SKU คืออะไร? ทำความเข้าใจระบบจัดเก็บสต๊อกสินค้า

SKU คืออะไร? ทำความเข้าใจระบบจัดเก็บสต๊อกสินค้า

คำว่า ‘ค้าขาย’ เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว นานกว่าแนวคิดของคำว่าเงินตราหรือธุรกิจด้วยซ้ำ ซึ่งหัวใจของการค้าขายก็อยู่ที่ผลิตภัณฑ์และสินค้าคงคลัง และระบบจัดเก็บสินค้าที่ถูกนิยมใช้กันมานานกว่า 50 ปีแล้วก็คือระบบที่คนเรียกกันว่า SKU  

ในบทความนี้เราจะมาดูกันว่า SKU คืออะไร ทำอะไรได้ และทำไมธุรกิจส่วนมากถึงต้องให้ความสนใจเรื่องของการจัดเก็บสินค้าในรูปแบบ SKU

SKU คืออะไร

SKU (Stock Keeping Unit) หมายถึงหน่วยในการจัดเก็บสินค้า ซึ่งเป็นหน่วยที่ร้านค้าขายปลีกใช้เพื่อแบ่งแยกประเภทของสินค้าตามรายการ เช่น การแบ่งแยกด้วยชนิดสินค้า สี ขนาด ยีห้อ ระบบ SKU สามารถลดความสับสนระหว่างการซื้อและการจัดเก็บสินค้าได้ เหมาะสำหรับธุรกิจที่มีสินค้าหลายรายการ

ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือธุรกิจขายมือถือ มือถือแต่ละสีก็จะเป็นแต่ละ SKU เช่นเดียวกันกับมือถือแต่ละแบรนด์ แต่ละรุ่น หรือแต่ละขนาดความจำ ซึ่งธุรกิจส่วนมากที่ต้องทำงานกับสินค้าหลากหลายชนิดในสต๊อกก็สามารถรับประโยชน์จากการจัดข้อมูลด้วยระบบ SKU

จริงๆแล้วการจัดข้อมูลเป็น SKU ก็จะทำให้พนักงานทำงานได้สะดวกมากขึ้น สามารถรู้ได้ว่าสินค้าไหนขาดสต๊อก และสุดท้ายก็จะสามารถทำให้บริการลูกค้าได้เร็วขึ้น ซึ่งในช่วงหลังของบทความผมจะอธิบายเกี่ยวกับประโยชน์ของการใช้ SKU เพิ่มขึ้นอีกที อย่างไรก็ตาม ผมก็อยากที่จะอธิบายวิธีทำงานของ SKU เพิ่มเติมก่อน

ระบบ SKU ทำงานอย่างไร

SKU มีหน้าที่ในการแบ่งแยกสินค้าหรือผลิตภัณฑ์หลายๆอย่างออกจากกัน ซึ่งจะทำให้ธุรกิจสามารถนำข้อมูลยอดขายและต้นทุนของสินค้าแต่ละอย่างง่ายขึ้น

ส่วนมาก SKU ก็จะเป็นรหัสตัวเลขและตัวอักษรที่เรียกว่า SKU ID ซึ่งคนภายนอกอาจจะดูแล้วไม่เข้าใจ แต่พนักงานในบริษัทสามารถนำมาใช้อ้างอิงภายหลังได้ ซึ่งในกรณีของร้านขายมือถือ เราก็สามารถแบ่ง SKU ได้ดังนี้เป็นต้น

ระบบ SKU ทำงานอย่างไร - ตัวอย่าง

การแบ่งแยกสินค้าด้วย SKU จะทำให้ร้านค้ารู้ได้ว่าสินค้าตัวไหนขายดี ในกรณีที่สินค้าหมดก็จะสามารถจัดซื้อได้ทันเวลา เป็นต้น เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการพยากรณ์ยอดขาย (สามารถอ่านเรื่อง วิธีพยากรณ์ยอดขายได้ที่นี่)

ซึ่งข้อมูลของ SKU ส่วนมากก็มักที่จะต้องถูกเชื่อมกับระบบบริหารสินค้าคงคลังและระบบที่ใช้ในการขายอีกที โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีของบริษัทที่มีขนาดใหญ่และมีสินค้าหลาย SKU คนที่สนใจเรื่องระบบเหล่านี้ผมแนะนำให้ศึกษาบทความเพิ่มเติมของผมเรื่อง ระบบ ERP และ ระบบ CRM นะครับ

หลังจากที่เราเข้าใจพื้นฐานและการทำงานของ SKU แล้ว เรามาดูกันว่าการเก็บข้อมูลสินค้าด้วยระบบ SKU อยู่นั้นมีประโยชน์อย่างไรบ้าง

SKU มีไว้เพื่ออะไร

การวิเคราะห์ข้อมูล – ในเบื้องต้นที่สุด การแบ่งแยกสินค้าด้วย SKU ก็จะทำให้ธุรกิจรู้ได้ว่าตัวไหนขายดี ขายไม่ดี และเหมะาอย่างมากสำหรับบริษัทที่มีสินค้าหลายชนิดหลายรูปแบบมากเกินกว่าที่ประเมินด้วยสายตาได้ ข้อมูลส่วนนี้สามารถนำมาทำอะไรได้หลายอย่างที่ช่วยทั้งเรื่องยอดขายและต้นทุน

บริหารสินค้าคงคลัง –  เช่นการลดสต๊อกสินค้าที่ขายไม่ดี หรือการพัฒนาการผลิตของสินค้าที่ขายดีมากขึ้น สินค้าคงคลังถือว่าเป็นทั้งโอกาสแล้วก็อุปสรรคของธุรกิจค้าขายทุกอย่าง เพราะหากเรามีของมากเกินไปเราก็จะมีเงินจมไปกับสต๊อก แต่ถ้าเรามีของน้อยเกินไป เราก็จะพลาดโอกาสในการขาย

บริการลูกค้า – ระบบ SKU ทำให้พนักงานสามารถค้นหาสินค้าที่ต้องการได้ง่าย ซึ่งก็ทำให้พนักงานสามารถบริการลูกค้าได้ง่ายมากขึ้น และแน่นอนว่าด้วยระบบไอทีขายของออนไลน์ต่างๆ หลายบริษัทก็เริ่มนำข้อมูลเหล่านี้มาให้ลูกค้า เพื่อให้ลูกค้าบริการตัวเองได้ เช่น การให้ลูกค้าสามารถค้นหาสินค้าด้วยตัวเอง แล้วบริษัทก็คัดเลือกสินค้ามานำเสนอด้วยระบบ SKU

การตลาดและการขาย – ในโลกการตลาดที่มีคู่แข่งมากขึ้นเรื่อยๆ การขายของให้ถูกชิ้นให้กับลูกค้าถูกกลุ่มก็เป็นตัวเลือกที่น่าสนใจ (ขายตลาดเฉพาะทาง เช่น เสื้อผ้าคนท้อง อาหารสุนัขแก่) แต่การที่เราจะสามารถแนะนำหรือทำโฆษณาสินค้าได้ขนาดนี้ บริษัทส่วนมากก็ต้องมีการจัดเก็บข้อมูลลูกค้าและนำมาเชื่อมกับข้อมูล SKU ซึ่งเราจะเห็นได้ใน Supermarket หรือร้านสะดวกซื้อเจ้าใหญ่

ระบบไอที – สุดท้ายแล้วโลกธุรกิจก็ต้องปรับตัวเพื่อเข้าหาระบบออนไลน์และระบบไอทีต่างๆมากขึ้น พัฒนารูปแบบการจัดเก็บข้อมูลสินค้าให้มีระเบียบก็เป็นสิ่งที่จำเป็น ระบบนี้สามารถนำมาใช้เพื่อทำการบัญชี การตัดสินใจในธุรกิจ หรือแม้แต่การทำการตลาดการขายเพิ่มเติม เรียกว่าการจัดเก็บข้อมูล SKU ก็คือว่าเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจในอนาคต

ข้อดีส่วนมากก็อยู่ที่การจัดเก็บข้อมูลนั่นแหละครับ หากเรามีข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอย่างเรียบร้อยแล้วสามารถค้นหาได้ง่าย การนำข้อมูลเหล่านี้ไปสร้างเงินสร้างโอกาสเพิ่มเติมก็เป็นเรื่องง่าย ซึ่งเราก็เห็นแล้วว่าธุรกิจใหญ่ๆที่มีสินค้าหลากหลายชนิด หลากหลายรูปแบบ ก็ยิ่งที่จะต้องรีบปรับตัวเข้าสู่การเก็บข้อมูลแบบนี้

ยกตัวอย่างง่ายๆก็คือ ห้างใหญ่ๆอย่าง Big C ที่มีสินค้าทีละหลายหมื่นหลายแสนชิ้น ในส่วนนี้คนที่คุมสต็อกหรือคนที่จัดแคมเปญการตลาดก็คงไม่สามารถคัดเลือกสินค้าด้วยตาเปล่าได้ สิ่งที่ทำแล้วมีประสิทธิภาพมากกว่าก็คือการดูข้อมูลตัวเลขผ่านการจัดเรียง SKU เพื่อที่จะได้สามารถตัดสินใจได้ดีมากขึ้น

ซึ่งจริงๆแล้วต่อให้เป็นร้านค้าขายของออนไลน์ขนาดเล็ก หากมีสินค้ามากเกินกว่า 20 SKU ก็เริ่มบริหารยากแล้วครับ เพราะฉะนั้นหากเป็นไปได้ ต่อให้เป็นธุรกิจ SME ก็ควรที่จะให้ความสนใจเรื่องการจัดเก็บข้อมูลแบบนี้ เราไม่จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยโปรแกรมแพงก็ได้ อาจจะอาศัยการทำไฟล์ Excel ประกอบควบคู่ไปกับการนับสินค้าเก็บตัวเลขแบบใช้มือทำไปก่อน  

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด