ในบทความที่ผ่านมาผมได้แนะนำไปแล้วว่า Infographic คืออะไร และมีแบบไหนบ้าง ซึ่งในบทความนี้ ผมอยากจะให้คำแนะนำโดยละเอียดและเป็นขั้นตอนสำหรับคนที่กำลังอยากจะออกแบบ Infographic ด้วยตัวเองนะครับ
หากใครสนใจอ่านบทความก่อนหน้านี้ก็กดตรงนี้ได้เลยนะครับ Infographic คืออะไร
7 หลักการออกแบบ Infographic ที่ใช้ได้จริง
ในส่วนนี้ผมอยากจะให้ข้อแนะนำบางอย่างสำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้นออกแบบ Infographic ซึ่งจะรวมถึงแนวคิดแล้วก็ข้อควรรู้ก่อนที่จะออกแบบ น่าจะช่วยประหยัดเวลาในการออกแบบและช่วยทำให้หลายๆคนสร้าง Infographic ที่ผู้อ่านเข้าใจได้ง่าย
ส่วนใครอยากเรียนเรื่องเครื่องมือการออกแบบ ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้นะครับ แนะนำ Canva – เครื่องมือออกแบบง่ายและฟรี!
หลังจากที่เราเตรียมหัวข้อและเป้าหมายของการออกแบบไว้แล้ว ให้ทำดังนี้เลย
#1 ร่างและเรียบเรียงข้อมูลเบื้องต้น
การทำ Infographic ก็คือการนำเสนอข้อมูลออกมาในรูปแบบที่เข้าใจได้ง่าย เช่น เป็นภาพและกราฟต่างๆ ซึ่งแน่นอนว่าคุณต้องวางแผนมาก่อนล่วงหน้าว่าคุณอยากจะทำ Infographic เรื่องอะไรและอยากจะนำเสนอข้อมูลแนวไหน
การร่างภาพ/จัดเรียงข้อมูลเบื้องต้น – หมายถึงการร่างภาพ Infographic แบบง่ายๆมาก่อน ว่าคุณอยากจะได้กี่ช่อง แต่ละช่องจะมีข้อมูลอะไรบ้าง ภาพที่อยากใช้ในการอธิบายเบื้องต้นควรจะเป็นภาพอะไร ส่วนตัวแล้วผมถนัดในการวาดมือมากกว่า แต่หากคุณเก่งคอมพิวเตอร์ก็สามารถใช้โปรแกรมในการช่วยออกแบบก็ได้
การเล่าให้เป็นเรื่องราว – หมายถึงการพยายามนำข้อมูลมาเล่าให้เป็นเรื่องเป็นราว เพื่อให้ผู้อ่านสามารถเข้าใจได้ง่ายมากขึ้น โดยคุณอาจจะแสดงเป็นภาพตัวละคร อธิบายเป็นไทม์ไลน์ หรือใช้รายการหรือกระบวนการเป็นตัวช่วยในการอธิบายข้อมูล
หัวข้อ – เป็นหนึ่งสิ่งที่ผู้อ่านจะดูเสมอ หากเป็นไปได้ให้คิดหัวข้อออกมาตั้งแต่ขั้นตอนนี้เลย ยิ่งเป็นหัวข้อที่น่าสนใจ ฟังดูน่าอ่านได้ยิ่งดี ถ้าคุณทำได้ดีตั้งแต่ส่วนนี้ การหาข้อมูลสนับสนุนและการตกแต่ง Infographic จะทำได้ง่ายขึ้น
ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังทำ Infographic เรื่องอาหารหมู คุณก็อาจจะร่างไอเดียออกมาก่อนว่าอาหารหมูดีอย่างไร มีประโยชน์อย่างไรบ้าง หมูต้องกินเยอะแค่ไหน เป็นต้น
หากคุณทำงานกับผู้อื่น คุณก็สามารถนำภาพร่างที่คุณขัดเกลามาบ้างแล้วให้หลายๆคนดู เพื่อทดสอบว่าไอเดียนี้ดีหรือเปล่า ในเชิงของคนเขียนบทหนังเรียกว่าเป็นการทำ Storyboard ครับ
#2 จัดเตรียมข้อมูลสนับสนุน
ก่อนที่คุณจะเริ่มลงมือทำ Infographic คุณก็เตรียมข้อมูลเก็บไว้ให้เรียบร้อยก่อน โดยอาจจะเป็นข้อมูลที่ค้นหามาจากในอินเทอร์เน็ต ในหนังสือต่างๆ มาจากการสัมภาษณ์คน หรือแม้แต่มาจากในธุรกิจของคุณเอง
ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะเป็นหัวใจหลักที่คุณจะใช้วาดภาพออกแบบต่างๆในการสื่อสารให้กับคนครับ อาจจะเป็นข้อมูลที่เป็นตัวเลข เป็นกราฟ เป็นงานวิจัยวิทยาศาสตร์ ก็ได้ ยิงข้อมูลมีความน่าเชื่อถือและมีประโยชน์สำหรับผู้อ่าน Infographic ของเราก็จะดีมากขึ้น
จริงๆแล้ว หาข้อมูลมาเผื่อไว้เยอะๆก่อนก็ได้ เวลาเราออกแบบ Infographic ภายหลังเราจะได้มีช่องทางในการปรับเปลี่ยนเพิ่มเติมได้ง่าย ทำให้กระบวนการออกแบบเราสะดวกสบายขึ้น เพราะถ้าส่วนไหน ใช้ไม่ได้หรือไม่ดีเราจะได้ไม่ต้องเริ่มใหม่ตั้งแต่ 0 เพราะเรามีข้อมูลตัวสำรองไว้แล้ว
โดยผมมีบทความเรื่องการวิจัยตลาดที่อธิบายไว้อย่างละเอียดแล้วว่าการหาข้อมูลสนับสนุนนั้นสามารถทำได้วิธีไหนบ้าง Marketing Research ทำอย่างไร
หากคุณใช้ Infographic ในการทำงานหรือในการหาเงิน ก็อย่าลืมเรื่องของการอ้างอิงข้อมูลและลิขสิทธิ์การใช้ข้อมูลด้วยนะครับ
#3 เริ่มทำการออกแบบ
หมายถึงการนำภาพร่างที่คุณออกแบบภายในขั้นตอนแรก มาลงในโปรแกรมการออกแบบ Infographic เบื้องต้นดูก่อน โดยคุณก็สามารถนำข้อมูลสนับสนุนให้คุณจัดเตรียมมาตกแต่งเบื้องต้นได้เลย
ผมได้มีการเขียนอธิบายเกี่ยวกับประเภทของ Infographic ต่างๆไว้แล้ว (สามารถอ่านได้) ซึ่งในเบื้องต้นก็จะมีดังนี้: ภาพ (Visual) รายการ (List) แผนที่ (Map) กระบวนการ (Process) Flow Chart (แผนภาพแสดงลำดับการเคลื่อนไหว) สถิติ (Statistics) เวลา (Timeline) เคลื่อนไหว (Animation)
จริงๆแล้วการออกแบบและเล่าเรื่องราวผผ่าน Infographic เป็นเรื่องฝั่งศิลป์ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ แต่หากคุณเป็นมือใหม่ผมแนะนำให้เริ่มจาก ตัวอย่าง Infographic ต่างๆที่มีอยู่ในอินเตอร์เน็ตนะครับ หรืออย่างในโปรแกรม Canva ก็มี template เบื้องต้นให้คุณเลือกหลายอย่าง
Negative Space (พื้นที่ว่างในภาพ) – ก็เป็นส่วนสำคัญในการออกแบบนะครับ เพราะถ้า Infographic รกมากเกินไป คนอ่านจะรู้สึกอึดอัด และคุณก็ไม่สามารถเน้นข้อมูลสำคัญที่คุณอยากจะสื่อสารได้
Information Overload (ให้ข้อมูลมากเกินไป) – หมายถึงการพยายามยัดข้อมูลทุกอย่างให้ลงใน Infographic โดยส่วนตัวแล้วผมมองว่าการให้ข้อมูลหลักแค่ 3-5 อย่างก็เพียงพอแล้ว นอกจากนั้นก็ระวังเรื่องการใช้ตัวอักษรมากเกินไปด้วย เราสามารถพิมพ์อธิบายได้ แต่ถ้าเป็นไปได้ให้เลือกย่อยข้อมูลและใช้ภาพทดแทนดีกว่า
คำแนะนำเบื้องต้น: หากภาพ ข้อมูล หรือ สถิติไหน ใช้เวลามากกว่า 10 วินาที ในการเข้าใจ ก็แปลว่าภาพนั้นๆยังสื่อสารได้ไม่ดีพอ ลองให้หลายๆคนอ่านดูแล้วนำความคิดเห็นมาพัฒนาเพิ่มเติมนะครับ
#4 ปรับสีและรูปภาพให้เข้ากัน
อย่างที่ผมบอก Infographic เป็นเรื่องของศิลปะการออกแบบและการสื่อสาร แต่โดยเบื้องต้นแล้วคุณควรที่จะพิจารณาปัจจัยดังนี้
Font – เลือกให้เหมาะกับข้อความที่กำลังเสนอ แต่ก็ไม่ควรใช้ Font เยอะเกินไป 2-3 อันกำลังดี
สี – หากคุณคุมโทนสีไม่เป็น ผมแนะนำให้ใช้สีเบื้องต้น 2-3 อย่างก็พอ
ภาพ – ภาพสนับสนุนที่เหมาะกับเนื้อหา สามารถใช้ภาพไอคอนเบื้องต้นได้ แต่ถ้าเราอยากจะทำให้ Infographic เราโดดเด่น เราก็ต้องออกแบบหรือจ้างคนทำเป็นพิเศษ
แน่นอนว่าทุกอย่างต้องถูกออกแบบมาให้เข้ากันได้ อยู่ในโทนหรืออารมณ์เดียวกัน อย่างที่บอกครับถ้าคุณเป็นมือใหม่ ผมก็แนะนำให้หาแรงบันดาลใจจากตัวอย่าง Infographic ที่มีอยู่ในโลกออนไลน์
(จริงๆนักออกแบบมืออาชีพหลายคนจะแนะนำว่าให้ตีโจทย์ส่วนนี้ให้แตกก่อนที่จะเริ่มออกแบบด้วยซ้ำ แต่สำหรับตัวผมที่ถนัดจะลงมือทำจริงและเรียนรู้ได้ดีจากการเห็นภาพร่างที่ออกแบบมาก่อน ผมเลยคิดว่าขั้นตอนนี้ควรที่จะอยู่ช่วงหลังมากกว่า)
มาถึงส่วนนี้ คุณก็คงได้องค์ประกอบพื้นฐานในการทำ Infographic ครบหมดแล้ว หลักจากนี้จะเป็นการเก็บรายละเอียดและพัฒนางานเพิ่มเติม
#5 ให้คนที่ไม่รู้เรื่องมาลองดูก่อน
Infographic ที่เข้าถึงคนได้เยอะก็จะสามารถสร้างประโยชน์ได้เยอะ สิ่งที่คุณต้องทำก็คือให้นำคนอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับการออกแบบ Infographic ครั้งนี้มาลองดูกันก่อน จำไว้ว่าหากภาพไหนที่คนดูเกิน 10 วินาทีแล้วไม่เข้าใจก็ให้นำกลับไปแก้ด้วย
ส่วนมากแล้ว Infographic ที่ดีจะมีหัวข้อและเป้าหมายชัดเจน เช่น สอนให้คนรักษ์โลก สอนให้คนประหยัดไฟ สอนคนเรื่องอาหารสุนัข หากผู้อ่านของคุณดู Infographic แล้วไม่เข้าใจว่าภาพรวมคืออะไร ในส่วนนี้คุณก็ต้องไปปรับหัวข้อและการเรียบเรียงข้อมูลด้วย
นอกจากนั้นแล้วก็ให้ระวังเรื่องคำสะกด และเรื่องความถูกต้องของข้อมูลให้ดี ลองทำใจเย็นๆและอ่านซ้ำๆ 2-3 รอบก่อนนะครับ
#6 พัก หาข้อมูล และ ทำต่อ
หลายๆครั้งที่งานร่างตัวแรกจะไม่ตอบโจทย์ของผู้อ่าน ในส่วนนี้สิ่งที่ผมแนะนำได้ดีที่สุดก็คือการลองพักดูก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณใช้เวลาหลายชั่วโมงเพื่อออกแบบ อย่างน้อยคุณก็จะได้พักสมองเพื่อให้ตัวเองมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้น
ในระหว่างที่เราหยุดการออกแบบ เราก็สามารถใช้เวลานี้ในการหาข้อมูลสนับสนุนเพิ่มเติมก็ได้ อาจจะเป็นข้อมูลที่คุณไม่ได้มีและรู้ภายหลังว่าสามารถใช้ช่วยในการเล่าเรื่องได้ หรืออาจจะเป็นความคิดเห็นใดๆที่คุณพึ่งได้มาระหว่างที่คุณกำลังออกแบบอยู่
ส่วนตัวแล้วผมมองว่าพักสักครึ่งวันกำลังดี แต่ในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับความอดทนแล้วก็สติของแต่ละคนละกันนะครับ หลายคนอาจจะมองว่าการพักเป็นเรื่องไม่จำเป็น หากคุณคิดแบบนั้นคุณก็หากิจกรรมหรืองานอย่างอื่นทำระหว่างพักก็ไปก็ได้
#7 ตรวจสอบข้อมูลก่อนนำไปใช้จริง
ถ้าคุณเคยเขียนรายงานในห้องเรียน คุณก็คงรู้ว่าเราต้องผ่านการตรวจสอบแก้ไขหลายรอบมากๆ ยิ่งเนื้อหาของคุณเปลี่ยนแปลงบ่อยคุณก็ยิ่งต้องใส่ใจเรื่องนี้ (เช่น Infographic ข่าว หรือเรื่องข้อมูลเทคโนโลยี)
เอาเป็นว่า วนกลับไปขั้นตอน 5-6 ซัก 3 รอบก่อนที่จะนำไปใช้จริงนะครับ
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการทำ Infographic
Infographic ก็ยังเป็นสื่อที่ดีเพราะสมองคนเราถูกออกแบบมาให้ซึมซับข้อมูลแบบนี้ได้ดีมาก อย่างที่บอกก็คือสมองคนเราสามารถจดจำข้อมูลภาพได้ดีมาก เพราะฉะนั้น Infographic จึงเป็นเครื่องมือที่น่าสนใจในการให้ความรู้ลูกค้าและโน้มน้าวให้ลูกค้ามาซื้อสินค้ากับเรา
สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่า Infographic ที่ดีนั้นสามารถทำได้จริง หากคุณทำตามขั้นตอนที่ผมแนะนำในบทความนี้ ผมก็รับรองว่า Infographic ที่คุณผลิตออกมาต้องมีคุณภาพดีมากขึ้น แต่สำหรับคนที่อยากทำให้กระบวนการออกแบบง่ายมากขึ้น ผมก็แนะนำให้ศึกษา คู่มือ Canva ของผม ด้วยนะครับ