50 ข้อแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจเจ๊ง” กับ “ธุรกิจเจ๋ง”

50 ข้อแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจเจ๊ง” กับ “ธุรกิจเจ๋ง”

“ธุรกิจเจ๊ง” กับ “ธุรกิจเจ๋ง”

ทำไมธุรกิจที่เจ๊งมีเยอะ ที่ธุรกิจที่เจ๋งกลับมีน้อย

บางคนเปิดกี่บริษัทก็ไม่รอดซักที แต่บางคนกลับจดทะเบียนบริษัทหลักล้านปีต่อปีเลย

อะไรคือข้อแตกต่างระหว่าง “ธุรกิจเจ๊ง” กับ “ธุรกิจเจ๋ง”

สิ่งที่น่ากลัวที่สุดของธุรกิจที่ไปไม่รอด ก็คือ เจ้าของบางคนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าอะไรทำให้ธุรกิจมันแย่ขนาดนี้…จนถึงวันที่มันล้มลง ซึ่งก็เข้าใจได้ เพราะถ้าคุณรู้ว่าอะไรส่งผลเสียให้กับบริษัท คุณก็คงไม่ทำตั้งแต่แรก หรืออย่างน้อยก็คงพยายามหาทางแก้ในช่วงที่มันยังไม่บานปลาย เจ้าของกิจการบางส่วนเลือกที่จะไม่ยอมรับความจริง และส่วนที่เหลือไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำผิดตรงไหน

แน่นอนว่า ธุรกิจไปไม่รอด ส่วนมากเพราะผู้บริหาร

จำนวนผู้ประกอบการธุรกิจในประเทศไทยแบบ SME มีอย่างน้อย 2 ล้านรายครับ

เป็นตัวเลขที่เยอะมาก แต่ความเป็นจริงมันน่าเศร้าเพราะจะมีแค่ 50% เท่านั้นที่สามารถอยู่รอดได้ และที่แย่กว่าก็คือมีแค่ หนึ่งในสาม ที่จะอยู่ได้ถึงสิบปี ชีวิตของเจ้าของกิจการมันลำบาก ต้องแก้ปัญหามากมาย และมีตัวแปรเยอะมากที่จะทำให้กิจการของคุณเจ๊ง

ธุรกิจเจ๊งได้หลายสาเหตุ ส่วนมากจะมาจากสาเหตุดังนี้

#1 ผู้นำไม่ดีพอ – ธุรกิจไปไม่รอดเพราะผู้นำไม่เก่งพอ ผู้นำธุรกิจต้องสามารถตัดสินใจและเลือกในสิ่งที่ถูกต้องได้ในเวลาที่สำคัญ ตั้งแต่เรื่องบริหารการเงินไปถึงการคุมพนักงานเลย หากคนบริหารทำได้ไม่ดี ฟันเฟืองตัวอื่นในธุรกิจของคุณก็จะไปต่อไม่ได้ เจ้าของกิจการที่ดีต้องเรียนรู้ตลอดเวลา และสามารถสอนและพัฒนาพนักงานได้ด้วย

#2 วางแผนไม่ดีพอ – ธุรกิจจะไปไม่รอดก็เพราะเจ้าของธุรกิจไม่รู้จะไปทางไหนครับ ไม่ว่าจะเป็นแผนในระยะสั้น หรือแผนระยะยาวเกินห้าปี

แผนกิจการของคุณต้องครอบคลุมตั้งแต่สิ่งที่คุณจะทำเดือนหน้าไปจนถึงอีกหลายปีข้างหน้า และต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจนและวัดผลได้ด้วย แผนที่ดีต้องลงรายละเอียดเรียงลำดับสิ่งสำคัญต่างๆพร้อมกับกำหนดวันเวลาในการทำด้วย หากคุณไม่มีแผน ธุรกิจคุณจะลำบาก

#3 ธุรกิจไม่มีข้อแตกต่าง – ในสมัยนี้แค่มีสินค้าที่ดียังไม่พอ คุณต้องสามารถสร้างมูลค่าให้กับลูกค้าที่คู่แข่งคุณทำไม่ได้ด้วย อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณต่างจากคู่แข่ง อะไรคือสิ่งที่ทำให้คุณแตกต่าง คุณต้องเข้าใจว่าอะไรที่คู่แข่งทำได้ดีกว่าคุณ และทำไมถึงทำได้ดีกว่า หากคุณไม่สามารถสร้างความแตกต่างได้ คุณก็จะไม่สามารถสร้างแบรนด์ได้

#4 คุณไม่สนใจความต้องการลูกค้า – ทุกคนก็พูดเสมอว่าลูกค้ามาอันดับหนึ่ง แต่มีไม่กี่บริษัทที่ทำอย่างนั้นได้จริง ธุรกิจที่ไม่เข้าใจลูกค้าตัวเองนั้นล้มแน่นอน

ให้พยายามดูการเปลี่ยนแปลงในความต้องการของลูกค้าเสมอ ดูว่าเค้ายังชอบสินค้าเราอยู่หรือเปล่าลูกค้าอยากได้อะไรใหม่ไหม ลูกค้าพูดว่าอะไรบ้าง คุณได้ฟังหรือเปล่า เจ้าของธุรกิจบางคนบอกว่าเค้าไม่ใส่ใจคำต่อว่าของลูกค้าหรอก…เพราะไม่สำคัญ…เอิ่ม!

#5 ไม่สามารถเรียนรู้จากความผิดพลาดได้ – ธุรกิจล้มเพราะมีอะไรผิดพลาดใช่ไหมครับ แต่เราก็เห็นได้บ่อยว่าเจ้าของกิจการไม่ค่อยอยากจะเปลี่ยนหรือแก้สิ่งที่ผิดเลย ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไรที่ทำให้ธุรกิจล้ม สาเหตุหลักก็คือเจ้าของธุรกิจไม่เข้าใจว่าอะไรผิดหรือไม่สามารถแก้ความผิดพลาดนั้นได้

#6 บริหารได้ไม่ดีพอ – การบริหารไม่ดี มาจากการที่ผู้บริหารไม่รับฟังลูกค้า หรือพนักงานของตัวเอง หรือบางครั้งก็จู้จี้จับผิดมากไปเกินจำเป็น หมายความว่าผู้บริหารไม่มีความเชื่อใจในพนักงานและในระบบ ไม่สามารถสื่อสารได้ดีพอ และไม่ค่อยให้ข้อเสนอปรับปรุงกับพนักงานตัวเอง

#7 ทุนไม่พอ – ทุนไม่พอแปลว่าหาคนลงทุนเพิ่มได้ยากครับ การที่ธุรกิจมีทุนไม่พอสามารถเป็นปัญหาใหญ่ได้ เพราะเงินลงทุนคือความสามารถในการชำระค่าใช้จ่ายต่างๆ หากเงินลงทุนไม่พอธุรกิจอาจจะไม่โตและทำให้การบริหารงานติดขัดได้

#8 ขยายตัวเร็วเกินไป – การขยายบริษัทต้องทำให้ถูกเวลา สรุปง่ายๆ ถ้าโตเร็วไปธุรกิจจะเจ๊ง ยกตัวอย่างเช่นการที่คุณรีบจ้างพนักงานเยอะเกินไป หรือใช้เงินกับการตลาดมากเกินไป

คุณไม่ควรขยายเร็วเกินกว่าที่ (เงินและระบบ) คุณจะรับได้ พวกธุรกิจขายของออนไลน์ส่วนมากจะโดนข้อหานี้ รีบสต็อกสินค้าเยอะ รีบขยายฐานลูกค้าอย่างรวดเร็ว…แล้วก็ขาดทุน ก่อนที่จะโต คุณต้องถามก่อนว่าระบบของบริษัท และตลาดพร้อมหรือยัง

งานวิจัยบอกว่า 70% ของธุรกิจออนไลน์ โตเร็วกว่าที่ควร…จนทำให้เกิดความเสี่ยง

#9 ทำเลไม่ดี – มาถูกเวลาไม่พอ คุณต้องอยู่ให้ถูกที่ด้วย ทำเลดีมีชัยไปกว่าครึ่ง ทำเลไม่ดีก็เหมือนเราไปขายน้ำแข็งในขั่วโลกเหนือ หรือขายทรายในซาฮาร่าครับ…ไม่มีคนซื้อ หากธุรกิจของคุณต้องอาศัยหน้าร้าน การเลือกสถานที่ผิดจะทำให้ต้นทุนในการหาลูกค้าแพงขึ้นมาก

#10 ไม่มีกำไร – รายได้ไม่ใช่กำไร คุณต้องจับตามองกำไรของบริษัทเสมอ กำไรคือสิ่งที่ทำให้บริษัทโต งานวิจัยบอกว่าธุรกิจขนาดเล็กที่มีกำไรมีแค่ 40% อีก 30%เท่าทุน และที่เหลือ…ขาดทุน

#11 บริหารสต็อกไม่ดีพอ –สต็อกน้อยไปก็ขายของยาก สต็อกมากไปก็ขาดทุน สินค้าไหนขายไม่ได้ให้รีบปล่อยไปครับ

#12 บริหารการเงินไม่ดีพอ –ให้หาโปรแกรมการเงินเพื่อจัดเก็บและรวบรวมข้อมูลให้คุณ ข้อมูลการเงินที่ดีจะช่วยคุณทำการตัดสินใจได้เยอะมาก คุณควรทำการตัดสินใจจากตัวเลขจริงเสมอ หากคุณไม่เก่งตัวเลข ให้จ้างคนมาสอนโดยด่วน

#13 ไม่โฟกัส – หากคุณไม่โฟกัส คุณก็จะไม่มีข้อได้เปรียบในการแข่งขัน งบของธุรกิจคุณไม่พอสำหรับการทำทุกอย่างครับ สิ่งสำคัญของธุรกิจคือคุณต้องปรับตัวให้เร็ว และการไม่โฟกัสจะทำให้คุณหมกมุ่นอยู่กับสิ่งที่ไม่จำเป็น

#14 เอาเงินธุรกิจไปใช้เรื่องส่วนตัว – เงินธุรกิจไม่ใช่เงินในบัญชีส่วนตัว หาวิธีให้เงินเดือนตัวเองแล้วเริ่มบริหารเงินให้ถูกต้อง

#15 ขยายมากเกินไป – มันง่ายที่จะคิดว่าคุณสามารถขายของให้ใครก็ได้ ตลาดไหนก็ได้ ก่อนที่จะทำการขยายกลุ่มลูกค้าให้คุณเก็บกำไรจากลูกค้าปัจจุบันให้ดีก่อน

#16 เศรษฐศาสตร์มหภาค (Macroeconomics) เจ้าของกิจการไม่สามารถควบคุมเศรษฐกิจได้ ตัวอย่างที่กระทบต่อบริษัทคือ ช่วงเศรษฐกิจหดตัว สงคราม รัฐบาลมีหนี้เยอะ และ ค่าเงินลอยตัว แน่นอนว่าคุณสามารถลดความเสี่ยงในช่วงเศรษฐกิจไม่ดีได้ เพราะบริษัทใหญ่เค้าก็ทำกันทั้งนั้น

#17 ไม่มีแผนผู้สืบทอด หากวันหนึ่งคุณไม่อยากทำแล้ว ใครจะดูบริษัทต่อให้ คุณต้องคิดถึงเจ้าของบริษัทคนต่อไปเสมอ ไม่อย่างนั้นเวลาคุณป่วย เกษียน หรือตายไปก็คงไม่มีใครทำ

#18 เลือกผู้ถือหุ้นผิด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโดนโกง หรือทิศทางการบริหารไม่ตรงกัน ผู้ถือหุ้นในบริษัทนั้นสำคัญมาก หากคุณได้ผู้ถือหุ้นดี ธุรกิจก็โต หากไม่ดีธุรกิจก็เจ๊ง

หากคุณอยากเป็นเจ้าของกิจการที่ดี ให้ทำตามคำแนะนำนี้

#19 คุณต้องมีแผน – ทุกอย่างเริ่มมาจากการวางแผน เจ้าของกิจการบางคนไม่เคยแม้แต่จะคิดแผนทางธุรกิจตัวเองด้วยซ้ำ แผนธุรกิจที่ดีต้องสั้นและได้ใจความ ผมไม่ได้หมายถึงแผนธุรกิจที่เขียนในมหาลัยส่งอาจารย์นะครับ คุณไม่ต้องเขียนหนังสือเล่มใหญ่ 50 หน้ารวมตารางพยากรณ์กำไรขาดทุนยี่สิบปี สิ่งที่คุณต้องทำคือเขียนอธิบายจุดอ่อน จุดแข็ง กลุ่มเป้าหมายลูกค้า และวิธีการเข้าหาลูกค้า ให้ได้ภายในหนึ่งหรือสองหน้า

แผนธุรกิจของคุณควรมีสิ่งพวกนี้

#20 ค่านิยมองค์กร (Core Value) – ค่านิยมองค์กรคือเป้าหมายที่คุณต้องผลักดันธุรกิจของคุณไปถึงให้ได้ ผมเคยบอกว่าธุรกิจต้องปรับตัว แต่ค่านิยมองค์กรต้องไม่เปลี่ยนครับ ไม่ว่าบริษัทคุณจะมีพนักงานสองคน หรือมีพันคน ค่านิยมของคุณก็จะเหมือนกัน และพนักงานของคุณต้องทำตามค่านิยมนี้ทุกคน ค่านิยมองค์กรที่ใช้กันทั่วไป คือ ความน่าเชื่อถือ ความตรงไปตรงมา การทำงานเป็นทีม และ ความรับผิดชอบ เป็นต้น

#21 เป้าหมายของธุรกิจ (Mission Statement) – คือสิ่งที่บอกว่า ทำไมคุณถึงทำธุรกิจนี้ มันอธิบายถึงสินค้าที่คุณขาย และลูกค้ากลุ่มเป้าหมายของคุณ หากคุณอธิบายได้ดี เพียงแค่ประโยคเดียวก็ทำให้พนักงานและลูกค้าเข้าใจแล้วว่าบริษัทของคุณทำอะไร และทำเพื่ออะไร

#22 ลูกค้าคือใคร –ไม่ใช่แค่การพูดคร่าวๆ แต่คุณต้องทำความเข้าใจให้ได้ ลูกค้าคือใคร มีจำนวนเท่าไร คุณต้องตีออกมาเป็นตัวเลขให้ได้ หากคุณขายโปรแกรมซอฟต์แวร์สำหรับร้านซักรีด คุณต้องรู้ว่าร้านซักรีดในจังหวัด หรือในประเทศมีกี่ร้าน

#23 คุณขายสินค้า/บริการอะไร – มันสำคัญมากที่คุณเขียนและตีความสินค้าและบริการของคุณออกมา สิ่งนี้จะเป็นตัวบอกว่ามันเหมาะกับกลุ่มลูกค้าหรือเปล่า และเราจะพัฒนาต่อยอดหรือปรับเปลี่ยนได้อย่างไร

#24 ให้ลูกค้าเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาสินค้า – ธุรกิจที่อยู่รอดจะคอยดูความต้องการของลูกค้าเสมอ ธุรกิจที่ไปไม่ได้จะชอบเดาว่าลูกค้าอยากได้อะไร…และส่วนมากจะเดาผิด

#25 คุณจะขายสินค้าของคุณยังไง – การขายและการตลาดเป็นปัญหาหลักของธุรกิจเลย คุณมีแผนการตลาดและแผนการขายหรือยัง เผนของคุณมีเป้าหมายที่วัดได้ไหม ต้องทำให้ได้ในช่วงเวลาเท่าไร ที่สำคัญคือคุณต้องมีระบบที่คอยวัดผลและรายงานเป้าหมายพวกนี้ตลอดเวลา

แผนธุรกิจที่เพียงพอไม่จำเป็นต้องมีร้อยหน้า ผมขอเน้นคำว่า ‘เพียงพอ’ เพราะไม่อยากให้ทุกคนมัวแต่ใช้เวลากับการวางแผน…จนไม่ได้เริ่มอะไรซักที สิ่งที่ต้องก้าวข้ามไปให้ได้คือความกลัวและความขี้เกียจ สองอย่างนี้จะทำให้คุณตัดสินใจได้ไม่ดีพอ แผนงานดีแค่ไหน ถ้าเราไม่เริ่มก็แค่นั้น เราต้องอาศัยข้อมูลที่เราได้จากการทำจริงและนำมาปรับระบบเราระหว่างทางด้วยครับ

“ไม่ต้องห่วงหรือกังวลเรื่องความผิดพลาด เพราะหากผิดพลาดก็แค่ลุกขึ้นมาใหม่ ผิดพลาดให้เต็มที่ มันเป็นบทเรียนที่มีค่าสำหรับทุกคน”แจ็ค หม่า, ผู้ก่อตั้ง Alibaba.com

สิ่งแรกที่ควรทำคือเขียนแผนธุรกิจ เขียนให้เสร็จก่อนเริ่มทำอะไรเลย (อาจจะมีต้องไปทดสอบตลาดก่อนเพื่อเก็บข้อมูลบ้าง ไม่เป็นไร) เวลาที่เราเขียนอะไร เราจะคิดตามไปด้วย คุณสามารถเรียนรู้ระหว่างที่คุณเขียนแผนธุรกิจ เป็นโอกาสที่ดีในการทบทวนข้อมูลอีกที เวลาทำธุรกิจ คุณควรตั้งสมาธิตั้งสติก่อนตัดสินใจอะไร หากคุณเขียนแผนธุรกิจแล้วรู้สึกว่า มันไม่ได้น่าสนใจขนาดนั้น หรือมันไม่รอดแน่ เป็นไปได้ว่าคุณคงไม่ได้เชื่อมั่นในไอเดียของคุณอย่างแท้จริง

คุณอาจจะตื่นมาแล้วบรรลุได้ว่าไอเดีย แอพมือถือXYZ จะเปลี่ยนประเทศ หรือเปลี่ยนโลกเลย คุณอาจจะคิดในสิ่งที่ไม่มีใครทำได้มาก่อน แต่ในความเป็นจริง ธุรกิจใหญ่อันดับหนึ่งส่วนมากก็ไม่ได้มีไอเดียเปลี่ยนโลกขนาดนั้น พวกเค้าโตได้เพราะความพยายาม และการพัฒนาสินค้าและระบบทำงานอย่างต่อเนื่อง

หากคุณไม่เตรียมแผนทางธุรกิจ คุณอาจจะเริ่ม ‘เบื่อ’ ธุรกิจของคุณภายหลังได้

#26 แต่ยังไง ความกระตือรือร้นอย่างเดียวก็ไม่พอ – คุณต้องทำอีกหลายอย่างมาก คุณต้องศึกษาตลาด ทำความเข้าใจลูกค้า ดูคู่แข่ง คำนวณงบการเงิน และอีกมากมาย ในขณะที่คุณสู้กับงานทำให้ความฝันของคุณเป็นจริง คุณก็ต้องกลับไปอ่านแผนธุรกิจของคุณอีกครั้ง และอีกครั้ง และอีกหลายครั้ง

สิ่งที่คุณเขียนในแผนธุรกิจจะเป็นเพื่อนช่วยขอเงินกู้กับธนาคาร หรือช่วยคุณตัดสินใจแผนการตลาดที่ดีที่สุด พยายามอย่าใช้ความรู้สึกตัวเองในการเขียนแผนการตลาดนะครับ ให้คิดว่ามันเป็นขั้นตอนในการทำธุรกิจที่มีระบบและเป้าหมายเป็นของตัวเอง

หากคุณเขียนเสร็จแล้วจงถามตัวเองว่า ‘จะมีใครอยากลงทุนในบริษัทนี้มั้ย’ ให้จำไว้เลย คุณต้องโน้มน้าวอีกหลายคนให้ช่วยคุณ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร ผู้ลงทุน หุ้นส่วน หรือลูกค้าบริษัทใหญ่ และพวกเค้าทั้งหมดจะตัดสินบริษัทคุณตามความเป็นจริง จะไม่มีใครอยากลงทุนเพียงเพราะอารมณ์อย่างเดียวแน่นอน

การเขียนแผนธุรกิจ คือการท้าทายไอเดียตัวเอง ยิ่งคุณเขียน คุณจะคิดเยอะขึ้น บางคนอาจจะไม่ชอบการเขียนแผนทางธุรกิจ หรือคิดว่ามันน่าเบื่อเสียเวลา แท้จริงแล้ว มันควรจะเป็นช่วงเวลาที่น่าตื่นเต้นที่สุดในการทำธุรกิจเลย คุณกำลังเขียนอนาคตของตัวเอง

#27 คุณต้องมีความรับผิดชอบ – บางธุรกิจไปไม่รอบเพราะเจ้าของคิดว่ามันเป็นงานอดิเรก คุณควรจริงจังกับธุรกิจของคุณตั้งแต่วันแรกที่เริ่ม คิดว่าตัวเองเป็นพนักงานคนหนึ่ง ตั้งเป้าหมายให้ตัวเอง แล้วรับผิดชอบหน้าที่ในการทำเป้าหมายให้เป็นจริงให้ได้

หากคุณใช้เวลาแค่อาทิตย์ละไม่กี่ชั่วโมง คุณก็ไม่ควรที่จะหวังว่าธุรกิจจะไปไหนได้ไกล คุณตั้งสัญญากับตัวเองว่าจะทำมันให้ดี หาวิธีเรียนรู้ข้อมูลธุรกิจต่างๆ และเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะมาช่วยคุณได้ หากคุณอยากจะใส่ใจแค่ไม่กี่ชั่วโมง คุณก็จะได้ผลตอบทนตามงานไม่กี่ชั่วโมงของคุณเท่านั้น ไม่มีวิธีอื่นหรอกครับ

บางครั้งการทำงานให้กับตัวเองมันไม่มีใครมากระตุ้น ไม่มีใครมากดดันเราเหมือนตอนทำงานบริษัทแล้วต้องรายงานหัวหน้า

หากคุณอยากสร้างความรับผิดชอบให้ตัวเอง

#28 เขียนเป้าหมายของคุณออกมา เก็บเป้าหมายไว้ใกล้ตัว และเอากลับมาดูบ่อยๆ อย่างน้อยเดือนละครั้ง

#29 ตั้งคณะกรรมการที่ปรึกษา

#30 ไปเข้ากลุ่มเจ้าของกิจการ คุณจะได้ข้อแนะนำจากคนทำธุรกิจด้วยกัน กลุ่มที่ดีที่สุดคือกลุ่มที่ธุรกิจของคุณเล็กที่สุด คุณไม่ควรหากลุ่มที่คุณใหญ่ที่สุด หรือประสบความสำเร็จที่สุด ถ้าคุณเป็นธุรกิจที่เล็กที่สุดในกลุ่ม คุณจะโดนกดดันให้โตตามเพื่อนในกลุ่มครับ

#31 หาที่ปรึกษาทางธุรกิจ โดยเฉพาะคนที่เคยสร้างธุรกิจที่ประสบความสำเร็จแล้ว

#32 หาคนมาลงทุนกับบริษัท

#33 เลิกคิด ทำเลย – ไอเดียไม่มีค่าเท่าการกระทำ ไอเดียอย่างเดียวไม่สามารถช่วยธุรกิจคุณได้ คุณจำเป็นต้องเริ่มทำถึงจะเห็นผล มีหลายคนที่เอาแต่คิดอยากทำนู่นอยากทำนี่ แต่เจ้าของกิจการคือคนที่เริ่มทำจริง

และนี่คือวิธีที่เปลี่ยนจากแค่ไอเดีย ไปเป็นการกระทำ

#34 เชื่อว่าคุณทำได้ – ไม่ใช่การหลอกตัวเอง แต่หากคุณคิดว่าคุณทำไม่ได้ตั้งแต่แรก คุณก็คงไม่สามารถทำมันได้จริงๆ

#35 หาพี่เลี้ยง (Mentor) – ให้ลองหาคนที่ประสบความสำเร็จในชีวิตรอบตัวคุณ และสร้างคอนเนคชั่นใหม่ๆ การหาพี่เลี้ยงจะทำให้คุณเข้าใจว่าการเป็นนักธุรกิจมันต้องทำยังไงบ้าง

#36 ลดความเสี่ยง แต่ก็ทำความเข้าใจว่าบางครั้งมันก็เลี่ยงไม่ได้

#37 เข้าใจว่ามันใช้เวลา – ไอเดียมาเร็ว แต่การจะทำให้ได้มันต้องใช้เวลา ต่อให้ทุกอย่างมันเป็นไปได้ด้วยดี คุณก็คงใช้เวลาในการทำพอสมควรเลย

#38 ทำให้คนอื่นเชื่อในตัวคุณเจ้าของกิจการเป็นผู้ขายไอเดียที่เก่ง ซักวันคุณต้องโน้มน้าว ผู้ขาย หุ้นส่วน เจ้าของที่ นักลงทุน พนักงานและคนอื่น ๆ

#39 เตรียมล้ม – ไม่ต้องกลัวว่าจะทำพลาด เพราะสิ่งที่แน่นอนที่สุดคือ คุณคงต้องทำพลาดเยอะมากกว่าจะทำสำเร็จ ให้คาดไว้เลยว่าต้องล้ม แต่อย่ากลัว ให้คุณคิดว่ามันเป็นส่วนธรรมดาส่วนหนึ่งของธุรกิจ

ความล้มเหลวเป็นสิ่งที่จำเป็น และอาจจะดีกับธุรกิจคุณด้วยซ้ำ มันคือสิ่งที่จะสอนคุณ และช่วยคุณตัดสินใจครั้งหน้าได้ดีขึ้น มันสำคัญมากที่คุณเข้าใจว่าล้มเหลวไม่ได้แปลว่าเลิกทำ มีแต่คนที่เริ่มทำที่จะทำพลาดได้ และมีคนที่เริ่มทำที่จะสำเร็จได้

#40 เปลี่ยนทิศทาง, พัฒนา และทำซ้ำ – นักธุรกิจที่ดีต้องปรับตัวตลอดเวลา มีเหตุผลให้เปลี่ยนมากมาย ลูกค้าอาจจะอยากได้สินค้าแบบใหม่ เศรษฐ์กิจอาจจะแย่ลงจนลูกค้าหลักเจ๊งไป หรือ ราคาวัตถุดิบอาจจะขึ้น

ธุรกิจของคุณอยู่ในสภาวะที่มีการเปลี่ยนตลอดเวลา หากคุณเก่ง คุณจะสามารถสังเกตและปรับตัวได้ก่อน ธุรกิจส่วนมากไปไม่รอดเพราะเจ้าของไม่สนใจโลกที่เปลี่ยนแปลง

#41 โฟกัสที่ลูกค้าคุณ –ลูกค้าคือคนที่ทำให้เราอยู่ได้ และทำให้เราเจ๊งได้ด้วย หากคุณรับฟังลูกค้า คุณจะสามารถพัฒนาสินค้าและบริการของคุณ หากคุณไม่ฟัง ลูกค้าก็จะไล่คุณออก ลูกค้าไม่ได้หายไปไหน เค้าไปซื้อกับคู่แข่งคุณนั่นเหล่ะ ให้เข้าหาลูกค้า ถามคำถามให้เยอะ ถามว่าชอบหรือไม่ชอบอะไร คุณต้องยอมรับคำต่อว่าให้ได้ คำต่อว่าคือโอกาสที่คุณจะพัฒนา

#42 อย่าขาดทุน –กำไรจะแก้ปัญหาของคุณได้หลายอย่าง ต่อให้ขายดีแค่ไหน ถ้าคุณขาดทุนคุณก็เจ๊งอยู่ดี ไม่ต้องสนใจยอดขาย หรือรายได้มาก ไม่ต้องสนใจจำนวนลูกค้า สนใจอย่างเดียวคือกำไร

#43 บริหารกระแสเงินสด –เจ้าของกิจการหลายคนสับสนระหว่างกำไรและกระแสเงินสด สองอย่างนี้ไม่เหมือนกัน ต่อให้คุณมีเงินเข้ามาในบัญชีเยอะ คุณก็เจ๊งได้ หากจะทำธุรกิจให้รอด

คุณต้องมีมากกว่ากระแสเงินสด คุณต้องมีกระแสเงินสดเป็นบวก (Positive Cash Flow) กระแสเงินสดเป็นบวก คือตอนที่คุณมีเงินเข้ามา มากกว่าเงินที่ออกไป บางทีหลายคนก็ลืมนึกเรื่องนี้ และเข้าสู่สภาวะกระแสเงินสดติดลบ (Negative Cash Flow) โดยไม่รู้ตัว หรือก็คือเวลาเงินออกมากกว่าเงินที่เข้ามานั่นเอง คุณไม่ควรปล่อยให้มีกระแสเงินสดติดลบ

วิธีปรับปรุงกระแสเงินสดของธุรกิจคุณคือ

#44 รับเงินมาก่อน ให้ลูกค้าชำระเงินล่วงหน้าส่วนหนึ่ง หรือทั้งหมด

#45 เลือกให้ดีว่าจะปล่อยเครดิตให้ใคร เป็นไปได้อย่าทำ

#46 เพิ่มยอดขาย

#47 สร้างแรงจูงใจในการจ่ายเงินล่วงหน้า

#48 เตรียมกู้เงินเผื่อในกรณีฉุกเฉิน

#49 ภัยพิบัติเกิดได้จริง – ถึงแม้ Warren Buffet จะไม่ชอบเข้าไปยุ่งกับการบริหารของบริษัทที่เค้าลงทุน Warren ก็ยังขอให้ CEO ของแต่ละบริษัททำรายงานเวลาธุรกิจเกิดปัญหาใหญ่ รายงานถึง Warren จะเป็นกระดาษหนึ่งหน้าที่อธิบายถึงประเด็นสำคัญทั้งหมดในบริษัท ผมเข้าใจว่ากระดาษแผ่นเดียวอาจจะน้อยไปหน่อย แต่สิ่งที่จะสื่อก็คือคุณจำเป็นต้องเตรียมตัวและเตรียมใจเวลาเจอปัญหาครับ

#50 ธุรกิจจะเจ๋ง ต้องแก้ปัญหาที่คาดไม่ถึงได้ –  ไม่ใช่แค่ต้องคิดว่า ‘ปัญหาอะไรจะเกิดขึ้น’ แต่ต้องคิดด้วยว่า ‘เกิดขึ้นได้เมื่อไร’ ถ้าเซลที่เก่งที่สุดของคุณลาออกพรุ่งนี้ คุณจะทำยังไง อะไรจะเกิดขึ้น จะหาคนใหม่มาแทนได้เมื่อไร คุณมีระบบรับรองปัญหาพวกนี้มากน้อยแค่ไหน

ระบบคือสิ่งสำคัญในการ ‘บรรเทาภัยพิบัติ’ ให้ลองคิดว่าส่วนสำคัญในบริษัทคุณอยู่ที่ไหน และทำความเข้าใจว่าหากส่วนนั้นหายไปคุณจะฟื้นตัวได้เร็วแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น หากคุณมีเวปขายของออนไลน์ ถ้าวันหนึ่งเวปคุณล่มขึ้นมา คุณมีแผนสำรองไหม คุณเคยคุยกับบริษัทไอทีเพื่อสร้างแบ็คอัพไว้หรือเปล่า คนต้องมีระบบที่จะกู้สถานการณ์ได้ภายในไม่ถึงวันนะครับ แต่ไม่ต้องคิดจนเป็นโรคระหวาดระแวงไป แค่พยายามสร้างระบบขึ้นมาก็พอ

สุดท้ายนี้

โลกแห่งธุรกิจไม่ค่อยเปิดโอกาสให้คุณทำพลาดเยอะหรอก หากคุณทำผิดหลายอย่าง ในตอนจบความผิดพลาดทุกอย่างมันก็จะทับถมรวมกัน ลูกค้าคุณไปซื้อกับคู่แข่ง พนักงานลาออก หุ้นส่วนเริ่มไม่เห็นด้วยกับการตัดสินใจ และ ความผิดพลาดอีกหลายอย่างมันอาจจะทับถมรวมกัน ธุรกิจเลยเจ๊ง

ใช่แล้ว ธุรกิจส่วนมากจะเจ๊ง แต่ก็มีอีกหลายธุรกิจที่เจ๋ง ประสบความสำเร็จได้ ธุรกิจประสบความสำเร็จได้ไม่ใช่เพราะปาฏิหาริย์ เจ้าของกิจการที่ชักนำธุรกิจไปสู่ความสำเร็จล้วนเข้าใจดีว่า เค้าต้องวางแผนอย่างระมัดระวังและปฏิบัติตามแผนให้ดีด้วย ใช้ดวงนิดหน่อยก็ไม่ว่ากัน

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด