ไม่ว่าจะเป็นในสมัยไหน การต่อรองเงินเดือนก็ถือว่าเป็นทักษะที่สำคัญสำหรับลูกจ้าง หากเราอยากจะทุ่มเทเวลาเพื่อบริษัทเราก็ต้องเข้าใจก่อนว่าเวลาของเรามีค่าแค่ไหน ทั้งสำหรับเราและสำหรับนายจ้าง
อย่างไรก็ตาม สำหรับเด็กจบใหม่ คนขี้อาย หรือคนที่พูดไม่ค่อยเก่งก็อาจจะไม่ค่อยมั่นใจว่าการต่อรองเงินเดือนทำอย่างไรได้บ้าง ซึ่งในบทความนี้ ผมจะมาแนะนำวิธี กลยุทธ์ และ เทคนิคต่างๆที่เราสามารถนำไปปรับใช้เพื่อต่อรองเงินเดือนได้มากขึ้น
6 เทคนิคการต่อรองเงินเดือน (ถูกใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง)
ผมเชื่อว่าคนที่กำลังมองหางานทุกคนต้องคาดหวังว่าจะได้ทำงานในตำแหน่งที่ได้นานๆ ได้ใช้ประสบการณ์ที่ผ่านมาให้เต็มที่ หรือคนที่เพิ่งได้เริ่มเรียนรู้การทำงานก็ต้องอยากเก็บเกี่ยวประสบการณ์ ไม่ก็กำลังค้นหาตัวตนของตัวเอง
แต่ไม่ใช่ว่าพอสัมภาษณ์ผ่านแล้วจำเป็นต้องตอบรับกับอัตราเงินเดือนที่บริษัทกำหนดให้แต่เพียงฝ่ายเดียวเสีย เราเองก็มีอำนาจในการต่อรองเงินเดือนจากประสบการณ์ทำงานหรือจากวุฒิการศึกษาที่จบมาเหมือนกัน เพราะไม่แน่ว่าลักษณะงานที่ได้รับข้อมูลมาจากผู้สัมภาษณ์อาจจะตรงหรือไม่ตรงกับรายละเอียดของงานเมื่อต้องลงมือทำงานจริงๆ ก็ได้
ดังนั้นเพื่อให้ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย เราก็ไม่ถูกเอาเปรียบเรื่องเงินเดือน บริษัทก็ยอมรับในความสามารถและความมั่นใจของเราได้ก็ต้องให้ความสำคัญกับการต่อรองเงินเดือนเพื่อรักษาผลประโยชน์ที่มีร่วมกัน ส่วนจะต่อรองแบบไหน ผมมีเทคนิคมาฝากกัน
#1 ศึกษาฐานเงินเดือนในตลาด
อันดับแรกเราต้องทำการศึกษาฐานเงินเดือนในตลาดก่อนหรือที่เรียกว่า Salary Survey เพื่อให้เรามีข้อมูลว่าตำแหน่งที่สมัครไปแท้จริงแล้วควรมีฐานเงินเดือนเท่าไหร่ จะได้เป็นข้อมูลตอนถูกสัมภาษณ์ว่าบริษัทให้เงินเดือนสูงหรือต่ำกว่าฐานเงินเดือนในตลาด
หากให้สูงกว่าก็แล้วไป แต่หากต่ำกว่าเราต้องงัดเอาประสบการณ์ทำงานก่อนหน้ามาเป็นเครื่องมือในการต่อรองเงินเดือนให้สูงขึ้นในระดับที่ทั้งเราและบริษัทยอมรับได้
หากเรามีตัวเลือกเยอะ ผมแนะนำให้ศึกษาก่อนสมัครงานนะครับ แต่หากเราไม่มีตัวเลือกเท่าไร ข้อแนะนำของผมก็คือสมัครไปก่อนเพื่อเพิ่มโอกาสให้กับตัวเอง เพราะในฐานะคนที่เริ่มสมัครงานใหม่ๆ บางทีเราก็ไม่รู้เรื่องฐานเงินเดือนเท่าไรจนกว่าจะได้ไปสัมภาษณ์งานจริงๆ (แนะนำให้สมัครและสัมภาษณ์งานให้ผ่านก่อนแล้วค่อยคุยเรื่องเงินเดือน)
ต้องบอกว่าข้อนี้ยากมาก เพราะประเทศไทยไม่ได้มีฐานข้อมูลให้ วิธีที่ทำได้ (แบบไม่น่าเกลียด) ก็มีแค่การถามรุ่นพี่ เพื่อนๆต่างๆ ‘ก่อนต่อรองเงินเดือน’ ซึ่งก็ไม่ใช่โอกาสที่ทุกคนจะมี ในบทความผมจะมีข้อแนะนำเพิ่มเติมอีกที
#2 รู้จักความสำคัญของตำแหน่งงาน
นอกจากต้องรู้ฐานเงินเดือนของตลาด เราควรต้องรู้จักความสำคัญของตำแหน่งงานที่บริษัทกำลังมองหาอยู่ด้วยซึ่งจะพิจารณาได้จาก 3 ส่วนคือ
- เป็นตำแหน่งที่เทียบเท่ากับตำแหน่งเดียวกันกับคนในบริษัท ลักษณะนี้บริษัทจะมีฐานเงินเดือนไว้อยู่แล้วซึ่งไม่น่าจะต่อรองเงินเดือนให้สูงกว่าคนที่อยู่มาก่อนได้ นอกจากเมื่อเข้ามาทำงานแล้วเรามีความสามารถโดดเด่นกว่า บริษัทถึงจะเพิ่มเงินเดือนให้ได้
- เป็นตำแหน่งเทียบเท่ากับตำแหน่งเดียวกันในบริษัทอื่น ลักษณะนี้พอต่อรองเงินเดือนให้สูงกว่าเดิมได้ เพราะเรามีประสบการณ์จากที่อื่นและจะเอาประสบการณ์นั้นมาต่อยอดให้กับบริษัทใหม่
- เป็นตำแหน่งที่สำคัญของบริษัท เช่น Sales หรือตำแหน่งเฉพาะทางเช่น IT จะมีอำนาจต่อรองเงินเดือนได้สูงเพราะเป็นตำแหน่งสำคัญ (Critical) ที่ทุกบริษัทต้องการ
#3 กำหนดเป้าหมายเงินเดือนที่ยอมรับได้
ให้กำหนดเป้าหมายเงินเดือนที่ยอมรับได้ว่าต่ำสุดหรือสูงสุดที่เท่าไหร่ ซึ่งก่อนการสัมภาษณ์งานเราควรมีตัวเลขเงินเดือนสูง-ต่ำไว้ในใจ หากผ่านการสัมภาษณ์แล้วได้เงินเดือนที่สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งก็ผ่านได้
ตรงกันข้ามหากถูกกดเงินเดือนต่ำกว่าอัตราต่ำสุดที่เราตั้งเป้าไว้ ต้องพิจารณาว่าเราอยากทำงานนี้มากน้อยแค่ไหน หากยอมรับได้ก็ตอบรับทำงานได้ แต่หากยังลังเลและมั่นใจว่าสามารถผ่านการสัมภาษณ์จากบริษัทอื่นที่ให้เงินเดือนตามเป้าที่ตั้งไว้ได้ก็สละสิทธิ์ไปถือว่า win-win ทั้ง 2 ฝ่าย
#4 การต่อรองที่ดี
การต่อรองเงินเดือนต้องมีจุดที่ยอมรับได้ทั้ง 2 ฝ่ายสำหรับด้านบริษัทจะมีเกณฑ์ที่จะยอมรับได้อยู่ในใจอยู่แล้ว แต่สำหรับเราหากต่อรองเงินเดือนสุดๆ แล้ว แต่บริษัทให้ไม่ได้จริงๆ ก็ต้องมองย้อนกลับมาว่าอัตราเงินเดือนที่บริษัทให้เพียงพอต่อค่าใช้จ่ายประจำวันหรือความจำเป็นอื่นๆ แล้วหรือไม่
ถ้าพิจารณาแล้วว่าพอก็สามารถตอบรับการทำงานได้ เพราะยังไงก็มีโอกาสได้เงินเดือนเพิ่มจากความทุ่มเทที่เราทำให้บริษัทอยู่แล้ว
จำไว้ว่าวิธีพูดก็สำคัญไม่แพ้กันเลย คนสองคนสามารถพูดเรื่องเดียวกัน ใช้คำเหมือนกัน แต่ด้วยโทนเสียง การใส่อารมณ์ การเลือกจังหวะ ก็ทำให้ผลลัพธ์ไม่เหมือนกันแล้ว
ทักษะเจรจาต่อรองเป็นสิ่งที่สำคัญครับ ผมมีคู่มือที่ลงรายละเอียดอย่างชัดเจนไว้แล้ว สามารถดูได้ที่นี่ คู่มือเจรจาธุรกิจ (Negotiations)
#5 หาทางเลือกสำรอง
ต้องมองหาทางเลือกสำรองไว้ด้วย กรณีที่สุดท้ายไม่สามารถต่อรองเงินเดือนให้ได้ในอัตราที่ต้องการ ก็อาจจะมองหาบริษัทอื่นที่สนใจความสามารถของเรามากกว่า
เพราะถ้าเรามีข้อดีก็ไม่ควรให้ถูกบริษัทเอาเปรียบด้วยการกดเงินเดือน เผลอๆ ที่สำรองที่เราหาไว้อาจเห็นคุณค่าของเราและยอมให้เรามีอำนาจในการต่อรองที่เหนือกว่าก็ได้
ทางเลือกสำรองทำให้อีกฝ่ายไม่สามารถกดดันเราได้ หากเรารู้แล้วว่าเรามีงานอื่นที่ได้เงินเดือน 20,000 เราก็ไม่มีทางถูกบริษัทอื่นกดเงินเดือนได้ครับ ส่วนนี้เป็นเหตุผลที่คนที่ย้ายงานบ่อยๆถึงมีเงินเดือนเยอะ
#6 Resume/Portfolio/CV
Portfolio คืออาวุธสำคัญ ที่สามารถใช้ในการต่อรองเงินเดือนให้สูงขึ้น เรามีความสามารถอะไร หรือเคยมีผลงานอะไรที่โดดเด่นจากการทำงานที่ผ่านมา ให้เรียบเรียงเก็บเป็น Portfolio ไว้ให้ดี เพราะนี่คือหลักฐานสำคัญที่ช่วยให้บริษัทมั่นใจได้ว่าหากยอมรับกับอัตราเงินเดือนที่เราต่อรองไป บริษัทจะไม่ผิดหวังที่รับเราเข้าทำงาน
เราจะเรียกสิ่งนี้ว่าความน่าเชื่อถือก็ได้ หากนายจ้างมั่นใจว่าเรามีความน่าเชื่อถือสามารถประหยัดเวลา สร้างรายได้ ลดต้นทุนให้นายจ้างได้อย่างแน่นอน เราก็จะเพิ่ม ‘ความน่าจ้าง’ ให้กับตัวเองได้
ประเด็นสำคัญของการต่อรองเงินเดือนให้ได้ผลลัพธ์ที่ต้องการคือกำหนดขอบเขตของการต่อรองให้ win-win ทั้ง 2 ฝ่าย และรับรองเลยว่าคุณจะได้งานที่ถูกใจและมีตัวตนที่สำคัญอยู่ในบริษัทที่คุณฝันอยากจะร่วมงานด้วย
ข้อแนะนำทิ้งท้ายในการต่อรองเงินเดือน
สุดท้ายนี้ผมอยากจะบอกว่าการต่อรองเงินเดือนเป็นสิ่งที่มาพร้อมประสบการณ์ครับ ยิ่งเราสมัครงานเยอะ ยิ่งเราได้คุยกับฝ่ายบุคคลหลายบริษัท เราก็จะเห็นภาพรวมมากขึ้น
บางคนที่ผมรู้จักสมัครงานไปเป็นร้อยที่กว่าจะได้งานที่เงินเดือนโอเค ให้มองสิ่งนี้เป็นกระบวนการที่เราต้องทำให้ดีขึ้นเรื่อยๆ มากกว่าสิ่งที่ทำเป็นแล้วต้องเลิกสนใจนะครับ
เพราะฉะนั้้น สิ่งที่ผมอยากให้ทุกคนพิจารณาก็คือ ‘อำนาจในการต่อรอง’ ซึ่งเป็นคำตอบของทุกอย่าง ถึงแม้ว่าเราจะไม่สามารถขอเงินเดือนหลักแสนกับงานบางอย่างได้ แต่โดยภาพรวม หากเราหาโอกาสให้ตัวเอง ค่อยๆเพิ่มทักษะเรื่อยๆ เราก็จะเพิ่มเงินเดือนให้ตัวเองได้ในระยะยาว
หากใครอยากศึกษาเรื่องต่อรองเงินเดือนเพิ่มเติม ผมแนะนำให้ดูบทความนี้เพิ่มนะครับ สุดยอดคู่มือเจรจาธุรกิจ