การบริหารสินค้าคงคลัง คืออะไร (สำคัญเป็นอย่างมาก)

การบริหารสินค้าคงคลัง คืออะไร inventory management

สำหรับคนที่ทำธุรกิจค้าขายทั่วไป สินค้าคงคลังและการบริหารสินค้าคงคลังก็เป็นสิ่งที่เราหลีกเลี่ยงไม่ได้ หากเรามีของไม่พอเราก็ขายไม่ได้ หากเรามีของมากเกินไปเงินเราก็จะจม เราก็จะไม่สามารถทำกำไรได้อย่างพอเพียง

ในโลกของการบริหารการปฏิบัติการ ยิ่งเราทำได้เร็วได้แม่นยำมากแค่ไหน เราก็ยิ่งขายได้ดีขึ้น และค่าใช้จ่ายของเราก็จะลดลง 

ในบทความนี้เรามาลงรายละเอียดกันให้ลึกกันเลย ว่าสินค้าคงคลังคืออะไร และการบริหารสินค้าคงคลังต้องทำยังไงบ้าง

การบริหารสินค้าคงคลัง

การบริหารสินค้าคงคลัง คือการดูแล วางแผน และจัดการทรัพย์สินที่ยังไม่ได้ขายหรือ สินค้าคงคลัง วัตถุดิบ และสต๊อกสินค้า โดยที่เป้าหมายของการบริหารสินค้าคงคลังคือการดูการไหลเวียนของสินค้าจากกระบวนการผลิตไป กระบวนการจัดเก็บ จนไปถึงกระบวนการขาย

ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจโรงงานผลิตสินค้าขนาดใหญ่ ร้านขายปลีกขนาดเล็ก บริษัทขนส่ง หรือแม้แต่ร้านอาหารขายข้าวแกง ตราบใดที่ธุรกิจยังมีการใช้งานสินค้า การผลิตสินค้า หรือการนำสินค้าไปส่งมอบให้กับลูกค้า การบริหารสินค้าคงคลังก็เป็นสิ่งที่ต้องพิจารณา

แน่นอนว่าสำหรับธุรกิจขนาดใหญ่ กระบวนการบริหารสินค้าคงคลังก็คงจะมีความยุ่งยากและซับซ้อนมากกว่าเดิม ธุรกิจมีสินค้าต้องให้บริหารเยอะ ยิ่งธุรกิจมีจำนวนลูกค้าให้ต้องบริการเยอะ กระบวนการที่จะทำให้การปฏิบัติการส่วนนี้เรียบง่ายและรวดเร็วก็จะยิ่งยาก

ปัญหาบางอย่าง องค์กรขนาดใหญ่มีแต่องค์กรขนาดเล็กอาจจะไม่มี ยกตัวอย่างเช่น องค์กรขนาดเล็กอาจจะมีปัญหาเรื่องพื้นที่จัดเก็บสินค้าที่เหมือนจะมีจำกัด ในทางกลับกันองค์กรขนาดใหญ่มีพื้นที่จัดเก็บสินค้าเยอะแต่ก็ต้องออกแบบกระบวนการจัดเก็บสินค้าให้ไม่ซับซ้อนเกินไป

ยิ่งถ้าธุรกิจต้องทำหลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่นรับวัตถุดิบมาเพื่อทำการผลิต นำสินค้าที่ผลิตไปจัดเก็บในโกดัง และนำสินค้าจากในโกดังไปส่งมอบให้ลูกค้า กระบวนการพวกนี้อาจจะฟังดูเข้าถึงได้ยาก แต่คุณเชื่อไหมว่าขนาดร้านขายข้าวแกงก็จำเป็นต้องทำเลย 

ร้านขายข้าวแกงต้องซื้อวัตถุดิบ นำวัตถุดิบนั้นมาผลิตเป็นอาหารเก็บไว้ ก่อนที่จะทำอาหารไปจัดส่งลูกค้าแต่ละโต๊ะเป็นต้น 

หนึ่งในตัวเลือกที่เราต้องพิจารณาเวลาบริหารสินค้าคงคลังก็คือจุดคุ้มทุน ผมแนะนำให้ศึกษาบทความนี้ดูนะครับ จุดคุ้มทุนคืออะไร? ประโยชน์+วิธีคำนวณ [Breakeven Point – BEP]

ก่อนที่เราจะไปลงลึกเกี่ยวกับการบริหารสินค้าคงคลังมากกว่านี้ เอามาลองทำความเข้าใจพื้นฐานของสินค้าคงคลังกันก่อนนะครับ

สินค้าคงคลังคืออะไร และสินค้าคงคลังสำคัญอย่างไรต่อการทำธุรกิจ

สินค้าคงคลัง หรือสต๊อก ก็คือสินค้าและวัตถุดิบที่ธุรกิจนำไปผลิตหรือขายต่ออีกที หากสินค้าคงคลังน้อยเกินไป ธุรกิจจะไม่สามารถขายได้อย่างเต็มที่ และหากมากเกินไปจะทำให้เงินจมและเสียโอกาสในการลงทุนด้านอื่น

หลักของ ‘การประหยัดต่อขนาด’ (Economies of Scale) ได้อธิบายว่าหากธุรกิจสามารถขยายได้ไปจนถึงขนาดหนึ่ง ธุรกิจก็จะสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายบางส่วนได้จนทำให้เกิดกำไรการทำธุรกิจที่ไม่สามารถทำได้ธุรกิจอยู่ในขนาดเล็ก

ตัวอย่างที่ง่ายที่สุดก็คือการซื้อสินค้าจำนวนเยอะเพื่อให้ได้ต้นทุนสินค้าที่ถูกลง หากเราซื้อขนม 1 ถุงเราก็อาจจะต้องซื้อราคาขายปลีกถุงละ 20 บาท แต่ถ้าเราซื้อขนมทีละ 5,000 เราก็อาจจะซื้อได้ในราคาถุงละ 10 บาทเป็นต้น

จำนวนการซื้อขั้นต่ำเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หลายธุรกิจหันมาสนใจการเก็บสินค้าคงคลังมากขึ้น ส่วนอีกกรณีหนึ่งก็คือความต้องการของตลาด ยกตัวอย่างเช่น หากคุณกำลังหิวน้ำอยู่ คุณอยากที่จะได้น้ำดื่มทันทีในราคา 10 บาท หรือคุณสามารถรอ 3 วันเพื่อซื้อน้ำในราคาขวดละ 8 บาทแทนดี

ส่วนมากแล้วผู้บริโภคก็อยากที่จะได้รับสินค้าทันทีที่ชำระเงิน เพราะฉะนั้นการที่ธุรกิจจะสามารถเข้าถึงตลาดผู้บริโภคส่วนใหญ่ได้นั้น ธุรกิจก็ต้องมีการจัดเก็บ ‘สต๊อกสินค้า’ ไว้เผื่อลูกค้าอยากจะเข้ามาซื้อ เพราะทันทีที่ลูกค้าเข้ามาแล้วเห็นว่าเราไม่มีสินค้า…ลูกค้าก็จะไปซื้อเจ้าอื่นแทน

ในทางตรงกันข้ามการมีสต๊อกที่มากไปก็จะทำให้ธุรกิจเกิดอาการเงินจม 

ยกตัวอย่างเช่นสมมุติว่าธุรกิจขายขนมของคุณ ปกติแล้วสามารถขายได้เดือนละ 1000 ถุง แต่เนื่องจากว่าคุณอยากที่จะซื้อสินค้ามาในจำนวนเยอะเพื่อประหยัดราคา คุณก็ซื้อขนมมาสต๊อกไว้ 10,000 ถุง

ในกรณีนี้คุณก็คงต้องใช้เวลาถึง 10 เดือนกว่าจะขายสินค้าหมด ซึ่งถ้าคุณเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีเงินลงทุนเยอะ มีเงินหมุนเยอะ คุณก็คงไม่ได้กังวลอะไร แต่สำหรับธุรกิจทั่วไปแล้วถ้าเงินหมุนไม่พอ คุณก็อาจจะไม่มีทุนไปจ่ายเงินเดือนพนักงาน ค่าเช่าที่ เป็นต้น

เงินที่ถูกนำมาซื้อสต๊อกที่มากเกินไป สามารถถูกนำไปลงทุนส่วนอื่นได้ เป็นการนำไปจัดเก็บสต๊อกสินค้าอื่นเพื่อลดความเสี่ยง หรือการเก็บไว้เป็นเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเป็นต้น 

เราก็จะเห็นได้ว่า ยกเว้นว่าการสั่งสินค้าแต่ละครั้งมีค่าใช้จ่ายสูง (เช่นค่าจัดส่ง ค่านำเข้า หรือซัพพลายเออร์เรามีขั้นต่ำที่เยอะ ) การจัดเก็บสต๊อกให้พอเพียง พอกับการขายในช่วงที่เราต้องการ ก็เป็นการตัดสินใจที่ดีที่สุดแล้ว ส่วนเรื่องที่ว่าต้องเก็บสต๊อกไว้เท่าไรนั้นก็ขึ้นอยู่กับความเร็วในการขายสินค้าของคุณ และความเร็วในการเพิ่มสต๊อกของคุณ

หากเราลองดูธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ทั่วไป เราก็จะเห็นได้ว่าธุรกิจที่ ‘หมุนสต๊อกเร็ว’ (แปลว่าซื้อของมาได้ไม่เท่าไร ลูกค้าก็มาซิ้อของเราไปละ) เป็นธุรกิจที่มีกำไรเยอะกว่าธุรกิจที่หมุนสต๊อกช้า

เรื่องสินค้าคงคลังและการบัญชี เป็นสองหัวข้อที่เกี่ยวข้องกันอย่างเลี่ยงไม่ได้ หากใครสนใจ ผมแนะนำให้ศึกษาบทความนี้ วิธีทำบัญชีที่ใครก็ทำได้ (พร้อมตัวอย่างการทำบัญชีร้านค้าปลีก)

4 ประเภทสินค้าคงคลัง ที่คุณต้องรู้จัก

เราจะเห็นได้ว่าสินค้าคงคลัง เป็นได้ทั้งโอกาสในการทําธุรกิจ หรือตัวถ่วงที่จะทำให้เงินจมมหาศาล 

สิ่งที่หลายคนอาจจะนึกไม่ถึงก็คือสินค้าคงคลังนั้นสามารถแยกออกมาได้เป็นหลายประเภท ไม่ได้จำกัดแค่สต๊อกสินค้าที่มีเอาไว้ขายลูกค้าอย่างเดียวเท่านั้น แน่นอนว่าการทำความเข้าใจสินค้าคงคลังแต่ละประเภทจะทำให้ธุรกิจสามารถจัดลำดับความสำคัญและเลือกประเภทสินค้าคงคลังในจำนวนที่เหมาะสมที่สุด เพื่อทำให้ธุรกิจมีกำไรมากที่สุดได้

โดยรวมแล้วสินค้าคงคลังสามารถถูกแบ่งได้เป็นสี่ส่วน ก็คือ วัตถุดิบ งานในกระบวนการ สินค้าสำเร็จรูป และสินค้า MRO 

วัตถุดิบ (Raw materials) – วัตถุดิบเป็นสิ่งของที่ผู้ผลิตใช้ในการประกอบหรือแปรรูปในการสร้างสินค้าสำเร็จรูปขึ้นมาเพื่อขายภายหลัง โดยอาจจะรวมถึงสิ่งของที่บริษัทซื้อมาจากบริษัทอื่น จัดหาด้วยตัวเอง หรือประกอบมาจากวัตถุดิบอื่นอีกที

ปกติแล้ววัตถุดิบส่วนมากจะเป็นสินค้าโภคภัณฑ์ ยกตัวอย่างเช่น ทราย ดิน น้ำมัน ไม้ หรืออาหารสดต่างๆ โดยที่บริษัทสามารถนำของพวกนี้ไปแปรรูปและผลิตสินค้าอย่างอื่นได้อีกที อย่างไรก็ตาม ในกระบวนการผลิตสินค้าปัจจุบัน น็อต ตะปู เหล็ก พลาสติก ต่างๆก็เป็นวัตถุดิบที่บริษัทนิยมใช้กันเช่นกัน

หากคุณมองว่าร้านขายก๋วยเตี๋ยว มีหน้าที่ในการ ‘ผลิตก๋วยเตี๋ยว’ วัตถุดิบของร้านขายก๋วยเตี๋ยวก็คือ อาหารสดต่างๆ น้ำซุป และ เส้นก๋วยเตี๋ยว เป็นต้น โดยที่บางคนอาจจะมองว่าพริก น้ำตาล น้ำปลา ก็เป็นวัตถุดิบเสริมด้วย

งานในกระบวนการ (Work in progress) – สำหรับสินค้าที่มีขั้นตอนการผลิตที่ซับซ้อนหลายขั้นตอน บางครั้งบริษัทก็ต้องมีการจัดเก็บ ‘งานในกระบวนการ’ ก่อนที่จะเข้าไปในกระบวนการผลิตสินค้าสำเร็จรูปออกมา 

งานในกระบวนการ คือสินค้าคงคลังที่ถูกผลิต แปรรูป หรือประกอบมาจากวัตถุดิบ แต่ก็ยังอยู่ในลักษณะไม่สมบูรณ์แบบ รอการผลิต แปรรูป หรือประกอบอีกรอบเพื่อให้เป็นสินค้าที่พร้อมจำหน่าย

ส่วนมากแล้วงานในกระบวนการเป็นสิ่งที่จำเป็นอย่างยิ่งสำหรับการผลิตสินค้าที่ความซับซ้อน ยกตัวอย่างเช่น บริษัทที่ประกอบรถยนต์ ก็ต้องผลิตประตู ล้อรถ พวงมาลัย และชิ้นส่วนอื่นๆออกมาให้เสร็จก่อนถึงจะนำมาประกอบกันเป็นรถยนต์ได้ 

เป้าหมายของการผลิตชิ้นส่วนแยก ก็เพื่อให้การผลิตและการตรวจสอบคุณภาพทำได้ง่ายขึ้น อีกทั้งยังสามารถแบ่งงานให้พนักงานและเครื่องจักรได้อย่างเหมาะสม เป็นการประหยัดเวลาในการผลิตอีกด้วย

สินค้าสำเร็จรูป (Finished Goods) – สินค้าสำเร็จรูป สินค้าที่ถูกแปรรูป ประกอบ หรือผลิตมาสมบูรณ์แบบและพร้อมที่จะถูกขายให้กับลูกค้าแล้ว เพราะฉะนั้นสินค้าสำเร็จรูปก็คือสต๊อกของสินค้าที่พร้อมจะนำไปขายให้กับลูกค้านั้นเอง 

ในกระบวนการผลิตที่ถูกต้อง วัตถุดิบต้องถูกสร้างเป็นงานในกระบวนการ และงานในกระบวนการหลายชิ้นจะถูกนำมาประกอบขึ้นเป็นสินค้าสำเร็จรูป และแต่ละขั้นตอนต้องมีการตรวจสอบตรวจเช็คคุณภาพของทุกชิ้นส่วนและทุกสินค้า 

อย่างก็ตาม ‘สินค้าสำเร็จรูป’ ก็สามารถถูกจัดเป็นหลายประเภทได้เช่นกัน เช่น สินค้าได้กำลังถูกจัดส่ง สินค้าเผื่อ สินค้าสำรอง หรือแม้แต่สินค้าแยกชิ้น ยกตัวอย่างในกรณีที่โทรศัพท์มือถือเสีย เราก็สามารถหาซื้อหน้าจอมือถือใหม่ได้ ที่ชาร์จมือถือ แบตเตอรี่สำรองได้ จากผู้ผลิตเช่นกัน

สินค้า MRO – สินค้า MRO หมายถึง Maintenance-Repair-Operating Supplies หรือ บำรุงรักษา – ซ่อมแซม -อุปกรณ์ปฏิบัติการ 

สินค้า MRO คือสิ่งของที่ถูกใช้ในการสนับสนุนหรือซ่อมแซมการผลิตสินค้าสำเร็จรูป แต่ไม่ได้ถูกใช้ในกระบวนการสร้างโดยตรง ยกตัวอย่างเช่น น้ำมันหล่อลื่นที่ใช้กับเครื่องจักรในโรงงาน หรือถุงมือแพทย์ที่ใช้ประกอบการผ่าตัด 

สำหรับการบริหารสินค้าคงคลังนั้น เราจำเป็นจะต้องเข้าใจคุณค่าของประเภทสินค้าคงคลังแต่ละอย่างก่อน เพื่อที่เราจะสามารถบริหารและคำนวณได้ว่าสินค้าคงคลังแต่ละประเภทควรจะมีเท่าไร

สินค้าสำเร็จรูปคือสินค้าที่พร้อมในการขายมากที่สุด หมายความว่าการมีสินค้าสำเร็จรูปเยอะก็จะทำให้ธุรกิจสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าได้เร็ว แต่สำหรับธุรกิจที่ไม่สามารถคาดเดาความต้องการของลูกค้าได้ การเก็บสินค้าคงคลังไว้ในรูปแบบวัตถุดิบหรืองานในกระบวนการก็อาจจะเป็นเรื่องที่ดีกว่า

หากคุณเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ แต่คุณไม่รู้ว่าลูกค้าต้องการซื้อรถสีดำ สีขาวหรือสีชมพูมากกว่ากัน สิ่งที่คุณอาจจะทำก็คือผลิตรถออกมาเป็นโครงให้เสร็จทุกอย่างก่อน แล้วค่อยพ่นสีใส่หลังจากที่ลูกค้ายืนยันที่จะซื้อสินค้าแล้ว คุณก็จะไม่ต้องเก็บสินค้าสำเร็จรูปไว้ทุกสีทุกรูปแบบ เพื่อลดความเสี่ยงของการมีสินค้าค้างสต๊อกภายหลัง 

(แน่นอนว่าบริษัทรถยนต์สมัยใหม่มีเทคโนโลยีที่สามารถผลิตได้เร็วตามความต้องการของลูกค้าทันที ที่เรียกว่า mass-customization หรือการผลิตสินค้าที่มีปริมาณมาก แต่สามารถจัดกลุ่มเฉพาะ)

เท่ากับว่าธุรกิจจำเป็นต้องประเมินว่า ‘มูลค่าของสินค้าคงคลังส่วนไหนมากที่สุด’ ซึ่งก็ต้องมาไล่ดูกันตั้งแต่ว่าลูกค้าชอบสินค้าอะไร รอสินค้าได้นานแค่ไหน สินค้ามีการหมดอายุหรือเปล่า ขั้นตอนการผลิตใช้เวลาเท่าไหร่ สินค้าสำเร็จรูปและวัตถุดิบสามารถเก็บได้ง่ายแค่ไหน เป็นต้น

ความสำคัญ หน้าที่และประโยชน์ของสินค้าคงคลัง

ธุรกิจส่วนมากก็คงต้องมีสินค้าคงคลังไม่มากก็น้อย ยิ่งสำหรับธุรกิจที่ต้องผลิตสินค้าขายเอง สินค้าคงคลังในประเทศต่างๆก็เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้ธุรกิจสามารถแข่งขันได้เหนือธุรกิจอื่นๆ หรือสำหรับร้านซื้อมาขายไป สินค้าคงคลังในจำนวนเยอะและในรูปแบบต่างๆก็สำคัญในการดึงดูดลูกค้า

พูดง่ายๆก็คือ ธุรกิจต้องใช้สินค้าคงคลังเพื่อสร้างรายได้และกำไร

โรงงานผลิตสินค้าส่วนมากก็รู้กันอยู่แล้วว่า ยิ่งผลิตสินค้าได้เยอะแค่ไหน ต้นทุนสินค้าก็ยิ่งถูก กำไรก็ยิ่งเยอะ ส่วนร้านซื้อมาขายไปก็ใช้หลักการ ‘ซื้อถูกขายแพง’ เพื่อสร้างกำไรในปริมาณมาก

สำหรับทุกธุรกิจ ความสำคัญที่สุดของการบริหารสินค้าคงคลังก็คือ การลดค่าใช้จ่ายให้น้อยที่สุด

การทำธุรกิจที่มีสินค้าคงคลังนั้นมี ‘ค่าใช้จ่ายแฝง’ อยู่เยอะเต็มไปหมด เพราะสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการบริหารสินค้าคงคลังให้ได้ โดยที่ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับสินค้าคงคลังก็มีเยอะ ตั้งแต่ค่าใช้จ่ายโดยตรงเช่นค่าวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการผลิต หรือค่าใช้จ่ายทางอ้อมเช่นค่าเช่าโกดัง ค่าเสื่อมสภาพของสินค้า มีค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับการโดนขโมยสินค้า หรือสินค้าเสีย

เราได้อธิบายกันไปแล้วว่าถ้าธุรกิจซื้อสินค้ามาในปริมาณมาก ก็จะสามารถซื้อได้ในราคาถูก เรียกว่าการประหยัดต่อขนาด แต่ถ้าซื้อมามากเกินไปก็จะขายไม่หมดทำให้เกิดเงินจม ยิ่งเป็นสินค้าที่เสื่อมสภาพได้ก็ยิ่งแย่ หรือหากซื้อมาน้อยเกินไปก็จะทำให้ลูกค้าไม่พอใจ ทำให้เสียโอกาสในการสร้างรายได้

อีกหนึ่งสิ่งที่สำคัญสำหรับสินค้าคงคลังก็คือ การหมุนเวียนของสินค้า โดยที่ธุระกิจส่วนมากก็จะวัดว่าสินค้าแต่ละชิ้นสามารถขายออกได้เร็วแค่ไหนภายใน 1 เดือน ซึ่งตัวเลขนี้สามารถคำนวณได้จากค่าต้นทุนสินค้าที่ขายไป หารกับจำนวนสินค้าคงคลังเฉลี่ยในแต่ละช่วง

ประโยชน์ของการหมุนเวียนของสินค้า ก็คือ ‘เงินหมุน’ สินค้าบางอย่างอาจจะขายดีแต่ไม่ทำกำไรให้บริษัทเยอะ แต่เนื่องจากว่าเป็นสินค้าที่หมุนเวียนตลอดเวลา หมุนเวียนเป็นปริมาณมาก ธุรกิจก็จะสามารถนำยอดขายส่วนนี้มาหมุนเวียนเพื่อทำอย่างอื่นต่อได้เรื่อยๆ

ธุรกิจต้องทำการขายเพื่อสร้างเงิน และการขายก็ต้องใช้สินค้าสำเร็จรูป สำหรับธุรกิจส่วนมากหน้าที่และประโยชน์ของการมีสินค้าคงคลังไว้ก็คือ

#1 ป้องกันการส่งสินค้าสาย หรือสินค้าขาดสต๊อก การเก็บสินค้าคงคลังไว้เยอะ (หรือที่เขาเรียกว่าการ ‘สต๊อกสินค้า’) ก็คือการป้องกันเผื่อไว้เวลาห่วงโซ่อุปทานมีปัญหาจะได้ไม่เกิดการขาดตลาด ยกตัวอย่างเช่นเวลา ซัพพลายเออร์มีปัญหาส่งสินค้าไม่ได้ หรือเวลาวัตถุดิบขึ้นราคาเป็นต้น

#2 ลดปัญหาเวลาขายดี การทำธุรกิจมีความไม่แน่นอนเยอะ บางช่วงก็อาจจะขายไม่ได้ แต่บางช่วงก็อาจจะขายดีมากเกินไปจนสินค้าผลิตไม่ทัน ในกรณีนี้ร้านค้าที่อยากจะขายสินค้าให้ได้ยอดขายเยอะที่สุดก็จำเป็นจะต้องมีสินค้าคงคลังไว้เยอะ เพื่อที่จะสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ครบทุกคน ยกตัวอย่างเช่นการที่ร้านค้าเลือกที่จะสต๊อกสินค้าไว้ช่วงปีใหม่เพราะคนเลือกที่จะซื้อของเยอะกว่าเดิม

#3 จำนวนสั่งและราคา สุดท้ายและท้ายที่สุดยังไงทำธุรกิจก็ต้องดูกำไร และการที่จะสร้างกำไรก็ต้องดูค่าใช้จ่าย การซื้อสินค้าในจำนวนเยอะก็จะเป็นการลดต้นทุนสินค้าต่อชิ้น ทำให้ธุรกิจสามารถทำกำไรได้เยอะขึ้นต่อการขายแต่ละครั้ง

สินค้าคงคลังเป็นสิ่งที่เหมือนจะเข้าใจได้ง่าย แต่สำหรับคนที่ทำธุรกิจจริงๆแล้ว การบริหารสินค้าคงคลังถือว่าเป็นความท้าทายอันดับต้นๆเลย

ตัวอย่างง่ายๆก็คือส่วนเรื่องค่าใช้จ่าย เราจะเห็นได้ว่าการบริหารการปฏิบัติการ (Operations Management) ขอธุรกิจหลายที่มีค่าใช้จ่ายเยอะ ค่าใช้จ่ายส่วนสินค้าคงคลังก็มีเยอะเช่นกัน ธุรกิจที่สามารถบริหารสินค้าคงคลังได้ดี ก็จะมีความได้เปรียบเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่ว่าบางธุรกิจสามารถขายสินค้าได้ในราคาถูกกว่าคู่แข่ง แต่ก็ยังสามารถทำกำไรได้

สิ่งที่ยากที่สุดในการบริหารสินค้าคงคลังก็คือ ผู้บริหารต้องทำความเข้าใจความต้องการของลูกค้าและเข้าใจระบบการปฏิบัติการของบริษัทก่อน ในบทความนี้ ผมได้อธิบายไปแล้วว่า สินค้าคงคลังสินค้ามีหลายประเภท ซึ่งการจัดเก็บสินค้าคงคลังในจำนวนที่เหมาะสม สำหรับแต่ละประเภท ก็ต้องขึ้นอยู่กับว่าลูกค้าต้องการอะไรและธุรกิจดำเนินการแบบไหน ตรงส่วนนี้ก็ต้องใช้ประสบการณ์และข้อมูลจากการทำธุรกิจจึงมาพัฒนาธุรกิจอย่างต่อเนื่อง

ในบทความนี้ผมขอทิ้งท้ายข้อมูลไว้เพียงแค่นี้ก่อน จริงๆแล้วเทคนิคการบริหารสินค้าคงคลังนั้นมีเยอะมาก ตั้งแต่ ระบบทันเวลาพอดี (Just-in-time Delivery) ระบบซื้อล่วงหน้า (Preordering) หรือบางบริษัทใหญ่ๆที่มีอำนาจต่อรองเยอะก็ผลักภาระการเก็บสินค้าคงคลังให้กับซัพพลายเยอร์ไปเลยก็มี

หวังว่าบทความนี้จะเป็นประโยชน์สำหรับทุกคนนะ ไว้วันหลังผมจะมาเขียนเรื่องการบริหารจัดการธุรกิจหัวข้ออื่นอีก

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ




Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด