หากคุณอยู่ในตำแหน่งผู้นำขององค์กรหรือผู้จัดการ คุณก็จะรู้ว่าการบริหารพนักงานนั้นสามารถสร้างหรือทำลายความสำเร็จองค์กรได้ พนักงานที่มีความสุขและมีความขยันขันแข็งนั้นจะนำพาองค์กรของคุณไปสู่ความสำเร็จ แต่สำหรับพนักงานที่เกียจคร้านและไม่เคยพอใจในสิ่งที่คุณมอบให้จะเป็นสิ่งที่คอยดึงความสำเร็จองค์กรของคุณลงมา
ในบทความนี้ ผมได้แบ่งวิธีดูแล จัดการ และคุมลูกค้าหลายนิสัย หลายบุคลิกออกมาไว้ตามขั้นตอน สามารถนำไปปรับให้เหมาะกับวิธีทำงานคุณได้นะครับ
วิธีจัดการลูกน้องหัวแข็ง ก้าวร้าว และ อีโก้สูง
วิธีจัดการลูกน้อง คือ การใช้ความสามารถของผู้นำองค์กร ไม่ว่าจะเป็นผู้บริหารหรือหัวหน้างานในการจัดการพฤติกรรมต่าง ๆ ของลูกน้องให้มีพฤติกรรมการทำงานที่เหมาะสม และพฤติกรรมเหล่านั้นควรส่งเสริมให้องค์กรมีความเจริญก้าวไปข้างหน้ามากกว่าการสร้างความเสียหายให้กับองค์กร
การจัดการพนักงานให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพนั้นอาจจะเป็นงานที่ไม่ง่ายนัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งองค์กรที่มีพนักงานมีความแตกต่างของวัยอยู่หลายรุ่น อีกทั้งยังมีเป้าหมาย แรงจูงใจ และมุมมองในการทำงานที่แตกต่างกัน
สิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งสำหรับการเป็นผู้นำ ก็คือ ความสามารถในการเป็นผู้นำ จัดการ กำกับดูแล และจูงใจผู้ใต้บังคับบัญชาหรือพนักงานของคุณให้ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ
แต่ถ้าหากมีพนักงานหนึ่งคน หรือหนึ่งกลุ่มที่ยากต่อการบริหารจัดการ ไม่ว่าจะเป็นคนที่หัวแข็ง ก้าวร้าว และมีอีโก้สูง จนสร้างความเสียหายกับองค์กร แล้วจะมีวิธีการจัดการกับพนักงานเหล่านี้อย่างไร บทความนี้จะขอเสนอวิธีจัดการกับคนเหล่านี้ จะมีวิธีการใดบ้างไปดูกันครับ
7 วิธีจัดการลูกน้องหัวแข็ง
คนหัวแข็ง ก็คือ คนที่ไม่ยอมปฏิบัติตามกฎขององค์กรที่ผู้นำหรือหัวหน้าได้กำหนดเอาไว้ ซึ่งการกระทำของคนเหล่านี้อาจก่อให้เกิดความเสียหายแก่องค์กรได้ ซึ่งบางครั้งสาเหตุที่พวกเขาหัวแข็งนั้นอาจจะเกิดมาจากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในองค์กร จากบทบาทของเขาที่เคยมีความสำคัญกับองค์กรกลับกลายถูกลดทอนความสำคัญลงจนมีผลต่อชื่อเสียงหรือการยอมรับของเขา
การเปลี่ยนแปลงจะส่งผลให้คนหัวแข็งมีพฤติกรรมต่อต้านเกิดขึ้น เพื่อที่จะได้รู้สึกว่าได้ความสนใจจากผู้นำขององค์กร ซึ่งมีวิธีรับมือกับคนที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงมีดังนี้
#1 มอบหมายหน้าที่ให้ชัดเจน
สร้างความชัดเจนถึงบทบาทของเขาในองค์กร ด้วยการอธิบายหน้าที่การงาน ความรับผิดชอบ และความคาดหวังด้านพฤติกรรมให้กับพนักงานทุกคนเข้าใจอย่างชัดเจนว่าแต่ละคนนั้นมีความสำคัญอย่างไรต่อองค์กร และหากขาดพวกเขาไปนั้นจะส่งผลกระทบอะไรบ้างกับองค์กร เพื่อทำให้เขารู้สึกว่าเขามีความสำคัญกับองค์กร
การมอบหมายหน้าที่ให้กับเขาเพื่อที่เขาจะได้โฟกัสกับเป้าหมายที่ทางองค์กรได้มอบหมายให้ไว้มากกว่าที่จะโฟกัสเรื่องอื่น นอกจากการมอบหมายหน้าที่ด้วยวาจาแล้ว ก็ควรทำเป็นลายลักษณ์อักษรที่ชัดเจนให้พนักงานทุกคนได้เซ็นต์รับทราบ เพื่อเป็นการยืนยันว่า พนักงานได้ยอมรับ รับรู้ว่าทั้งสองฝ่ายมีความเข้าใจที่ตรงกัน
#2 หาทางแก้ไขเชิงบวก
หากมีสถานการณ์ความขัดแย้งเกิดขึ้น ควรให้ทุกฝ่ายอยู่ในความสงบเสียก่อนหากสังเกตได้ว่าพนักงานอารมณ์เสียอย่างเห็นได้ชัด อย่าเพิ่งให้มีการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกิดขึ้นในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังมีอารมณ์อยู่บนความขัดแย้ง
จงมองด้านบวกของทุกคนและมีความเชื่อมั่นในความดีของพวกเขา ให้มองที่ผลงานของพวกเขาเป็นอันดับแรกก่อน และอย่ายึดติดกับพฤติกรรมเชิงลบของพวกเขาในอดีต ให้หาทางแก้ไขในเชิงบวกที่จะช่วยส่งเสริมการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมต่าง ๆ ให้ดีขึ้น
#3 รับฟัง เพื่อให้ถูกรับฟัง
รับฟังข้อกังวลของพนักงาน พยายามหาเหตุผลให้ได้ว่าทำไมพนักงานถึงได้ปฏิเสธที่จะปฏิบัติตามคำสั่งหรือข้อปฏิบัติขององค์กร ความกังวลที่ดีอาจจะเกิดจาก เช่น สภาพการทำงานที่ไม่ดีหรือไม่ปลอดภัยต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง เพื่อหาหนทางแก้ไขได้ถูกจุดก่อนที่ปัญหาเหล่านั้นจะลุกลามไปมากกว่าที่เป็นอยู่ การรับฟังจะทำให้พนักงานมีแนวโน้มที่จะช่วยเราแก้ปัญหาได้มากขึ้น
#4 ให้ความช่วยเหลือ
คอยแนะนำและให้ความช่วยเหลือแก่พนักงานที่กำลังมีปัญหาในเรื่องส่วนตัว ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าใช้จ่าย, สุขภาพ, สุขภาพจิต หรือปัญหาทางครอบครัว เพราะพนักงานที่ประสบปัญหาส่วนตัวหนัก ๆ นั้นก็มักจะส่งผลกระทบมาถึงการทำงานของผู้นั้นด้วย
#5 ตักเตือน
หากสังเกตพบพฤติกรรมของพนักงานที่อาจก่อให้เกิดความเสียหายต่อองค์กร ให้รีบนำมาตักเตือนทันทีโดยมีกฎเกณฑ์การลงโทษที่ชัดเจน เพื่อให้เห็นเป็นแบบอย่างและไม่อนุญาตให้พนักงานสนับสนุนให้เพื่อนร่วมงานคนอื่นมีส่วนร่วมในการบ่อนทำลายองค์กร
#6 ติดตาม
ให้ฝ่ายบริหารหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคลดำเนินการตรวจสอบหรือจัดทำการจัดเก็บข้อมูลการประพฤติของบุคลากรที่ทำผิดกฎต่อองค์กรเป็นระยะ พร้อมทั้งแจ้งให้พนักงานทุกคนรับทราบว่าความประพฤติ ผลงาน และระดับของการมีส่วนร่วมกับองค์กรนั้น จะมีผลทั้งทางบวกและทางลบเกี่ยวกับการจ้างงานที่ต่อเนื่องและความก้าวหน้าของตำแหน่งในอนาคต
#7 เท่าเทียม
ปฏิบัติต่อพนักงานอย่างเป็นธรรมและสม่ำเสมอ หลีกเลี่ยงการใช้ความรู้สึกส่วนบุคคลมาใช้กับบุคคลนั้นที่อาจจะส่งผลต่อหน้าที่การทำงานของผู้นำองค์กรได้
6 วิธีจัดการลูกน้องก้าวร้าว
พนักงานที่มีความก้าวร้าวมักจะแสดงความกระตือรือร้นทำงานของเขาให้สำเร็จได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ แต่เขาก็มักจะระเบิดอารมณ์ โวยวายใส่เพื่อนร่วมงาน หัวหน้างาน หรือลูกค้า พนักงานที่ก้าวร้าวจะทำให้พนักงานคนอื่นรู้สึกว่าเขาเหนือกว่า การหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่พนักงานคนนั้นจะแสดงความก้าวร้าวกับคุณนั้น คุณต้องแสดงความเข้าใจและทำตามขั้นตอนเพื่อช่วยให้พนักงานคนนั้นสามารถเอาชนะความก้าวร้าวของเขาได้
#1 ขอพบแบบตัวต่อตัว
พูดคุยกับพนักงานคนที่แสดงพฤติกรรมก้าวร้าวว่า คุณต้องการคุยกับเขาในที่ส่วนตัว เช่น ในที่ทำงานของคุณหรือในห้องพักผ่อนที่ไม่มีใครอยู่ใกล้ ๆ
#2 เริ่มต้นด้วยการชื่นชม
แจ้งให้เขารับรู้ตั้งแต่เริ่มต้นบทสนทนาว่า คุณต้องการกำลังต้องการพูดถึงพฤติกรรมก้าวร้าวของเขาที่ได้แสดงให้เห็นในขณะที่เขากำลังทำงานอยู่นั้น โดยคุณกล่าวชื่นชมเขาว่า การระบายอารมณ์โกรธของเขานั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจต่อการทำงานของเขา ถ้าเขาทำงานได้สำเร็จก็จะเป็นการสร้างโอกาสให้เขาได้รับการเลื่อนตำแหน่งที่สูงขึ้น เพื่อระงับอารมณ์ของเขาให้เย็นลงก่อน เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสถานการณ์ที่บานปลาย
#3 บอกข้อเสียของการก้าวร้าว
แจ้งให้เขารับรู้ว่าความตั้งใจทำงานของเขาสามารถทำให้เขาทำงานสำเร็จตามต้องการ แต่การแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวของเขากับเพื่อนร่วมงานนั้น อาจจะทำให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจผิดได้ว่า เขากำลังมีปัญหาส่วนตัวกับเพื่อนคนนั้นมากกว่า และอาจจะส่งผลต่อความสำเร็จในการทำงานนั้นอาจจะไม่เกิดขึ้นได้
#4 ให้ข้อเสนอแนะ
ชี้ให้เห็นผลเสียที่จะเกิดขึ้นหากพนักงานทำงานด้วยพฤติกรรมที่ก้าวร้าว และให้ข้อเสนอแนะที่ดีกว่าด้วยการแนะนำพฤติกรรมการทำงานกับเพื่อนร่วมงานที่เหมาะสม พร้อมกับยกตัวอย่างให้เห็นภาพที่ชัดเจนด้วยการเน้นที่สถานการณ์การทำงานแบบก้าวร้าวกับการทำงานแบบสุภาพชน เพื่อให้เขาได้เห็นผลลัพธ์ทั้งสองแบบว่ามีข้อดีและข้อเสียต่างกันอย่างไร เพื่อให้เขาเป็นผู้เลือกปฏิบัติเอง
#5 แนะนำวิธีการแก้ปัญหา
ช่วยแนะนำวิธีการที่ให้พนักงานปรับปรุงพฤติกรรมให้ดีขึ้น โดยให้เขารู้จักควบคุมความโกรธและความก้าวร้าวของเขา ให้เขาเดินหนีไปที่อื่นเมื่อเขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองกำลังจะมีอารมณ์โกรธและกำลังจะระเบิดอารมณ์ ด่าเพื่อนร่วมงาน หรือตะโกนใส่เพื่อนร่วมงาน เชิญชวนเขาให้เข้าร่วมโครงการช่วยเหลือพนักงาน หรือเสนอคอร์สเรียนวิธีการจัดการอารมณ์ให้กับเขาโดยที่ทางบริษัทเป็นผู้จ่ายให้ คุณต้องทำให้ชัดเจนว่าคุณต้องการช่วยเขา
#6 แจ้งผลลัพธ์หากไม่เปลี่ยนแปลง
ควรแจ้งผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นหากพนักงานของคุณไม่มีการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเขา อย่าข่มขู่พนักงาน เพียงอธิบายว่าจะเกิดอะไรขึ้นถ้าเขายังคงแสดงพฤติกรรมก้าวร้าวต่อไป
4 วิธีจัดการลูกน้องอีโก้สูง
องค์กรทุกองค์กรต้องการที่จะมีพนักงานมีความมั่นใจในตัวเอง แม้ว่าการมีพนักงานที่มีอีโก้สูงนั้นก็ถือได้ว่าเป็นเรื่องที่ท้าทาย พวกเขาอาจจะท้าทายคุณด้วยการที่ไม่สนใจคำแนะนำของคุณหรือด้วยการสร้างความไม่พอใจให้กับพนักงานคนอื่น แต่พนักงานที่มีอีโก้สูงก็สามารถกลายเป็นพนักงานที่ทรงคุณค่าได้
#1 สังเกตการณ์เพื่อหาข้อมูล
ให้มีการสังเกตการณ์พนักงานที่แสดงพฤติกรรมอีโก้สูง คอยดูว่าเมื่อใดที่พนักงานคนนี้จะแสดงพฤติกรรมนี้ออกมา ด้วยการบันทึกสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นว่ามีสถานการณ์เป็นอย่างไร มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องกับสถานการณ์นี้บ้าง เขาได้ทำพฤติกรรมนี้กับทุกคนไหม และถ้าเขาแสดงพฤติกรรมนี้กับเพื่อนร่วมงาน หรือลูกค้าอย่างชัดเจน ก็ควรทำจดหมายแจ้งตักเตือนพฤติกรรมดังกล่าว และคอยติดตามดูว่ามีการเปลี่ยนพฤติกรรมหรือไม่
#2 ข้อเสนอแนะ ที่พนักงานยอมรับได้
เมื่อคุณมีหลักฐานพฤติกรรมแสดงความอีโก้ของเขาแล้ว ควรนัดพบกับเขาเป็นการส่วนตัว เพื่อชี้แจงให้เขารับทราบถึงผลเสียที่เกิดขึ้นกับองค์กรจากพฤติกรรมการแสดงอีโก้ของเขา และให้โอกาสเขาได้อธิบายถึงสาเหตุของพฤติกรรมนั้นเพื่อนำไปสู่ข้อตกลงในการแก้ไขเพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรม ด้วยการให้ข้อเสนอแนะหรือเปลี่ยนแปลงการมอบหมายงานเพื่อช่วยเหลือให้เขามีพฤติกรรมที่ดีขึ้น พร้อมทั้งทำการบันทึกการทำข้อตกลง และให้เขาลงชื่อรับทราบ
#3 สอดส่องพฤติกรรม
หากสิ่งที่กระตุ้นพฤติกรรมแสดงความอีโก้ เช่น เพื่อนร่วมงานบางคน หรือสถานการณ์บางอย่าง ก็ควรให้เขาเปลี่ยนหน้าที่หรือความรับผิดชอบที่จะหลีกเลี่ยงการเกิดสถานการณ์การที่เขาจะทำผิดได้อีก เช่น หากพนักงานคนนี้เก่งเรื่องการขายก็ให้เขาได้พบปะลูกค้ามากขึ้นแต่ได้ทำงานร่วมกับเพื่อนร่วมงานน้อยลง แต่ก็ควรอยู่ในขอบเขตที่มีความยุติธรรมกับทุกคน
#4 บทลงโทษ
หลังจากที่คุณได้พยายามให้โอกาสพนักงานคนนี้ในการmeเปลี่ยนแปลงตัวเองแล้ว แต่ก็ยังไม่มีอะไรดีขึ้น อาจจะต้องถึงเวลาให้บทลงโทษเขาตามกฎขององค์กร โดยทำตามลำดับบทลงโทษตั้งแต่โทษเบาไปจนถึงโทษร้ายแรง หากพฤติกรรมของเขาไม่ดีขึ้นเลย
จริงๆแล้วการดูแลพนักงานนั้นขึ้นอยู่กับนิสัยของผู้บริหารและกระบวนการขององค์กรด้วย บริษัทที่มีพนักงานพันคนก็คงไม่ได้ใช้วิธีบริหารเดียวกันกับบริษัทที่มีพนักงานสิบคน เพราะฉะนั้นเราก็ต้องเข้าใจและปรับวิธีบริหารของเราตามสถานการณ์
สิ่งที่สำคัญก็คือเราต้องดูว่า ปัญหาอยู่ที่พนักงาน หรือ อยู่ที่วิธีบริหารของเรา หากมีแค่พนักงานแค่หนึ่งคนที่มีปัญหาจากพนักงานทั้งหมดสิบยี่สิบคน เราก็ต้องตัดสินใจว่าการเปลี่ยนระบบเพื่อคนหนึ่งคนนั้นคุ้มแค่ไหนและเราต้องใช้เวลาเยอะแค่ไหนกัน
บทความอื่นๆที่เราแนะนำ
ทํายังไงให้พนักงานรักองค์กร – วิธีทำให้พนักงานมีความสุข
พนักงานชั่วคราว ประกันสังคม และ การเลิกจ้าง-หมดสัญญาจ้าง
การลาป่วย – เรื่องต่างๆที่พนักงานและเจ้าของธุรกิจควรรู้