วิธีตั้งเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ (ในชีวิตและการทำงาน)

วิธีตั้งเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ (ในชีวิตและการทำงาน)

การตั้งเป้าหมายเป็นจุดเริ่มต้นของทุกอย่าง เพราะเป้าหมายจะทำให้เรารู้ว่าเราต้องวางแผนและเตรียมตัวอย่างไรภายหลัง ในบทความนี้เราจะมาพูดเรื่องการวางแผนและการตั้งเป้าหมาย ซึ่งผมขอเปรยก่อนว่ายิ่งเรารีบทำก็ยิ่งดีนะครับ

วิธีตั้งเป้าหมายให้ประสบความสำเร็จ (ในชีวิตและการทำงาน)

วิธีการวางแผนและตั้งเป้าหมายสามารถทำได้ด้วยเครื่องมือต่างๆ อย่างการตั้ง SMART Goals การหา Key Success Factor และ และ การสร้าง KPI

โดยระหว่างบทความผมก็จะยกตัวอย่างให้ด้วยว่าการวางแผนเบื้องต้นทั้งสำหรับการทำงานหรือการใช้ชีวิตนั้นต้องทำอย่างไร แต่สิ่งที่หลายคนอาจจะสงสัยมากกว่าก็คือ ‘ทำไมเราต้องเริ่มคิดตั้งแต่ตอนนี้ด้วย’

เรื่องนี้ก็ต้องย้อนกลับไปตอนนี้ผมยังทำงานบริษัทอยู่นะครับ คือผมก็ทำมา 2-3 ที่ ส่วนมากตอนเดือนตุลา พฤจิกา หัวหน้าผมก็จะส่งเมลเข้ามาแล้ว ‘Please Prepare Q1 Plan for Next Year’ 

ซึ่งจริงๆก็มีหลายสาเหตุนะครับที่เค้าเร่งให้เรารีบทำ 1) บริษัทส่วนมากมีผู้ถือหุ้น แปลว่าหัวหน้าเราต้องเอาเป้าหมายเราไปพรีเซ้นต์อีกที มีพนักงานเยอะก็ต้องตามงานนาน 2) หัวหน้าฝรั่งหลายคนจะกลับบ้านเดือนธันวา แปลว่าเราต้องรีบคุยให้เสร็จเร็ว และ 3) ที่สำคัญสุด คือการวางแผนที่เราทำได้จริง ต้องอาศัยการเก็บข้อมูลในระดับหนึ่งเลย ซึ่งใช้เวลานานกว่าที่เราคิด

แน่นอน เรื่อง 1-2 อยู่เหนือการควบคุมของเราครับ แต่เรื่องที่ 3 เราสามารถทำให้ดีได้

ก็เหมือนหลายครั้งที่ผมพูดไว้เรื่องการวางแผนนะครับ เราต้องเริ่มจากเป้าหมายก่อน เป้าหมายที่ดีมีเกณฑ์หลายอย่าง หากเป็นหลายๆที่ก็จะเอาหลักของ SMART Goals มาปรับใช้ ซึ่งก็คือ

การตั้งเป้าหมายที่ดีด้วย SMART Goals

SMART Goals คือเกณฑ์ในการตั้งเป้าหมาย 5 อย่าง รวมถึง Specific เจาะจง Measurable วัดผลได้ Achievable บรรลุผลได้ Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง และ Timely อยู่ในกรอบเวลา SMART Goals เป็นเครื่องมือช่วยให้เราตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนและเพิ่มโอกาสในการทำให้เป้าหมายสำเร็จมากขึ้น

หลักของ SMART Goals มาปรับใช้ ซึ่งก็คือ 

Specific เจาะจง – เป้าหมายต้องมีความเจาะจง เรียบง่าย แต่ก็มีค่าที่ให้ทำ 
Measurable วัดผลได้ – เป้าหมายต้องสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ ซึ่งการวัดผลทำให้บอกได้ว่าเป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
Achievable บรรลุผลได้ – เป้าหมายต้องสามารถบรรลุผลได้จริง แต่ก็ต้องมีความท้าทาย 
Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง – เป้าหมายต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง หมายถึงต้องหมายที่ทำให้เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมกับองค์กรในสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้นๆ
Timely อยู่ในกรอบเวลา – เป้าหมายต้องมีกำหนดช่วงเวลาการวัดผลที่ชัดเจน

ซึ่งผมได้เคยเขียนเรื่อง SMART Goals ไว้แล้วที่บทความนี่นะครับ SMART Goals คืออะไร

คนที่ตั้งเป้าหมายบ่อยๆ ถึงจะไม่ได้เอาหลัก SMART Goals มาใช้ แต่ถ้าใช้ common sense บางทีก็ยังได้เป้าหมายที่ดีอยู่ครับ ส่วนตัวแล้ว ผมก็พยายามจะ 1) มีตัวเลขที่ชัดเจน และ 2) อยู่ในกรอบเวลา เพราะรายละเอียดอื่นๆ ผมมีกระบวนการพิจารณาแยกอีกทีครับ

ตัวอย่างการตั้งเป้าหมายการทำงาน

ผมจะขอยกตัวอย่างที่หลายคนอาจจะไม่เคยคิดถึง แต่ก็น่าจะเข้าใจได้ สำหรับผม เป้าหมายง่ายๆก็คือการทำให้เว็บไซต์นี้เข้าถึงคนได้มากขึ้น ผมมีเครื่องมือง่ายๆในการวัดว่า ‘ในแต่ละเดือน มีคนเข้าเว็บไซต์มากแค่ไหน’ (Google Analytics) คนมักเรียกตัวเลขนี้ว่า Page View (PV) หรือ จำนวนครั้งที่เว็บไซต์ถูกเข้าชม

เป้าหมายของการทำเว็บไซต์ในปี 2022

ไตรมาสที่ 1 – Q1: 380,000 PV ต่อเดือน
ไตรมาสที่ 2 – Q2: 480,000 PV ต่อเดือน
ไตรมาสที่ 3 – Q3: 560,000 PV ต่อเดือน
ไตรมาสที่ 4 – Q4: 660,000 PV ต่อเดือน

รายละเอียดเพิ่มเติม: ปี 2021 เว็บไซต์มีผู้เข้าชม 300,000 ต่อเดือน

ผมตั้งเป้าหมายว่าอยากจะได้คนเข้าเว็บเดือนละ 6-700,000 ครั้งในปลายปี 2022 ครับ คิดง่ายๆก็คือเป็นการโตขึ้น 2 เท่าตัว (จาก 300,000 ไป 6-700,000)

เป้าหมายที่วัดผลได้ก็คือตัวเลขยอดคนเข้าเว็บไซต์ และกำหนดการของผมก็คือจะวัดผลกันทุก 3 เดือนใช่ไหมครับ….ก่อนที่จะไปดูเพิ่ม ในปีที่แล้ว เป้าหมายที่ผมวางไว้เป็นแบบนี้ครับ

ไตรมาสที่ 1 – Q1: 220,000 PV ต่อเดือน
ไตรมาสที่ 2 – Q2: 240,000 PV ต่อเดือน
ไตรมาสที่ 3 – Q3: 280,000 PV ต่อเดือน
ไตรมาสที่ 4 – Q4: 300,000 PV ต่อเดือน

ข้อดีก็คือเป้าหมายปี 2021 น่าจะเป็นไปได้ (ตอนนี้เดือนตุลา) แต่ข้อเสียก็คือตั้งเป้าหมายผิดไปนิดนึง เพราะหนึ่งปีโตแค่ 50% เอง (จาก 200,000 ปี 2020 ไปเป็น 300,000 ในปี 2021)

ผมสามารถทำให้โตเร็วกว่านี้ได้ ซึ่งก็เป็นความผิดของผมเองที่วางแผนไม่ละเอียดเองครับ เอาจริงๆ ผมก็ไม่ได้โฟกัสไปที่การเพิ่มคนเข้าเว็บไซต์เยอะด้วย เพราะผมอยากแบ่งเวลาไปทดสอบการทำ YouTube TiKTok Facebook และ เว็บไซต์อื่นๆครับ….โปรเจคเยอะเกินไปนั่นเอง

ปัญหาของเป้าหมายทุกอย่างนะครับ เราสามารถคิดไปเองได้ว่าเราอยากได้เท่านี้ ซึ่งก็ถือว่าเป็นความไม่แน่นอนอย่างหนึ่ง แต่เราจะทำยังไงให้ตัวเลขนี้มีโอกาสเป็นจริงมากขึ้น ซึ่งก็คือส่วนต่อไป เรื่องของการวิเคราะห์ข้อมูลและหา ‘ปัจจัยที่จะทำให้เป้าหมายเป็นจริง’ (Key Success Factor)

Key Success Factor คืออะไร

Key Success Factor หรือ ปัจจัยที่ทำให้ประสบความสำเร็จ หมายถึงปัจจัยในการวางแผนที่จะทำให้เราสามารถเข้าใกล้เป้าหมายและความสำเร็จมากขึ้น การหา Key Success Factors ที่ถูกต้อง จะทำให้เราเห็นภาพรวมของการวางแผนการทำงานมากขึ้น

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นผ่ายขายและเป้าหมายเราคือเพิ่มยอดขาย กิจกรรมหลักเราก็คือการเข้าหาลูกค้าให้มากขึ้น (ลูกค้าเพิ่ม รายได้ก็เพิ่ม)

ถ้าเราเป็นคนทำยูทูปและเป้าหมายเราคือเพิ่มยอดซับ กิจกรรมหลักเราคือการทำวิดีโอ

ถ้าเราทำเว็บไซต์และเป้าหมายหลักเราคือยอดคนเข้าเว็บไซต์ กิจกรรมหลักเราก็คือการทำบทความเยอะๆ (จริงๆทำได้หลายวิธี แต่ในส่วนนี้หากใครอยากศึกษาเพิ่ม ลองดูบทความการเขียนบล็อก ของผมได้นะครับ การเขียนบล็อก: คู่มือแบบเข้าใจง่ายสำหรับมือใหม่)

ทุกๆ 1 บทความ ผมจะได้คนเข้าเว็บไซต์ 650 PV ต่อเดือน (เป็นบทความประมาณ 1500 คำ)

สำหรับคนที่ไม่เห็นภาพนะครับ บทความเหล่านี้จะทำการดึงดูดคนให้เข้าเว็บไซต์ผม ให้เทียบว่าเหมือนการหาพนักงานขายเพิ่มเรื่อยๆทุกเดือน ที่จะมาวิ่งหาลูกค้าให้ก็ได้

เพราะฉะนั้นถ้าอยากได้ 80,000 PV ต่อไตรมาษนะครับ ผมก็ต้องเพิ่มยอดให้ได้ 25-26,000 PV ต่อเดือน ซึงถ้าเราเอามาหาร 650 เราก็จะได้ 40-45 บทความนั่นเอง หรือจะคิดเป็นคำโดยเฉลียประมาณ 50-60,000 คำทุกเดือนเลย

ขอย้ำว่าเป็นตัวเลขจากสถิติของผมเองนะครับ จาก 400 บทความที่ผมเขียน ซึ่งผมคิดว่าเป็นตัวเลขวัดฟันเฟืองในการวางแผนที่ดีที่สุดแล้ว เพราะมาจากสถิติการทำงานของตัวเอง (แปลว่าเหมาะกับทักษะของเรา และ สามารถทำซ้ำได้ในระดับหนึ่ง)

และสำหรับ 100,000 PV ในไตรมาษ 3-4 ผมต้องมี 50-60 บทความ

พอเราเห็นแบบนี้ เราก็เริ่มเห็นภาพแล้วนะครับ ตัวผมเองก็เคยเขียนได้ 60,000 คำทุกเดือนนะ แต่ถ้าทำแบบนั้นจะไม่สามารถมีเวลาทำอย่างอื่นได้เลน (เคยทำมาแล้ว เหนื่อยมาก) เพราะฉะนั้นโจทย์หลักของผมก็คือ …

‘เราจะจ้างคนยังไงให้อยู่ในต้นทุนของเรา’ 

ซึ่งในส่วนนี้ผมก็จะไปดิ้นรนอีกที เพราะจ้างคนก็ต้องฝึกครับ จ้างฟรีแลนซ์หลายคนจริงๆก็ยากเพราะคุยประสานงานหลายคน ก็ใช้เวลาเยอะครับ สรุปคือก็ต้องค่อยๆปรับกระบวนการทำงานไปนั่นเอง

ผมสรุปนะครับ ตั้งเป้าหมายหลักของเราก่อน แล้วหาปัจจัยที่ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายของเราได้ แล้วก็คิดอีกทีว่าเราจะทำยังไงให้เป้าหมายนั้นเป็นจริง

ตัวอย่างโครงสร้างการตั้งเป้าหมายเบื้องต้น

ผมได้เขียนไปแล้วว่า หากเราอยากเพิ่มยอดขาย เราก็ต้องหาลูกค้า หากเราอยากวิ่งมาราธอน เราก็ต้องฝึกวิ่ง แต่สำหรับเป้าหมายบางอย่าง เราก็อาจจะต้องมีเป้าหมายรองเพิ่มขึ้นมา

เป้าหมายรอง (Sub Goals) คือเป้าหมายที่ทำให้เราเข้าใกล้เป้าหมายหลัก (Main Goals) เรามากขึ้น โดยเป้าหมายรองมักจะเป็นเป้าหมายที่จัดต้องได้ง่าย หรือ วัดผลได้ง่ายมากกว่า เพื่อที่เราจะได้สามารถปรับปรุงแก้ไขปัญหาได้ทันเวลา

โครงสร้างเป้าหมายที่เราเห็นได้บ่อยๆ ก็คือ 

เป้าหมายหลัก
เป้าหมายรอง (2-3 อย่าง)
และ ตัววัดผลการทำงานครับ 

ยกตัวอย่าง เช่น… เป้าหมายการทำงานฝ่ายขาย

เป้าหมายหลักคือ เพิ่มยอดขายให้เป็น 2 ล้านบาทต่อเดือน

เป้าหมายรองคือ 
A) เพิ่มยอดขายเป็น 2 ล้านบาท
B) เข้าหาลูกค้าให้ได้ 1200 คนต่อเดือน (60 คนต่อวัน ต่อ 20 วันทำการ)
C) เพิ่มโอกาสในการปิดลูกค้า จาก 10% ไปเป็น 15%

หากภาพรวมของเป้าหมายเราก็คือการเพิ่มยอดขาย แต่จะให้วัดค่ายอดขายอย่างเดียว บางทีเราก็จะพัฒนากระบวนการได้ยาก (กว่าจะเห็นภาพรวมว่าทำได้หรือเปล่า ก็อาจจะผ่านไปหลายอาทิตย์แล้ว คนที่วางแผนการขายเลยชอบการที่เราวัดด้วยตัวเลขการเข้าถึงลูกค้า และ โอกาสในการปิดการขาย

ซึ่งก็คือ B) พนักงานขายเราขยันโทรหาลูกค้ามากแค่ไหน และ C) เราจะฝึกพนักงานยังไงให้พูดคุยกับลูกค้าแล้วปิดการขายได้มากขึ้น

การตั้งเป้าหมายในชีวิต

ที่ผ่านมาเป็นแค่เป้าหมายของการทำงานนะครับ ผมจะขอยกตัวอย่างของการวางเป้าหมายส่วนตัวให้ด้วยละกัน ยกตัวอย่างเช่น เป้าหมายการดูแลสุขภาพ และ เป้าหมายทางด้านการพัฒนาตัวเอง

ในเรื่องสุขภาพ ผมยอมรับว่าผมไม่ใช่หมอ ผมคงไม่สามารถตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนหรือว่าวัดค่าเป็นตัวเลขได้ง่าย… เพราะฉะนั้นเป้าหมายภาพรวมของผมก็คือดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีขึ้น

ซึ่งผมจะวัดผลด้วยเป้าหมายรอง 2 อย่าง
1) จะต้องพยายามออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง 
2) จะต้องกินอาหารที่หลากหลายเผื่อได้สารอาหารครบ ทุกอาทิตย์ควรจะมีอย่างน้อย เนื้อสัตว์สามอย่าง ผักสามอย่าง ผลไม้สามอย่าง

หรือถ้าเป็นเป้าหมายทางด้านการพัฒนาตัวเอง ผมก็อาจจะทำเป็นว่า

เป้าหมายหลัก แบ่งเวลาให้ตัวเองเรียนรู้อะไรใหม่ๆได้มากขึ้น
1) จะต้องแบ่งเวลามาอ่านหนังสืออาทิตย์ละ 2 ชั่วโมง 

ข้อนี้ผมขอเสริมนิดนึง ผมเคยตั้งเป้าหมายให้ตัวเองว่าจะอ่านหนังสืออาทิตย์ละ 1 เล่มเป็นเวลา 1 ปี สรุปข้อนี้ทำได้จริงๆครับ แต่ผมรู้สึกว่าเรารีบอ่านหนังสือมากเกินไป แบบกดดันตัวเองว่าต้องรีบอ่านให้จบ 1 เล่มทุกอาทิตย์ จนบางทีเราไม่ได้ศึกษาเนื้อหาหนังสือจริงๆ 

ช่วงหลังก็พยายามแก้ การวัดผลแบ่งเวลาต่อวันเป็นการอ่านหนังสือดีกว่า เนื่องจากว่าเป็นเป้าหมายด้านการพัฒนาตัวเอง ผมอยากจะวัดผลด้วยเวลาที่เราใช้ในการพยายาม แทนที่จะวัดผลด้วยเป้าหมายใหญ่ๆ 

จริงการตั้งค่าตัวเลขวัดค่าหรือการตั้ง KPI เป็นสิ่งที่ต้องระวังนะครับ ตั้งตัวเลขผิดเราก็จะมีปัญหาเหมือนผมใช่ไหมครับ เอาแต่อ่านหนังสืออย่างเดียวแต่อ่านแล้วไม่ได้คุณภาพ (ศึกษาเพิ่มเติมเรื่อง KPI ได้ที่นี่ KPI คืออะไร)

ข้อแนะนำเรื่องการตั้งเป้าหมายที่ทำได้จริง

กระบวนการตั้งเป้าหมายนี้เราไปใช้ทำอะไรได้หลายอย่าง จะเป็นเป้าหมายทางด้านการเงิน การลงทุน หรือแม้แต่การเรียนก็ได้ 

ผมไม่ได้บอกว่าเราต้องวางแผนเสร็จภายในเดือนสองเดือนนะครับ แต่เราน่าจะต้องเริ่มคิด เริ่มเก็บข้อมูลก่อนล่วงหน้า ถ้าเป็นเป้าหมายทั่วไปในชีวิต บางทีเรานั่งคิดไม่กี่ชั่วโมงก็ได้ (อย่างการออกกำลังกาย)

แต่ถ้าเป็นเป้าหมายในการทำงาน โดยเฉพาะงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากคนเยอะๆ เราก็อาจจะต้องมาพูดคุยวางแผนกันก่อน เพราะจริงๆแล้ว คิดตัวเลขตั้งเป้าหมายทำง่ายมาก แต่มาคิดจริงๆว่าทำยังไงให้ตัวเลขนี้เป็นไปได้นี่เหลาะครับ งานหนัก

เพราะสุดท้ายแล้ว เราก็ไม่อยากจะเข้าออฟฟิศมาวันที่ 3-4 ของเดือนมกราแล้วก็มานั่งงงว่า ‘ปีนี้ทีมเราจะทำอะไรกันดี’ นะครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด