SMART Goal เป็นเครื่องมือที่ถูกสอนควบคู่กับหลักการบริหารโครงการ (Project Management) เสมอ
เนื่องจากว่าการบริหารโครงการหรือการทำโปรเจคนั้น เป็นงานที่ต้องมีการวางแผนงานและตั้งเป้าหมายงานใหม่เรื่อยๆ ทำให้ผู้บริหารโครงการมีความจำเป็นที่จะ ‘ออกแบบระบบ’ ที่สามารถช่วยในการตั้งเป้าหมายและวางแผนงานใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำซ้ำได้
เราจะเห็นว่าการบริหารโครงการมีเครื่องมือที่ช่วยในการวางแผนและปฏิบัติงานหลายอย่างแล้ว บทความนี้เรามาดูกันว่า ‘วิธีตั้งเป้าหมาย’ การทำงานหรือวิธีตั้งเป้าหมายของโครงการที่ดีผ่านกระบวนการ SMART Goals ต้องทำยังไง
Table of Contents
SMART Goals คืออะไร? ทำไมถึงมีความสำคัญสำหรับองค์กร
การตั้งเป้าหมายแบบ SMART (SMART Goals) คือหลักการตั้งเป้าหมายในธุรกิจ เพื่อให้เป้าหมายมีความเจาะจง วัดผลได้ บรรลุผลได้ สอดคล้องกับความเป็นจริง และอยู่ในกรอบเวลา หรือ Specific, Measurable, Achievable, Realistic, และ Timely โดย SMART ทำให้การตั้งเป้าหมายในองค์กรมีประสิทธิภาพมากกว่าเดิม
โดยที่คำอธิบายของ SMART Goals ทั้ง 5 หลักการมีดังนี้
Specific เจาะจง – เป้าหมายต้องมีความเจาะจง เรียบง่าย แต่ก็มีค่าที่ให้ทำ
Measurable วัดผลได้ – เป้าหมายต้องสามารถวัดผลเป็นตัวเลขได้ ซึ่งการวัดผลทำให้บอกได้ว่าเป้าหมายนี้ประสบความสำเร็จหรือเปล่า
Achievable บรรลุผลได้ – เป้าหมายต้องสามารถบรรลุผลได้จริง แต่ก็ต้องมีความท้าทาย
Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง – เป้าหมายต้องสอดคล้องกับความเป็นจริง หมายถึงต้องหมายที่ทำให้เกิดประโยชน์ที่เหมาะสมกับองค์กรในสภาพแวดล้อมหรือสถานการณ์นั้นๆ
Timely อยู่ในกรอบเวลา – เป้าหมายต้องมีกำหนดช่วงเวลาการวัดผลที่ชัดเจน
ยกตัวอย่างเป้าหมายของ SMART Goals ได้แก่ ‘การเพิ่มยอดขาย 20% ในระยะเวลาครึ่งปีผ่านการหาลูกค้าใหม่’
โดยพื้นฐานแล้วการตั้งเป้าหมาย SMART นั้นเป็นกระบวนการที่เรียบง่ายๆ อย่างไรก็ตาม นักบริหารโครงการสมัยใหม่ก็มีการนิยามอีก ‘2 หลักการ’ ที่มีความจำเป็นต่อการตั้งเป้าหมายเช่นกัน ก็คือ
Evaluate ประเมินผล และ Review การนำมาปรับปรุง
ซึ่งพอเรารวม 2 อย่างนี้เข้าไป SMART Goals ก็จะกลายเป็น SMARTER แทน
หลักการของ SMART Goal นั้นมีความคล้ายคลึงกับหลักการ ‘การวัดผลการทำงาน’ ในองค์กรเช่นการตั้ง KPI การตั้ง OKR หากใครสนใจศึกษาส่วนไหนเป็นพิเศษผมแนะนำให้อ่านบทความ 2 บทความนี้ของผมเพิ่มเติม Key Performance Indicators คืออะไร? ใช้ยังไงไม่ให้คนเบื่อ และ OKR คืออะไร? และทำไมบริษัทระดับโลกถึงต้องสนใจ OKR
คำนิยาม SMART – วิธีการใช้ SMART Goals ที่ถูกต้อง
#1 Specific เจาะจง
เป้าหมายที่ตั้งต้องมีความชัดเจนและเจาะจง ทำให้พนักงานและผู้บริหารโครงการสามารถดูได้ว่าส่วนไหนของงานที่ควรให้ความสำคัญที่สุด ก่อนที่จะสร้างเป้าหมาย เราควรที่จะพิจารณาดังนี้
อะไรเป็นสิ่งที่เราอยากจะทำ? ทำไมเป้าหมายที่สำคัญ? ใครบ้างที่เกี่ยวข้อง? ทำที่ไหน? เรามีทรัพยากรและข้อจำกัดอะไรบ้าง?
ยกตัวอย่างเช่น แทนที่จะบอกว่าเป้าหมายคือการ ‘เพิ่มทักษะการตลาด’ เราก็อาจจะลงรายละเอียดให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น การเพิ่มทักษะการตลาดผ่านการเรียนรู้การทำโฆษณาออนไลน์ด้วย Facebook โดยการไปเรียนคอร์สการตลาดออนไลน์อันนี้
#2 Measurable วัดผลได้
หลักการทำธุรกิจที่ดีก็คือทุกอย่างต้องสามารถวัดผลได้ เพื่อที่ผู้บริหารโครงการจะได้สามารถติดตามความคืบหน้า แล้วเข้ามาแก้ไขได้ทันเวลา การวัดผลเป้าหมายจะสามารถทำให้เป้าหมายนั้นบรรลุผลได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังเป็นวิธีกระตุ้นและสร้างแรงบันดาลใจในการทำงานให้พนักงานอย่างดีด้วย คำถามที่ควรถามเกี่ยวกับการวัดผลได้แก่
เท่าไหร่? เราจะรู้ได้ยังไงว่าโครงการนี้ประสบความสำเร็จ?
ตัวอย่างการวัดผลที่สามารถทำได้ชัดเจนก็คือการวัดผลยอดขายและผลกำไร แต่สำหรับเป้าหมายโครงการเช่นการพัฒนาทักษะ เราก็อาจจะวัดผลในการทำแบบทดสอบ หรือการทำรายการตรวจสอบว่าเราได้เรียนรู้เรื่องที่สำคัญเกี่ยวกับหัวข้อนั้นจริงหรือเปล่า
#3 Achievable บรรลุผลได้
เป้าหมายที่ดีต้องสามารถได้จริง แต่ก็ต้องมีความท้าทายไม่ง่ายเกินไป การที่เราตั้งเป้าหมายให้ท้าทายแต่ก็ยังอยู่ในขอบเขตของความเป็นจริงนั้นจะทำให้องค์กรสามารถพัฒนา ใช้ความคิดสร้างสรรค์ สร้างนวัตกรรมใหม่ๆได้ บางครั้งอาจจะเจอทรัพยากรหรือโอกาสที่องค์กรไม่เคยคิดมาก่อนก็ได้ โดยที่องค์กรควรจะถามตัวเองว่า
เราควรจะทำอะไรบ้างถึงจะทำให้เป้าหมายบรรลุผลได้? เป้าหมายนี้มีความเป็นไปได้มากแค่ไหน พิจารณาข้อจำกัดทางการเงินและทางทรัพยากรต่างๆ
ยกตัวอย่างเช่นหากคุณอยากที่จะเรียนการตลาดเพิ่ม คุณก็ต้องพิจารณาว่าสถานที่เรียนมีประสิทธิภาพพอหรือเปล่า หรือเวลาที่คุณใช้ในการเรียนนั้นเพียงพอสำหรับการกระทำสิ่งที่คุณต้องการทำหรือเปล่า หรือในบางกรณีคุณก็ต้องคิดดูด้วยว่าคุณมีเงินพอที่จะจ่ายค่าเล่าเรียนหรือเปล่า
#4 Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง
ในส่วนนี้คือการดูว่าเป้าหมายที่เราตั้งอยู่นั้นสอดคล้องกับความเป็นจริงหรือเปล่า หมายความว่าในสถานการณ์ตอนนี้ และด้วยข้อจำกัดที่เรามี เป้าหมายนี้ควรจะเป็นเป้าหมายหลักของเราหรือเปล่า หากเรามองว่าในองค์กรทรัพยากรและเวลาเป็นเรื่องที่มีจำกัดก็ต้องถามตัวเองว่าเราพร้อมที่จะนำทรัพยากรไปลงกับการทำเป้าหมายนี้มากแค่ไหน
เป้าหมายนี้คุ้มค่ากับการทำมากแค่ไหน? ตอนนี้เป็นเวลาที่เราควรทำเรื่องนี้หรือเปล่า? เป้าหมายนี้เหมาะกับสถานการณ์ตอนนี้หรือเปล่า? ทรัพยากรที่เรามีเหมาะสมกับการทำเป้าหมายนี้หรือเปล่า?
กลับมาดูในกรณีของการเรียนการตลาดใหม่อีกรอบ เราก็ต้องมาพิจารณาว่าตอนนี้เรามีเวลาหรือมีพื้นที่ในชีวิตมากพอที่จะมาเรียนการตลาดมากแค่ไหน และการเรียนการตลาดครั้งนี้จะพัฒนาทักษะที่ช่วยเราในอนาคตได้หรือเปล่า
เช่นหากคุณเป็นนักบัญชีมีเวลาว่างอาทิตย์ละไม่กี่ชั่วโมง เป้าหมายของคุณควรที่จะอยากเป็นผู้จัดการฝ่ายการตลาดหรือเปล่า (เรามีเวลามากพอและให้ความสำคัญกับเป้าหมายมากแค่ไหน)
ผมไม่ได้บอกว่าทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ แต่ทุกอย่างต้องมีความเหมาะสม สอดคล้องกับความเป็นจริง
#5 Timely อยู่ในกรอบเวลา
เวลาก็เป็นอีกหนึ่งหลักการที่เราควรที่จะพิจารณาก่อนตั้งเป้าหมาย เพราะทุกเป้าหมายควรที่จะมีระยะเวลากำหนดไว้เสมอ เพื่อที่ผู้บริหารโครงการจะได้สามารถบริหารทรัพยากรอื่นๆได้ในเวลาที่ต้องการด้วย ให้ถามตัวเองว่า
เมื่อไหร่? เราสามารถทำอะไรได้บ้างในอีก 3 เดือน? 6 เดือน? เราสามารถทำอะไรได้บ้างตอนนี้?
ตัวอย่างของเวลามักจะมาพร้อมกับเป้าหมายอื่นๆเสมอ เช่นหากเราอยากจะพัฒนาทักษะการตลาด เราก็ต้องตั้งเป้าหมายให้อยู่ในกรอบเวลาที่เป็นไปได้สำหรับเรา ถ้าเรามีเวลาน้อย กรอบเวลาที่จะทำเป้าหมายนี้ให้เป็นจริงก็ควรจะถูกยืดให้ยาวกว่าปกติ แต่ถ้าเราเป็นคนที่มีทักษะพื้นฐานอยู่แล้ว เวลาในส่วนนี้ก็อาจจะสั้นลงตามความเป็นจริง
หากเราเข้าใจหลักการตั้งเป้าหมายตามหลัก SMART แล้วเรามาลองดูข้อดีข้อเสียของการใช้ SMART Goals กันบ้าง
ข้อแนะนำในการใช้ SMART Goals
ส่วนมากแล้ว Smart Goal เป็นหลักการที่ใช้กันในการบริหารโครงการและการบริหารการปฏิบัติการ (Project Management & Operations Management) เพราะทั้ง 2 สิ่งนี้จะมีจุดหมายร่วมกันคือ การเพิ่มประสิทธิภาพในการทํางาน และ การบริหารบุคลากรในจำนวนมาก
สำหรับการทำงานกับคนส่วนมากและการทำงานเป็นองค์กรนั้น หนึ่งสิ่งที่ขาดไม่ได้เลยก็คือการตั้งกระบวนการประเมินผลและปรับปรุง เพื่อที่ผู้บริหารโครงการจะได้มั่นใจว่าเป้าหมายที่ตั้งและการปฏิบัติการของจริงนั้นมีความสอดคล้องกัน
ในกรณีที่เป้าหมายมีกรอบเวลาที่นาน เราอาจจะเห็นได้ว่าด้วยสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป หรือด้วยปัจจัยภายนอกต่างๆ บางครั้งเป้าหมายที่เราตั้งไว้ตอนแรกอาจจะต้องมีการกลับมาแก้ไขภายหลัง ยกตัวอย่างเช่นพนักงานขายอาจจะทำยอดขายได้เกินกว่าเป้าหมายที่ทำไปแล้ว จึงมีเหตุให้ต้องเปลี่ยนเป้าหมายใหม่เพื่อหาแรงกระตุ้นใหม่ๆให้กับพนักงาน
หรืออาจจะมีกรณีที่เศรษฐกิจทรุดตัว ทำให้พนักงานขายไม่สามารถปิดการขายได้ตามที่คิดไว้ จึงต้องมีการเปลี่ยนเป้าหมายให้สะท้อนสภาพความเป็นจริงตามสถานการณ์ภายนอก
เพื่อที่จะไม่ให้เกิดปัญหาการเปลี่ยนเป้าหมายใหม่บ่อยเกินไป จนทำให้พนักงานหรือผู้ดำเนินงานสับสน ผู้ตั้งเป้าหมายอาจจะเลือกที่จะ แบ่งเป้าหมายใหญ่ให้กลายเป็นเป้าหมายย่อยๆหลายขั้นตอน เพื่อให้ง่ายต่อการติดตาม การวัดผล และการกระจายทรัพยากร
ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ทุกคนลองศึกษาเกี่ยวกับการบริหารโครงการดู เพราะหลักการในการแบ่งงานนั้นมีความคล้ายคลึงกันมาก ลองอ่านได้ตามบทความนี้ของผมนะครับ การบริหารโครงการ คืออะไร? ขั้นตอนของ Project Management
นอกจากนั้นแล้ว เรายังต้องคำนึงถึงปัจจัยมนุษย์ในการตั้งเป้าหมายด้วย การตั้งเป้าหมายเดิมซ้ำๆแต่ยิ่งใหญ่ขึ้น เช่นการเพิ่มยอดขายพนักงานขายทุกๆปี อาจจะมีความสำเร็จสมผลในเชิงงบกําไรขาดทุนของบริษัท
แต่การให้พนักงานคนเดิมทำงานเป้าหมายเหมือนเดิมซ้ำๆ ก็อาจจะทำให้พนักงานเกิดการหมดไฟหรือลาออกได้ ในกรณีนี้ผู้ตั้งเป้าหมายอาจจะต้องหาวิธีสร้างสรรค์เปลี่ยนเป้าหมายใหม่ๆให้กับผู้ดำเนินการด้วย
ตัวอย่างการกำหนดวัตถุประสงค์ที่ดี แบบ SMART Goals
ตัวอย่างที่ 1 : SMART Goals เพิ่มยอดขายในองค์กร
SMART Goals: เพิ่มยอดขายให้องค์กร 30% ภายในระยะเวลา 6 เดือน
Specific เจาะจง – เป้าหมายคือการเพิ่มยอดขายอย่างชัดเจน
Measurable วัดผลได้ – มีการระบุตัวเลขไว้ว่าอยากจะเพิ่มยอดขายเท่าไหร่ อาจจะแบ่งการวัดผลเป็นรายย่อยผ่านการเพิ่มยอดขายทุกเดือน ทุก 3 เดือน
Achievable บรรลุผลได้ – ระยะเวลาที่กำหนดไว้น่าจะเพียงพอในการทำให้เป้าหมายเป็นจริง
Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง – การเพิ่มยอดขายเป็นเป้าหมายพื้นฐานขององค์กรทั่วไปอยู่แล้ว
Timely อยู่ในกรอบเวลา – มีการกำหนดระยะเวลาไว้อย่างแน่นอนคือ 6 เดือน
ตัวอย่างที่ 2 : SMART Goals เพิ่มทักษะการตลาดของพนักงาน
SMART Goals: ให้พนักงานฝ่ายการตลาดเรียนรู้วิธีการโฆษณาผ่าน Facebook ในเวลา 3 เดือน โดยที่ต้องใช้ให้เป็นหลังเรียนเสร็จ
Specific เจาะจง – เป้าหมายคือการเพิ่มทักษะที่เจาะจงให้กับทีมงาน
Measurable วัดผลได้ – มีการระบุว่าต้องใช้โฆษณาผ่าน Facebook ให้เป็นหลังเรียนเสร็จ อาจจะวัดผลเชิงลึกได้ผ่านการทำข้อสอบ และจำนวนคละที่เข้าไปเรียน
Achievable บรรลุผลได้ – สำหรับคนที่มีประสบการณ์และได้ฝึกฝนทุกวันอยู่แล้ว ระยะเวลาเรียนแค่ 3 เดือนน่าจะเพียงพอ
Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง – การทำโฆษณาออนไลน์เป็นทักษะที่สอดคล้องกับแผนกการตลาด
Timely อยู่ในกรอบเวลา – มีการกำหนดระยะเวลาในการเรียนรู้ที่แน่นอนก็คือ 3 เดือน
ตัวอย่างที่ 3 : SMART Goals เด็กจบใหม่หางาน
SMART Goals: ผมอยากจะทำงานเป็นวิศวกรในโรงงาน ภายใน 3 เดือนหลังจากที่เรียนจบปริญญาวิศวะมา
Specific เจาะจง – มีการระบุไว้ว่าอยากจะได้งานแนวไหนอย่างชัดเจน
Measurable วัดผลได้ – วัดผลด้วยการดูว่าได้งานหรือเปล่า และอาจจะวัดผลย่อยอ่านจำนวนบริษัทที่สมัครงานและจำนวนบริษัทที่ได้สัมภาษณ์งาน
Achievable บรรลุผลได้ – 3 เดือนเป็นระยะเวลาที่น่าจะเพียงพอสำหรับเด็กจบใหม่ ในช่วงที่จะหางาน
Realistic สอดคล้องกับความเป็นจริง – การที่เด็กจบใหม่อยากจะหางานก็เป็นสิ่งที่สอดคล้องกับความเป็นจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กที่จบวิศวะเรียนตรงสาย
Timely อยู่ในกรอบเวลา – กรอบเวลา 3 เดือนหลังจากเรียนจบ
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ SMART Goals
จากตัวอย่างการตั้งเป้าหมาย SMART Goals ในหัวข้อที่แล้วเราจะเห็นได้ว่า SMART Goals ในบางครั้งก็ไม่สามารถอธิบายเป็นประโยคสั้นๆได้ประโยคเดียว แต่ต้องมีการอธิบายให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่าแต่ละจุดของเป้าหมายนี้มีส่วนไหนที่มี ความเจาะจง วัดผลได้ บรรลุผลได้ สอดคล้องกับความเป็นจริง และอยู่ในกรอบเวลาบ้าง
การตั้งเป้าหมายก็เป็นแค่ส่วนหนึ่งของการทำงาน นอกจากการตั้งเป้าหมายแล้วเรายังต้องพิจารณาปัจจัยอื่นหลายๆอย่างในการทำงานเพื่อที่จะทำให้เป้าหมายประสบผลสำเร็จและเป็นไปได้จริง ทำให้หลักการของการบริหารโครงการและการบริหารการปฏิบัติการนั้นมีความสำคัญมาก
อีกหนึ่งส่วนเกี่ยวกับการตั้งเป้าหมาย SMART Goals ก็คือการบริหารบุคคลและการบริหารองค์กร เพราะสุดท้ายแล้วต่อให้เราตั้งเป้าหมายถูกต้องตามทฤษฎีมากแค่ไหน หากเราละเลยปัจจัยมนุษย์ เช่นการให้รางวัลพนักงาน หรือทักษะการจูงใจโน้มน้าวคนอื่น เป้าหมายที่เราตั้งไว้ก็ยากที่จะประสบความสำเร็จได้จริง
ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ
- วัฒนธรรมองค์กร – วัฒนธรรมองค์กรที่ดีมีอะไรบ้าง?
- Design Thinking สงสัยมั้ยว่าทำไมคนพูดถึงเยอะจัง?
- Innovation หรือ นวัตกรรม คืออะไร? และมีความหมายว่ายังไงบ้าง