ZERO WASTE คืออะไร? หลักการและวัตถุประสงค์ของการลดขยะ

ZERO WASTE คืออะไร? หลักการและวัตถุประสงค์ของการลดขยะ

เราอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าในแต่ละวันตนเองสร้างขยะทิ้งเอาไว้มากมาย ดังนั้นแนวคิดที่เรียกว่า Zero Waste จึงเป็นสิ่งดีๆ ที่จะช่วยเตือนสติพร้อมย้ำเตือนกับทุก ๆ คนบนโลกใบนี้ว่าขยะไม่ใช่เรื่องของใครคนใดเท่านั้น

แต่ Zero Waste เป็นสิ่งที่ทุก ๆ คนจะต้องร่วมมือร่วมใจกัน

ในบทความนี้เราดูกันว่า Zero Waste คืออะไร? มีหลักการและวัตถุประสงค์อย่างไรบ้าง

Zero Waste คืออะไร

Zero Waste เป็นแนวคิดที่จะลดปริมาณขยะเพื่อให้โลกของเราน่าอยู่มากยิ่งขึ้น ซึ่งหลักการทำนั้นไม่ยุ่งยากอย่างที่หลายคนคิด เพียงแค่เริ่มต้นจากตัวเองก่อน พร้อมเข้าใจถึงหลักการที่ถูกต้องเท่านั้น โลกจะน่าอยู่ขึ้นกว่าเดิมด้วยมือของทุกคน

ปัญหาขยะเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับโลกมาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะเมื่อมนุษย์มีวิวัฒนาการมากยิ่งขึ้น สิ่งที่ถูกเรียกว่า “ขยะ” ก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน ตรงนี้ปฏิเสธไม่ได้จริงๆ ว่าแทบทุกคนตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีส่วนในการสร้างขยะให้กับโลกทั้งสิ้นทั้งตั้งใจและไม่ได้ตั้งใจก็ตาม ตัวอย่างง่ายๆ คือ เศษอาหารที่ทานเหลือในทุกๆมื้อ, บรรจุภัณฑ์ต่างๆที่ห่อหุ้มสิ่งของเครื่องใช้, ถุงพลาสติกที่ไว้ใส่สินค้า ฯลฯ

เมื่อถามว่า zero waste คืออะไร คำตอบที่อธิบายได้ชัดเจนสุด แนวคิดนี้หมายถึง การดำเนินชีวิตอย่างเป็นปกติแต่ไม่มีการผลิตขยะใดๆ ทั้งสิ้น ย้ำว่าทุกอย่างจะต้องใช้งานได้อย่างคุ้มค่าและไม่เกิดของเสียจนกลายเป็นสิ่งที่ผู้คนไม่สนใจและไม่ต้องการ

เช่น ไม่สร้างเศษอาหารเหลือทิ้ง, นำสิ่งของที่กลับมาใช้ใหม่ได้แทนที่ถุงพลาสติก อาทิ ตะกร้า, กระเป๋าผ้า ฯลฯ หัวใจสำคัญของแนวคิดนี้คือ พยายามเลือกใช้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวเพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมากที่สุด เพราะถ้ายังคงใช้สิ่งของอย่างสิ้นเปลืองท้ายที่สุดเมื่อเกินความจำเป็นก็ต้องไปจบกันตรงกองขยะ กลายเป็นปัญหาที่วนเวียนไม่มีทางแก้

Zero Waste สำคัญแค่ไหน? เริ่มได้อย่างไร?

หากถามว่า zero waste มีความจำเป็นมากแค่ไหน ลองดูสถิติขยะเอาแค่ในประเทศไทยก่อนก็ได้ สำหรับคนไทยทุก ๆ คนมีอัตราการสร้างขยะเฉลี่ยราว 1.14 กิโลกรัม / คน / วัน ย้ำว่าต่อวัน แล้วจำนวนประชากรไทยมีราว ๆ 55 ล้านคน เท่ากับว่า 1 วันคนไทยจะผลิตขยะสูงถึง 55 ล้านกิโลกรัม ซึ่งพอมองภาพใหญ่แบบทั่วโลกคงไม่ต้องอธิบายว่าเยอะขนาดไหน

ในยุคปัจจุบัน ขยะจำพวกพลาสติกเป็นสิ่งที่เห็นได้ง่ายและได้บ่อยด้วย โดยเฉพาะถุงพลาสติกที่ใช้งานกันแทบทุกแห่งและก็มีการทิ้งเป็นขยะกันเกลื่อนเมืองไปหมด

แต่คำถามก็คือ ‘อยู่ดีจะให้เลิกทิ้งขยะได้อย่างไร’

การปรับเปลี่ยนพฤติกรรม จากเดิมที่เคยสร้างขยะทั้งแบบรู้และไม่รู้ตัว มาเป็นการเลิกทำ เลิกก่อให้เกิดขยะทั้งหมด ‘ในทันที’ คงเป็นไปไม่ได้แน่ๆ นั่นคือเรื่องจริง

แต่ประเด็นหลักอยู่ที่เทรนด์ของการรักสิ่งแวดล้อม รักโลกค่อยๆ มีเพิ่มมากขึ้น มีหลายๆ แบรนด์ดังทั้งในไทยและต่างประเทศหันมาใส่ใจกับวิธีเล็กๆน้อยๆ แต่ช่วยได้จริง เช่น การงดแจกพุงพลาสติก, การเปลี่ยนจากหลอดพลาสติกเป็นหลอดกระดาษ ฯลฯ ดังนั้นหากร่วมมือกันจริงๆ ในอนาคตแนวคิดนี้ก็มีสิทธิ์เกิดขึ้นได้อย่างถาวร

วัตถุประสงค์ของ Zero Waste

จากความหมายที่กล่าวจึงนำมาสู่วัตถุประสงค์จริง ๆ ของแนวคิด zero waste ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องพื้นฐานที่เห็นภาพได้ง่ายเท่านั้น แต่จริงๆแล้วหัวใจและความมุ่งมั่นของ zero waste ยังมีเรื่องที่แตกประเด็นออกไปได้มากมาย…ถึงขั้นที่ช่วยให้โลกของเรา ‘เหมือนได้เกิดใหม่’ ขึ้นอีกครั้ง

1. ต้องการลดปริมาณขยะทุกประเภท

ข้อนี้เป็นสิ่งที่ชัดเจนสุดในแนวคิด zero waste เพราะเมื่อไม่มีการผลิตขยะเพิ่ม ปริมาณขยะก็มีโอกาสลดลงเป็นเรื่องปกติ ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่ขยะประเภทใดประเภทหนึ่งเท่านั้น แต่มันคือการลดในทุกรูปแบบ จากเดิมที่เคยมีขยะวันละหลายๆ ตันก็อาจลงมาเหลือวันละไม่กี่ตัน สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้โลกค่อยๆถูกฟื้นฟูเพื่อกลับมาสดใสอีกครั้ง ซึ่งไม่ใช่แค่โลกแต่ยังส่งผลถึงสิ่งมีชีวิตที่จะยังคงดำรงได้ต่อไปโดยไม่เกิดผลกระทบใหญ่หลวงตามมาในอนาคต

2. ลดการเกิดมลภาวะในทุก ๆ ด้าน

เมื่อปริมาณขยะลดลงมลภาวะต่างๆ ที่เคยเกิดขึ้นบนโลกใบนี้ เช่น การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ของกองขยะ, ปัญหากลิ่นเหม็นเน่าเสีย ปัญหาทางสุขอนามัยของผู้คน สิ่งเหล่านี้ไม่เคยมีใครชอบ และไม่ใช่แค่ตัวมนุษย์เท่านั้น เพราะมันยังส่งผลกระทบขนาดใหญ่ถึงระบบนิเวศด้วย เมื่อก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เยอะขึ้นก็เกิดภาวะเรือนกระจก โลกร้อน ท้ายที่สุด มลภาวะต่างๆ ที่ถาโถมเข้ามาจะทำให้ไม่มีใครสามารถอยู่อาศัยบนโลกนี้ได้ต่อไป

3. สร้างวิถีชีวิตใหม่ๆ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม

จากเดิมที่คุ้นชินกับการใช้ถุงพลาสติกหรือวัสดุที่ก่อให้เกิดขยะจนเคยตัว แนวคิด zero waste ยังมีวัตถุประสงค์เพื่อต้องการสร้างวิถีชีวิตใหม่ พร้อมปรับเปลี่ยนพฤติกรรมที่เคยทำจนเป็นความคุ้นชินให้รู้ว่าจริง ๆ แล้วทุกคนสามารถลดปริมาณขยะบนโลกใบนี้ได้จริง เมื่อทำเป็นประจำก็จะไม่รู้สึกแปลก ทำจนเกิดเป็นนิสัยช่วยสร้างวิถีชีวิตใหม่ ๆ เพื่ออนาคตของตนเองและลูกหลานสำหรับวันข้างหน้า

4. สร้างสังคมคุณภาพปราศจากขยะ

ท้ายที่สุดของวัตถุประสงค์ตามแนวคิด zero waste คือ ต้องการสร้างสังคมคุณภาพที่ปราศจากขยะ เมื่อทำได้จริงจะช่วยสร้างความสุขและความตระหนักรู้เกี่ยวกับสิ่งนี้ได้มากขึ้นกว่าเดิมอย่างแน่นอน เมื่อเริ่มต้นจากตัวเองที่ไม่ทิ้งขยะและคนอื่นๆ ก็คิดแบบเดียวกัน จะกลายเป็นสังคมคุณภาพที่ขยะไม่สามารถทำอะไรได้ การใช้ชีวิตในสังคมแบบนี้ใครๆ ก็อยากให้เกิดขึ้นกับตนเองทั้งสิ้น ดังนั้นต้องเริ่มต้นด้วยแนวคิดคุณภาพแบบนี้ก่อนเลย จะช่วยตอบโจทย์ได้แน่

หลักการของ Zero Waste

แนวคิดของ zero waste ในสมัยนี้มีหลายความหมายและหลายมุมมอง คนที่ไม่คุ้นเคยกับหลักการนี้อาจจะมองว่า zero waste มีความยุ่งยากในด้านหลักการพอสมควร ทว่าในแนวปฏิบัตินั้นง่ายกว่าที่คิดมาก เพราะ Zero Waste ใช้เพียงหลักทีเรียกว่า ‘1A 3 R’ มั่นใจได้ว่าใคร ๆ ก็สามารถทำได้จริงหากมีความตั้งมั่นที่จะเริ่มต้นจากตนเอง พอทำเป็นแล้วค่อยส่งผ่านต่อไปถึงผู้อื่น

Avoid

หลัก A แรกเป็นเรื่องของการหลีกเลี่ยงไม่ให้ตนเองเป็นผู้สร้างขยะขึ้นมาจนมีปริมาณมากขึ้น ตัวอย่างง่าย ๆ คือ การไม่ใช้หลอดที่มีพลาสติกห่อหุ้มป้องกันเอาไว้ เพราะปกติแล้วพลาสติกเหล่านี้เมื่อใช้เสร็จก็ทิ้งกลายเป็นขยะทันที เมื่อพยายามหาวิธีหลีกเลี่ยงสำเร็จก็จะลดปริมาณขยะได้เยอะมาก

Reduce

ลดการใช้งานสิ่งของต่าง ๆ ที่จะทำให้เกิดขยะ หรือ การเลือกใช้วัสดุบางอย่างที่ส่งผลต่อปริมาณขยะลดลง ตัวอย่างนี้ง่ายมาก ๆ เช่น เมื่อซื้อของในตลาดก็นำตะกร้าหรือถึงผ้าไปแทนแล้วบอกพ่อค้าแม่ค้าว่าไม่ต้องใส่ถุงพลาสติก หรือเปลี่ยนจากการให้แม่ค้าตักแกงใส่ถุงก็นำเอาภาชนะ เช่น ปิ่นโต, กล่องอาหารไปใส่แทน เป็นต้น

Reuse

เป็นการนำเอาสิ่งของเก่ากลับมาใช้ประโยชน์ใหม่อีกครั้ง เพื่อลดปริมาณการทิ้งขยะโดยไม่จำเป็น เชื่อว่ายุคนี้หลาย ๆ คนก็น่าจะทำเพื่อประหยัดเงินในกระเป๋าด้วย อาทิ การใช้กระดาษให้ครบ 2 หน้าแล้วจึงทิ้ง, การนำกระปุกใส่อาหารที่ซื้อจากนอกบ้าน มาเป็นกระปุกใส่เครื่องปรุงรสในครัว, กระป๋องของอาหาร / เครื่องดื่ม มาทำเป็นกระถางต้นไม้ ฯลฯ

Recycle

การแปรสภาพจากสิ่งของบางอย่างเพื่อให้เกิดการหมุนเวียนและนำกลับมาใช้ใหม่ ต่างกับการ reuse ที่สามารถนำเอาสิ่งนั้นมาใช้งานต่อได้เลย ตัวอย่างการ recycle เช่น การนำเศษอาหารไปทำเป็นปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก, นำขวดแก้วมาหลอมเพื่อกลับมาขึ้นรูปใหม่อีกครั้ง, ฝากระป๋องเครื่องดื่มถูกนำมาทำเป็นขาเทียมให้กับผู้พิการ, กล่องนมนำมาทำกล่องทิชชู เป็นต้น

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ Zero Waste

เรื่องราวของแนวคิด zero waste ไม่ใช่เรื่องไกลตัวและทุก ๆ คนสามารถทำได้จริงเพียงแค่ลองเปิดใจพร้อมกล้าที่จะปรับเปลี่ยนชีวิตของตนเองให้ตรงตามแนวทางที่ระบุเอาไว้ เพราะโลกใบนี้ยังมีความสวยงามต่าง ๆ อีกมากมาย และสิ่งมีชีวิตอีกหลากสายพันธุ์ที่ไม่ได้เป็นผู้ทำลายสิ่งแวดล้อม เริ่มต้นง่าย ๆ จากตัวเองแล้วจึงค่อย ๆ บอกต่อถึงคนที่คุณรัก การทำแบบนี้เมื่อทุกคนเข้าใจถึงวัตถุประสงค์และวิธีที่ถูกต้อง รับรองว่าโลกของเราจะมีปริมาณขยะลดลง พร้อมทุกสรรพสิ่งบนโลกก็จะได้ผลตอบแทนกลับคืนมาอย่างคุ้มค่า

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด