การคิดเชิงนวัตกรรมคืออะไร? (Innovative Thinking)

การคิดเชิงนวัตกรรมคืออะไร? (Innovative Thinking)

นวัตกรรมเป็นคำพูดที่สวยหรู แต่สำหรับคนและบริษัททั่วไปนั้น การเข้าถึงนวัตกรรมอาจฟังดูเป็นสิ่งที่ทำได้ยากหรือเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งก็เป็นสิ่งให้เกิดมุมมองแบบใหม่ต่อนวัตกรรม ก็คือการมองความสามารถในการสร้างนวัตกรรมว่าเป็นทักษะอย่างหนึ่ง หรือก็คือการคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) นั่นเอง

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า การคิดเชิงนวัตกรรมคืออะไร มีประโยชน์อะไร และเราสามารถทำอย่างไรได้บ้างเพื่อให้การคิดเชิงนวัตกรรมมีความคาดเดาได้ง่ายมากขึ้น

การคิดเชิงนวัตกรรม คืออะไร (Innovative Thinking)

การคิดเชิงนวัตกรรม (Innovative Thinking) คือกระบวนการคิดในแนวสร้างสรรค์เพื่อสร้างนวัตกรรมสิ่งใหม่ๆ ที่สามารถแก้ปัญหาของผู้ใช้งานได้ เช่น นวัตกรรมทางบริการหรือผลิตภัณฑ์ โดยประโยชน์ของการคิดเชิงนวัตกรรมได้แก่การเพิ่มคุณค่าให้กับผลิตภัณฑ์ การเพิ่มความสามารถในการแข่งขันให้กับองค์กร และการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน

ในยุคสมัยนี้ ที่นวัตกรรมและเทคโนโลยีกลายเป็นคำพูดสุดฮิตติดปากผู้บริหารองค์กรใหญ่เกือบทุกคน เราก็อดคิดไม่ได้ว่า ‘นวัตกรรมนี่ทำง่ายขนาดนั้นเลยเหรอ’

‘ความคิดสร้างสรรค์’ เป็นทักษะที่ถูกพูดถึงควบคู่กับนวัตกรรมบ่อย ยิ่งเรามีความคิดสร้างสรรค์ ยิ่งเรามีไอเดียเยอะๆ โอกาสที่เราจะ ‘ค้นพบ’ นวัตกรรมใหม่ๆก็คงมีมากขึ้น ซึ่งก็ทำให้เกิดเป็นแนวคิดของ การคิดเชิงนวัตกรรม หรือ Innovative Thinking

โดยที่หลักการง่ายๆก็คือ หากเรามองว่า ‘การสร้างนวัตกรรม’ เป็น ‘ ทักษะ’ อย่างนึง หน้าที่ขององค์กรก็คือการหาบุคลากรที่มีทักษะนี้ หรือหาวิธีเพิ่มทักษะเหล่านี้ให้กับพนักงานผ่านการฝึกฝนและอบรมต่างๆ ในส่วนนี้ผมจะไม่ขออธิบายความหมายของนวัตกรรมซ้ำนะครับ หากใครสนใจสามารถอ่านได้ที่ลิงค์นี้ นวัตกรรมคืออะไร

ซึ่งโดยเบื้องต้นแล้ว วิธีก็คือการเพิ่มกระบวนการต่างๆ เพื่อให้จำนวนของไอเดียที่สร้างสรรค์มีมากขึ้น และก็หาขั้นตอนง่ายๆที่ทำซ้ำได้เพื่อให้เราสามารถประยุกต์การคิดเชิงนวัตกรรมได้กับสถานการณ์ต่างๆได้ดีมากขึ้น

ประโยชน์ของการคิดเชิงนวัตกรรม 

โดยเบื้องต้นแล้ว การคิดเชิงนวัตกรรมก็คงมีประโยชน์ที่ตรงไปตรงมาเช่น สร้างนวัตกรรมให้กับองค์กร หรือทำให้องค์กรมีไอเดียใหม่ๆมากขึ้น อย่างไรก็ตามประโยชน์ส่วนลึกนั้นมีมากกว่านั้น 

ความได้เปรียบทางการแข่งขัน Competitive Advantage – นวัตกรรมแค่ชิ้นเดียวอาจจะทำให้ธุรกิจควรมียอดขายเพิ่มเล็กน้อยในระยะสั้น แต่การที่คุณมีกระบวนการที่สามารถคิดนวัตกรรมใหม่ๆออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ก็หมายความว่าคุณมีความได้เปรียบทางการแข่งขันเหนือคู่แข่ง 

ประสิทธิภาพการทำงาน Productivity – การคิดเชิงนวัตกรรมสามารถทำให้องค์กรทำงานได้เร็วมากขึ้นใน 2 มุมมอง ข้อแรกก็คือการสร้างกระบวนการที่สามารถทำซ้ำได้ หรือก็คือแนวคิดที่สามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ได้เรื่อยๆ ข้อที่สองก็คือผลประโยชน์จากการสร้างนวัตกรรม ซึ่งมักทำให้กระบวนการหลายๆอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

กำลังใจของพนักงาน Employee Morale – คำว่านวัตกรรมนั้นสามารถใช้ดึงดูดคนเก่งได้เยอะ ยกตัวอย่างเช่นองค์กรอย่าง Apple หรือ Google ที่มีคนฉลาดๆหรือพนักงานไฟแรงสมัครเข้ามาทุกปี สาเหตุก็เพราะว่าพนักงานเห็นคุณค่าของการคิดเชิงนวัตกรรม ซึ่งองค์กรที่สามารถสอนแนวคิดนี้ให้กับพนักงานได้ก็จะเป็นองค์กรที่สามารถซื้อใจพนักงานได้

การผลิตสินค้าใหม่ New Product Development – การผลิตสินค้าใหม่ กระบวนการใหม่ หรือเปิดตลาดใหม่ๆ เป็นสิ่งที่ทุกธุรกิจอยากได้อยู่แล้ว เพราะสิ่งเหล่านี้ก็คือช่องทางการสร้างรายได้เพิ่ม ทำให้องค์กรมีกำไรมากขึ้นและก็มีความเสี่ยงน้อยลงเพราะไม่ต้องพึ่งพาแต่อะไรเดิมๆ แต่ถ้าคุณถามองค์กรทั่วไปว่าทำไมไม่ผลิตสินค้าใหม่เรื่อยๆ คำตอบที่คุณได้ก็คือการผลิตสินค้าใหม่นั้นมีค่าใช้จ่ายเยอะและมีความเสี่ยงสูง 

เราจะเห็นได้ว่า ประโยชน์ของการคิดเชิงนวัตกรรมนั้นก็จะอยู่ที่การเพิ่มคุณค่าให้กับกระบวนการ และ การเพิ่มแนวคิดที่สามารถคาดเดาได้ (ในเชิงว่าเราจะมีไอเดียใหม่เยอะขึ้น…อย่างต่อเนื่อง ซึ่งก็จะทำให้นวัตกรรมเกิดง่ายขึ้น) 

ซึ่งถ้าหากประโยชน์ที่ผมอธิบายมาในส่วนนี้ดูเหมือน ‘ดีเกินจริง’ … ผมก็เห็นด้วยครับ (อ้าว) 

เพราะสุดท้ายแล้วทั้งนวัตกรรมและการคิดเชิงนวัตกรรมก็ไม่ใช่สิ่งที่ทุกองค์กรจะทำได้ (หรืออาจจะทำได้แต่ทำได้ไม่ดี) ในส่วนถัดไปนี้เรามาลองดูกระบวนการพื้นฐานที่องค์กรสามารถปรับตัวได้ เพื่อให้องค์กรมีความคิดเชิงนวัตกรรมมากขึ้น

กระบวนการของการคิดเชิงนวัตกรรม 

กระบวนการของการคิดเชิงนวัตกรรมถือว่าเป็น ‘ทักษะ’ อย่างหนึ่งที่องค์กรสามารมพัฒนาได้ อย่างไรก็ตามหากคุณเป็นคนที่อยากพัฒนาทักษะ อยากมีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นหรือยังมีความคิดเชิงนวัตกรรมมากขึ้น คุณก็สามารถนำกระบวนการเหล่านี้ไปปรับใช้ให้เหมาะกับบุคคลคนเดียวก็ได้ 

#1 สอบถามความเห็นของลูกค้า

กระบวนการทุกอย่างในธุรกิจต้องมีเป้าหมายเสมอ ซึ่งเป้าหมายส่วนมากก็คือการเพิ่มคุณค่าให้กับลูกค้า หมายความว่าเราก็ต้องมีการขอความคิดเห็นจากลูกค้าซักทาง

คุณอาจจะทำแบบสอบถาม สัมภาษณ์ลูกค้า หรือจะแอบฟังสิ่งที่ลูกค้าพูดบนโซเชียลก็ได้ (โดยเฉพาะรีวิวออนไลน์) เพราะปัญหาของลูกค้าคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่

#2 ระดมสมองคนในองค์กร

หากขั้นตอนที่แล้วเป็นวิธีตั้งโจทย์ของนวัตกรรม ขั้นตอนนี้ก็คือวิธีระดมสมอง รวบรวมไอเดียให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการเจอไอเดียที่จะสามารถนำไปใช้ได้จริง

เป็นที่รู้กันอยู่แล้วว่านวัตกรรมเป็นสิ่งที่คาดเดาได้ยาก แล้วเราก็คงไม่สามารถฟันธงได้ว่าไอเดียหรือความคิดต่อไปจะสามารถถูกนำมาสร้างให้เป็นนวัตกรรมเปลี่ยนแปลงองค์กร แต่หากเรามีกระบวนการที่สามารถสร้างไอเดียใหม่ๆได้เรื่อยๆ โอกาสที่เราจะเจอนวัตกรรมก็มีมากขึ้น

การระดมสมองหมายถึงการให้พนักงานสามารถแบ่งปันไอเดียกับคนในบริษัทได้ ยิ่งเราจัดกิจกรรม (หรือบางบริษัทเรียกว่าการประชุม) แบบนี้มากเท่าไรจำนวนไอเดียของเราก็จะมีมากขึ้น ส่วนมากแล้ว เราควรให้พนักงานใช้เวลา 20-30 นาทีต่อหนึ่งครั้ง เพื่อคิดไอเดียใหม่ๆเอามาให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ นอกจากนั้นแล้วอย่าลืมจัดเก็บไอเดียต่างๆ เช่นการใช้มือถือถ่ายรูปแล้วนำไปเซฟในคอมพิวเตอร์

#3 กรองความคิดที่น่าเป็นไปได้ 

หลังจากที่เราได้ไอเดียมาจากข้อที่แล้ว เราก็ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าไม่ใช่ทุกไอเดียที่จะดีหรือสามารถนำไปใช้ได้จริง หมายความว่าเราก็ควรต้องมีกระบวนการบางอย่างเพื่อใช้คัดกรองไอเดียต่างๆ

ขั้นตอนในส่วนนี้เป็นเรื่องของประโยชน์ ทรัพยากร และความเป็นไปได้ ให้ลองให้คะแนนทุกไอเดียในข้อที่แล้วผ่านคำถาม 4 ข้อนี้ว่า ‘ทำแล้วลูกค้าได้ประโยชน์หรือเปล่า’  ‘ทำแล้วองค์กรได้ประโยชน์หรือเปล่า’ ‘ทำได้จริงหรือเปล่า’ และ ‘เรามีทรัพยากรเพียงพอหรือเปล่า’ 

หากเราพิจารณาผ่านคำถามมีแล้วยังมีหลายไอเดียอยู่ คุณก็อาจจะลองพิจารณาเพิ่มว่าไอเดียไหนทำได้ง่ายสุด หรือไอเดียไหนทำแล้วน่าจะดีที่สุด อีกที 

#4 ทดสองและปรับปรุง

เนื่องจากว่าบทความเรื่องของแนวคิดที่ใช้สร้างนวัตกรรม เราจึงไม่สามารถหยุดที่ขั้นตอนการสร้างและคัดกรองไอเดียได้ ขั้นตอนที่เราต้องให้ความสนใจไม่แพ้กันเลยก็คือการทดสอบและปรับปรุงไอเดียเพื่อส่งเสริมการสร้างนวัตกรรม

ให้นำไอเดียมาพัฒนาเพิ่มแล้วค่อยนำไปทดสอบกับลูกค้าหรือผู้ใช้งาน โดยที่คุณอาจจะต้องนำไอเดียกลับมาปรับปรุง 2-3 ครั้งก่อนที่จะสามารถนำไปใช้งานได้จริง สิ่งที่ต้องเน้นย้ำเลยก็คือทุกขั้นตอนและทุกกระบวนการต้องมีผู้รับผิดชอบอย่างชัดเจน

หลังจากที่คุณทดสอบแล้วปรับปรุงไอเดียมาระดับหนึ่งแล้ว (อาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของไอเดีย) คุณค่อยย้ายไอเดียนี้ไปเข้าสู่ ‘กระบวนการธุรกิจจริงๆ’ เช่นการวิเคราะห์การตลาด การขาย หรือการปฏิบัติการ ในส่วนนี้ก็ให้มองว่าเป็นผลิตภัณฑ์หรือบริษัทใหม่ที่คุณอยากจะลงทุนเพิ่มไปเลย…หรือเราอาจจะตัดสินใจว่าไอเดียนี้ไม่คุ้มค่าในการทำแล้วเริ่มใหม่อีกรอบก็ได้

#5 ทำซ้ำอย่างต่อเนื่อง 

หากคุณอยากจะเปลี่ยนจากการคิดเชิงนวัตกรรมแค่ครั้งสองครั้งไปเป็นกระบวนการที่สามารถทำซ้ำได้จริงอย่างต่อเนื่อง อีกอย่างน้อยที่สุดเลยก็คือคุณต้องมีขั้นตอนที่สามารถทำได้อย่างชัดเจน…ซึ่งก็คือขั้นตอนที่ 1-4 ในบทความนี้

แต่ในส่วนขั้นตอนที่ 5 คุณก็ต้องพิจารณาว่าคุณจะวนกลับมาเริ่มขั้นตอนที่ 1 (วิเคราะห์ปัญหาของลูกค้า) ใหม่บ่อยแค่ไหน บางองค์กรที่มีทรัพยากรเยอะก็อาจจะทำแบบสอบถามปีละหลายรอบ แล้วค่อยสรุปปัญหาของลูกค้าทุกครึ่งปี แต่หากคุณเป็นองค์กรขนาดเล็ก คุณอาจจะเริ่มแค่ทำปีละครั้งก่อนก็ได้ เพราะจุดสำคัญก็คือคุณต้องทำอย่างต่อเนื่องทุกปี

กระบวนการที่ถูกพูดถึงควบคู่กับนวัตกรรมก็คือ การคิดเชิงออกแบบ หรือ Design Thinking ที่มีกลิ่นอายคล้ายกับกระบวนการของการคิดเชิงนวัตกรรม หากใครสนใจผมแนะนำให้ลองศึกษาบทความเรื่อง Design Thinking ดูนะครับ

แต่ผมก็ได้อธิบายไว้ก่อนหน้านี้แล้วว่า กระบวนการนี้อาจจะไม่เหมาะกับทุกองค์กร ซึ่งสาเหตุหลักก็คือ 1) บางองค์กรมีวัฒนธรรมที่ไม่สนับสนุนให้พนักงานสามารถออกความคิดเห็นได้ง่าย และ 2) บางองค์กรไม่ได้มี ‘ผู้นำ’ ที่คอยบริหาร ดูแล และรับผิดชอบ กระบวนการสร้างความคิดเชิงนวัตกรรมไหนชัดเจน (ให้มองว่าเป็น ผู้บริหารโครงการ หรือ Project Manager ของโครงการสร้างนวัตกรรม)

ปัญหาก็คือการออกแบบกระบวนการนั้นเป็นสิ่งง่าย และการส่งพนักงานไปอบรมก็เป็นสิ่งที่หลายองค์กรทำกันอยู่แล้ว แต่ทั้งหมดนี้ก็ไม่ได้ทำให้เกิด ‘การปฏิบัติจริง’ เพราะปัจจัยมนุษย์เช่น วัฒนธรรมองค์กร หรือ กรอบความคิด (Mindset) นั่นต้องใช้เวลาเปลี่ยนนานมาก ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ทุกคนลองอ่านบทความเรื่อง การสร้างวัฒนธรรมองค์กร ดูอีกทีนะครับ

สุดท้ายนี้เราจะเห็นว่า นวัตกรรมเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก แต่ความยากของนวัตกรรมไม่ได้อยู่ที่ไอเดียหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ๆอย่างที่ทุกคนคิด ความยากของนวัตกรรมจริงแล้วอยู่ที่กรอบความคิดของคนในองค์กร ซึ่งหมายความว่าองค์กรอยากจะสร้างนวัตกรรมได้มากขึ้น องค์กรก็ต้องหาวิธีพัฒนาปรับสภาพแวดล้อมของตัวเองเพื่อสนับสนุนการสร้างการคิดเชิงนวัตกรรม

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด