การลาป่วย – เรื่องต่างๆที่พนักงานและเจ้าของธุรกิจควรรู้

การลาป่วย - เรื่องต่างๆที่พนักงานและเจ้าของธุรกิจควรรู้

การลาป่วยเป็นเรื่องที่ทั้งลูกจ้างและนายจ้างไม่อยากให้เกิดขึ้น ไม่มีลูกจ้างคนไหนอยากป่วย และ ไม่มีนายจ้างคนไหนอยากให้ลูกจ้างป่วย ซึ่งกฏหมายแรงงานก็ได้ระบุไว้อย่างชัดเจนว่าสิทธิของลูกจ้างมีอะไรบ้างและทางนายจ้างก็ควรที่จะปฏิบัติตาม 

บทความนี้จะพูดเรื่องของกฏหมายของการลาป่วย รวมถึงการลาป่วยจริงและเท็จ การขอใบรับรองแพทย์ และ คำถามต่างๆที่มาพร้อมกับการลาป่วยๆ อย่างไรก็ตาม คำแนะนำในบทความนี้ก็ไม่ใช่คำแนะนำทางกฏหมาย ในกรณีที่ต้องใช้เพื่ออ้างอึงในการดำเนินการต่างๆ ผมแนะนำให้ปรึกษากรมแรงงานและทนายที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะทางนะครับ

การลาป่วยคืออะไร

การลาป่วย หมายถึงการลาหยุดเพื่อที่ลูกจ้างจะได้อยู่บ้านเพื่อรักษาสุขภาพเวลาป่วยจริง โดยนายจ้างยังจ่ายค่าจ้างอยู่ หากลูกจ้างลาป่วยเกิน 3 วันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองแพทย์เพื่อแสดงหลักฐาน การลาป่วยไม่เหมือนลากิจและลาพักร้อน

เพื่อให้ทุกคนเข้าใจตรงกัน ในส่วนนี้ผมจะขอกล่าวถึงกฏหมายแรงงานเกี่ยวข้องกับการลาป่วย ซึ่งผมจะใช้อ้างอึงถึงตลอดบทความนะครับ

พระราชบัญญัติคุ้มครองแรงงาน มาตรา 32

มาตรา 32 ให้ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง การลาป่วย ตั้งแต่สามวันทำงานขึ้นไป นายจ้างอาจให้ลูกจ้างแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งของสถานพยาบาลของทางราชการ ในกรณีที่ลูกจ้างไม่อาจแสดงใบรับรองของแพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งหรือของสถานพยาบาลของทางราชการได้ ให้ลูกจ้างชี้แจงให้นายจ้างทราบ

ในกรณีที่นายจ้างจัดแพทย์ไว้ ให้แพทย์นั้นเป็นผู้ออกใบรับรอง เว้นแต่ลูกจ้างไม่สามารถให้แพทย์นั้นตรวจได้

วันที่ลูกจ้างไม่สามารถทำงานได้เนื่องจากประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นเนื่องจากการทำงาน และวันลาเพื่อคลอดบุตรตามมาตรา 41 มิให้ถือเป็นวันลาป่วยตามมาตรานี้ (ที่มา)

ข้อควรรู้และคำถามที่พบบ่อย เกี่ยวกับการลาป่วย

กฎหมายเรื่องการลาป่วยนั้นถูกสร้างขึ้นมาให้เป็นกลางกับทั้งนายจ้างและลูกจ้าง ลูกจ้างก็มีสิทธิในการรักษาสุขภาพตัวเองและนายจ้างก็มีสิทธิในการป้องกันตัวเองจากการโดนโกงเช่นกัน โดยรายละเอียดที่คนถามกันบ่อยมีดังนี้

ลูกจ้างสามารถลาป่วยมากกว่า 30 วันต่อปีได้ แต่นายจ้างจำเป็นต้องจ่ายค่าแรงแค่ 30 วันต่อปี และการลาป่วยเยอะเกินไปก็อาจกระทบต่อสมรรถภาพในการทํางาน ซึ่งนายจ้างก็ใช้เป็นเหตุผลในการเลิกจ้างได้ (จ่ายค่าชดเชยตามกฎหมาย)

กรณีที่ลูกจ้างลาหยุดอยู่ที่บ้าน ไม่ได้ไปหาหมอ (ลาป่วยไม่เกินสามวัน ไม่มีใบรับรองแพทย์) นายจ้างควรโทรศัพท์หาหรือไปเยี่ยมเยียนลูกจ้างที่ลาป่วย (โดยไม่ให้รู้ตัว) เพื่อพิสูจน์ว่าลูกจ้างป่วยจริง

ลาป่วยไม่ถึง 3 วัน นายจ้างห้ามเรียกขอใบรับรองแพทย์ เพราะผิดกฏหมายแรงงานมาตรา 32 ซึ่งเป็นกฏหมายที่อยู่เหนือกฏระเบียบบริษัท

การลามากกว่า 3 วันโดยไม่มีใบรับรองแพทย์ ไม่ถือว่าเป็นการละเลยหน้าที่ (จนกว่าจะพิสูจน์ได้ว่าไม่ได้ป่วยจริง) แต่ถือว่าเป็นการทำผิดระเบียบการลา ซึ่งต้องถูกตักเตือนและดำเนินการตามข้อตกลงระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง 

พนักงานรายวัน ลาป่วยต้องได้เงิน ในส่วนของพนักงานรายวันนั้นถือว่ามีหลายคนและหลายธุรกิจที่ยังเข้าใจผิดอยู่ ในความเป็นจริงแล้ว พนักงานรายวันมีสิทธิเท่ากับพนักงานทั่วไปในส่วนของการลาหยุดและลาป่วย (ม. 32 คุ้มครองแรงงาน 41) ซึ่งข้อจำกัดก็เหมือนเดิม ก็คือ ต้องป่วยจริง และ ต้องลาไม่เกิน 30 ครั้งต่อหนึ่งปี

การลาป่วยไม่จริง ถือว่าเป็นการละทิ้งหน้าที่ และอาจเข้าข่ายเจตนาทุจริตต่อนายจ้างได้ ในกรณีที่ร้ายแรงที่สุด นายจ้างสามารถเลิกจ้างได้ โดยไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชยใดๆ

หากนายจ้างพิสูจน์ไม่ได้ว่าป่วยไม่จริง การลาป่วยก็คือว่าเป็นการลาโดยชอบ โดยหน้าที่ในการพิสูจน์อยู่ที่นายจ้าง ซึ่งในบางกรณี (เช่น ลาเกินสามวัน แล้วยังป่วยอยู่) ก็สามารถบอกให้ลูกจ้างไปขอใบรับรองแพทย์ในเวลาทำงานได้ ถือว่าเป็นหน้าที่ในการทำงานอย่างหนึ่ง

ในส่วนเรื่องการลาป่วย คำถามหนักใจที่สุดระหว่างนายจ้างและลูกจ้างก็คือ ‘จะพิสูจน์ยังไงว่าป่วยจริง’ ซึ่งหากมองในมุมมองกฏหมายแล้ว (กรณีที่ร้ายแรกที่สุด) ทั้งนายจ้างและลูกจ้างก็ควรที่จะเตรียม ‘หลักฐาน’ ไว้เยอะๆ โดยหลักฐานที่คนส่วนมากยอมรับได้ที่สุดก็คือ ‘ใบรับรองแพทย์จากโรงพยาบาลชั้นหนึ่งหรือราชการ’

แน่นอนว่า ‘หลักฐานที่ทำร้ายตัวเอง’ เช่น การโพสลงโซเชียลมีเดีย ก็เป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ

การลาป่วยคร่อมวันหยุด ติดวันหยุด หรือปิดหัวท้ายวันหยุด

อีกหนึ่งกรณีที่มีคนถามกันมาก ก็คือการลาป่วยคร่อมวันหยุด เช่น ปกติทำงานหยุดเสาร์อาทิตย์ แต่พนักงานลาป่วยวันศุกร์และจันทร์ หมายความว่าพนักงายป่วยตั้งแต่วันศุกร์ไปถึงวันจันทร์ หรือก็คือป่วย 4 วันเลยนั่นเอง

ในกรณีนี้ วันลาป่วยนับเป็นการลาแค่สองวัน เพราะพนักงานไม่สามารถลางานวันหยุดได้ (เสาร์อาทิตย์ไม่ได้ทำงาน) เพราะวันหนุดเหล่านี้ ไม่ต้องลาก็ต้องหยุดอยู่แล้ว แน่นอนว่านายจ้างไม่สามารถใช้สิทธิขอใบรับรองแพทย์ได้

ในขณะเดียวกัน นายจ้างก็ไม่สามารถออกกฏบังคับ ห้ามพนักงานลาป่วยคร่อมวันหยุดแบบนี้ได้ เพราะถือว่าเป็นการขัดกับกฏหมายแรงงาน ที่ถ้าพนักงานป่วยจริง จะลาวันไหนก็ได้ (จนกว่าจะกระทบต่อการทำงาน ซึ่งในภาษากฏหมายเรียกว่าการ หย่อนประสิทธิภาพการทำงาน)

อย่างไรก็ตาม กรณีที่ถูกถกเถียงกันก็คือ ‘พนักงานจงใจลาป่วย เพราะอยากหยุดยาว’ ซึ่งถึงจะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย แต่ก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่าไม่เคยเกิดขึ้นเลย ในกรณีนี้ หากนายจ้างสามารถพิสูจน์ได้ว่าลูกจ้างไม่ได้ป่วยจริง เช่น ไปเยี่ยมที่บ้านแล้วลูกจ้างไม่อยู่ ลูกจ้างก็อาจจะมีปัญหาได้ ตามที่กล่าวไว้ในบทความส่วนที่แล้ว

การนับวันลาป่วยตามกฎหมายแรงงาน

ในส่วนนี้จะอธิบายเรื่องการรับวันลาป่วย ในกรณีต่างๆ 

การลาเพราะเจ็บป่วยจากการทำงาน – หากลูกจ้างต้องลาหยุดเพราะเจ็บป่วยจากการทำงาน (เช่น การหกล้มขาหัก) การหยุดส่วนนี้จะไม่นับว่าเป็นการลาป่วย (ไม่รับในเวลา 30 วัน) แต่เรื่องวันหยุดก็ต้องเจรจาต่อรองระหว่างลูกจ้างนายจ้างเอง 

การลาครึ่งวัน – ในกรณีที่ลูกจ้างมาทำงานได้ครึ่งวัน และลาป่วยรอบเช้าหรือรอบบ่าย ในส่วนนี้ก็ควรที่จะนับเป็นการทำงานครึ่งวัน 

การนับครบหนึ่งปีของการลา 30 วัน – กรณีที่ถามกันบ่อยก็คือ 30 วันต่อปีเริ่มนับวันไหน และจบที่วันไหน คำตอบก็คือ 1 ปีตามปีงบประมาณ หมายถึงเริ่มที่มกราคมและจบที่ธันวาคม ซึ่งก็แปลว่าตามกฎหมาย ลูกจ้างสามารถลาป่วยเยอะๆตอนท้ายปี ควบคู่ไปกับการลาป่วยตอนต้นปีได้  

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการลาป่วย

สุดท้ายนี้เราจะเห็นได้ว่า กฎหมายแรงงานได้มีข้อบังคับอย่างชัดเจนเกี่ยวกับการลาป่วย อย่างไรก็ตาม ข้อบังคับเหล่านี้ก็ควรเป็นแค่บรรทัดฐานเบื้องต้น ในเชิงปฏิบัตินั้น ตราบใดที่ลูกจ้างและนายจ้างได้ทำตามกฎหมายแนะนำแล้ว รายละเอียดส่วนอื่นลูกจ้างและนายจ้างก็คงต้องไปตกลงกันเอง 

แน่นอนว่า ลูกจ้างก็คงอาจจะรู้สึกอึดอัด หากถูกนายจ้างบังคับให้ทำตามกฎระเบียบบริษัทมากเกินไป แต่ในฐานะนายจ้าง หากไม่มีกฎระเบียบอะไรเลย โอกาสที่ลูกจ้างหัวหมอบางคนจะใช้ช่องว่างเหล่านี้เพื่อเอาเปรียบนายจ้างและลูกจ้างคนอื่นๆก็มีเยอะ

สุดท้ายนี้ กฎหมายแรงงานส่วนการลาป่วยก็คงไม่ต่างอะไรกับกฎหมายแรงงานส่วนอื่น ซึ่งก็คือ ตราบใดที่ยังอยู่ในข้อแนะนำกฎหมาย รายละเอียดอื่นๆก็คงต้องมาดูกันแต่ละกรณี 

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด