การเลิกจ้าง เงินชดเชย และการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม

การเลิกจ้าง เงินชดเชย และการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม

ปัญหาเกี่ยวกับการเลิกจ้างงาน เป็นสิ่งที่ปวดหัวทั้งสำหรับนายจ้างและลูกจ้าง 

ซึ่งแน่นอนว่าก็คงไม่มีใครอยากให้เกิดการเลิกจ้างกันหรอก ลูกจ้างก็คงไม่อยากไปหางานใหม่ถ้าไม่จำเป็น ส่วนนายจ้างก็คงไม่อยากจะต้องนั่งศึกษาเรื่องข้อมูลกฎหมายแรงงานเกี่ยวกับการเลิกจ้าง ซึ่งกฎหมายแรงงานส่วนมากก็เข้าข้างลูกจ้างอยู่แล้ว แต่ในบางครั้ง การเลิกจ้างก็เป็นสิ่งที่ไม่อาจเลี่ยงแต่ เพราะฉะนั้นสิ่งที่นายจ้างและลูกจ้างต้องเข้าใจก็คือ ‘การปกป้องสิทธิของตัวเอง’

หากลูกจ้างประพฤติตัวไม่ดี สามารถเลิกจ้างได้ไหม? การเลิกจ้างแบบไหนถึงจะเป็นธรรม? และแบบไหนคือการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม? ในบทความนี้เรามาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการเลิกจ้างกัน อะไรคือการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม และ กรณีไหนที่ลูกจ้างถึงจะได้เงินชดเชยจากการเลิกจ้าง

อนึ่ง ข้อมูลในบทความนี้เป็นข้อมูลที่ผมสรุปมาจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมาย หลายท่านอีกที ผมไม่ได้มีปริญญาทางด้านกฎหมาย ไม่ได้ทำงานเกี่ยวกับสายนี้ และทุกอย่างในบทความนี้เป็น ‘การสรุปข้อมูล’ ตามความเข้าใจของผม ไม่ใช่คำแนะนำทางกฎหมาย

บทความนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อให้ข้อมูลเท่านั้น คุณไม่ควรนำคำแนะนำนี้มาใช้เป็นขั้นตอนสุดท้ายในการตัดสินใจอะไรทั้งนั้น หากคุณต้องทำการตัดสินใจอะไรเกี่ยวกับทางกฎหมาย คุณก็ควรเลือกปรึกษาทนายความใกล้ตัวเพื่อหาคำตอบ 

การเลิกจ้าง และกฏหมายแรงงานคุ้มครอง

การเลิกจ้าง ลูกจ้างจะถูกคุ้มครองทางกฏหมาย และต้องได้รับค่าชดเชย ยกเว้น กรณีลาออกโดยสมัครใจ กรณีสัญญาจ้างกำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอน และกรณีลูกจ้างทุจริต ละเลยละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผล หรือทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย

ซึ่งนายจ้างต้องจ่ายเงินชดเชย ไม่ว่าจะเป็นกรณีนายจ้างเป็นฝ่ายให้ลูกจ้างออกจากงาน นายจ้างเลิกกิจการ หรือ ลูกจ้างต้องออกจากงานเพราะสัญญาจ้างสิ้นสุดลง

เรียกได้ว่า ในทุกกรณีที่มีการเลิกจ้าง นายจ้างก็จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยให้กับลูกจ้าง ยกเว้นในบางสถานการณ์เท่านั้น 

การลาออกโดยสมัครใจ – ไม่รวมถึงในกรณีที่ลูกจ้างถูกนายจ้างบังคับให้เขียนใบลาออก ซึ่งลูกจ้างก็ยังสามารถยื่นเรื่องเพื่อปกป้องสิทธิ์ตัวเองได้เหมือนเดิม

สัญญาจ้างกำหนดเวลาจ้างไว้แน่นอน – ลูกจ้างที่ทำสัญญากับนายจ้างโดยมีกำหนดระยะเวลาการจ้างที่แน่นอน และนายจ้างเลิกจ้างตามกำหนดระยะเวลาที่ได้ตกลงกันไว้นั้น และสัญญาต้องเป็นหนังสือไว้ตั้งแต่เมื่อเริ่มจ้าง มีเนื้องานเป็นการจ้างงานที่ทำชั่วคราวในช่วงเวลาอันสั้นแล้วเสร็จสิ้นไป 

ยกตัวอย่างเช่น งานในโครงการ งานที่เป็นไปตามฤดู และงานที่มีลักษณะเป็นครั้งเป็นคราว มีกำหนดในการสิ้นสุด 

ในส่วนสัญญาจ้างชั่วคราว สามารถอ่านบทความเพิ่มเติมของผมได้ที่ ลูกจ้างชั่วคราวและสัญญาจ้างในกรณีต่างๆ

แต่ก็มีลูกจ้างที่มีความประพฤติบางอย่าง ที่นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้โดยไม่บอกกล่าวล่วงหน้า กรณีดังกล่าว มีดังนี้

ลูกจ้างจงใจขัดคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้าง
ลูกจ้างละเลยไม่นำพาต่อคำสั่งโดยชอบด้วยกฎหมายของนายจ้างเป็นอาจิณ
ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่โดยไม่มีเหตุผลอันสมควรและเป็นเวลานาน
ลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรง
ลูกจ้างกระทำการไม่สมควรแก่การปฏิบัติหน้าที่ของตนให้ลุล่วงไปโดยถูกต้องและสุจริต
ลูกจ้างทุจริต
ลูกจ้างกระทำความผิดอาญาโดยเจตนาต่อนายจ้าง
ลูกจ้างจงใจทำให้นายจ้างได้รับความเสียหาย
ลูกจ้างประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
ลูกจ้างฝ่าฝืนคำสั่ง ระเบียบหรือข้อบังคับเกี่ยวกับการทำงานของนายจ้างกรณีร้ายแรง
ลูกจ้างกระทำผิดซ้ำคำเตือน
ลูกจ้างละทิ้งหน้าที่ 3 วันทำงานติดต่อกันโดยไม่มีเหตุอันสมควร
ลูกจ้างได้รับโทษจำคุกตามคำพิพากษาถึงที่สุด หากเป็นความผิดโดยประมาทหรือลหุโทษ นายจ้างจะต้องได้รับความเสียหาย

ที่มา 1 , 2

ซึ่งการเลิกจ้างในกรณีด้านบน นอกจากลูกจ้างจะไม่ได้ค่าชดเชยและสินจ้างแทนการบอกกล่าวล่วงหน้าแล้ว ยังจะเสียประวัติยากแก่การหางานใหม่อีกด้วย นับว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำเป็นอย่างยิ่ง

แน่นอนว่าในกรณีที่มีการเลิกจ้างจริง ลูกจ้างก็มีสิทธิ์ทางกฎหมายที่จะเรียกร้องความเป็นธรรมกับนายจ้าง ซึ่งในกรณีพวกนี้ก็ต้องมาดูหลักฐานและความเป็นจริงกันอีกทีว่าการเลิกจ้างแต่ละอย่างนั้นเป็นธรรมและสมเหตุผลแค่ไหน แต่โดยรวมแล้วกฎหมายแรงงานก็จะเข้าข้างลูกจ้างมากกว่า 

ในบทความส่วนนี้เราได้เข้าใจกรณีที่ต้องจ่ายเงินชดเชยไปแล้ว ในส่วนถัดไปเรามาดูกันว่าเงินชดเชยที่ต้องจ่ายต้องเป็นจำนวนเท่าไหร่และคิดยังไงบ้าง

การเลิกจ้าง และเงินชดเชย

การเลิกจ้างในกรณีส่วนมาก (ยกเว้นประเภทที่ได้รับการยกเว้นทางกฎหมาย ตามกรณีที่ได้อธิบายไว้แล้วด้านบน) นายจ้างก็มีหน้าที่ที่จะต้องจ่ายเงินชดเชยให้กับลูกจ้าง เป็นจำนวนตามวันที่ทำงานจริง

ซึ่งก็จะคิดตามจำนวนวันทำงาน สามารถดูได้ด้านล่างนี้ (พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน 2541)

1. อายุงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 30 วัน
2. อายุงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 90 วัน
3. อายุงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 180 วัน
4. อายุงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 240 วัน
5. อายุงานครบ 10ปี ขึ้นไป จ่ายไม่น้อยกว่าค่าจ้าง 300 วัน

ในกรณีที่ต้องนับอายุงาน 120 วัน จำนวนวันที่ทำงานก็ต้องนับตามวันที่ทำงานจริง หมายความว่าไม่สามารถรวมวันที่พนักงานหยุดได้ ในส่วนนี้ก็ต้องหาหลักฐานและไปคำนวณกันเองว่าลูกจ้างมีหยุดจริงในระยะเวลาทำงานกี่วันกันแน่

หากในกรณีที่นายจ้างเลิกจ้างลูกจ้าง เพราะความจำเป็นทางเศรษฐกิจ ยกตัวอย่างเช่นต้องปิดตัวธุรกิจ หรือต้องลดขนาดบริษัท (ยกเว้นในกรณีที่ได้รับข้อยกเว้นตามที่เขียนไว้ส่วนที่แล้ว) 

นายจ้างมีหน้าที่ต้องจ่ายค่าชดเชยให้แก่ลูกจ้าง หากฝ่าฝืน ในทางแพ่งต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยในระหว่างผิดนัดในอัตรา 15 % ต่อปี หากนายจ้างจงใจผิดนัดโดยปราศจากเหตุผลอันสมควร ต้องรับผิดเสียเงินเพิ่มในอัตรา 15 % ทุกระยะ 7 วัน

ส่วนความรับผิดในทางอาญา นายจ้างอาจมีความผิดตามพระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงานฯ มาตรา 144 มีระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาทหรือทั้งจำทั้งปรับ

การเลิกจ้างที่เป็นธรรม และการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม

การเลิกจ้างที่เป็นธรรม ก็คือการเลิกจ้างที่สมเหตุสมผล เกิดจากการยินยอมของทั้งสองฝ่าย หรือเกิดจากสองกรณีดังนี้

ความเป็นธรรมในทางเนื้อหา (substantive fairness) – หมายถึงเวลาที่นายจ้าง ประสบปัญหาหรือความจำเป็นทางด้านเศรษฐกิจ ที่ทำให้ต้องเลิกจ้างลูกจ้าง เช่นธุรกิจประสบสภาวะขาดทุนต่อเนื่อง มีการขาดทุนสะสมตัดกันหลายปีเป็นจำนวนเงินน่าเกินไป เกิดภาวะขาดแคลนเงินหมุนนางจากสถาบันการเงินหรือนายทุนไม่ปล่อยสินเชื่อ หรือเหตุผลอื่นที่ทำให้ต้องปิดกิจการ 

ในกรณีนี้นายจ้างก็ต้องดูตามเหตุผลความเป็นจริง ว่ามีเหตุสมควรและเพียงพอที่จะยกมาเป็นเหตุเลิกจ้างลูกจ้างได้แค่ไหน

ความเป็นธรรมในทางกระบวนการก่อนการเลิกจ้าง (procedural fairness) – หมายถึงการที่นายจ้างต้องดำเนินมาตรการอื่นๆที่สามารถทำได้ก่อนการปลดคนงาน ก่อนที่จะเลิกจ้าง ถึงแม้ว่าจะขาดทุนแค่ไหนก็ตาม กระบวนการในการพิจารณาการเลิกจ้างของนายจ้างควรที่จะมีความเป็นธรรม 

มาตรการที่ต้องดำเนินการก่อนปลดคนงาน เป็นสิ่งที่นายจ้างทุกคนควรจะพิจารณาก่อนทุกครั้ง เช่นการเจรจาปรับลดสภาพการจ้างกับลูกจ้าง การพยายามลดต้นทุนส่วนอื่น เช่นต้นทุนการผลิต ไม่ต้องทนสาธารณูปโภคอย่างอื่น การย้ายพนักงานไปทำในแผนกอื่น ช่วยพนักงานหางานในบริษัทอื่น บางคนก็อาจจะขอความคิดเห็นจากลูกจ้างเพื่อหาทางแก้รวมกัน

กระบวนการพิจารณาการเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม หมายความว่านายจ้างต้องเลือกลูกจ้างที่จะเลิกจ้างอย่างเป็นธรรม ยกตัวอย่างเช่นการพิจารณาจากอายุงาน จากความสามารถในการทำงาน การพิจารณาจากควรปฏิบัติงาน และการพิจารณาจากการฝ่าฝืนกฎระเบียบในสำนักงาน เป็นต้น

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงก็คือการเลิกจ้างแบบเสมอภาค และ ไม่เลือกปฏิบัติตามเหตุที่ไม่เป็นธรรม 

โดยส่วนมากแล้ว ค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม ศาลจะพิจารณาจากหลายปัจจัย เช่นลูกจ้างที่ถูกจ้างมานานกว่ามีอายุงานเยอะกว่าก็ควรได้ค่าเสียหายเยอะกว่า ลูกจ้างที่มีอายุมากกว่าก็ถือว่าจะหางานใหม่ได้ยากทำให้ต้องจ่ายค่าเสียหายเยอะกว่าเช่นกัน หรือถ้าหากมูลเหตุของการเลิกจ้างไม่สมเหตุผล นายจ้างก็จำเป็นต้องโดนปรับเพิ่ม

นอกจากนั้นแล้วยังมีกรณีอื่นเช่น ความเดือดร้อนของลูกจ้างและเงินชดเชยต่างๆเป็นต้น

ซึ่งการเลิกจ้างแบบเป็นธรรม ก็คือการจ่ายแค่เงินชดเชยตามอายุงาน แต่ในกรณีที่เป็นการเลิกจ้างแบบไม่เป็นธรรม นายจ้างต้องรับผิดจ่ายค่าเสียหายจากการเลิกจ้างไม่เป็นธรรม และต้องรับผิดเสียดอกเบี้ยของเงินค่าเสียหายในอัตรา 7.5 % ต่อปีให้แก่ลูกจ้าง (ได้อธิบายไว้ในกรณีหัวข้อที่แล้ว) 

ทั้งนี้ทั้งนั้นกฎหมายแรงงานก็เป็นกฎหมายที่เข้าข้างลูกจ้างมากอยู่แล้ว ในกรณีไหนที่ลูกจ้างถูกนายจ้างก็สามารถคุยกับกรมแรงงานเพื่อปกป้องสิทธิ์ของตัวเองได้

อย่างไรก็ตามสำหรับนายจ้างที่ประสบปัญหา ธุรกิจกำลังขาดทุนไม่มีเงินจ่ายเงินเดือนลูกจ้าง ในกรณีพวกนี้นายจ้างกับลูกจ้างก็ควรพูดคุยกันละหาวิธีแก้ปัญหานี้ด้วยกัน ตามภาษากฎหมายที่เรียกว่า ‘การประนีประนอม’

สุดท้ายนี้ผมขอย้ำอีกครั้งว่าข้อมูลทั้งหมดที่ผมเขียนมานี้ เป็นข้อมูลที่ผมรวบรวมมาจากบทความต่างๆอีกที ผู้อ่านไม่ควรนำข้อมูลนี้ไปเป็นปัจจัยสุดท้ายในการตัดสินใจทำอะไรทั้งนั้น

ในกรณีที่ลูกจ้างหรือนายจ้างไม่พอใจกัน หรือประสบปัญหาต่างๆที่ทำให้เกิดการเลิกจ้าง ผมแนะนำให้ทั้งสองฝ่ายหาผู้ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านกฎหมาย ที่สามารถให้คำแนะนำทางกฎหมายได้ดีกว่านี้ 



Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด