นักการตลาดทําอะไรบ้าง? หน้าที่ของ Marketing Officer

นักการตลาดทําอะไรบ้าง? หน้าที่ของ Marketing Officer

หนึ่งในอาชีพที่ยังเป็นที่ต้องการเสมอไม่ว่าจะผ่านมาเป็นร้อยปีแล้วก็ตามก็คือ ‘นักการตลาด’ แต่คำว่านักการตลาดก็เป็นคำศัพท์ที่กว้างมาก เพราะรวมตั้งแต่งานเบื้องต้นสำหรับเด็กจบใหม่ ไปถึงผู้บริหารฝ่ายการตลาด (CMO) ที่มีเงินเดือนหลายล้านบาทเลย

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า ตำแหน่งนักการตลาด หรือ Marketing Officer นั้นทำอะไรบ้าง และ หน้าที่ความรับผิดชอบ คุณสมบัติ หรือ ทักษะต่างๆสำหรับนักการตลาดมือใหม่มีอะไรบ้าง

ตำแหน่งนักการตลาด Marketing Officer ทำอะไรบ้าง 

นักการตลาด หรือ Marketing Officer มีหน้าที่ในการสร้างและปฏิบัติกลยุทธ์และแคมเปญการตลาด เพื่อส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์ผลิตภัณฑ์หรือเพิ่มยอดขายให้องค์กร โดยปกติแล้ว นักการตลาดจะทำงานอยู่ใต้ผู้จัดการการตลาด หรือผู้บริหารฝ่ายการตลาด 

สิ่งสำคัญที่ควรรู้ก็คือ Marketing Officer นั้นเป็นแค่ตำแหน่งพื้นฐานที่หลายบริษัทสามารถจ้างเด็กจบใหม่ที่เรียนด้านการตลาดหรือบริหารธุรกิจมาทำได้

อย่างไรก็ตาาม ‘หน้าที่ความรับผิดชอบ’ ของตำแหน่งนักการตลาดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรเช่นเดียวกัน องค์กรขนาดใหญ่ องค์กรขนาดเล็ก องค์กรที่ทำการตลาดออนไลน์ และ องค์กรที่ทำการตลาดแบบดั่งเดิมก็ใช้ทักษะการตลาดไม่เหมือนกัน

อนึ่ง บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของหัวข้อการตลาดใหญ่ หากใครสนใจศึกษาการตลาดจากเบื้องต้น ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ควบคู่ไปนะครับ การตลาดคืออะไร? แล้วการตลาดสำคัญอย่างไรบ้างนะ?

หน้าที่ของนักการตลาดก็ยังแตกต่างกันขึ้นอยู่กับ ผลิตภัณฑ์ ช่องทางการตลาด หรือแม้แต่กลุ่มลูกค้าขององค์กร อีกด้วย องค์กรที่มีขนาดใหญ่ มีหลายผลิตภัณฑ์ ก็อาจจะมีนักการตลาดหลายคน โดยแต่ละคนอาจจะมีหน้าที่ความรับผิดชอบไม่เหมือนกันเลยก็ได้

และแน่นอนว่าเนื่องจากนักการตลาดแต่ละองค์กรมีความรับผิดชอบไม่เหมือนกัน เงินเดือนก็จะแตกต่างเช่นกัน

ลักษณะงานการตลาด (Responsibilities)

อย่างที่ได้อธิบายไว้ เนื่องจากนักการตลาดนั้นมีหน้าที่หลากหลายมาก หากจะให้อธิบายหน้าที่ทุกอย่างก็คงต้องเขียนเป็นบทความหลายพันคำ เพราะฉะนั้นในส่วนนี้ เราจะมาดูตัวอย่างของลักษณะงานการตลาดพื้นฐานที่เราเห็นได้บ่อยๆ

การวิจัยตลาด Marketing Research – หมายถึงการเก็บข้อมูลตลาดเพื่อใช้ในการตัดสินใจในอนาคต ยกตัวอย่างเช่น กลุ่มลูกค้าคือใคร ลูกค้าต้องการอะไร เราควรสื่อสารกับลูกค้าผ่านช่องทางไหน ซึ่งการวิจัยตลาดมาจากการหาข้อมูลออนไลน์หรือมาจากการทำแบบสอบถาม หรือการสัมภาษณ์ลูกค้า

วิเคราะห์และวางแผนการตลาด Analysis and Planning – เป็นการวางแผนว่ากิจกรรมการตลาดในหนึ่งเดือนหรือหนึ่งปีจะมีอะไรบ้าง ซึ่งการวางแผนก็ต้องมาจากการศึกษาข้อมูลภายในและภายนอกให้ดี ได้แก่ผลลัพธ์ของกิจกรรมการตลาดในอดีตหรือข้อมูลการวิจัยตลาดภายนอก

สร้างสื่อโฆษณา Advertising Materials – สื่อโฆษณาต่างๆควรได้รับการอนุมัติจากแผนกการตลาดเสียก่อน โดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ และสื่อที่มีผลกระทบต่อลูกค้าเป็นจำนวนมาก ในกรณีนี้ถึงแม้ว่าแผนกการตลาดจะไม่จำเป็นต้องออกแบบหรือพิมพ์สื่อโฆษณา ป้ายแบนเนอร์ต่างๆเอง แต่แผนกการตลาดก็ควรมีส่วนร่วมในการออกความคิดเห็น

จัดงานอีเวนต์ Event Organization – หนึ่งในโครงการการตลาดที่ใช้เวลาและความพยายามมากที่สุดก็คือการจัดงานอีเวนต์ซึ่งรวมถึงการหาสถานที่ สร้างสื่อพิมพ์ ติดต่อสื่อภายนอก จัดตารางงาน และ ติดต่อบุคลากรอื่นๆที่สำคัญ 

ประสานงานกับเอเจนซี่ Agency – การจ้างเอเจนซี่คือทางเลือกที่เห็นได้บ่อยสำหรับบริษัทที่มีพนักงานน้อย แต่พอมีงบการตลาดอยู่บ้าง ซึ่งตัวเลือกของเอเจนซี่ในสมัยนี้ก็มีเยอะมาก ตั้งแต่การตลาดออนไลน์ การจัดอีเวนต์ การวิจัยตลาด การเลือกจ้างเอเจนซี่ที่จะสามารถประหยัดเวลาของนักการตลาดได้และเพิ่มคุณภาพของตัวงานได้เยอะ

โดยรวมแล้วนักการตลาดนั้นไม่ได้จำเป็นต้องมีทักษะด้านการออกแบบ การปรับแต่งเว็บไซต์ หรือ การวิเคราะห์ข้อมูลเชิงลึก เพราะหน้าที่ส่วนนี้จะอยู่กับแผนกอื่นที่นักการตลาดต้องไปประสานงานด้วยมากกว่า 

อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องดูประเภทของงาน ชนิดขององค์กรและขนาดของทีมอีกด้วย งานเล็กๆบางประเภทหากนักการตลาดสามารถทำได้เองก็อาจจะทำให้กระบวนการทำงานเร็วขึ้น แต่งานบางประเภทหากไม่พึ่งพาแผนกอื่นบ้างก็อาจจะทำให้งานออกมาช้าหรือออกมาไม่ดี

ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

คุณสมบัติของนักการตลาดมือใหม่ (Qualifications)

เนื่องจากว่าหน้าที่และความรับผิดชอบของนักการตลาดนั้นครอบคลุมหลายหัวข้อ ในส่วนนี้ผมของจำกัดคุณสมบัติของนักการตลาดอยู่ที่สำหรับนักการตลาดมือใหม่หรือเด็กจบใหม่เท่านั้นนะครับ

ปริญญา – นักการตลาดส่วนมากต้องมีใบปริญญา อาจจะเป็นปริญญาด้านการตลาด ด้านธุรกิจ ด้านนิเทศศาสตร์ หรือแม้แต่การจบด้านภาษา 

ภาษาอังกฤษ –  การตลาดในไทยอาจจะไม่ได้จำเป็นต้องใช้ภาษาอังกฤษมาก แต่โดยรวมแล้ว ภาษาอังกฤษก็สามารถทำให้นักการตลาดทำงานบางประเภทหรือสื่อสารกับลูกค้าบางกลุ่มได้ง่ายขึ้น นอกจากนั้นแล้ว เครื่องมือการตลาดสมัยใหม่บางอย่างก็เป็นภาษาอังกฤษ โดยเฉพาะเครื่องมือออนไลน์จากบริษัทต่างประเทศ

ประสบการณ์ – ถึงแม้ว่าจะเป็นคุณสมบัติสำหรับมือใหม่ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าประสบการณ์จะไม่จำเป็นเลย ประสบการณ์จากมหาลัย เช่นการฝึกงาน หรือการทำโปรเจคในห้องเรียนที่เกี่ยวกับธุรกิจที่เกี่ยวข้องก็สามารถช่วยในการทำงานได้เช่นกัน 

คุณสมบัติที่สำคัญที่สุดในส่วนนี้ก็คือประสบการณ์ ยื่งประสบการณ์สามารถถูกเชื่อมโยงกับงานที่สมัครได้ดีเท่าไรก็ยิ่งช่วยในการสมัคร เช่น อาจจะเคยทำโปรเจคด้านแบรนด์มาก่อน เคยทำวิจัยตลาดเกี่ยวกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาก่อน เป็นต้น

ทักษะของนักการตลาด (Skills)

ข้อแตกต่างระหว่างทักษะกับคุณสมบัติก็คือ คุณสมบัติเป็นสิ่งที่พิสูจน์ได้ ผ่านใบปริญญา คะแนนสอบ หรือแม้แต่จาก Reference ที่มีความน่าเชื่อถือ แต่ทักษะคือสิ่งที่พิสูจน์ได้ยากกว่า อาจจะต้องแสดงผ่านการสัมภาษณ์หรือการทดลองงาน

โดยทักษะของนักการตลาดแบบเบื้องต้นมีดังนี้

การบริหารงานหลายอย่าง – โดยรวมแล้วนักการตลาดมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ไม่แน่นอน ทำให้ต้องทำงานใหม่อยู่เรื่อยๆ บางครั้งก็ต้องทำงานหลายอย่างพร้อมกัน เพราะฉะนั้นทักษะเหล่านี้รวมถึงการบริหารโครงการ การกระจายงาน หรือแม้แต่การวางแผนจัดตารางงาน 

การทำงานกับคนภายในและนอกองค์กร – แผนกการตลาดต้องร่วมงานกับผู้คนหลากหลาย ตั้งแต่ฝ่ายขาย ผู้บริหาร แผนกบริการลูกค้า แผนกไอที หรือแม้แต่องค์กรภายนอกอย่างเอเจนซี่ต่างๆ หมายความว่าแผนกการตลาดต้องมีทักษะในการสื่อสาร แล้วสามารถทำความเข้าใจวิธีการทำงานของบุคคลเหล่านี้

การสื่อสาร – แต่เดิมทีนั้น การตลาดก็คือการสื่อสารข้อความให้กับลูกค้าเพื่อโน้มน้าวให้คนเหล่านั้นทำอะไรสักอย่าง เช่น โน้มน้าวให้ซื้อสินค้า ซึ่งการสื่อสารนั้นก็สามารถมาในได้หลายรูปแบบ อาจจะเป็นการจัดงาน การประชาสัมพันธ์ การออกแบบโฆษณาในสื่อต่างๆ หรือแม้แต่การออกไปคุยกับลูกค้าโดยตรง

ทักษะเฉพาะงาน – ยกตัวอย่างเช่น ทักษะด้านภาษาต่างประเทศสำหรับการทำงานองค์กรต่างชาติ ทักษะการวิเคราะห์สำหรับนักการตลาดสายคำนวณ (เช่นออนไลน์) หรือทักษะความคิดสร้างสรรค์สำหรับงานที่ต้องออกแบบหรือสร้างโฆษณาเยอะๆ

เนื่องจากว่า เทรนด์ เครื่องมือการตลาด และ พฤติกรรมผู้บริโภค ในสมัยนี้เปลี่ยนแปลงได้เร็วมาก หนึ่งในทักษะ (หรือบุคลิก) ของนักการตลาดที่ดีก็คือ ความสามารถในการรับมือความเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะเรียนรู้อะไรใหม่ๆ และสามารถปรับตัวได้เร็ว

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับนักการตลาด ตำแหน่ง Marketing Officer

สุดท้ายนี้เราก็จะเห็นได้ว่า ‘นักการตลาด’ เป็นตำแหน่งงานที่กว้างมาก บางคนก็รับผิดชอบงานแค่อย่างเดียว บางคนก็ต้องบริหารงาน 5 อย่าง 10 อย่างพร้อมกัน 

หากคุณเป็นคนที่กำลังพิจารณาหางานด้านการตลาด ข้อแนะนำเบื้องต้นก็คืออย่าดูเพียงแค่ชื่อตำแหน่งเป็นอย่างเดียว ให้ลองศึกษาข้อมูลองค์กรที่จะสมัครก่อน ดูว่าองค์กรเหล่านี้มีผลิตภัณฑ์อะไรบ้าง ขายลูกค้ากลุ่มไหน และใช้ช่องทางการสื่อสารลูกค้าแบบไหนบ้าง

คนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

นอกจากนั้น หากใครสนใจศึกษาเรื่องข้อมูลการตลาด การทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมแนะนำให้ลองดูอีบุ๊คเล่มนี้ของผมนะครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

สุดท้ายนี้สำหรับคนที่เป็นมือใหม่ เพิ่งเริ่มศึกษาเรื่องการตลาด ผมแนะนำให้อ่านบทความด้านล่าง เพื่อศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับงานการตลาดนะครับ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด