Innovation หรือ นวัตกรรม คืออะไร? และมีความหมายว่ายังไงบ้าง

Innovation หรือ นวัตกรรม คืออะไร? และมีความหมายว่ายังไงบ้าง

Innovation หรือ นวัตกรรม คืออะไร? เทคโนโลยีกับการทำธุรกิจเป็นของคู่กันมานานแล้ว และความสำคัญนี้ก็เริ่มเยอะขึ้นเรื่อยๆในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ลองคิดดูนะครับ มนุษย์เราใช้เวลาหลายพันปีเพื่อที่จะบินบนท้องฟ้า แต่หลังจากนั้นไม่ถึงห้าสิบปี เราก็สามารถขึ้นไปเดินบนดวงจันทร์ได้แล้ว แต่สิ่งประดิษฐ์และเทคโนโลยีพวกนี้เกี่ยวข้องกับนวัตกรรมยังไงกัน ในบทความนี้เรามาดูกันครับ

นวัตกรรมคืออะไร? (Innovation)

Innovation หรือ นวัตกรรม คือ กระบวนการสร้างมูลค่าด้วยการตอบโจทย์ความต้องการของตลาดจากวิธีการใหม่ๆ นวัตกรรมเป็นสิ่งที่นำมาปรับใช้กับสินค้า บริการ เทคโนโลยี และโมเดลธุรกิจ เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง ความสร้างสรรรค์ และมูลค่าที่สามารถผลักดันการเติบโตของสังคมและเศรษฐกิจของประเทศได้

นวัตกรรมเป็นสิ่งที่มีความใหม่แต่ได้ผลดี…และสามารถเจาะตลาดหรือสังคมใหม่ๆได้

เราจะสังเกตุได้ว่าความหมายของ Innovation หรือนวัตกรรมนั้นขึ้นอยู่กับการสร้างคำตอบใหม่สำหรับตลาดหรือสังคมเดิม เราสามารถใช้เกณฑ์สามอย่างนี้เพื่อช่วยตัดสินว่าการเปลี่ยนแปลงหรือกระบวนการนี้เป็นนวัตกรรมหรือเปล่า

  • มันแปลกใหม่หรือเปล่า? (Novel) ความใหม่กับนวัตกรรมเป็นของคู่กัน บางครั้งกระบวนการอาจจะทำให้ระบบดีขึ้นแต่ไม่ใช่อะไรใหม่ เช่นการปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพแทนที่จะเป็นนวัตกรรม
  • แก้ปัญหาที่สำคัญแค่ไหน? (Solution)ความแปลกใหม่ที่ไม่ได้แก้ปัญหาที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับตลาด เศรษกิจ หรือสังคมอาจจะเป็นแค่ ‘ศิลปะ’ (Arts) ไม่ใช่ว่าศิลปะไม่มีค่าหรือไม่สำคัญนะครับ แต่ศิลปะส่วนมากไม่ได้ถูกออกแบบมาเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งตรงข้ามกับนวัตกรรม
  • สร้างมูลค่ามากแค่ไหน? (Value) ความใหม่ที่ไม่สร้างมูลค่านั้นเรียกว่า ‘สิ่งประดิษฐ์’ (Invention) เราสามารถทำสิ่งประดิษฐ์มาพัฒนาให้มีมูลค่าจนเป็นนวัตกรรมได้ แต่สิ่งประดิษฐ์นั้นต้องผ่านกระบวนการสร้างมูลค่าที่เหมาะกับตลาดหรือกลุ่มลูกค้าก่อน

สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนจำไว้ก็คือ นวัตกรรมเป็น ‘กระบวนการ’ มากกว่าสิ่งของ การสร้างนวัตกรรมอาจจะล้มเหลวได้ แต่ความล้มเหลวก็ไม่ได้ทำให้คุณค่าของกระบวนการในการผลิตนวัตกรรมน้อยลง การมองนวัตกรรมเป็นสิ่งของหรือสิ่งประดิษย์จะทำให้คุณค่าความสำคัญของกระบวนการน้อยลง ซึ่งกระบวนการสร้างนวัตกรรมที่คนพูดถึงบ่อยก็คือ Design Thinking นั่นเอง

คนที่สนใจเรื่อง Design Thinking สามารถอ่านบทความของผมได้ Design Thinking คืออะไร?

อย่างไรก็ตาม นวัตกรรมไม่ได้จำเป็นต้องใช้ในเชิงพาณิชย์เท่านั้น องค์กรไม่แสวงหาผลกำไรก็สามารถสร้างนวัตกรรมได้เช่นกัน แต่ ‘เกณฑ์’ การตัดสินมูลค่าอาจจะเปลี่ยนไปจากรายได้และกำไรไปเป็นผลกระทบต่อสังคมเป็นต้น

แต่เราไม่อาจจะปฏิเสธได้ว่า ‘การนำนวัตกรรมไปสู่สังคมหรือตลาดหลัก’ เราก็จำเป็นต้องดู ‘ความเป็นไปได้ทางการเงินด้วย’

ลักษณะของนวัตกรรม คืออะไร?

ความหมายของนวัตกรรมนั้นมีหลากหลายและมีการเลือกใช้คำนี้ในหลายกรณีมาก เรามาลองดูลักษะของนวัตกรรมที่คนทั่วไปยอมรับกันครับ

  • การใช้งานที่แปลกใหม่และมีประโยชน์
  • มีความเกี่ยวข้องกับยุคสมัยหรือกลุ่มผู้ใช้
  • เป็นไอเดียที่เยี่ยมยอด ดำเนินการได้ดี และสื่อสารได้อย่างถูกต้อง
  • มีความเป็นไปได้ และ มีความเกี่ยวข้องกับโมเดลธุรกิจปัจจุบัน และ ถูกมองว่ามีคุณค่าในสายตาลูกค้า
  • การแนะนำสินค้าหรือบริการใหม่ที่เพิ่มมูลค่าให้องค์กร
  • สิ่งใหม่ที่แก้ปัญหาให้ลูกค้า รูปแบบของนวัตกรรมไม่สำคัญ
  • กระบวนการและวิธัที่ธุรกิจจะสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้เรื่อยๆ
  • งานที่สร้างสิ่งที่ลูกค้าในตลาดชอบ และสร้างกำไรได้มหาศาล
  • การดำเนินการของอะไรใหม่ๆ
  • การดำเนินการของไอเดียสร้างสรรค์ที่มีคุณค่า
  • อะไรก็ได้ที่ใหม่ มีประโยชน์ และน่าตื่นเต้น

สาเหตุที่เราเรียกสิ่งพวกนี้ว่า ‘ลักษณะ’ ก็เพราะว่าแต่ละข้อสามารถอธิบายนวัตกรรมได้ แต่ไม่มีข้อไหนสามารถอธิบายทุกสิ่งอย่างที่เป็นนวัตกรรมได้ดีเลย ซึ่งโดยส่วนมากแล้ว ลักษณะของ ‘ความใหม่’ และ ‘ความมีประโยชน์’ ก็ยังเป็นจุดเด่นของนวัตกรรมในมุมมองของหลายคน

สรุปก็คือหากเราอยากจะ ‘จัดหมวดหมู่’ ว่าผลิตภัณฑ์ กระบวนการ บริการ องค์กร หรือไอเดียแบบไหนเป็นนวัตกรรม เราก็ต้องดูว่าสิ่งเหล่านี้ตรงกับลักษณะหลายๆอย่างด้านบนมากแค่ไหน

ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

นวัตกรรมมีอะไรบ้าง

หากพูดถึงนวัตกรรมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในหลายปีที่ผ่านมา เราก็คงไม่ต้องไปหาอะไรไกลเลยครับ มือถือ smart phone เช่นพวก iPhone Android เป็นนวัตกรรมที่เปลี่ยนพฤติกรรมของผู้บริโภคและสามารถสร้างตลาดมูลค่าหลายแสนล้านบาทได้ภายในไม่กี่ปี เรามาลองวิเคราะห์ iPhone ในสมัยที่ออกใหม่ปี 2007 กันดูครับ 

  • iPhone แปลกใหม่หรือเปล่า? iPhone เป็นมือถือที่นอกจากจะสามารถต่ออินเตอร์เนคและมีโปรแกรมรับรองเยอะแล้ว (application) ยังมีวิธีการใช้งาน (user interface) ที่ไม่ว่าใครอายุเท่าไรก็สามารถเข้าใจได้ทันที เป็นมือถือที่เปลี่ยนบทบาทของการใช้ชีวิตของทุกคน 
  • iPhone แก้ปัญหาที่สำคัญแค่ไหน? สิ่งที่แปลกสำหรับ iPhone ก็คือผู้ผลิตสามารถสร้างคำตอบของปัญหาที่คนไม่เคยรู้มาก่อนว่าต้องการ ยกตัวอย่างเช่นเราไม่เคยเข้าใจว่าการมีมือถือเครื่องเดียวที่ทำได้ทุกอย่างเป็นยังไง เราไม่เคยเข้าใจว่าการมีระบบการใช้งานที่เรียบง่ายเป็นยังไง สมัยก่อนยุค iPhone ทุกคนต้องกลับบ้านหรือไปที่ทำงานถึงจะเข้าสู่อินเตอร์เนตได้
  • iPhone สร้างมูลค่ามากแค่ไหน? เราสามารถดูมูลค่าของ iPhone ได้จากความสำเร็จของบริษัท Apple แต่มูลค่าที่แท้จริงมีมากกว่านั้นเยอะมาก การนำโลกเข้าสู่ยุค smartphone ทำให้ตลาดใหม่ๆเช่น Uber Grab หรือแม้แต่ Instagram สามารถเปิดโมเดลธุรกิจใหม่ผ่านทางมือถือเท่านั้นเป็นต้น

ทุกวันนี้นวัตรกรรมที่คนพูดถึงกันเยอะจะเป็นนวัตกรรมเกี่ยวกับเทคโนโลยี แต่ในความเป็นจริงแล้วนวัตกรรมที่ไม่ใช่เทคโนโลยีก็มีอยู่เยอะเช่นกัน การปกครองด้วยประชาธิปไตยก็ถือว่าเป็นนวัตกรรมด้านสังคมและการปกครองในสมัยก่อน ไอศกรีมโซดาโค้กลอยก็คือว่าเป็นนวัตกรรมด้านการอาหารเช่นกัน 

นวัตกรรมมีอะไรบ้าง - iPhone และตัวอย่างของ Innovation หรือ นวัตกรรม

ความสำคัญของนวัตกรรม

ความสำคัญของนวัตกรรมอยู่ที่การพัฒนาและการสร้างคุณค่า อย่างไรก็ตามหากเราอยากจะดูเรื่องนวัตกรรมแล้ว เราก็ควรดูพี่น้องของนวัตกรรมที่เรียกว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) ด้วย

หากเทียบนวัตกรรม (Innovation) กับการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (Continuous Improvement) แล้ว นวัตกรรมจะสามารถเพิ่มมูลค่าได้อย่าง ‘ก้าวกระโดด’ มากกว่า เราจะเห็นได้ว่าการพัฒนาคือการทำให้อะไรซักอย่างดีขึ้น แต่การสร้างนวัตรกรรมคือการสร้างอะไรใหม่ที่ไม่เคยมีอยู่แล้วนำมาพัฒนาสิ่งที่มีอยู่ให้ดีขึ้น ยกตัวอย่างเช่นเราอาจจะทำให้ม้าเราวิ่งเร็วขึ้นได้ แต่เราก็ไม่สามารถสร้างรถยนต์จากการพัฒนาอย่างต่อเนื่องได้เช่นกัน 

คำอธิบายด้านรถยนต์กับม้าเป็นสิ่งทีนักประดิษฐ์หลายคนถกเถียงกันมานาน นักประดิษฐ์ประเภทแรกถือว่า ‘ลูกค้า’ หรือตลาดเป็นคนที่จะบอกเราได้ดีที่สุดว่าเค้าต้องการสินค้าหรือนวัตกรรมแบบไหน

แต่นักประดิษฐ์ประเภทที่สองจะให้ความเห็นว่าลูกค้าไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากได้อะไร หากเราถามคนสมัยก่อนว่าอยากเดินทางแบบไหน เค้าก็จะบอกได้แค่ว่า ‘อยากได้ม้าที่เร็วขึ้น’ มากกว่าอยากได้รถยนต์ ซึ่งสองมุมมองนี้ภายหลังก็ได้ถูกดัดแปลงเป็นขั้นตอนทำวิจัยการตลาดเพื่อหาปัญหาของลูกค้า (pain point) มากกว่าการรอให้ลูกค้าเสนอคำตอบให้เราทั้งหมด

อย่างไรก็ตามนวัตกรรมก็มีความเสี่ยงที่จะล้มเหลวมากกว่าการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง แต่ในยุคสมัยที่ธุรกิจมีคู่แข่งเยอะและมีบริษัทใหม่พร้อมที่จะทำลาย (disrupt) โมเดลการทำธุรกิจแบบเก่าๆอยู่เสมอ การเสาะหานวัตรกรรมก็เป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ ทุกองค์กรและธุรกิจควรที่จะแบ่งการลงทุนและแบ่งทรัพยากรให้เหมาะสมกับโมเดลความเสี่ยงน้อยอย่างการพัฒนาแบบต่อเนื่องและโมเดลความเสี่ยงเยอะเช่นนวัตรกรรม

ประเภทและรูปแบบของนวัตกรรม

นวัตกรรมหมายถึงสิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆที่สามารถสร้างคุณค่าให้กับผู้ใช้หรือลูกค้าได้ แต่ความหมายนี้ก็มีความกว้างมากเหลือเกิน ในบทความส่วนนี้เรามาดูกันว่าลักษณะและประเภทของนวัตกรรมต่างๆมีอะไรบ้าง และเราจะสามารถแยกแยะวัตกรรมชนิดต่างๆได้อย่างไร

4 ประเภทของนวัตกรรม

นวัตกรรมสามารถถูกแยกได้ว่าเป็น Disruptive, Radical, Sustaining และ Incremental ซึ่งจะแตกต่างที่ความแปลกใหม่ของเทคโนโลยี และ ผลกระบทต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งาน โดยนวัตกรรมแต่ละประเภทจะส่งผลกระทบที่แตกต่างต่อตลาดและกลยุทธ์ขององค์กร

Disruptive Innovation หรือ นวัตกรรมแบบก่อกวนทำลาย หมายถึงนวัตกรรมที่มาจากเทคโนโลยีที่ใหม่มากและมีผลกระทบสูงต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งาน โดย Disruptive Innovation มักใช้ในการสร้างตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีมาก่อน ยกตัวอย่างเช่น iPhone

Radical Innovation หรือ นวัตกรรมแบบสิ้นเชิง หมายถึงนวัตกรรมที่มาจากเทคโนโลยีที่ใหม่มากแต่ยังไม่สามารถหาผลกระทบต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานได้ โดย Radical Innovation มักเป็นเทคโนโลยีใหม่ๆที่ยังไม่สามารถหาตลาดหรือช่องทางสร้างกำไรที่ดีได้ ยกตัวอย่างเช่นบริษัท Startup เปิดใหม่ หรือ สินค้าใหม่ที่กำลังถูกผลิตอยู่

Sustaining Innovation หรือ นวัตกรรมแบบยั่งยืน หมายถึงนวัตกรรมที่มาจากเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใหม่มากแต่ก็ยังมีผลกระทบสูงต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานอยู่ดี โดย Sustaining Innovation มักใช้ในการทำให้ตลาดเดิมเติบโตขึ้น เป็นการกอบโกยกำไรโดยไม่ได้หาตลาดใหม่ เช่น การเปิดตัว iPhone รุ่นใหม่

Incremental Innovation หรือ นวัตกรรมแบบต่อยอด หมายถึงนวัตกรรมที่มาจากเทคโนโลยีที่ไม่ได้ใหม่มากและมีผลกระทบสูงต่อลูกค้าหรือผู้ใช้งานต่ำ โดย Incremental Innovation คือการเปิดตัวสินค้ารุ่นใหม่ในตลาดที่มีอยู่แล้ว เช่น การเปิดตัวทีวีรุ่นใหม่

4 ประเภทของนวัตกรรม - types of innovations

Sustaining และ Incremental Innovation คือนวัตกรรมที่พัฒนาไปอย่างเล็กน้อยแต่ถูกพัฒนาเรื่อยๆ จะมีความคล้ายกับหลักการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง (continuous improvement) โดยที่นวัตกรรมนี้ส่วนมากจะถูกมุ่งเน้นไปที่ เร็วกว่า ถูกกว่า และดีกว่า (เน้นที่ความต้องการลูกค้าและธุรกิจมากกว่าเทคโนโลยี)

Disruptive และ Radical Innovation ก็คือ ‘การทดแทนโดยสิ้นเชิง’ หมายถึงการที่กระบวนการ สินค้า หรือวิธีใหม่ๆจะมาทดแทนของเก่าทั้งหมด ในทางตรงข้าม Sustaining-Incremental Innovation จะมุ่งเน้นที่การพัฒนาสินค้า ระบบ หรือบริการที่มีอยู่แล้วให้ดีขึ้นเรื่อยๆ เช่น Radical Innovation คือการพัฒนามือถือ iPhone รุ่นแรก ส่วน Incremental Innovation คือการทำให้มือถือเร็วขึ้น มีภาพชัดขึ้น เป็นรุ่นใหม่ขึ้น

มุมมองว่าการเปลี่ยนแปลงแบบไหนที่เป็นนวัตกรรมบ้างก็ถูกเถียงกันมานาน เพราะมุมมองของคำว่า ‘สิ่งใหม่’ และสิ่งที่ ‘สร้างคุณค่า’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะบอกว่า Incremental Innovation ไม่ใช่นวัตกรรมที่แท้จริงเพราะ ‘การพัฒนาอย่างเล็กๆน้อยๆ’ มีความหมายขัดกับภาพลักษณ์ที่ว่านวัตกรรมต้องเปลี่ยนแปลงทุกอย่างโดยสิ้นเชิง

เราจะเห็นได้ว่าลักษณะของนวัตกรรมนั้นจะถูกตีกรอบด้วย ‘ระยะเวลา’ นวัตกรรมที่ถูกพัฒนาเร็ว ตีตลาดเร็ว ก็จะถือว่าเป็น Radical Innovation ส่วนนวัตกรรมที่พัฒนาช้า ตีตลาดช้า ก็อาจจะถูกมองว่าเป็นแค่การพัฒนาทั่วไป ทั้งๆที่ ‘คุณค่าโดยรวม’ ของนวัตกรรมนั้นอาจจะมีเท่ากันก็ได้ (เช่นสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคม มูลค่าเพิ่มให้กับตลาด)

ในยุคสมัยนี้ที่การเปลี่ยนแปลงนั้นเกิดได้เร็วขึ้นเรื่อยๆ เพราะผู้บริโภคเปิดใจรับเทคโนโลยีใหม่มากขึ้น และแพลตฟอร์มต่างๆก็เอื้ออำนวยให้ (คนใช้มือถือสมาร์ทโฟนมากขึ้น ทุกคนมีอินเทอร์เน็ตใช้) หมายความว่าเทคโนโลยีใหม่ๆก็มีแนวโน้มที่จะติดตลาดเร็วขึ้น ในส่วนนี้เราก็ต้องคอยดูกันว่านิยามของนวัตกรรมจะถูกเปลี่ยนไปหรือเปล่า ติดตลาดเร็วแค่ไหนถึงจะถือว่าเป็น disruption

People don’t know what they want until you show it to them.
That’s why I never rely on market research.
Our task is to read things that are not yet on the page.– Steve Jobs

‘ลูกค้าไม่รู้หรอกว่าตัวเองอยากจะได้อะไร จนกว่าเราจะแสดงให้เค้าเห็น
เพราะฉะนั้นผมถึงไม่เคยพึ่งงานวิจัยตลาด
หน้าที่ของเราคือการอ่านสิ่งที่ยังไม่เคยถูกเขียนมากก่อน’ – สตีฟ จ็อบส์

3 รูปแบบของนวัตกรรม

นวัตกรรมสามารถแยกได้เป็น 3 ประเภทได้แก่ Product Innovation (นวัตกรรมผลิตภัณฑ์) Process Innovation (นวัตกรรมการดำเนินงาน) และ Business Innovation (นวัตกรรมธุรกิจ) ความแตกต่างของนวัตกรรม 3 ประเภทนี้ก็คือเป้าหมายของการใช้นวัตกรรมเพื่อเปลี่ยนแปลง พัฒนา หรือสร้างส่วนต่างๆของธุรกิจ

Product Innovation หรือ นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ คือนวัตกรรมเพื่อทราบผลิตภัณฑ์ขึ้นมาใหม่ และพัฒนาผลิตภัณฑ์เก่าให้ดีกว่าเดิม 

นวัตกรรมผลิตภัณฑ์เป็นนวัตกรรมที่คนส่วนมากคิดถึงเวลาพูดถึง ‘การสร้างนวัตกรรม’ โดยนวัตกรรมส่วนนี้รวมถึงทั้งผลิตภัณฑ์ที่จับต้องได้ และผลิตภัณฑ์ที่จับต้องไม่ได้อย่างการบริการด้วย

Process Innovation หรือ นวัตกรรมการดำเนินงาน คือนวัตกรรมที่ใช้ในการพัฒนาการดำเนินงาน หรือการออกแบบการดำเนินงานขึ้นมาใหม่ 

นวัตกรรมการดำเนินงานอาจจะเป็นนวัตกรรมที่ดูน่าเบื่อในสายตาหลายคน อย่างไรก็ตามนวัตกรรมด้านการดำเนินงานก็เป็นสิ่งอำนวยให้องค์กรสามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ได้ง่ายขึ้น ยกตัวอย่างเช่น การที่โรงงานหันมาพัฒนาเป็นระบบ Lean Manufacturing หรือการที่บริษัทซอฟต์แวร์เปลี่ยนมาใช้กระบวนการทำงานแบบ Agile 

Business Innovation หรือ นวัตกรรมธุรกิจ คือนวัตกรรมที่ใช้เพื่อเปลี่ยนแปลงตลาดหรือ อุตสาหกรรมขนาดกว้าง อาจจะเกิดขึ้นจากการปรับกระบวนการทำงานของธุรกิจที่มีอยู่แล้ว หรือจากธุรกิจใหม่ 

นวัตกรรมธุรกิจ คือผลลัพธ์ที่เกิดจากนวัตกรรมทางผลิตภัณฑ์หรือนวัตกรรมการดำเนินการ เพราะสุดท้ายแล้วผลิตภัณฑ์ใหม่และกระบวนการทำงานที่พัฒนาแล้วก็จะทำให้องค์กรสามารถตอบโจทย์ความต้องการของตลาดได้ดีขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น application อย่าง Uber หรือ Grab ที่เริ่มจากการสร้าง ‘ผลิตภัณฑ์ใหม่’ จนติดตลาดและเปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมจนกลายเป็นนวัตกรรมทางธุรกิจในที่สุด (แต่เนื่องจากว่าสองบริษัทนี้ยังไม่สามารถทำกำไรได้ นักลงทุนส่วนมากก็เลยลังเลที่จะเรียกบริษัทเหล่านี้ว่าเป็นนวัตกรรม)

ประเภทของนวัตกรรม 3 อย่างนี้ยังสามารถรวมกับลักษณะของนวัตกรรมได้ เช่นอาจจะเป็นนวัตกรรมผลิตภัณฑ์แบบสร้างมาอย่างสิ้นเชิง (Radical Product Innovation) หรือนวัตกรรมการดำเนินงานแบบค่อยเป็นค่อยไป (Incremental Process Innovation)

ระบบนวัตกรรม คืออะไร

ความหมายของระบบนวัตกรรมก็คือการสร้างระบบระหว่างเทคโนโลยี ข้อมูล และผู้คน เพื่อที่จะสร้างนวัตกรรมอย่างต่อเรื่อง ทุกตัวแปลในระบบนวัตกรรมคือกลไกในการผลิตกระบวนการใหม่ สินค้าใหม่ หรือบริการใหม่เป็นต้น

ยิ่งเป็นองค์กรที่มีขนาดใหญ่ ความเสี่ยงของการผลิตนวัตกรรมก็มีเยอะขึ้น เพราะฉะนั้นความสำคัญของการสร้างระบบนวัตกรรมก็มีเยอะขึ้นด้วย ระบบนวัตรกรรมสามารถแบ่งตามขนาดของระบบนั้นๆ ได้แก่ 

  • ระบบนวัตกรรมแห่งชาติ (national innovation systems)
  • ระบบนวัตกรรมระดับภูมิภาค (regional innovation systems)
  • ระบบนวัตกรรมท้องถิ่น (local innovation systems)
  • ระบบนวัตกรรมทางเทคโนโลยี (technological innovation systems)
  • ระบบนวัตกรรมประจำภาค (sectoral innovation systems)

ซึ่งตัวแปลในแต่ละระบบนวัตกรรมก็จะต่างกัน ระบบนวัตกรรมชาติอาจจะมีตัวแปลมากกว่าและหลากหลายกว่าระบบนวัตกรรมท้องถิ่น แต่ก็มีความสำคัญและส่งผลกระทบต่อสังคมหรือเศรษฐกิจได้มากกว่าด้วยเช่นกัน

Technology และบทบาทในองค์กร

ในยุคที่เทคโนโลยีเข้ามาช่วยพัฒนาวิถีการใช้ชีวิตของทุกคน เราจะเห็นได้ว่ามันเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้เลยที่ทุกองค์กรต้องยอมรับการใช้ เทคโนโลยี

ข้อดีอย่างแรกของเทคโนโลยีก็คือประสิทธิภาพที่มากขึ้น การสื่อสารสมัยใหม่เช่นอีเมลหรือการใช้ application อย่าง Line ช่วยให้คนในองค์กรสื่อสารกันได้เร็วขึ้นมาก การสื่อสารที่เร็วขึ้นก็ทำให้ความสำคัญของระดับชั้นในองค์กรน้อยลง และ ทำให้ความเร็วในการบริหารงานมากขึ้นด้วย เจ้าของบริษัทสามารถส่งอีเมลฉบับเดียวถึงพนักงานทุกคนโดยไม่ต้องจองเวลาบริษัทสองสามชั่วโมงเพื่อประชุมตอนเช้าเป็นต้น 

การสื่อสารยังทำให้การเข้าถึงขององค์กรต่อลูกค้าหรือคู่ค้าทางธุรกิจมากขึ้นด้วย บริษัทที่มีสาขาเดียวสามารถเข้าถึงลูกค้าทั่วประเทศหรือทั่วโลกได้ผ่านสื่อออนไลน์ และการเข้าถึงที่มากขึ้นนี้ทำให้บริษัทขนาดเล็กที่มี ‘อำนาจการสื่อสาร’ น้อยกว่าบริษัทขนาดใหญ่ได้ถูก ‘แย่งลูกค้า’ ไป

กรณีในสมัยก่อนที่ร้านค้าเล็กสามารถอยู่ได้เพราะมีทำเลดี ‘อยู่ห่างจากคู่แข่ง’ ก็เริ่มเห็นได้น้อยลงเรื่อยๆ การเข้าถึงที่มากกว่านี้ทำให้โมเดลการทำธุรกิจที่ ‘กำไรต่อการซื้อน้อย’ หลายอย่างสามารถโตได้เร็วขึ้นด้วยประหยัดจากขนาดอีกด้วย (economy of scale)

เทคโนโลยีและนวัตรกรรมยัง ‘เปิดเผย’ ข้อมูลที่เราไม่เคยเห็นมาก่อนได้อีกด้วย ในยุคก่อนนี้บริษัทสามารถเข้าถึงลูกค้าได้ผ่านทาง ‘ช่องทางการตลาด’ และ ‘ทำเล’ เท่านั้น แต่ในสมัยนี้เครื่องมืออย่าง Facebook และ Google สามารถแบ่งแยกกลุ่มลูกค้า (Segmentation) ได้ละเอียดและแม่นยำกว่าเดิมมาก

ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อสร้างสินค้าหรือบริการใหม่ หรือสร้างนวัตกรรมใหม่เพิ่มเติมได้อีก หลายองค์กรเริ่มที่จะสนใจด้านการวิเคราะห์ข้อมูล business intelligence & data analytics กันมากขึ้น

สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด