ในปัจจุบัน คนส่วนมากคงเคยได้ยินคำว่าการวิเคราะห์ SWOT หรือการวิเคราะห์ จุดแข็งจุดอ่อน-โอกาสอุปสรรค มาไม่มากก็น้อย เพราะเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจนี้ก็ถือว่าเป็นสิ่งที่ใช้งานแพร่หลายทั่วโลกเลยทีเดียว แต่คำถามที่บางคนน่าจะสงสัยกันก็คือ ‘ใครเป็นคนคิดค้น SWOT กันนะ’
ซึ่งในบทความนี้นอกจากเราจะมาตอบคำถามเรื่องคนสร้าง SWOT แล้ว ผมจะมาอธิบายด้วยว่าประวัติและจุดประสงค์ที่แท้จริงของ SWOT (ตามความตั้งใจของผู้สร้าง) คืออะไรกันแน่ และประวัติของผู้คิดค้น SWOT นั้นสุดยอดแค่ไหน
ประวัติของ SWOT Analysis – ใครเป็นคนคิด และการใช้งานที่แท้จริง
SWOT Analysis เป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ ที่ถูกสร้างโดย อัลเบิร์ต ฮัมฟรี ในปี 1960-1970 โดยเป้าหมายดั้งเดิมของการวิเคราะห์คือการตอบว่า ‘ทำไมการวางแผนในธุรกิจบางบริษัทถึงล้มเหลว’ ในตอนแรกเครื่องมือนี้มีชื่อว่า SOFT Analysis และได้ถูกเปลี่ยนมาเป็น SWOT ในภายหลัง
อัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) คือนักวิจัยและผู้ให้คำปรึกษาทางธุรกิจที่เป็นคนคิดค้น SWOT Analysis ขึ้นมานานกว่า 50 ปีที่แล้ว ซึ่งในฐานะที่ปรึกษาทางธุรกิจ หน้าที่ของ อัลเบิร์ต ฮัมฟรี ก็คือการให้คำปรึกษา คำแนะนำเพื่อทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตและพัฒนาได้ยั่งยืนกว่าเดิม
ในตอนแรก ฮัมฟรี ได้วิจัยข้อมูลจากองค์กรชั้นนำต่างๆ แล้วสรุปได้ว่าปัจจัย 4 อย่างที่ส่งผลต่อการวางแผนในการทำธุรกิจก็คือ Satisfactory (ข้อที่น่าพอใจ) Oppprtunity (โอกาส) Fault (ข้อเสีย) และ Threat (อุปสรรค) ซึ่งตัวย่อของเครื่องมือวิเคราะห์นี้ก็คือ SOFT Analysis
คำอธิบายของปัจจัยต่างๆใน SOFT Analysis มีดังนี้:
Satisfactory (ความน่าพอใจ) หมายถึงสิ่งที่องค์กรทำได้ดีในปัจจุบัน
Opportunity (โอกาส) หมายถึงสิ่งที่องค์กรจะทำให้ดีขึ้นในอนาคต
Fault (ข้อเสีย) หมายถึงข้อเสียในปัจจุบัน
Threat (อุปสรรค) หมายถึงสิ่งที่จะทำให้สถานการณ์แย่ลงในอนาคต
เราจะเห็นได้ว่า SOFT Analysis ให้ความสำคัญกับ ‘สถานการณ์ปัจจุบัน’ และ ‘สถานการณ์ในอนาคต’ ซึ่งจะแตกต่างจากเครื่องมือ SWOT นิดหน่อย ตรงที่ SWOT เลือกที่จะวิเคราะห์ ‘ปัจจัยภายใน’ และ ‘ปัจจัยภายนอก’ (Internal and External Factors) แทนปัจจัยทางด้านเวลา ซึ่งก็มีความสมเหตุสมผล เพราะในปัจจุบันปัจจัยภายนอกเช่นเทคโนโลยี เศรษฐกิจโลก พฤติกรรมลูกค้า มีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วขึ้น แล้วส่งผลกระทบต่อธุรกิจได้มากกว่าเดิม
อัลเบิร์ต ฮัมฟรี ได้ระบุจุดมุ่งหมายดังเดิมของ SOFT Analysis ไว้ก็คือ การวิเคราะห์ ‘มุมมอง หกอย่างของธุรกิจ’ ดังนี้: ผลิตภัณฑ์ (Product) กระบวนการ (Process) ลูกค้า (Customers) การกระจายสินค้า (Distribution) การเงิน (Finance) และ การบริหาร (Administration)
ถึงแม้ว่านักวิจัยธุรกิจบางคนจะมองว่า SOFT Analysis เป็นเครื่องมือที่อาจจะตกยุคไปบ้าง แต่ในวงการที่ปรึกษาทางธุรกิจบางที่ก็ยังมีการนำ SOFT Analysis มาใช้บ้าง
และในปี 1964 นักวิจัยธุรกิจ 2 คนที่ชื่อ Urick กับ Orr ก็ได้เปลี่ยน Satisfactory เป็น Strength (จุดแข็ง) และ Fault (ข้อเสีย) เป็น Weakness (จุดอ่อน) และได้นำมาจัดเรียงใหม่กลายเป็น SWOT Analysis เหมือนทุกวันนี้นี่เอง (ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ SWOT จะมีการใช้งานแพร่หลายมากกว่าเพียงแค่ในรูปแบบของการทำธุรกิจ เช่น การวิเคราะห์ SWOT ของตัวเอง)
ในบทความนี้ผมไม่ขออธิบายอะไรมากเกี่ยวกับรายละเอียดการวิเคราะห์ SWOT นะครับ เพราะคิดว่าทุกคนคงรู้จักอยู่แล้ว แต่หากใครอยากศึกษาเพิ่มเติมผมแนะนำให้อ่านบทความ การวิเคราะห์ SWOT แบบถูกต้องและละเอียดสุดๆของผมนะครับ
หลังจากที่เราเข้าใจ SOFT Analysis และ ความเป็นมาของ SWOT Analysis กันแล้ว ต่อไปเรามาดูประวัติของผู้คิดค้น SWOT Analysis อย่าง อัลเบิร์ต ฮัมฟรี กันบ้าง
อัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) – ผู้คิดค้น SWOT Analysis
อัลเบิร์ต ฮัมฟรี (Albert Humphrey) คือนักวิจัยธุรกิจและที่ปรึกษาทางธุรกิจ ที่เป็นผู้ริเริ่มไอเดียของการวิเคราะห์ ข้อที่น่าสนใจ (Satisfactory) โอกาส (Oppprtunity) ข้อเสีย (Fault) อุปสรรค (Threat) ของธุรกิจหรือ SOFT Analysis ซึ่งต่อมาได้ถูกพัฒนาให้กลายเป็น SWOT Analysis ที่เรารู้จักทุกวันนี้
ฮัมฟรี เรียกได้ว่าเป็นบุคคลที่มีโปรไฟล์สวยหรูมาก เพราะได้รับการศึกษาที่มหาวิทยาลัย MIT และ Harvard Business School แถมยังได้ทำงานที่องค์กรส่วนหนึ่งของมหาวิทยาลัย Stanford อีกด้วย (Stanford Research Institute หรือ SRI International)
ซึ่งก็เป็นที่ Stanford Research Institute นี่เหล่ะครับที่ อัลเบิร์ต ฮัมฟรี ได้คิดค้นเครื่องมือในการวิเคราะห์ธุรกิจ SOFT (ที่ถูกแปลงมาเป็น SWOT ต่อมา) อย่างไรก็ตามเนื่องจากว่าเครื่องมือ SOFT และ SWOT ได้ถูก พัฒนาผ่านมือนักวิจัยธุรกิจหลายคน ทำให้เราไม่สามารถอธิบายความเป็นมาเป็นไปได้อย่างละเอียดมากนัก
ฮัมฟรี เป็นนักวิจัยธุรกิจที่เชื่อว่า ‘ความคิดเห็นของพนักงาน’ มีความสำคัญกับอนาคตขององค์กรมากกว่า ‘ไอเดียเจ๋งๆ’ ที่ผู้บริหารได้กี่คนคิดขึ้นกันเองในห้องประชุม ซึ่งความเชื่อนี้ก็จะถูกถ่ายทอดมาในกระบวนการของ SWOT ที่แนะนำให้พนักงานหลายแผนก หลายระดับ ทำการวิเคราะห์ SWOT เพื่อแบ่งปันข้อมูลจากมุมมองที่แตกต่างให้กับผู้บริหารด้วย
และแน่นอนว่าในปัจจุบัน กระบวนการพัฒนาองค์กร และ กระบวนการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ก็หันมาให้ความสนใจกับความคิดเห็นของพนักงานมากขึ้น (ไม่ได้แค่พึ่งพาความคิดเห็นของผู้บริหารระดับสูงอย่างเดียวแล้ว) ยกตัวอย่างเช่นกระบวนการ Design Thinking หรือ การคิดเชิงออกแบบ เป็นต้น (สามารถอ่านเกี่ยวกับ Design Thinking ได้ที่นี่)
นอกจากนั้นแล้ว ฮัมฟรี ยังเป็นหนึ่งในผู้ร่วมคิดค้น ‘Stakeholder Theory’ หรือแปลเป็นภาษาไทยก็คือ ‘ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย’ หมายความว่าธุรกิจไม่ควรจะคำนึงถึงแค่ผู้ถือหุ้น นักลงทุน และ ลูกค้า อย่างเดียว ในทางตรงข้าม ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ เช่น ซัพพลายเออร์ พนักงาน หรือ คนทั่วไปที่ถูกผลกระทบจากบริษัท ก็มีความสำคัญไม่แพ้กัน (เจ้าของไอเดียนี้คือ R. Edward Freeman)
สุดท้ายนี้เกี่ยวกับประวัติของ SWOT Analysis
ถึงแม้ว่าในสมัยนี้ SWOT จะเป็นเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจที่ทุกคนรู้จักกัน จนนักเรียนบริหารธุรกิจหลายคนเริ่มเบื่อเครื่องมือนี้แล้วด้วยซ้ำ แต่ห้าสิบปีที่แล้ว ‘การวิเคราะห์ธุรกิจ’ ถือว่าเป็นเรื่องที่ทำยาก ไม่มีมาตรฐานชัดเจน และแน่นอนว่าในโลกธุรกิจ สิ่งที่ไม่สามารถทำซ้ำได้ก็คือสิ่งที่ไม่ค่อยมีประสิทธิภาพ
ในบทความนี้ผมก็หวังว่าทุกคนจะเข้าใจเบื้องลึกจะกลับการวิเคราะห์ SWOT มากขึ้นนะครับ โดยส่วนตัวแล้วผมคิดว่าการวิเคราะห์ SWOT ถึงแม้ว่าอาจจะดูเหมือนเป็นเครื่องมือพื้นฐาน แต่หากเราใช้ให้เป็นผลสรุปจาก SWOT ก็สามารถนำมาพลิกธุรกิจได้เลย สุดท้ายนี้ผมอยากจะแนะนำบทความเรื่อง ความสำคัญของ SWOT Analysis ที่อาจจะเปลี่ยนมุมมองของทุกคนได้