‘รู้เขารู้เรา รบร้อยครั้ง ทำ SWOT ร้อยครั้ง’ คนที่เรียนบริหารธุรกิจหรือเคยทำงานมาซักพักแล้วคงรู้ดีว่า SWOT (อ่านว่า ‘สวอต’) เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย
นั่นก็เพราะว่า SWOT เป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการสื่อสารในองค์กร และก็มีประโยชน์มากในการใช้งาน ในวันนี่เรามาลองศึกษากันว่า SWOT ทำยังไง และวิธีใช้ SWOT ที่คุณอาจจะนึกไม่ถึงทำยังไงได้บ้าง หากใครที่รู้จัก SWOT อยู่แล้วสามารถ คลิกตรงนี้เพื่อข้ามไปวิธีทำ SWOT อย่างถูกต้อง
Table of Contents
SWOT คืออะไร [SWOT Analysis]
SWOT (การวิเคราะห์สวอต) คือการวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพสำหรับการประเมินธุรกิจประกอบด้วย Strength (จุดแข็ง), Weakness (จุดอ่อน) จากสภาพแวดล้อมภายนอก และ Opportunity (โอกาส), Threat (อุปสรรค) จากสภาพแวดล้อมภายใน หน้าที่ของ SWOT Analysis คือการหาวิธีสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจและหลีกเลี่ยงความล้มเหลวจากปัจจัยที่อาจถูกมองข้ามได้ง่าย
เราใช้ SWOT เป็นเครื่องมือวิเคราะห์สภาพแวดล้อมและศักยภาพของธุรกิจ โครงการ หรือบุคคล โดยที่ SWOT สามารถแบ่งออกมาเป็น ‘ปัจจัยภายใน’ และ ‘ปัจจัยภายนอก’ (Internal Factors & External Factors)
ปัจจัยภายในของการวิเคราะห์ SWOT ได้แก่ ‘Strength หรือ จุดแข็ง’ และ ‘Weakness หรือ จุดอ่อน’ หมายถึงปัจจัยที่บริษัทสามารถควบคุมได้ เช่นสินค้า พนักงาน หรือวิธีทำการตลาด
และ ปัจจัยภายนอก ได้แก่ ‘Opportunity หรือ โอกาส’ และ ‘Threat หรือ อุปสรรค’ หมายถึงปัจจัยที่บริษัทไม่สามารถควบคุมได้ (แต่สามารถหลีกเลี่ยงหรือนำมาใช้ประโยชน์ได้) เช่นสภาวะเศรษฐกิจ คู่แข่ง ราคาวัตถุดิบ หรือนิสัยการซื้อของลูกค้าเป็นต้น
SWOT Analysis มีอะไรบ้าง?
เรามาลองดูปัจจัยแต่ละอย่างแบบละเอียดมากขึ้นกัน
Strength (จุดแข็ง – ปัจจัยภายใน)
Strength หรือ ตัว S ของ SWOT คือปัจจัยภายในที่เป็น ‘จุดแข็ง’ ขององค์กรที่ทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ทำให้มีความแตกต่าง หรือ ลอกเลียนแบบได้ยาก ยกตัวอย่างเช่น ค่าใช้จ่ายน้อยกว่าเพราะลงทุนมานานแล้ว มีแบรนด์ที่คนรู้จักมากกว่า เป็นต้น
Weakness (จุดอ่อน – ปัจจัยภายใน)
Weakness หรือ ตัว W ของ SWOT คือปัจจัยภายในที่เป็น ‘จุดอ่อน’ ขององค์กรที่ทำให้มีความได้เปรียบน้อยกว่าคู่แข่ง เป็นปัจจัยด้านลบที่มาจากจุดบกพร่องในองค์กรและควรได้รับการแก้ไข ยกตัวอย่างเช่น องค์กรมีช่องทางการขายน้อยกว่า สินค้ามีคนรู้จักน้อยกว่า หรือความหลากหลายของสินค้าของมีน้อยกว่าเทียบกับคู่แข่ง
Opportunity (โอกาส – ปัจจัยภายนอก)
Opportunity หรือ ตัว O ของ SWOT คือปัจจัยและสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กร ที่เป็น ‘โอกาส’ ทำให้เกิดผลดี ที่องค์กรสามารถนำมาใช้เพื่อพัฒนาหรือทำให้มีความได้เปรียบเหนือคู่แข่ง ยกตัวอย่างเช่น คู่แข่งตอนนี้มีข่าวไม่ดีอยู่ รัฐบาลมีโครงการสนับสนุน หรือช่วงนี้ตลาดกำลังขึ้น สินค้าอาจจะขายดี
Threat (อุปสรรค – ปัจจัยภายนอก)
Threat หรือ ตัว T ของ SWOT คือปัจจัยและสภาพแวดล้อมภายนอกองค์กรที่เป็น ‘อุปสรรค’ ทำให้เกิดผลลบ ที่องค์กรต้องก้าวผ่านและปรับตัวเพื่อความอยู่รอด ยกตัวอย่างเช่น คู่แข่งเปิดตัวสินค้าใหม่มาแย่งตลาด หรือ แนวโน้มเทคโนโลยีใหม่ๆที่จะมาแทนสินค้าเก่าที่ขายดีขององค์กร
การทำ SWOT ส่วนมากจะออกมาในตาราง 2 คูณ 2 ตามภาพข้างล่างครับ หรือถ้าอยากโหลดมาใช้งานก็ กดตรงนี้ได้เลย
ทำไมคนถึงนิยมใช้ SWOT
ผมคิดว่าข้อดีของการใช้ SWOT ก็คือการที่ทุกคนรู้จักเครื่องมือวิเคราะห์แบบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้ SWOT ในห้องประชุมธุรกิจ หรือในห้องเรียน ทุกคนก็คงรู้จัก …หรือจะบอกว่า SWOT ก็คือ ‘ภาษา’ อย่างหนึ่งที่ใช้ในการบริหารก็ได้
เพราะหากคุณเลือกใช้วิธีคิดแบบอื่นในการวิเคราะห์ต่างๆ คุณก็จำเป็นต้องอธิบายแนวคิดใหม่อีกรอบอยู่ดี ซึ่งทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการสื่อสารน้อยลง
ระบบอะไรที่ถูกออกแบบมาดีอยู่แล้วก็ไม่ควรไปเปลี่ยนใช่ไหมครับ?
ข้อดีอีกอย่างของการทำ SWOT ก็คือ SWOT เป็นวิธีที่ทำง่าย แต่มีประโยชน์ครอบคลุมมาก เครื่องมือ SWOT สามารถช่วยแตกปัจจัยต่างๆให้อยู่ในสี่หมวดได้ เพียงแค่นั้นเราก็สามารถนำข้อมูลมาตัดสินใจวิธีบริหารทรัพยากรให้ดีที่สุดได้แล้ว
ในส่วนนี้ผมได้เขียนบทความเรื่องความสำคัญของ SWOT ไว้แยกขึ้นมา หากใครสนใจผมแนะนำให้ลองศึกษาดูนะครับ ทําไมต้องวิเคราะห์ SWOT – ความสำคัญของ SWOT ที่ควรรู้
นอกจากนั้น สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ
ข้อเสียของการวิเคราะห์ SWOT
ในวงการธุรกิจมักนิยมพูดว่า ‘กลยุทธ์ไม่สำคัญเท่าการกระทำ’ ต่อให้คุณเก็บข้อมูลเยอะแค่ไหน วางแผนเก่งแค่ไหน ถ้าคุณไม่สามารถสร้างผลลัพธ์ได้ แผนหรือข้อมูลที่คุณมีอยู่ก็ไม่มีค่าอะไรทั้งนั้น การวิเคราะห์ SWOT ก็เหมือนกันครับ
SWOT เป็นเครื่องมือวิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของเราเท่านั้น การวิเคราะห์แบบนี้ทำให้เราเห็นมุมมองทั้งภายในและภายนอกของตัวเองหรือขององค์กร แต่ไม่เพียงพอต่อการนำไปสร้างกลยุทธ์ หมายความว่าผู้ใช้ SWOT จำเป็นต้องนำข้อมูลนี้ไปวิเคราะห์เพิ่มเติมเพื่อที่จะสร้าง ‘การกระทำ’ ที่มีมูลค่าต่อธุรกิจ
เครื่องมือ SWOT สามารถใช้ได้ในหลายกรณี ทั้งทำการตลาด การขาย หรือการบริหารธุรกิจเบื้องต้น หากใครสนใจสามารถอ่านบทความของผมเรื่อง เครื่องมือการวิเคราะห์ Five Forces หรือการสร้าง Business Model ที่เหมาะสมกับธุรกิจได้
สิ่งที่คนนิยมมักทำกัน ก็คือนำข้อมูลปัจจัยภายในและภายนอกของ SWOT ออกมาเป็นการกระทำผ่านอีกครั้งหนึ่งที่เรียกว่า TOWS เครื่องมือนี้ใช้งานด้วยการนำข้อมูลภายในและภายนอกมารวมกันเพื่อหาโอกาสที่สามารถใช้จุดแข็งส่งเสริมได้ หรือวิธีลดจุดอ่อนของเราภายใต้อุปสรรคบางอย่าง
วิธีวิเคราะห์ SWOT ที่ถูกต้อง
เวลาทำ SWOT สิ่งที่คนชอบลืมกันก็คือ ปัจจัยของ SWOT ควรมาจาก ‘ทุกส่วนของธุรกิจ’…หมายความว่าเราควรจะให้พนักงานแต่ละแผนก ระดมสมองช่วยกันทำ SWOT ถึงจะดีที่สุด (ถ้าอ่านไปถึงตอนจบจะมีวิธีที่ลงรายละเอียดมากหน่อย)
คำถามที่เราควรคิดถึงเวลาทำ SWOT มีดังต่อไปนี้
Strength (จุดแข็ง)
ให้ลองดูว่าธุรกิจของคุณ
- ข้อได้เปรียบถ้าเทียบกับคู่แข่งคืออะไร
- ทำอะไรได้ดีกว่าคนอื่นบ้าง
- มีอะไรที่แตกต่าง หรือทำได้ถูก หรือเร็วกว่าคู่แข่งไหม
- คนในอุตสาหกรรมมองว่าธุรกิจคุณมีจุดแข็งอะไรบ้าง
- อะไรที่ทำให้คุณ ‘ขายได้’
- จุดขายของคุณคืออะไร
ให้มองจุดแข็งผ่านมุมมองภายในองค์กร และจากมุมมองของคู่แข่ง ลูกค้า หรือคนในอุตสาหกรรมด้วย เราต้องเข้าใจว่า จุดแข็งคือสิ่งที่ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่ง ถ้าทุกคนผลิตสินค้าตามมาตรฐานหมด นั่นไม่ใช่จุดแข็งแต่เป็นข้อบังคับของลูกค้า ในขณะเดียวกัน ถ้าคุณบอกว่าสินค้าคุณภาพดี บริการดี ก็แปลว่าคู่แข่งของคุณมีสินค้าไม่ดี บริการแย่
Weakness (จุดอ่อน)
นอกจากเรื่องจุดเด่น เราก็ต้องดูจุดอ่อนด้วยว่าธุรกิจของเรา
- มีส่วนไหนที่ยังพัฒนาได้อีก
- ควรเลี่ยงส่วนไหนบ้างหรือเปล่า
- คนในอุตสาหกรรมเห็นว่าส่วนไหนเป็นจุดอ่อน
- มีอะไรทำให้คุณปิดการขายไม่ได้ หรือ เสียลูกค้า
ผมขอบอกอีกครั้งว่า ควรพยายามมองจากมุมองของคู่แข่ง ลูกค้า หรือคนในอุตสาหกรรมด้วย และเวลาเขียนจุดอ่อน คุณไม่ควรคิดเข้าข้างตัวเองนะครับ บางธุรกิจถึงกับต้องทำแบบสอบถาม เสียเงินหลายแสน เพื่อหาจุดอ่อนของตัวเองแบบที่มีอคติน้อยที่สุด
Opportunity (โอกาส)
โอกาสเป็นปัจจัยภายนอกที่กว้างมาก ยิ่งคุณรู้เยอะ สามารถตระหนักถึงได้ โอกาสก็จะเยอะขึ้น
- โอกาสทางธุรกิจส่วนไหนที่คุณสามารถเข้าหาได้ง่าย
- เทรนธุรกิจอะไรที่สามารถช่วยคุณได้บ้างหรือเปล่า
- มีการเปลี่ยนแปลงในเทคโนโลยีบ้างไหม
- มีการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายหรือการเมืองที่เกี่ยวกับคุณไหม
- นิสัยและพฤติกรรมของลูกค้าจะเปลี่ยนหรือเปล่า
- กิจกรรมหรือเหตุการณ์อะไรที่สามารถกระทบเราได้บ้างไหม
การวิเคราะห์โอกาสที่ดีคือการเริ่มดูจากจุดแข็งของเราก่อน และดูว่าจุดแข็งแต่ละอย่างสามารถช่วยคุณในโอกาสใหม่ๆได้แค่ไหน แน่นอนว่า คุณก็สามารถดูจุดอ่อนเพื่อหา ‘โอกาสในการลดจุดอ่อน’ ของคุณได้เช่นกัน
Threat (อุปสรรค)
- ตอนนี้มีอุปสรรคอะไรบ้าง
- คู่แข่งคุณทำอะไรอยู่
- มีการเปลี่ยนแปลงในมาตรฐานอุตสาหกรรมของการทำงาน สินค้า หรือ บริการของคุณหรือเปล่า
- มีเทคโนโลยีใหม่อะไรที่จะกระทบธุรกิจคุณได้ไหม
- จุดอ่อนอะไรที่จะเป็นอุปสรรคต่อธุรกิจคุณได้ไหม
เวลาคุณวิเคราะห์ โอกาสและอุปสรรค คุณสามารถใช้ PESTLE Analysis (การวิเคราะห์ PESTLE) เพื่อช่วยในการดูปัจจัยภายนอกได้ครับ
ขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT
ถึงแม้ว่า SWOT จะเป็นเครื่องมือง่ายๆที่ใช้วิเคราะห์จุดแข็งจุดอ่อน โอกาสอุปสรรค แต่หากเราไม่ทำการวิเคราะห์ตามขั้นตอน ผลลัพธ์ของการทำ SWOT ก็อาจจะออกมาไม่ดีได้ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ผมเลยได้แยกขั้นตอนการวิเคราะห์ SWOT ออกมาเป็น 8 ขั้นตอนที่ทุกคนทำได้
#1 เริ่มจากวัตถุประสงค์ของ SWOT
วัตถุประสงค์ของ SWOT จะเป็นตัวบอกว่าปัจจัยต่างๆแบบไหนสามารถแก้ปัญหาหรือทำตามวัตถุประสงค์ได้ดีที่สุด ซึ่งก็จะช่วยให้เราเลือกปัจจัยต่างๆมาสร้างเป็นแผนกลยุทธ์ได้ง่ายมากขึ้นภายหลัง
ยกตัวอย่างเช่น คุณสามารถใช้การวิเคราะห์ SWOT เพื่อหาวิธีเพิ่มยอดขาย หาวิธีตีตลาดสินค้าใหม่ หรือหาวิธีเปลี่ยนแปลงระบบทำงาน
#2 ทำความเข้าใจ ธุรกิจ อุตสาหกรรม และ ตลาดต่างๆ
ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายในหรือปัจจัยภายนอก เราก็ต้องเริ่มเขียนจากการเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เพราะฉะนั้นก่อนที่เราจะเริ่มทำ SWOT จริงๆ เราก็ควรทำการวิจัยเพื่อทำความเข้าใจธุรกิจอุตสาหกรรมและตลาดของคุณ
ให้มองในมุมมองที่หลากหลาย โดยพูดคุยกับคู่ค้าทางธุรกิจและลูกค้าของคุณ และทำการวิจัยตลาดเพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับคู่แข่งของคุณด้วย
คุณสามารถรวบรวมคนจากหลายฝ่ายมาช่วยระดมสมองในส่วนหลังจากนี้ เช่น หากคุณอยากจะวิเคราะห์ธุรกิจของคุณ คุณก็อาจจะนำคนจากแผนกการตลาด การบริหาร การเงิน หรือแม้แต่ลูกค้าสัมพันธ์มาช่วยได้ด้วยเช่นกัน เพราะยิ่งคุณมีคนช่วยระดมสมองเยอะ คุณก็จะมีไอเดียเยอะ
#3 เริ่มจากจุดแข็ง
ผมมองว่า จุดแข็ง (ที่เป็นข้อดีจากปัจจัยภายใน) เป็นสิ่งที่เริ่มเขียนได้ง่ายที่สุด เพราะจุดแข็งเป็นสิ่งที่เราน่าจะเข้าใจตัวเองดีที่สุด ซึ่งตัวอย่างอาจรวมถึงจุดแข็งที่เกี่ยวข้องกับพนักงาน ทรัพยากรทางการเงิน ทำเลที่ตั้งธุรกิจของคุณ ข้อได้เปรียบด้านต้นทุนต่างๆ และความสามารถในการแข่งขัน
ในขั้นตอนนี้ของการวิเคราะห์ SWOT เราไม่จำเป็นต้องมีข้อสรุปอย่างชัดเจนก็ได้ ให้เขียนข้อดีจุดแข็งต่างๆเป็นรายการออกมาก่อน ซึ่งในขั้นตอนที่ 7 เราจะทำการจัดลำดับความสำคัญใหม่อีกที
#4 วิเคราะห์จุดอ่อน
หลังจากที่เราเขียนจุดแข็งเสร็จแล้ว เราก็แค่เปลี่ยนมุมมองมาวิเคราะห์เรื่องจุดอ่อนต่อ (หมายถึงสิ่งที่ทำให้ธุรกิจของคุณเสียเปรียบผู้อื่น) จุดอ่อนอาจรวมถึงการมีสต็อกน้อยไม่พอขาย พนักงานลาบ่อย หรือการขายของไม่มีแบรนด์
อย่าลืมว่าจุดแข็งและจุดอ่อน เป็นปัจจัยที่ต้องเปรียบเทียบกับคู่แข่งของคุณและกับตัวคุณในอดีต หากคุณบอกว่าคุณมีเงินหมุนน้อย แต่ทุกคนก็มีน้อยหมด สิ่งนี้ก็ไม่ใช่จุดอ่อนเท่าไร ในขณะเดียวกันหากเมื่อก่อนคุณมีเงินหมุนเยอะ แต่เดี๋ยวนี้คุณมีเงินหมุนน้อยลงก็ถือว่าเป็นจุดอ่อนได้
#5 เรียบเรียงโอกาส
เป็นการวิเคราะห์โอกาสภายนอกที่เป็นไปได้สำหรับธุรกิจของคุณ ข้อเน้นย้ำก็คือที่ ‘เป็นไปได้’ เพราะโอกาสไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นจริงเสมอ เพียงแต่โอกาสต้องมีความเป็นไปได้ที่จะเกิดบ้าง อย่างไรก็ตามของบางอย่างเช่น การเปิดตัวคู่แข่งใหม่ก็อาจจะเป็นได้ทั้งโอกาสและอุปสรรคขึ้นอยู่กับมุมมองของเรา เช่น คู่แข่งอาจจะมาแย่งลูกค้า หรือจะมาร่วมกันทำแคมเปญพร้อมกันก็ได้
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยหนึ่งอย่างก็ไม่ควรถูกระบุว่าเป็นทั้งโอกาสและอุปสรรคพร้อมกัน
โอกาสอาจรวมถึงเทคโนโลยีใหม่ๆ คู่ค้าใหม่ๆ การสนับสนุนจากรัฐบาล เป็นต้น
#6 คำนึงถึงอุปสรรค
คือการเขียนปัจจัยภายนอกที่อาจเป็นอุปสรรคหรือก่อให้เกิดปัญหากับธุรกิจของคุณ ให้มองว่าเป็นสิ่งตรงข้ามกับปัจจัยโอกาสด้านบนก็ได้
ตัวอย่างเช่น คู่แข่งคนใหม่ นโยบายภาครัฐที่ไม่ได้สนับสนุน หรือค่าเงินตราต่างประเทศที่เปลี่ยนแปลงบ่อย
#7 จัดลำดับความสำคัญของปัจจัยต่างๆ
หากเรามองว่าขั้นตอนด้านบนเป็นขั้นตอนที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ที่เราต้องคิดนอกกรอบเพื่อให้ได้ไอเดียใหม่ๆ เราก็ต้องใช้ตรรกะและความคิดวิเคราะห์มากขึ้นในส่วนี้
ในส่วนนี้คุณควรที่จะมีรายการจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสอุปสรรคมาจากขั้นตอนที่ผ่านๆมาแล้ว ซึ่งในส่วนนี้คุณจำเป็นที่จะต้องจัดอันดับความสำคัญ เพื่อที่จะดูว่าปัจจัยใดสำคัญที่สุด สามารถให้เป็นตัวเลขระหว่าง 1 ถึง 10 จากไม่สำคัญไปถึงสำคัญที่สุดของแต่ละปัจจัยก็ได้
เช่นปัจจัยภายนอกส่วนคู่แข่งอาจจะเป็นอุปสรรคที่สำคัญที่สุด ส่วนปัจจัยเรื่องพนักงานลาออกบ่อยอาจจะเป็นจุดอ่อนที่สำคัญที่สุด (แต่หากเรามีหลายปัจจัยที่สำคัญเท่าๆกันก็ไม่เป็นไร เพียงแต่เราต้องพิจารณาว่าเรามีทรัพยากรเพียงพอหรือเปล่าที่จะปฏิบัติตาม)
#8 สร้างแผนกลยุทธ์
หากคุณอ่านมาถึงขนาดนี้ ผมคงพูดไว้หลายครั้งแล้วว่า SWOT ที่ดีนั้นต้องมีแผนปฏิบัติการและขั้นตอนที่สามารถทำได้จริง
จากรายการจุดอ่อนจุดแข็งโอกาสอุปสรรคทั้ง 4 อย่างนั้น ให้ลองพิจารณาดังนี้
1. เราจะสามารถใช้จุดแข็งเพื่อเป็นโอกาสเราได้หรือเปล่า
2. เราจะสามารถใช้จุดแข็งเพื่อแก้อุปสรรคต่างๆได้หรือเปล่า
3. เราจะสามารถลดจุดอ่อนด้วยโอกาสต่างๆได้หรือเปล่า
4. เราจะสามารถลดจุดอ่อนด้วยการก้าวผ่านอุปสรรคได้หรือเปล่า
ในส่วนนี้หากคุณยังไม่ค่อยมั่นใจเท่าไหร่ก็สามารถศึกษาเรื่องการทำ TOWS ที่จะเป็นการสร้างแผนกลยุทธ์หลังจากการทำ SWOT โดยเฉพาะนะครับ คู่มือการทำ TOWS
ตัวอย่างการวิเคราะห์ SWOT ร้าน 7-11
7-11 (บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด) ถือว่าเป็นร้านสะดวกซื้อที่คนไทยทุกคนรู้จักกันดี และเป็นบริษัทในเครือ CP ซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย 7-11 มีสาขามากถึง 11,712 สาขา และมีจำนวนลูกค้าเฉลี่ย 1,187 คน/วัน/สาขา
โดยในปี 2019 CPALL ได้ประกาศผลประกอบการว่า มีรายได้รวม 571,110 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 22,343 ล้านบาท โดยรายได้เพิ่มขึ้น 8.3% และกำไรเพิ่มขึ้น 6.75% จากปีก่อน (เป็นตัวเลขของ บริษัท CPALL ไม่ใช่ตัวเลขของ 7-11 โดยเฉพาะ)
หากเราเห็นภาพรวมบ้างแล้ว เราลองมาวิเคราะห์ SWOT ของ 7-11 กัน
Strength จุดแข็งของ 7-11
- มีหน้าร้านเยอะ สามารถเข้าถึงคนได้ทั่วประเทศ
- มีเงินลงทุนสูงมาก เป็นหนึ่งในบริษัทที่ใหญ่ที่สุด
- มีระบบพร้อม ทำงานได้เร็ว ทำได้หลายอย่าง แถมประหยัดค่าใช้จ่าย
- เป็นร้านที่มีชื่อเสียง คนนึกถึงก่อนเสมอ
Weakness จุดอ่อนของ 7-11
- ปรับตัวได้ยาก ค่าใช้จ่ายสูง พนักงานเยอะ ระบบเยอะ
- สินค้าไม่ได้ราคาถูกมาก หากเทียบกับร้านสะดวกซื้อขนาดเท่าๆกัน
- การเปิดตอนกลางคืนมีความเสี่ยงและค่าใช้จ่ายสูง ไม่คุ้มกับเงินลงทุน
- เป็นร้านดังที่มีระบบดี แต่ยังไม่สามารถตีสนิทลูกค้าได้ดีเท่าร้านในชุมชน
Opportunity โอกาสในธุรกิจ 7-11
- เทคโนโลยีใหม่ๆด้านการสื่อสารและการสร้างระบบภายใน
- เป็นบริษัทในเครือของบริษัทใหญ่ ได้รับการสนับสนุนเยอะ
- มีคู่ค้าทางธุรกิจเยอะมาก ทำให้ได้รับข้อมูล ข่าวสาร และ การสนับสนุนผ่านความร่วมมือเยอะมาก
Threats อุปสรรคที่เข้ามาในธุรกิจ 7-11
- ผลประกอบการของบริษัทขึ้นอยู่กับความไม่มั่นคงของเศรษฐกิจและทางการเมือง
- บริษัทถูกกระทบจากคู่แข่งออนไลน์ด้านค้าปลีก
- การต่อต้านจากประชาชน เรื่องการผูกขาด และทำร้ายธุรกิจชุมชน
แผนกลยุทธ์บทสรุปของการวิเคราะห์ SWOT 7-11
- 7-11 ควรนำเทคโนโลยีใหม่ๆนำมาประกอบกับวิธีทำธุรกิจ เพื่อให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ง่ายมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพนักงานและกระบวนการต่างๆมากเกินไป
- 7-11 ควรอาศัยความไม่มั่นคงทางด้านเศรษฐกิจและการเมือง เพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาต่างๆให้กับกลุ่มลูกค้าในแต่ละชุมชน ทำให้สามารถซื้อใจลูกค้าในระยะยาวได้
- 7-11 ควรใช้ทรัพยากรที่ตัวเองมีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ เพื่อสร้างตลาดออนไลน์ โดยเน้นทั้งการตลาดออนไลน์ และการค้าขายออนไลน์ เพื่อป้องกันไม่ให้ธุรกิจใหม่ๆเข้ามาแย่งตลาดได้
วิธีทำ SWOT ที่ดีต้องมีแผนดำเนินการต่อด้วย
SWOT เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ปัจจัยภายใน และภายนอกของบริษัทเพื่อให้เราทำการตัดสินใจได้ดีขึ้น แต่ถึงแม้ว่าเราจะใช้เวลารวบรวมข้อมูล คุยกับลูกค้า หรือสืบเรื่องคู่แข่งมากแค่ไหน ในตอนสุดท้าย สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับการทำธุรกิจ ก็คือการกระทำและผลลัพธ์
หาก SWOT ที่คุณทำมาดูกว้างไป (จนไม่สามารถสร้างกลยุทธ์อะไรที่ชัดเจนได้) คุณสามารถแตกผลการทำ SWOT ออกมาเป็นส่วนย่อย เช่น SWOT สำหรับการตลาด SWOT สำหรับการผลิต หรือ SWOT สำหรับฝ่ายขายได้เป็นต้น
วิธีย่อยข้อมูล SWOT จะบังคับให้เราดูตัวแปรธุรกิจในมุมมองที่แคบลง และช่วยให้เราสร้างแผนการดำเนินการง่ายขึ้น พอคุณได้แผนการดำเนินการของแต่ละแผนกแล้ว คุณค่อยกลับไปทำ SWOT ภาพรวมของบริษัทอีกทีเพื่อให้กลยุทธ์ทุกอย่างทำงานร่วมกันได้
การวิเคราะห์ธุรกิจอย่างสม่ำเสมอและการวางแผนกลยุทธ์เป็นวิธีที่ดีที่สุดในการติดตามการเติบโต จุดแข็งและจุดอ่อนของธุรกิจ ให้คุณใช้ SWOT ร่วมกับวิธีวิเคราะห์อย่างอื่นเพื่อทำการตัดสินใจของคุณมีความละเอียดและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
วิธีวิเคราะห์ SWOT ด้านบนเป็นสิ่งที่ถูกสอนในวิชาบริหารธุรกิจทั่วไป คนส่วนมากน่าจะรู้วิธีทำอยู่แล้ว แต่ถ้าเราอยากทำให้การวิเคราะห์ SWOT มีประโยชน์มากขึ้น ดูเป็นมืออาชีพมากขึ้น เราก็อาจจะหันมาดูส่วน ‘ประเมินตัวเลข’ กันหน่อย สำหรับคนที่ชอบทำ SWOT แบบแนววิจัย ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้นะครับ คลิกตรงนี้เพื่อดูตัวอย่าง SWOT เชิงปริมาณ [Quantitative SWOT]
หากใครสนใจศึกษาเรื่องข้อมูลการค้าขาย ทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมแนะนำให้ลองดูอีบุ๊คเล่มนี้ของผมนะครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ