Facebook กลุ่มลับและกลุ่มปิดคืออะไร? (Private และ Hide Group)

Facebook กลุ่มลับและกลุ่มปิดคืออะไร? (Private และ Hide Group)

ไม่ว่าจะเป็นการสร้างกลุ่มมาคุยเรื่องทำอาหาร หรือจะเป็นกลุ่มเพื่อเรียนคอร์สออนไลน์ เราก็จะเห็นได้ว่าในสมัยนี้การใช้งานของ ‘กลุ่ม Facebook’ นั้นมีความหลากหลายมากขึ้น และหนึ่งในปัญหาที่ตามมาก็คือ ‘คำศัพท์ต่างๆ’ ทั้งคำว่ากลุ่มลับ กลุ่มปิด 

ในบทความนี้เราจะมาดูกันเรื่องกลุ่ม Facebook (Facebook Group) ว่ามีอะไรบ้าง และแต่ละอย่างทำอย่างไรได้

Facebook กลุ่มลับและกลุ่มปิดคืออะไร? 

Facebook กลุ่มส่วนตัว (Private) ก็คือกลุ่ม Facebook ที่ต้องได้รับการอนุมัติจากผู้ดูแลกลุ่มถึงจะสามารถเห็นข้อมูลหรือโพสต์ต่างๆในกลุ่มได้ 

ในอดีต Facebook จะการแบ่งแยกเพิ่มมาอีกก็คือ กลุ่มลับ (Secret Group) อย่างไรก็ตาม ณ ปัจจุบัน Facebook ก็ได้ทำการรวมทั้งสองอย่างเข้าด้วยกันเป็น ‘กลุ่มส่วนตัว’ (Private Group) อย่างเดียว ซึ่ง Private Group ก็จะมีคุณสมบัติต่างๆของทั้งกลุ่มลับ (Secret Group) และ กลุ่มปิด (Closed Group) มารวมด้วยกัน

ซึ่งกลุ่มส่วนตัวก็ทำอะไรได้หลายอย่าง ตั้งแต่การทำกลุ่มระหว่างเพื่อนในกลุ่มหรือคนในบริษัทที่ไม่อยากให้คนนอกมองเห็น หรือที่ยุคนี้ก็อาจจะรวมถึงกลุ่มลับที่ทำขึ้นมาเพื่อให้คนสามารถเรียนคอร์สออนไลน์ แล้วก็ใช้ Facebook เพื่อพูดคุยสอบถามเจ้าของคอร์สได้ 

แต่ก่อนอื่นก็ต้องขออธิบายไว้ก่อนว่า ถึงแม้ Facebook จะไม่ได้ใช้คำศัพท์ว่ากลุ่มลับ/กลุ่มปิดแล้ว แต่หลายๆคนก็ยังใช้คำศัพท์นี้กันอยู่แทนคำว่า Private Group (ที่ Facebook เรียกกลุ่มส่วนตัว) เอาเป็นว่าในสมัยนี้หากใครใช้คำว่ากลุ่มลับ/กลุ่มปิด ก็ให้เข้าใจว่าเป็นกลุ่มแบบเดียวกัน…ซึ่งก็จะมีการปรับรายละเอียดการเข้าถึงของกลุ่มไม่เหมือนกัน (ถ้างงก็ไม่เป็นไร เดี๋ยวภายหลังจะอธิบายเพิ่ม)

คุณสมบัติของ Facebook Private Group

‘กลุ่มส่วนตัว’ (Private Group) เป็นกลุ่มที่คนภายนอกไม่สามารถเห็นรายละเอียดข้อมูลโพสในกลุ่มได้ ซึ่งกลุ่มส่วนตัวก็สามารถปรับเพิ่มได้ให้คนภายนอกไม่สามารถค้นหาเจอ (กลุ่มส่วนตัวที่ถูกซ่อน หรือ Hidden Private Group) และคนอื่นจะเข้าร่วมกลุ่มได้ต่อเมื่อถูกเชิญชวนเท่านั้น 

เพื่อให้เราเปรียบเทียบได้ง่ายขึ้น ผมจะขออธิบายชนิดของกลุ่มต่างๆใน Facebook อีกทีนึงนะครับ

Public (กลุ่มเปิด) – กลุ่มที่คนทั่วไปสามารถค้นหาเจอได้ และ สามารถเห็นเนื้อหาข้างในได้ ถึงแม้ว่าจะไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เหมาะสำหรับการทำข้อมูลให้เข้าถึงคนได้เยอะๆ

Private Group – Visible (กลุ่มส่วนตัวแบบมองเห็นได้) – กลุ่มที่คนทั่วไปสามารถค้นหาเจอได้ และ แต่จะไม่สามารถเห็นเนื้อหาข้างในได้ หากไม่ได้อยู่ในกลุ่ม เหมาะสำหรับการทำข้อมูลให้เข้าถึงคนเฉพาะกลุ่ม แต่ก็ไม่ได้ปิดกั้นคนที่สนใจจริงๆ

Private Group – Hidden (กลุ่มส่วนตัวแบบมองไม่เห็น) – กลุ่มที่คนทั่วไปจะไม่มีทางค้นหาเจอหรือเห็นเนื้อหา จนกว่าจะมีการเชิญชวนจากคนดูแลกลุ่ม เหมาะสำหรับการเก็บข้อมูลลับ อย่างการขายคอร์ส เป็นต้น

ส่วนรายละเอียดต่างๆว่าคนในกลุ่มจะโพสต์เองได้หรือเปล่า หรือคอมเม้นท์ได้อย่างได้ หรือแอดมินจะปิดกั้นคำบางคำหรือเปล่า ก็ขึ้นอยู่กับกฎเกณฑ์ของแต่ละกลุ่มอีกทีนึง ไม่ได้ขึ้นอยู่กับชนิดของกลุ่ม ในส่วนนี้ผู้ดูแลสามารถตั้งกฏเองได้ 

นอกจากนั้น Facebook ก็ยังมีการ ‘ทดลอง’ อะไรใหม่ๆเรื่อยๆ อย่างในตอนนี้ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้กดขอเข้ากลุ่ม แต่ถ้าเราถูกเชิญชวนให้เข้ากลุ่ม (invite) จากเพื่อนหรือคนดูแล บางทีเราก็จะสามารถเห็นข้อมูลในกลุ่มส่วนตัวได้ในระยะเวลาหนึ่ง (30 วัน) เพียงแต่ว่าฟิเจอร์นี้อาจจะไม่ได้เป็นฟิเจอร์ที่ทุกคนได้เท่านั้นเอง 

อีกหนึ่งเรื่องที่อาจจะต้องอธิบายเพิ่มนิดหน่อยก็คือ การเปลี่ยนสถานภาพของกลุ่ม ยกตัวอย่างเช่น หากตอนนี้เราทำเป็นกลุ่มเปิด (Public) แต่พอคนเริ่มเยอะ เราควบคุมคนไม่ได้ เราก็อยากจะลดจำนวนคนเข้าด้วยการเปลี่ยนเป็นกลุ่มส่วนตัว (Private) ซึ่งก็ทำได้ครับ 

กลุ่มที่มีสมาชิกต่ำกว่า 5000 คน จะสามารถเปลี่ยนรูปแบบของกลุ่มได้ (Private-Public) แต่ถ้ามีจำนวนสมาชิกมากกว่า 5000 เมื่อไร เราจะไม่สามารถเปลี่ยนต่อได้แล้ว

สรุป โพสต์ในกลุ่มปิด เพื่อนเห็นไหม?

สรุปก็คือ โพสต์ในกลุ่มปิด เพื่อนของเราก็จะมองไม่เห็นใน 2 กรณี 1) เพื่อนไม่ได้เป็นคนที่สมาชิกของกลุ่ม และ 2) เพื่อนไม่ได้ถูกเชิญ (Invite) ให้เป็นสมาชิกของกลุ่มในระยะเวลา 30 วัน

หมายความว่าโดยรวมแล้ว เพื่อนของเราไม่น่าจะมองเห็น อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าเราก็ไม่รู้หรอกว่าเพื่อนของเราถูกเชิญเข้ากลุ่มอะไรช่วงไหนบ้าง เราก็ไม่สามารถมั่นใจได้ 100% ว่าจะไม่มีคนไม่รู้จักเรามาเห็นเลย (อาจจะมีโอกาสน้อย แต่ก็ไม่ได้ 0% นะครับ)

คำแนะนำส่วนตัวของผมก็คือ โพสต์อะไรไปก็ได้ที่ทำให้ตัวเองสบายใจ แต่ก็ไม่ทำให้เราเสียใจภายหลังละกันนะครับ ถึงแม้ว่าจะเป็นกลุ่มลับ กลุ่มส่วนตัว กลุ่มซ่อน แต่เราก็ไม่มีทางรู้หรอกว่าคนอื่นๆที่อยู่ในกลุ่มจะเป็นใคร และจะเอาคำพูดของเราไปทำอะไรต่อหรือเปล่า 

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด