Letter of Credit คืออะไร และสำคัญยังไงสำหรับการทำธุรกิจกันแน่

Letter of Credit คืออะไร

คนที่ทำธุรกิจกับลูกค้าหรือผู้ขายต่างประเทศอาจจะเคยได้ยินคำว่า Letter of Credit L/C หรือตราสารเครดิตมาบ้าง ซึ่งทั้งสามอย่างนี้หมายถึงเอกสารสำคัญอย่างหนึ่งที่จะช่วยทำให้ธุรกรรมกับนิติบุคคลต่างประเทศง่ายขึ้น และลดปัญหาด้านความไว้วางใจหลายอย่างไปได้ เช่นการโดนโกง หรือชำระเงินไม่ตรงเวลา

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า Letter of Credit หรือตราสารเครดิตคืออะไรกันแน่ ทำงานยังไง และมีความสำคัญยังไงกับการทำธุรกิจหลายประเภท และก่อนที่เราจะยื่นขอหรือรับเอกสาร Letter of Credit เราควรรู้อะไรบ้าง

Letter of Credit คืออะไรกันนะ

Letter of Credit (L/C) หรือ ตราสารเครดิต คือหนังสือค้ำประกันจากธนาคาร เพื่อยืนยันว่าการชำระเงินจากผู้จ่าย จะไปถึงผู้รับในเวลาที่กำหนดและในปริมาณที่ถูกต้อง และเพื่อสร้างความมั่นใจในการชำระเงิน

ในกรณีที่ผู้จ่ายไม่สามารถชำระเงินได้ ธนาคารก็จำเป็นจะต้องรับผิดชอบการชำระเงินทั้งหมดหรือที่เหลือ เพราะฉะนั้น การสร้างความมั่นใจผ่านตราสารเครดิตแบบนี้ทำให้การชำระเงินที่ทั้งสองฝ่าย ‘ไม่รู้จักตัวตน’ กันเกิดไดัง่ายมากขึ้น ยกตัวอย่างเช่น ‘การชำระเงินระหว่างประเทศ’ ที่มีปัจจัยด้านระยะทาง กฎหมาย และภาษา ที่ทำให้ทั้งสองฝ่ายรู้จักและเชื่อใจได้ยาก

ซึ่งสำหรับประเทศไทย การชำระเงินระหว่างประเทศ ส่วนมากก็คือการส่งออก-นำเข้าสินค้านั้นเอง แต่การซื้อขายที่สามารถใช้ตราสารเครดิตได้ก็มีหลายอย่าง ได้แก่ การจ้างบริษัทที่ปรึกษาหรือผู้รับเหมาโครงการจากต่างประเทศ เป็นต้น

Letter of Credit ใช้งานยังไง – วัตถุประสงค์ของ Letter of Credit ที่คุณควรรู้

Letter of Credit ก็คือการที่เราให้ธนาคารรับรองการชำระเงินของเราล่วงหน้า หรือที่คนเรียกว่าการรับประกันการชำระเงิน ต่อให้ผู้ชำระเงินไม่สามารถชำระเงินได้ (อาจจะมีเงินหมุนไม่พอ ณ วันจ่าย หรือจงใจไม่จ่ายเงิน) ทางปลายทางก็ยังจะได้รับการชำระเงินจากธนาคารอยู่ดี หมายความว่าธนาคารจะเป็นตัวกลางในการรับความเสี่ยงระหว่างธุรกรรมเอาทั้งสองฝ่ายนี้

แน่นอนว่าหากผู้ซื้อไม่สามารถชำระเงินได้ตรงเวลา และธนาคารต้องชำระเงินให้กับปลายทาง หมายความว่าหน้าที่ของธนาคารหลังจากที่ทำธุรกรรมเสร็จแล้วก็คือการตามเงินกับผู้ซื้อภายหลัง 

หากเราถามว่าธนาคารจะได้อะไรจากธุรกรรมที่เหมือนจะมีความเสี่ยงครั้งนี้ คำตอบก็คือ ธนาคารจะได้ ‘ค่าคอมมิชชั่น’ ซึ่งส่วนมากก็จะเป็นเปอร์เซ็นต์ของจำนวนเต็มในตราสารเครดิต ซึ่งแน่นอนว่าก่อนที่ผู้ชำระเงินจะสามารถขอเครดิตในการชำระเงินล่วงหน้ากับธนาคารได้ ผู้ชำระเงินก็ต้องมีเอกสารที่แสดงความน่าเชื่อถือให้กับธนาคารเช่นกัน เช่นเอกสารสินทรัพย์เป็นต้น 

การดำเนินการขอรับตราสารเครดิตจากธนาคาร ควรมีการระบุรายละเอียดเกี่ยวกับการส่งออกและการชำระเงินให้เรียบร้อยต่างๆเช่น ชื่อบริษัทผู้ส่งออก, ปริมาณในการส่งออก, สกุลเงิน, ลักษณะของสินค้า และวันครบกำหนดชำระ

หลักจากที่มีการมอบส่งสินค้าเรียบร้อย ผู้ส่งออกหรือผู้ขายต้องแสดงเอกสารเกี่ยวกับการส่งออกให้ธนาคารรับทราบ และหลักจากที่ธนาคารตรวจสอบเอกสารเสร็จเรียบร้อยแล้ว ทางธนาคารจะเรียกเก็บเงินตามเงื่อนไขการชำระเงินจากผู้นำเข้าสินค้าหรือผู้ซื้ออีกที

ธนาคารมีหน้าที่ตรวจสอบเอกสารส่งเข้าออกเพื่อยืนยันการแลกเปลี่ยนของสินค้าหรือบริการ ก่อนที่จะดำเนินการชำระเงินให้กับปลายทาง ในกรณีนี้ธนาคารไม่มีหน้าที่ที่จะตรวจสอบสินค้า ซึ่งก็เป็นความเสี่ยงที่ผู้รับสินค้าปลายทางต้องหาวิธีป้องกันตัวเองอย่างอื่นอีกที เช่น หากซื้อสินค้ามาแล้วได้จำนวนไม่ครบมีคุณภาพไม่ได้ตามที่ถูกรับประกันไว้ เราก็ต้องนำตราสารเครดิตไปดำเนินการทางกฎหมายอย่างอื่นอีกที 

รูปแบบธุรกรรมของ Letter of Credit

ประโยชน์ของ Letter of Credit

เราจะเห็นได้ว่าประโยชน์ของ Letter of Credit (L/C) เบื้องต้นก็คือการลดความเสี่ยงระหว่างผู้ซื้อและผู้ขาย หากไม่มีการแลกเปลี่ยนสินค้าทางธนาคารก็จะไม่ดำเนินการธุรกรรมชำระเงิน ในกรณีนี้ ประโยชน์ของ Letter of Credit ของผู้ซื้อและผู้ขายจะต่างกันนิดหน่อย

ประโยชน์ของ Letter of Credit สำหรับผู้ขาย – ผู้ขายสามารถใช้ Letter of Credit เพื่อรับประกันการชำระเงินจากผู้ซื้อ เพราะการชำระเงินกับลูกค้าใหม่จากต่างประเทศนั้นมีความเสี่ยงสูง และยากที่จะดำเนินการทางกฎหมาย  

ประโยชน์ของ Letter of Credit สำหรับผู้ซื้อ – ผู้ซื้อสามารถลดความเสี่ยงในการถูกหลอก เพราะส่วนมากธนาคารจะดำเนินการชำระเงินให้ต่อเมื่อเรามีเอกสารยืนยันรับของแล้วเท่านั้น อย่างไรก็ตาม กรณีที่สินค้าไม่ได้มาตรฐาน ธนาคารก็อาจจะช่วยเราได้มาก นอกจากนั้นแล้วผู้ซื้อยังสามารถยืดเวลาการชำระเงินได้อีกนิดหน่อย (30-90 วัน) ทำให้ผู้ซื้อมีประโยชน์ด้านเงินหมุนจากการซื้อของแบบมีเครดิต 

โดยรวมแล้ว Letter of Credit เป็นเอกสารที่ทั้งผู้ซื้อและผู้ขายสามารถตกลงเรื่องข้อกำหนดและเงื่อนไขได้เอง ทำให้เอกสารตัวนี้มีความยืดหยุ่นมาก จึงเหมาะสำหรับการทำธุรกรรมระหว่างหน่วยงานธุรกิจกับหน่วยธุรกิจ (B2B) ตัวอย่างเช่นเงื่อนไขเรื่องวันชำระจ่าย และเงื่อนไขเรื่องขั้นตอนการขนส่งเป็นต้น 

Letter of Credit มีข้อเสียหลักอยู่สามอย่างได้แก่ 

ค่าใช้จ่ายในการออกเอกสารเครดิต – ทางธนาคารจะคิดค่าใช้จ่ายตราสารเครดิตเป็นเปอร์เซ็นต์ของมูลค่าธุรกรรม ยิ่งธุรกรรมมีมูลค่าเยอะค่าใช้จ่ายในการออกเอกสารนี้ก็จะมีเยอะขึ้น บางธุรกิจเลือกที่จะออกตราสารเครดิตสำหรับธุรกรรมแรกๆอย่างเดียวเพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความมั่นใจก่อน

เวลาที่ต้องใช้ในการดำเนินเอกสาร – ค่าใช้จ่ายอีกอย่างที่ธุรกิจต้องคำนึงถึงก็คือค่าเสียเวลา และค่าการเดินเอกสารต่างๆ 

การผันแปรของค่าเงินต่างประเทศ – ส่วนมากแล้วตราสารเครดิตจะมีการกำหนดไว้ว่าค่าเงินที่ใช้ในการชำระเงินจะเป็นค่าเงินของช่วงเวลาไหน อย่างไรก็ตามการสัญญาการชำระเงินต่างประเทศก็มีความเสี่ยงในด้านการผันแปรของค่าเงินอยู่เสมอ

สุดท้ายนี้ เราจะเห็นได้ว่าต่อให้ Letter of Credit มีความยุ่งยากในการขอและมีค่าใช้จ่ายมากแค่ไหน คนทำธุรกิจส่วนมากก็ยอมที่จะจ่าย เพื่อซื้อ ‘ความสบายใจ’ ในการหาลูกค้าใหม่และในการทำธุรกิจข้ามประเทศอยู่ดี เพราะฉะนั้นตราบใดที่ธุรกิจข้ามชาติยังไม่มีวิธีที่ ‘ลดความเสี่ยง’ ในการค้าขายได้ดีกว่านี้หรือราคาถูกกว่านี้ การขอ Letter of Credit หรือตราสารเครดิต ก็ยังเป็นตัวเลือกที่จำเป็นอยู่ดี

ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C)

เอกสารนี้เป็นตัวอย่างมาจาก ธนาคารTMB นะครับ

 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 1
 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 2
 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 3
 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 4
 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 5
 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 6
 ตัวอย่างวิธีการขอ Letter of Credit (L/C) 7

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

ลูกค้าขอใบเสนอราคา เราต้องทำอะไรบ้าง? (พร้อมตัวอย่าง)
วิธีคำนวณภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่คนทำธุรกิจต้องรู้
จุดคุ้มทุนคืออะไร? ประโยชน์+วิธีคำนวณ [Break Even Point – BEP]

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด