5 วิธีตอบข้อดีของตัวเอง ในการสัมภาษณ์งาน (ใช้ได้จริง)

5 วิธีตอบข้อดีของตัวเอง ในการสัมภาษณ์งาน (ใช้ได้จริง)

ในชีวิตของเราทุกคนที่ต้องทำงาน เป็นมนุษย์เงินเดือน ไม่ว่าจะเรียนจบใหม่ ๆ หรือเปลี่ยนงานย้ายงานก็ตาม สิ่งหนึ่งที่เราต้องพบเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือการสัมภาษณ์งาน ซึ่งไม่ว่าเราจะทำงานบริษัทหรือสมัครเข้าทำงานที่ไหน เพราะการสัมภาษณ์คือบททดสอบที่เป็นตัวชี้วัดความคิดและพฤติกรรมของเราในการเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร

การเตรียมพร้อมรับมือกับคำถามต่าง ๆ จึงต้องมีการเตรียมตัว แน่นอนว่าอาจจะต้องรับมือกับคำถามที่หลากหลาย ทั้งคำถามในเชิงพฤติกรรมการทำงาน คำถามในเชิงสถานการณ์ และคำถามในเชิงทัศนคติ Attitude Test ซึ่งเป็น 3 ด่านสำคัญ

วันนี้เราจะมาแนะนำข้อดีของตัวเองในการสัมภาษณ์งาน…ตอบยังไงดี? ที่จะพิสูจน์ว่าเรามีคุณสมบัติเพียงพอกับงานนั้น ๆ

ข้อดีของตัวเองในการสัมภาษณ์งาน

ในการสัมภาษณ์งานส่วนใหญ่ เรามักจะได้รับคำถามที่ให้พูดถึงข้อดีของตัวเอง ซึ่งเป็นคำถามที่ไม่เพียงแค่จะตอบอย่างไร ยิ่งไปกว่านั้นคือจะตอบให้ดูดีได้อย่างไรอีกด้วย ฟังดูเหมือนยาก แต่หากเรามีความมั่นใจก็ไม่ยากเกินความพยายามอย่างแน่นอน

การพูดข้อดีของตัวเอง เป็นเหมือนการโฆษณาชวนเชื่ออย่างหนึ่ง แต่ต้องไม่โฆษณาเกินจริง มีคำพูดว่า “การพูดความจริงนั้น เป็นการโฆษณาชวนเชื่อที่ได้ผลมากที่สุด” หากเปรียบเป็นสินค้า ก็จะมีความน่าเชื่อถือ จนทำให้คนตัดสินใจซื้อสินค้าของเรา

ซึ่งก็คือการพูดถึงความสามารถ ประสบการณ์ ความรู้ต่าง ๆ ที่เรามีอย่างตรงไปตรงมา ไม่ยกยอตัวเองเกินจริง ก็จะเป็นการสร้างความประทับใจ ให้เกิดความเชื่อมั่นว่า เรามีคุณสมบัติมีความสามารถตรงตามที่ต้องการ

ก่อนที่เราจะไปดู 5 วิธีตอบข้อดีของตัวเองในการสัมภาษณ์งาน ผมอยากอธิบายก่อนว่า ทำไมบริษัทต้องถามคำถามนี้ ถามไปเพื่ออะไร เพราะหากเราไม่เข้าใจ เราก็จะไม่รู้ว่าทำไมคำตอบแต่ละอย่างถึงสำคัญสำหรับคนที่สัมภาษณ์งานเรา แต่หากใครไม่อยากอ่าน กดตรงนี้เพื่อข้ามไปได้ครับ

ทำไมบริษัทถึงถามคำถามนี้กับเรา

เพราะการพูดถึงข้อดีของตัวเอง จะสะท้อนตัวตนของผู้พูดได้ชัดเจนที่สุด ทำให้คำถามนี้เป็นคำถามยอดฮิต ที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องถามเราอย่างแน่นอน การตอบคำถามด้วยการบอกเล่า หรืออธิบายถึงตัวเองนั้น ก็มักจะมีบางสิ่งที่สะท้อนตัวตนของคน ๆ นั้นออกมาด้วยเสมอ

เพราะการให้เราพูดถึงข้อดีของตัวเราเองนั้น อาจจะดูเหมือนการให้แนะนำตัวก็จริง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ก็เป็นคำถามในเชิงจิตวิทยา เป็นคำถามแบบปลายเปิด เพื่อวัดทัศนคติ ความคิด ความอดทน ความสุภาพ ความใส่ใจ หรือมองเห็นว่าเป็นคนมุ่งมั่น มากน้อยแค่ไหนของเราด้วย

เพราะหากเราโฟกัสอยู่ที่การพูดถึงตัวเองจนมากไป หรือพยายามทำให้ตัวเองฉลาดมากเกินไป ก็อาจจะไม่ส่งผลดีมากนัก เรามาดูวิธีบอกถึงข้อดีของตัวเรากันดีกว่า ว่าสามารถบอกผ่านคำตอบแบบไหนกันได้บ้าง

5 วิธีตอบข้อดีของตัวเองในการสัมภาษณ์งาน

1. บอกเล่าเกี่ยวกับตัวเองให้ชัดเจน (แนะนำตัว)   

การสัมภาษณ์งานทั่วไป ส่วนใหญ่ผู้สัมภาษณ์จะให้เราเริ่มจากการแนะนำตัวเองก่อน ตรงนี้ก็ตั้งสติให้ดี บอกชื่อ นามสกุล ประวัติการศึกษา ประสบการณ์การทำกิจกรรม โดยเสริมอุปนิสัยของเราเข้าไปด้วย แต่อย่าให้มากจนเป็นการชมตัวเองเกินไป

เช่น เป็นคนขยัน อดทน เรียนรู้ไว มีความรับผิดชอบ แล้วก็อย่าลืมเสริมการเล่าประสบการณ์ด้านอื่น ๆ ของเราในการสัมภาษณ์งานด้วย แม้ว่าจะเป็นการสัมภาษณ์เพื่อเข้าทำงานก็ตาม

แต่ก็ต้องระวัง อย่าให้การเกริ่นบอกเล่าเรื่องราวของเรานั้น มีบรรยากาศตึงเครียดจนเกินไป ทางที่ดีควรให้เป็นลักษณะสนทนาตอบโต้ จะได้บรรยากาศที่ดีกว่า ในการบอกเล่าอาจรวมถึง การบอกข้อเสียของเราไปพร้อม ๆ กันเลยก็ได้ แต่ก็ต้องระวังพยายามเลือกข้อเสียที่ดูไม่แย่จนเกินไป

เช่น ยอมรับบางครั้งเป็นคนละเอียดกับงานมากเกินไปหน่อย ชอบลุยงานหนักจนเกินไป จนอาจกระทบกับเพื่อนร่วมงานบ้าง แต่ก็ได้พยายามปรับปรุงอยู่เสมอ โดยอาจแบ่งเป็นพูดถึงข้อดี 90 เปอร์เซ็นต์ ข้อเสียสัก 10 เปอร์เซ็นต์ ก็พอ

2. บอกถึงทักษะที่มีให้สัมพันธ์กับงาน

การเล่าถึงความสามารถพิเศษ ที่สามารถนำมาใช้ประโยชน์กับตำแหน่งงาน ก็เป็นเรื่องสำคัญ เช่น หากสมัครงานตำแหน่งผู้สื่อข่าว ก็เพิ่มเติมไปเลยว่าสมัยเรียนนิเทศ เราเคยไปทำกิจกรรมเข้าแคมป์ทำข่าว ไปร่วมฝึกอบรมกับสำนักข่าวไหนช่องมาบ้าง

หรือหากสมัครตำแหน่ง พีอาร์ประชาสัมพันธ์ ก็บอกเล่าไปเลยว่า อดีตเคยทำกิจกรรมเกี่ยวกับชมรมสัมพันธ์ เป็นพิธีกรให้มหาวิทยาลัย และเคยไป Take Course ภาษาอังกฤษกับที่ไหนมาบ้าง ระยะเวลาเท่าไร

การพูดถึงทักษะที่เรามีนั้น ควรเชื่อมโยงเหตุผล ให้เข้ากับงานที่มาสมัครให้มากที่สุด หรือหากเป็นงานที่เป็นตำแหน่งเฉพาะทาง ก็บอก Skill ความสามารถของเราที่ทำได้ไปให้ครบเลย เช่น หากมาสมัครงานเป็น Creative ก็บอกไปด้วยเลยว่า เคยผ่านการถ่ายภาพ ตัดต่อ VDO มา สามารถใช้งานโปรแกรมนั้น โปรแกรมนี้ได้เป็นอย่างดี หรือเคยมี Project อะไรที่เคยฝากฝีมือเอาไว้ สามารถนำมาเชื่อมโยงได้ทั้งหมด แต่ก็ไม่ควรให้ยืดยาวจนเกินไป

3. บอกถึงพื้นฐานชีวิตที่เป็นแรงบันดาลใจ

การบอกเล่าถึงเรื่องราวของตัวเราเอง รวมทั้งเรื่องราวของครอบครัวในอดีต ก็เป็นการเชื่อมโยงถึงบุคลิกการทำงาน และพื้นฐานของการใช้ชีวิตร่วมกับผู้อื่นได้ด้วย และช่วยให้การตอบคำถามนั้นดู Real มากขึ้น

เช่น หากเรามาสมัครงานตำแหน่งฝ่ายขาย ก็สามารถบอกเล่าได้ว่า เติบโตมากับครอบครัวที่ทำการค้ามาตั้งแต่เด็ก ๆ ที่บ้านเปิดร้านค้าขายมาก่อน ทำให้เป็นคนรักงานด้านการขาย มีใจชอบงานด้านบริการ เป็นคนชอบพูดคุย และศึกษาค้นคว้าหาข้อมูลข้อดี-ข้อเสียของสินค้า

เราอาจเสริมความมั่นใจไปด้วยว่า ด้วยความเป็นคนที่มีใจรักงานทางด้านการขาย ทำให้มี Passion ที่จะช่วยผลักดันเรื่องงานในตำแหน่งที่ได้รับให้ก้าวหน้า เพราะได้มาอยู่ในจุดที่ใช่ และเป็นแรงบันดาลใจในการทำงานอย่างแท้จริง

การเชื่อมโยงประเด็นทั้งหมด อย่างเป็นเหตุเป็นผลนั้นเป็นเรื่องสำคัญ ทำให้เห็นภาพตัวเรามากที่สุด จะช่วยบอกถึงศักยภาพที่เรามี ได้มากกว่าตัวหนังสือใน Resume และสร้างความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น

4. บอกอุปนิสัยที่เข้ากันได้กับหน้าที่การงาน

การพูดถึงอุปนิสัยของเรา เป็นเหมือนการบอกเล่าถึงจุดแข็งที่เรามีอยู่ด้วยเช่นกัน ซึ่งจะทำให้มองเห็นความสามารถ ที่เกี่ยวข้องกับ Job Description ที่บริษัทกำลังตามหาตัวอยู่

เช่น บอกว่าที่เรามาสมัครงานในตำแหน่ง Marketing นั้น ก็เพราะว่าเราเป็นคนชอบคิดวิเคราะห์ปัญหา และเป็นคนช่างเจรจา มีมนุษยสัมพันธ์ มีความสามารถในการสื่อสาร ช่างสังเกต มีทักษะในการฟัง และพูดอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งเป็นคนชอบวางแผนการทำงาน ให้ได้ตามระยะเวลาที่กำหนด

เพราะนิสัยของแต่ละคน เป็นเครื่องสะท้อนต่องานในตำแหน่งนั้น ๆ ได้เป็นอย่างดี โดยเราอาจจะสำทับไปว่า เราเป็นคนที่ทำงานเพื่องาน มั่นใจว่าจะใช้จุดแข็งของนิสัยของเรา ช่วยให้งานเดินไปข้างหน้าได้ ถึงเป้าหมายที่บริษัทต้องการ แต่ต้องไม่ลืมว่าคำตอบเรื่องนิสัยของเรานั้น ต้องเป็นความจริง ไม่ให้ดูโอ้อวดจนเกินไป

5. บอกถึงประสบการณ์ และสิ่งที่บริษัทจะได้จากเรา

การบอกเล่าประสบการณ์ ก็เหมือนกับการขายของ แต่ประสบการณ์ก็ต้องตอบให้ตรงกับที่บริษัทอยากได้ มากกว่าบอกสิ่งที่เรามีจนมากเกินไป อย่างเช่นที่มาสมัครตำแหน่งนี้ เพราะเราเคยทำงานนี้มาก่อน และมองเห็นความเหมาะสม ที่จะเข้ามาร่วมมือกับบริษัท ในการพัฒนางานด้านนี้ให้ก้าวหน้า มั่นใจว่าจะใช้ความรู้ทางทฤษฎีที่เรียนมา บวกกับประสบการณ์ที่มี เชื่อว่าสามารถทำออกมาได้ดีอย่างแน่นอน

คำตอบข้อนี้เป็นการบอกข้อดีที่เรามีอยู่ เน้นย้ำว่าสิ่งที่บริษัทจะได้จากเราแน่ ๆ คือประสบการณ์และความเชี่ยวชาญ ในการทำงานในตำแหน่งนี้ รวมทั้งประสบการณ์จากการที่ผ่านการทำงาน ร่วมกับคนที่หลากหลายมาแล้ว เคยเจอปัญหาและแก้ปัญหามาทุกรูปแบบ สามารถทำงานจนบรรลุเป้าหมายได้ โดยไม่มีความขัดแย้ง เพราะยึดเป้าหมายการทำงานเป็นหลัก

การพูดถึงตัวเราในด้านดีนั้น เป็นการสะท้อนบุคลิกภาพของตัวเราออกมา ในแง่คำถาม อาจไม่ได้มุ่งหวังไปที่คำตอบโดยตรงเท่าไหร่นัก เพียงแต่คำตอบที่เราตอบออกไป สามารถประเมินปฏิกิริยา พฤติกรรม และทัศนคติวิธีคิดของเราได้ว่า เรามองเห็นตัวเองอย่างไร ก็สะท้อนความเหมาะสมต่อตำแหน่งงานนั้น ๆ ด้วยเช่นกัน

สุดท้ายหลังจบบทสนทนา ก็อย่าลืมขอบคุณกรรมการผู้สัมภาษณ์ เพื่อเป็นการแสดงออกถึงความเป็นคนที่มีวุฒิภาวะที่ดี และยังแสดงถึงความอ่อนน้อม นึกถึงผู้อื่นอยู่เสมออีกด้วย

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

6 เทคนิคการต่อรองเงินเดือน (ถูกใจทั้งนายจ้างและลูกจ้าง)
7 วิธีตอบคำถาม ‘ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน’ ?
7 ประโยชน์ของการฝึกงาน (เพื่ออนาคตที่ดีกว่า)

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด