุณไม่จำเป็นต้องทำงานทุกอย่างด้วยตัวเองแล้ว คุณเลยมีเวลามาโฟกัสกับงานที่สร้างมูลค่าให้กับธุรกิจได้มากกว่า เช่นการหาลูกค้าเพิ่ม การตีตลาดใหม่ หรือการหาเงินลงทุนเป็นต้น แน่นอนว่างานใหม่ก็ต้องใช้ความสามารถในการโน้มน้าวเช่นกัน

แนวคิดที่ 15 – ผู้ประกอบการต้องดูแลสุขภาพตัวเอง

แนวคิดนี้เป็นแนวคิดส่วนตัวของผมเอง มันเป็นเรื่องง่ายที่ผู้ประกอบการไฟแรงจะอดหลับอดนอน ลืมกินข้าวเพื่อทำงานให้เสร็จ แน่นอนว่าในระยะสั้นหรือในบางช่วงของการทำงาน มันอาจจะเป็นสิ่งสำคัญที่คุณต้องส่งงานให้ลูกค้าให้ทัน แต่ในระยะยาวยาวแล้วมันจะทำให้สุขภาพของคุณย่ำแย่

สิ่งที่คุณต้องมองให้เห็นก็คือสภาพของธุรกิจคุณในอีกสิบปีข้างหน้า หากคุณทำงานตอนปัจจุบันให้ดี แต่ในอนาคตตอนคุณอายุสามสิบหรือสี่สิบ ที่คุณไม่สามารถทำงานอดหลับอดนอนได้แล้ว ธุรกิจของคุณจะเป็นยังไง

หน้าที่ของเจ้าของกิจการอีกอย่างก็คือการดูแลสุขภาพของตัวเอง ด้วยการควบคุมอาหาร และออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ หากคุณคิดว่างานของคุณล้นมือ มันอาจจะไม่ได้แปลว่าคุณขยันหรือรายได้เยอะ แต่มันอาจจะแปลว่าคุณบริหารและแบ่งงานไม่พอหรือเปล่า ลงทุนกับธุรกิจเป็นเรื่องดี แต่ธุรกิจที่อยู่ไม่ได้เพราะคุณป่วยมันก็ไม่ใช่ธุรกิจที่ดีเช่นกัน

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการ คือการทำตามคนที่สำเร็จแล้ว

แนวคิดการเป็นผู้ประกอบการที่ประสบความสำเร็จ มาจากการที่เราเข้าใจว่าคนที่อยู่ในจุดสูงสุดของวงการเค้าทำงานกันยังไง หากเรามองเห็นในสิ่งที่ผู้ประกอบการเจ้าใหญ่เห็นแล้ว เราก็จะสามารถทำตาม และผลักดันให้กิจการของเราไปสู่จุดที่สูงกว่านี้ได้เช่นกัน

หากผู้ประกอบการหรือคนที่อยากเป็นผู้ประกอบการคนไหน มีแนวคิดใหม่ที่จะเป็นประโยชน์กับผู้อื่น สามารถเขียนบอกผมได้ในคอมเม้นนะครับ ผมอยากฟังความคิดเห็นจากคนที่มีประสบการณ์คนอื่น หรือคนที่เคยพูดคุยกับคนที่มีประสบการณ์โดยตรงมากๆ

นอกจากนั้น สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด