เปิดร้านกาแฟ เริ่มต้นยังไง? ลงทุนเท่าไรกันแน่

เปิดร้านกาแฟ เริ่มต้นยังไง? ลงทุนเท่าไรกันแน่

ร้านกาแฟ เป็นธุรกิจยอดนิยมที่หลายคนให้ความสนใจมากมาย เห็นได้ว่าในช่วงหลายปีมานี้ธุรกิจร้านกาแฟได้เติบโตอย่างรวดเร็วและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น จากไม่ว่าจะเป็นธุรกิจร้านกาแฟแฟรนไชส์ชื่อดังหรือร้านกาแฟแบบ SME สำหรับคนที่สนใจอยากเรียนรู้เกี่ยวกับการทำธุรกิจนี้ เพื่อใช้ต่อยอดทำร้านกาแฟของตัวเอง พร้อมเทคนิคการสร้างความโดดเด่นเอาชนะคู่แข่งในตลาด ตามไปดูข้อมูลสำคัญ ๆ กันเลยครับ 

เปิดร้านกาแฟต้องรู้อะไรบ้าง ?

1. ศึกษาข้อมูลและเตรียมความพร้อม

สิ่งสำคัญที่ควรทำก่อนลงทุน เพราะทุกอย่างมีค่าใช้จ่าย ดังนั้นควรศึกษาข้อมูลเบื้องต้นให้ละเอียดและรอบคอบมากที่สุด ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงบประมาณ รูปแบบกิจการ ทำเล และจุดสำคัญที่สุดคือการทำความรู้จักกับคู่แข่งและลูกค้า เพราะแม้ธุรกิจร้านกาแฟจะมีแนวโน้มการเติบโตที่ดี แต่ในตอนนี้ก็เป็นธุรกิจที่มีคู่แข่งเป็นจำนวนมาก ดังนั้นจึงต้องนำข้อมูลในส่วนนี้มาวิเคราะห์เพื่อหาจุดขาย สร้างความโดดเด่น และเอาชนะใจลูกค้า คำนวณเรื่องทุนต้น รวมถึงวางแผนสำรอง 

2. ต่อยอดจากความชอบ

หากจะให้ดีควรเป็นคนที่ชอบดื่มกาแฟเป็นทุนเดิมจะได้เปรียบกว่า เพราะจะรู้ว่ากลิ่นหรือรสชาติแบบไหนที่ต้องการ อีกทั้งหากได้ลองศึกษาและทดลองทำเมนูไปทุกวันก็จะสามารถนำมาต่อยอดเพื่อพัฒนาเป็นเมนูใหม่ ๆ หรือทำเมนูกาแฟที่เป็น Signature ของร้านพร้อมขยายไปพัฒนาสินค้าอื่น ๆ เพื่อเพิ่มยอดขาดได้ เช่น อาหารคาวหรือเบเกอร์รี

3. เลือกรูปแบบร้านกาแฟ

เมื่อพูดร้านกาแฟอาจจะคิดว่า จะต้องมีหน้าร้านขนาดใหญ่อย่างเดียว แต่จริง ๆ แล้วรูปแบบของร้านกาแฟมี 3 แบบด้วยกัน ความเหมาะสมนั้นขึ้นอยู่กับเงินทุนและขนาดพื้นที่เป็นหลัก

Cart: เป็นร้านกาแฟขนาดเล็ก มีจุดเด่นคือ เคลื่อนย้ายง่าย เข้าถึงได้ทุกที่ ใช้พื้นที่น้อยเพราะขนาดร้านค่อนข้างเล็กประมาณ 3 ตารางเมตร 

Kiosk หรือ Corner: ร้านกาแฟขนาดกลาง มีหน้าร้านเป็นหลักแหล่ง ทำเลส่วนใหญ่อยู่ในห้างสรรพสินค้า อาคารสำนักงาน เน้นการขายเครื่องดื่มแบบ Take Away หรือมีโต๊ะนั่งให้ลูกค้าเล็กน้อย พื้นที่ร้าน 3 ตารางเมตรขึ้นไป 

Stand Alone : ร้านกาแฟขนาดใหญ่ มีหน้าร้านพร้อมที่นั่งให้ลูกค้าใช้บริการ ขนาดพื้นที่ 30 ตารางเมตรขึ้นไป มีทั้งที่ตั้งในห้างสรรพสินค้า ในอาคารสำนักงาน ย่านชุมชน หรือย่านธุรกิจ 

4. วางแผนเงินทุน

จะช่วยให้ควบคุมค่าใช้จ่ายและจัดการเงินทุนได้ง่ายขึ้น แบ่งออกเป็น 3 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกคือ ค่าใช้จ่ายภายในร้าน ได้แก่ ค่าเช่าพื้นที่ ค่าอุปกรณ์การทำกาแฟ ค่าตกแต่งหน้าร้าน อาทิ เคาน์เตอร์กาแฟ โต๊ะ เก้าอี้ ค่าก่อสร้างและวางระบบต่าง ๆ ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างพนักงาน (ถ้ามี) ค่าทำการตลาด ประกอบด้วยค่าโฆษณาและจัดโปรโมชั่น ถัดมาเป็นเงินฉุกเฉิน สำหรับใช้กรณีเร่งด่วน เช่น ค่าซ่อมบำรุงอุปกรณ์ต่าง ๆ และเงินทุนสำรองหมุนเวียน ควรมีสำรองไว้อย่างน้อย 3-6 เดือน

หลังจากนั้นควรจะนำส่วนนี้มาวิเคราะห์หาจุดคุ้มทุนและกำไรต่อหน่วยการขาย ประกอบด้วยต้นทุน 3 ส่วนด้วยกัน คือ

ต้นทุนคงที่ หรือ Fixed Cost คือต้นทุนที่ต้องจ่ายในแต่ละเดือน เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟ
ต้นทุนผันแปร คือ ต้นทุนค่าใช้จ่ายที่เปลี่ยนแปลงตามยอดขาย 

ตัวอย่างเช่น 

ต้นทุนคงที่ : 30,000 (ค่าเช่าที่) + 15,000 (ค่าจ้างพนักงาน) + 5,000 (ค่าน้ำ-ค่าไฟ) = 50,000 บาทต่อเดือน 
กำไรต่อแก้ว : 60 (ราคาขาย) – 15 (ต้นทุนผันแปรต่อแก้ว) = 45 บาทต่อแก้ว 

ดังนั้น จุดคุ้มทุนของร้านกาแฟควรจะขายได้ 50,000÷45 = 1,111.11 หรือ 1,112 แก้วต่อเดือน เฉลี่ยเป็น 1,112÷30 = 37 แก้วต่อวัน จึงจะคุ้มค่ากับต้นทุนที่เสียไป 

หลังจากที่เริ่มเปิดร้านควรทำบัญชีและงบการเงินอย่างสม่ำเสมอ เพื่อเช็กเงินทุนหมุนเวียนที่จะนำมาใช้ในการคิดกำไร-ขาดทุน เพื่อพิจารณาปัจจัยสำหรับการดำเนินการต่อ สำหรับคนที่สนใจเรื่องนี้ ลองอ่านบทความ จุดคุ้มทุน ของผมได้ครับ จะลงรายละเอียดและวิธีคำนวณไว้มากกว่า

5. หาทำเลเป้าหมาย

อีกหนึ่งปัจจัยที่สำคัญไม่แพ้กัน เพราะหากตั้งอยู่ในจุดที่เข้าถึงยาก ต่อให้สินค้ามีคุณภาพดีก็อาจทำยอดขายไม่ได้ตามเป้าที่ตั้งไว้ ทำเลที่นิยมทำร้านกาแฟได้แก่ ห้างสรรพสินค้า Community Mall อาคารสำนักงาน โรงพยาบาล สถานศึกษา รถไฟฟ้า ปั๊มน้ำมัน ซึ่งแน่นอนว่าทำเลเหล่านี้เป็นทำเลทองที่คู่แข่งค่อนข้างเยอะ ดังนั้นจึงควรหาจุดขายและนำการตลาดเข้ามาช่วยโปรโมทเพื่อสร้างความได้เปรียบ สำหรับร้านที่ตั้งในย่านชุมชนหรือย่านธุรกิจควรคำนึงถึงเรื่องสถานที่จอดรถสำหรับลูกค้าด้วย  

6. ช่องทางการขาย

หน้าร้านถือเป็นส่วนสำคัญที่สุด นอกจากการพัฒนาสินค้าให้มีคุณภาพดีแล้ว ก็ควรตกแต่งหน้าร้านให้สวยงาม มีเอกลักษณ์พร้อมทั้งสร้างความต่างจะช่วยดึงดูดลูกค้าได้มากขึ้น เพราะในปัจจุบันมีคนจำนวนไม่น้อยที่ชอบร้านกาแฟที่เป็นทั้งสถานที่พักผ่อนและทำงานไปพร้อมกัน นอกจากนี้ควรเพิ่มช่องทางการขายให้ลูกค้าเข้าถึงได้ง่ายขึ้น อย่างเช่น ช่องทางการขายออนไลน์ผ่านสื่อโซเชียลและแอพพลิเคชั่น Delivery ต่าง ๆ 

เปิดร้านกาแฟมีอุปกรณ์อะไรบ้าง ?

1. เมล็ดกาแฟ

เมล็ดกาแฟมีหลายเกรดหลายราคา ที่นิยมใช้ในร้านกาแฟมี 2 สายพันธุ์ด้วยกันคือกาแฟอาราบิก้า (Arabica)ราคาสูงกว่าสายพันธุ์อื่น แต่ได้รับความนิยมสูงเพราะมีกลิ่นหอมเฉพาะตัวตามแหล่งปลูก รสชาติดี ละมุน กลมกล่อม และมีคาเฟอีนต่ำ ในขณะที่สายพันธุ์โรบัสต้า (Robusta) ให้รสชาติที่เข้มข้น เพราะมีคาเฟอีนสูง แต่มีกลิ่นหอมน้อยกว่า แต่รสชาติไม่กลมกล่อมเท่าอาราบิกา ทั้งนี้สามารถนำเมล็ดกาแฟทั้ง 2 สายพันธุ์มาผสมกันเพื่อช่วยสร้างจุดขายของร้านเพิ่มได้ 

2. เครื่องบดกาแฟ

เครื่องบดกาแฟ (Grinders) มี 2 ประเภทคือ แบบมือหมุน และแบบใช้ไฟฟ้า ซึ่งแบบหลังเหมาะกับการทำร้านกาแฟมากกว่า เพราะบดเมล็ดกาแฟได้จำนวนมากต่อครั้ง ใช้เวลาบดไม่นาน สามารถเลือกความถี่ในการบด และบดได้ละเอียด แต่ยังคงความสดใหม่ของกลิ่นและรสชาติจากเมล็ดกาแฟได้มากกว่า  

3. เครื่องทำกาแฟ

เครื่องทำกาแฟที่ใช้ส่วนใหญ่เป็นประเภทเอสเพรสโซ่ (Espresso Machines) วิธีเลือกหลัก ๆ ดูที่ราคามีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสน แล้วนำมาเทียบกับปริมาณแก้วที่ชงต่อวัน และขนาดของหม้อต้ม (Boiler) เพื่อให้ชงได้ต่อเนื่องและเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า และควรมีก้านตีฟองนมเพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการทำเมนู ทั้งนี้หากยังไม่แน่ใจอาจจะเช่าเครื่องทำกาแฟมาลองใช้ดูก่อนก็ได้ 

4. อุปกรณ์ชงกาแฟ

อาทิ ช้อนตวงหรือถ้วยตวง เพื่อคงคุณภาพและรักษารสชาติของกาแฟทุกแก้วให้เป็นมาตรฐานก่อนส่งมอบให้ลูกค้า รวมไปถึงกระบอกทำวิปปิ้งครีม ขวดโรยผงโกโก้หรือกาแฟตกแต่งหน้าเครื่องดื่ม เป็นต้น 

5. เครื่องปั่น

สำหรับร้านที่มีเมนูปั่น (Frappe) หรือสมูธตี้จะขาดอุปกรณ์ตัวนี้ไม่ได้ ควรเลือกโถแบบพลาสติก เพราะทนทานกว่าโถแก้ว นอกจากนี้พิจารณาจากความจุ ความเร็วรอบปั่น ยิ่งมีรอบปั่นสูงก็ยิ่งได้เนื้อสัมผัสที่ละเอียดมากยิ่งขึ้น 

6. ตู้แช่เย็นและถังน้ำแข็ง

อีกหนึ่งอุปกรณ์ที่ขาดไม่ได้สำหรับใส่น้ำแข็งและแช่ส่วนผสมต่าง ๆ สำหรับทำเมนู เช่น วิปปิ้งครีม นมสด รวมไปถึงเบเกอร์รี 

7. ภาชนะและบรรจุภัณฑ์

เช่น แก้วกาแฟสำหรับเครื่องร้อน เครื่องดื่มเย็น และเมนูปั่น หรือภาชนะสำหรับใส่เครื่องดื่มในร้านและนำกลับบ้าน ทั้งนี้ควรเลือกที่หลายไซส์ให้ลูกค้าได้เลือกตามต้องการ และพิจารณาดีไซน์ที่สวยงามควบคู่กันไปด้วย 

8. ของตกแต่งร้าน             

โดยเลือกให้สอดคล้องกับสไตล์การตกแต่งร้านและอยู่ในโทนสีและธีมเดียวกัน ได้แก่ ป้ายเมนูและราคาที่อ่านง่าย มองเห็นได้ชัดเจน บอกรายละเอียดไว้ชัดเจนทั้งฟอนต์ ขนาด สีสัน โต๊ะ เก้าอี้ ถังขยะ สเตชั่นเครื่องดื่มให้ลูกค้าหยิบหลอด กระดาษทิชชู หรือส่วนผสมเพิ่ม เช่น น้ำเชื่อม น้ำตาล ครีมเทียม รวมถึงแก้วกระดาษและน้ำดื่ม

เปิดร้านกาแฟลงทุนเท่าไร ?

เงินลงทุนสำหรับคนที่ทำแบรนด์ของตัวเองขึ้นอยู่กับรูปแบบของร้าน:

หากเป็น Cart เริ่มต้นที่ 15,000-20,000 บาท
ร้านแบบ Kiosk ต้นทุนอยู่ที่ 100,000-200,000 บาท
และต้นทุน Stand Alone อยู่ที่ 300,000-1,500,000 บาท 

ส่วนร้านกาแฟแฟรนไชส์แต่ละแบรนด์ก็ใช้เงินลงทุนแตกต่างกันไป มีตั้งแต่หลักหมื่นไปจนถึงหลักแสนหรือหลักล้าน ขึ้นอยู่กับแพ็กเกจ เงื่อนไข หรือข้อตกลงระหว่างเจ้าของแบรนด์กับผู้ที่ขอซื้อ ประมาณการใช้เงินลงทุนเริ่มต้น ดังนี้ (เป็นข้อมูลปี 2021 นะครับ อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงบ้าง และ ยังไม่รวมข้อตกลงอื่นๆ อย่างการมีที่ดิน เป็นต้น)

แม้จะไม่เคยทำธุรกิจร้านกาแฟมาก่อนแต่ถ้าหากศึกษาข้อมูลและพิจารณาจากปัจจัยรอบด้านเรียนรู้ประสบการณ์จากผู้ที่เคยทำร้านกาแฟพร้อมนำบทเรียนมาปรับใช้อย่างเหมาะสมที่สำคัญมีการคิดคำนวณเรื่องต้นทุนค่าใช้จ่ายสามารถวิเคราะห์ถึงกำไร-ขาดทุนได้อย่างแม่นยำก็จะช่วยลดความผิดพลาดและเพิ่มโอกาสในการต่อยอดธุรกิจนี้ได้ระยะยาว

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

5 ขั้นตอนการทำ Social Media สำหรับธุรกิจ | Social Media Marketing
วิธีทำบัญชีที่ใครก็ทำได้ (พร้อมตัวอย่างการทำบัญชีร้านค้าปลีก)
ขายอะไรดี? รวบรวมสุดยอดของน่าขายตลาดกาล

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด