การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management) คืออะไรนะ?

การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management)

หนึ่งในวิธีการบริหารการปฏิบัติการที่เราควรจะเรียนรู้ก็คือการจัดการโลจิสติกส์ หรือ Logistics Management ซึ่งเป็นหัวข้อที่สำคัญของการจัดการห่วงโซ่อุปทาน หรือที่คนเรียกว่า Supply Chain Management หากเราไม่สามารถจัดการโลจิสติกส์ได้ดี ธุรกิจแต่ละส่วนตั้งแต่การจัดหาวัตถุดิบ การผลิต และการส่งสินค้าให้ถึงลูกค้า คงมีแต่ความวุ่นวาย

ในบทความนี้เรามาดูกันว่าการจัดการโลจิสติกส์คืออะไร และเราต้องทำยังไงถึงจะบริหารส่วนนี้ให้ได้ดี

การจัดการโลจิสติกส์ คืออะไร

การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics Management) คือ ระบบบริหารกิจกรรมด้านห่วงโซ่อุปทาน เพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าและลดค่าใช้จ่ายในองค์กร ด้วยการใช้ทรัพยากรให้มีคุณค่าที่สุด การจัดการด้านโลจิสติกส์ รวมถึงการจัดการวางแผน การจัดซื้อ การควบคุมการปฏิบัติการ การไหลเวียนของสินค้า และ การจัดเก็บวัสดุสินค้า

โดยพื้นฐานแล้ว หลักการจัดการโลจิสติกส์ ก็มีเป้าหมายเดียวกับการบริหารการปฏิบัติการในองค์กรทั่วไป หรือก็คือการลดค่าใช้จ่ายผ่านการเสริมประสิทธิภาพในกิจกรรมต่างๆที่เกี่ยวกับการปฏิบัติการ

การบริหารจัดการโลจิสติกส์เป็นการจัดการส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่จับต้องได้ในบริษัท เช่นวัตถุดิบ อุปกรณ์เครื่องมือต่างๆ และสินค้าที่จะถูกนำมาจัดจำหน่าย (รวมถึงสินค้าอาหารหรือสินค้าอุปโภคบริโภคอย่างอื่นด้วย)

การไหลเวียนของสินค้าและการไหลเวียนของข้อมูลเป็นปัจจัยสำคัญที่ช่วยทำให้เราจัดการโลจิสติกส์ได้ดีขึ้น องค์กรสามารถนำหลักการไหลเวียนของสินค้าและข้อมูลมาพัฒนาการจัดการวัสดุ บรรจุภัณฑ์สินค้า การผลิตสินค้า สินค้าคงคลัง การขนส่งสินค้า และความปลอดภัยของการปฏิบัติการ 

บริษัทที่ผลิตครีมทาหน้าก็อาจจะต้องกังวลเรื่องการหาวัตถุดิบมาผลิตครีม การจัดเก็บวัตถุดิบให้ใช้ได้นาน ขั้นตอนการผลิตวัตถุดิบ การจัดเก็บสินค้าที่ผลิตออกมาแล้ว และการจัดส่งสินค้าให้ลูกค้า เป็นต้น

หากเราเข้าใจความหมายของการจัดการโลจิสติกส์แล้ว ในส่วนถัดไปของบทความเรามาดูวัตถุประสงค์และวิธีจัดการโลจิสติกส์กัน และหากใครชอบเรียน ชอบศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการทำธุรกิจ การบริหารองค์กร ผมได้เขียนอีบุ๊คเรื่องข้อมูลการทำธุรกิจ ที่ถูกสอนในโรงเรียนบริหารธุรกิจทั่วโลก ผมตั้งใจทำมาก หวังว่าทุกคนจะชอบครับ อีบุ๊ค ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

วัตถุประสงค์การจัดการโลจิสติกส์ – การบริหารจัดการโลจิสติกส์ มีความสำคัญอย่างไร?

วัตถุประสงค์ของการจัดการโลจิสติกส์ ก็คือการแพร่กระจายความเชี่ยวชาญความเฉพาะทางแต่ละอย่างให้เข้าสู่ทุกคนอย่างทั่วถึง ทำให้ผู้เชี่ยวชาญสามารถโฟกัสที่ความเชี่ยวชาญของตัวเอง ซึ่งจะทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพสูงสุด

ตั้งแต่สมัยหลายร้อยหลายพันปีก่อนแล้ว การจัดการโลจิสติกส์เป็นวิธีเดียวที่เราจะสามารถมั่นใจได้ว่าสิ่งของจะถูกขนย้ายจากสถานที่แรกไปสถานที่ถัดมาอย่างน่าเชื่อถือและต่อเนื่อง หลักการเศรษฐกิจกำหนดไว้ว่าโลกของเราจะมี ‘ผู้เชี่ยวชาญ’ มากขึ้น รวมถึงผู้เชี่ยวชาญด้านการผลิตอาหาร ผลิตอุปกรณ์ต่างๆ ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายส่ง ผู้เชี่ยวชาญด้านการขายปลีก 

นอกจากนั้นแล้ว เราจะเห็นได้ว่าสินค้าที่เราใช้ทุกวันนี้อาจจะมีการผลิตบางชิ้นส่วนจากต่างประเทศไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง ไม่ว่าจะเป็นพลาสติก อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาหารต่างๆ ซึ่งหากธุรกิจทั่วโลกไม่มีการจัดการโลจิสติกส์ที่ดี สินค้าบางชนิดก็อาจจะมาถึงมือผู้ซื้อผู้ใช้งานสาย มาถึงในรูปทรงที่เสียหาย และก็จะหมดความน่าซื้อ เสียคุณค่าและความน่าเชื่อถือไป 

เช่น เราต้องใช้น้ำมันเพื่อผลิตเม็ดพลาสติก เราต้องใช้เม็ดพลาสติกเพื่อฉีดสินค้าพลาสติก (อย่างเก้าอี้ เคสมือถือ) สินค้าพวกนี้ต้องถูกจัดส่งจากโรงงานจีนเข้ามาที่ไทย จากผู้แทนจำหน่ายขายส่งไปสู่ขายปลีก และไปสู่ผู้ซื้ออีกที การทำให้ขั้นตอนพวกนี้ ‘กระชับ’ ขึ้นก็คือการจัดการโลจิสติกส์

หมายความว่า ตราบใดที่ ‘คุณภาพ’ ‘เวลา’ และ ‘ระยะทาง’ ยังเป็นปัจจัยในการ ‘จัดส่งสินค้า’ อยู่ การบริหารจัดการโลจิสติกส์ก็ยังมีความสำคัญเสมอ ในทางตรงข้าม ธุรกิจที่ดูแลแค่ข้อมูลเป็นส่วนมาก อย่าง Facebook หรือ Google ก็จะให้ความสำคัญกับการบริหารการปฏิบัติการส่วนอื่นมากกว่าการจัดการโลจิสติกส์

เป้าหมายหลักในการจัดการโลจิสติกส์ได้แก่

การลดสินค้าคงคลัง – สินค้าคงคลังอาจจะฟังเหมือนคำศัพท์ทั่วไป แต่สำหรับคนทำบัญชีและคนดูแลโลจิสติกส์นั้น สินค้าคงคลังที่เยอะเกินไปก็คือการที่ ‘เงินจม’ หมายความว่าคนออกแบบและวางแผนระบบการผลิตและระบบการขายนั้นยังทำงานได้ไม่ดีพอ 

ปกติแล้ว การที่มีสินค้าคงคลังเยอะหมายความว่าเวลาลูกค้าสั่งของจากเรา เราก็จะสามารถจัดส่งได้ทันที หมายความว่าการเก็บสินค้าเยอะเป็น ‘การบริการลูกค้า’ อย่างหนึ่ง แต่ในความหมายของการบริหารการปฏิบัติการสิ่งที่เราต้องหาก็คือ ‘ความพอดี’ เงินที่เราไปลงกับสินค้าที่ยังขายไม่ได้ก็ควรถูกย้ายไปลงกับสินค้าที่ขายดีแทนมากกว่า นอกจากนั้นแล้วการเก็บสินค้าไว้นานเกินไปก็มีความเสี่ยงที่สินค้าจะหาย ถูกขโมยหรือชำรุดด้วย ปัจจัยพวกนี้สำคัญทั้งนั้น

เพราะฉะนั้นเป้าหมายอันดับต้นๆของการจัดการโลจิสติกส์ก็คือการตอบโจทย์ด้านความพอดีของสินค้าคงคลัง ซึ่งผมมีบทความอธิบายวิธีลดค่าใช้จ่ายและความเสี่ยงส่วนนี้ไว้เป็นพิเศษ แนะนำให้อ่านนะครับ วิธีบริหารสินค้าคงคลัง และ วิธีจัดการ Dead Stock

การจัดส่งที่น่าเชื่อถือและสม่ำเสมอ – หากเรามาดูธุรกิจโลจิสติกส์เต็มตัวที่อยู่ใกล้ตัวเราที่สุดอย่างไปรษณีย์ไทยและเคอร์รี่ เราก็จะเห็นว่า ‘บริการ’ ‘ราคา’ และ ‘ความสม่ำเสมอ’ เป็นสามปัจจัยหลักที่ถูกพูดถึงมากที่สุด เช่น ชอบบริษัทนี้เพราะโทรมาบอกก่อน ส่งแม้จะอยู่ที่กันดาร มีเก็บเงินปลายทาง เป็นต้น

สำหรับการจัดการโลจิสติกส์ ความน่าเชื่อถือและสม่ำเสมอเป็นสิ่งดีต่อทั้งบริษัทและผู้รับสินค้า แต่ถึงแม้ว่าการส่งให้ตรงเวลาจะเป็นสิ่งที่อธิบายได้ง่าย แต่ในส่วน ‘การปฏิบัติ’ นั้นยากกว่าที่เราคิด

ตั้งแต่การจ้างพนักงานขับรถ การเตรียมรถขนส่ง การวางแผนรับส่งของให้ครอบคลุมทุกที่ การสร้างโกดังเก็บของ หากปกติแต่ละบริษัทมีคิวจัดส่งของสองรอบ เช้ากับบ่าย การจะเพิ่มอีกหนึ่งคิวนั้นหมายความว่าบริษัทต้องซื้อรถกับจ้างพนักงานเพิ่มอีก 30% เลย

ถึงแม้ว่าการจัดส่งที่น่าเชื่อถือและสม่ำเสมอเป็นสิ่งที่ท้าทายมาก แต่ ‘รางวัล’ ของการถูกมองว่าเป็นบริษัทที่น่าเชื่อถือและมีความสม่ำเสมอก็มีเยอะ ลูกค้าจะนึกถึงเราก่อน ลูกค้าพร้อมที่จะจ่ายเยอะกว่า และลูกค้าพร้อมที่กลับมาใช้บริการและซื้อสินค้าของเราอย่างเรื่อยๆ

ลดความเสียหายของผลิตภัณฑ์ – หนึ่งในปัจจัยที่เพิ่ม ‘ค่าใช้จ่าย’ ให้กับการจัดการโลจิสติกส์ก็คือค่าเสียหายของผลิตภัณฑ์ สินค้าบางชนิดหากเก็บไว้นานก็จะเสื่อมคุณภาพ สินค้าบางชนิดหากขนส่งไม่ระวังก็จะเสียหาย ในส่วนนี้สิ่งที่บริษัทต้องมีก็คือขั้นตอนการจัดระเบียบเพื่อลดปัญหาด้าน บรรจุภัณฑ์ที่ไม่เหมาะสม การจัดส่งสินค้าที่ไม่เหมาะสม และ การโหลดสินค้าแบบผิดวิธี

วิธีลดความเสียหายคือการนำเครื่องมือต่างๆมาใช้งานมากขึ้นและการนำระบบปฏิบัติการมาฝึกสอนพนักงาน เครื่องมือต่างๆจะช่วยลดปัญหาความผิดพลาดของมนุษย์และเพิ่มความสม่ำเสมอให้กับแต่ละกระบวนการ แต่เครื่องมือแต่ละชนิดก็ต้องมีคนปฏิบัติการและควบคุม เพราะฉะนั้นการสร้างระบบและสร้างวินัยให้กับพนักงานก็สำคัญไม่แพ้กัน

ความเร็วในการบริการ – ส่วนนี้หมายถึงว่าบริษัทจะสามารถส่งสินค้าไปถึงมือลูกค้าได้เร็วแค่ไหน อย่างไรก็ตามหากธุรกิจของคุณต้องมีการประกอบหรือผลิตสินค้า ความเร็วก็รวมถึงขั้นตอนการผลิตสินค้าด้วย (หากเป็นร้านอาหาร ก็เปรียบเทียบได้กับเวลาที่เราออกไปซื้อวัตถุดิบและเวลาคนในครัวทำกับข้าว) 

การเพิ่มความเร็วในการบริการไม่ได้มาจากแค่การบอกให้พนักงานให้ทำงานเร็วขึ้น ในการจัดการโลจิสติกส์เราต้องดูแลฟันเฟือนต่างๆของระบบปฏิบัติการซึ่งก็คือขั้นตอนต่างๆ เครื่องมือเครื่องจักร และพนักงาน

การสร้างกระบวนการต่างๆ สร้างวินัยให้พนักงาน ก็อาจจะลดความไม่แน่นอนในกระบวนการได้ในระดับหนึ่ง แต่ในยุคหลังมานี้หลายบริษัทเริ่มนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยด้านความเร็วในการบริการมากขึ้น

การใช้เทคโนโลยีในการประมวลข้อมูลและการสื่อสาร จะทำให้พนักงานทุกคนสามารถตัดสินใจได้เร็วและแม่นยำขึ้น และยิ่งคนออกแบบระบบโลจิสติกส์ได้ข้อมูลจากลูกค้าเร็วแค่ไหน ผู้ดูแลขนส่งก็สามารถตอบสนองและส่งของได้เร็วขึ้นเท่านั้น เทคโนโลยีอาจจะไม่จำเป็นต้องเป็นของล้ำสมัยเสมอ ระบบง่ายๆแค่การติด GPS ติดระบบ Google Map ให้พนักงานคนขับรถก็ช่วยลดปัญหาด้านการขนส่งไปได้เยอะแล้ว 

‘บริษัทค้าปลีก’ ใหญ่ที่อเมริกาอย่าง Walmart มีการทำ ‘ระบบแจ้งเตือน’ ทำให้ทุกครั้งที่ของใกล้หมดทางระบบจะส่งข้อความไปเตือนซัพพลายเออร์ทันที ทำให้ซัพพลายเออร์สามารถตอบสนองเรื่องการจัดส่งได้โดยไม่ต้องผ่านการโทรศัพท์การคุยกับไปคุยกันหลายรอบ อย่างไรก็ตามระบบแบบนี้ก็ต้องอาศัยความเข้าใจด้านการพยากรณ์ยอดขายและพฤติกรรมผู้บริโภคพอสมควร

เรื่องของประสิทธิภาพการทำงาน เป็นหัวข้อที่ผู้อ่านหลายคนเรียกร้องให้ผมเขียน ในส่วนนี้ผมได้ทำคู่มือ มินิอีบุ๊ค ทำงานให้เร็ว ทำงานอย่างฉลาด ที่ทุกคนสามารถโหลดได้ฟรีๆเลย คลิกตรงนี้ ครับ

การจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทาน (Logistics and Supply Chain Management)

วิธีการจัดการโลจิสติกส์รวมถึงการวิเคราะห์ การวางแผน การพัฒนาประสิทธิภาพ ของขั้นตอนต่างๆในการจัดการโลจิสติกส์ และ การจัดการโลจิสติกส์เป็นหนึ่งส่วนของการบริหารห่วงโซ่อุปทาน

ส่วนการบริหารห่วงโซ่อุปทานก็คือการวางแผน การจัดการ และการควบคุมการเคลื่อนไหวของสินค้าคงคลัง ผลิตภัณฑ์ การบริการ กับข้อมูลจากจุดเริ่มต้นไปยังจุดที่ต้องการใช้งาน ซึ่งเป้าหมายของการบริหารห่วงโซ่อุปทานก็คือการส่งมอบสินค้าให้ผู้ใช้งานได้อย่างเรียบร้อยและรวดเร็วที่สุด

เราจะเห็นความสำคัญของการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานได้ในทุกอุตสาหกรรมทั่วโลก เพราะกระบวนการทุกอย่างที่สามารถสร้างคุณค่าให้ลูกค้าได้ย่อมมีความสำคัญมากพอที่คนจะจับมาพัฒนาให้ดีขึ้นและเร็วขึ้นเรื่อยๆ

กระบวนการทำธุรกิจในสมัยนี้ถือว่ามีความซับซ้อนมาก แต่ละธุรกิจมีตัวแปรหลายอย่างและมีการทำงานกับองค์กรหลายประเทศ ในหลายกรณี การหาข้อแตกต่างระหว่างการจัดการโลจิสติกส์และห่วงโซ่อุปทานนั้นถือว่าทำได้ยาก

สำหรับคนที่สนใจด้าน Supply Chain โดยเฉพาะนะครับ ผมแนะนำให้อ่านสองบทความนี้ จะให้ความรู้ได้ละเอียดกว่ามาก 5 กระบวนการจัดการ Supply Chain และ โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ต่างกันอย่างไร?

ในบทความส่วนถัดไปเรามาลองศึกษากันว่าประเภทของการจัดการโลจิสติกส์ต่างๆนั้นมีอะไรบ้าง

การจัดการโลจิสติกส์ประเภทต่างๆ – 4 ประเภทการจัดการโลจิสติกส์ที่คุณควรรู้จัก

การจัดการโลจิสติกส์สามารถแบ่งเป็นประเภทใหญ่ๆได้ 4 อย่าง ซึ่งแต่ละประเภทก็จะโฟกัสที่จุดต่างๆของการบริหารห่วงโซ่อุปทาน

#1 การจัดการอุปทานและลอจิสติกส์ ประกอบด้วยการวางแผน การจัดหาจัดซื้อ และการประกอบวัสดุ ในเวลาและสถานที่ที่ถูกต้องเพื่อให้งานเสร็จตามที่กำหนดไว้ กิจกรรมด้านนี้รวมถึงกระบวนการขนส่งและกระบวนการจัดเก็บสินค้าด้วย การประเมินว่าสินค้าที่ต้องจัดเตรียมจัดเก็บในแต่ละขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทานจะทำให้บริษัทสามารถขนส่งสินค้าไปยังลูกค้าได้ในค่าใช้จ่ายที่ต่ำที่สุด 

#2 การกระจายและการเคลื่อนย้ายวัสดุ ประกอบด้วยการจัดส่งสินค้าและการเคลื่อนย้ายของวัสดุต่างๆ การจัดการโลจิสติกส์ประเภทนี้คือการดูแลด้านการขนส่งนั่นเอง ซึ่งก็จะรวมถึงปัญหาด้านต่างๆเกี่ยวกับการขนส่งวัสดุและสินค้า เช่นการโหลดสินค้าเข้าออกและการขนส่ง การบริหารส่วนนี้ส่วนมากคือการควบคุมการเคลื่อนไหวของสินค้าจากคลังสินค้าหลักไปสู่สั่งสินค้ารองหรือร้านค้าที่จะขายให้กับลูกค้าอีกทีนึง 

#3 โลจิสติกของการผลิตและการจัดการ เป็นขั้นตอนเกี่ยวกับการผลิตและการประกอบวัสดุต่างๆให้กลายเป็นสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ที่เราจะนำมาขาย ซึ่งรวมถึงการจัดความสำคัญว่าวัตถุดิบชนิดไหนควรเข้ามาก่อนและชิ้นไหนควรเข้ามาทีหลัง เพื่อที่จะทำให้เราสามารถประกอบหรือผลิตสินค้าได้ในปริมาณและคุณภาพที่ดีที่สุด การจัดการโลจิสติกส์ประเภทนี้อยู่ในประเภทของการบริหารจัดการผลิตภัณฑ์

#4 ลอจิสติกส์ย้อนกลับและการคืนสินค้า ประกอบไปด้วยกันเรียกสินค้าคืน ยกตัวอย่างเช่นโครงการก่อสร้างที่อาจจะซื้อสินค้าวัสดุก่อสร้างมามากเกินไปแต่จำเป็นต้องส่งคืน หรืออาจจะเป็นการรับสินค้าคืนเพราะลูกค้าไม่พอใจหรือไม่ต้องการรับสินค้าแล้ว

สุดท้ายนี้เราจะเห็นได้ว่าในกระบวนการโลจิสติกส์ การตัดสินใจที่ผิดเล็กๆน้อยๆอาจจะทำให้เกิดปัญหายิ่งใหญ่ที่คนต้องมาตามแก้ภายหลังได้ หากวัตถุดิบถูกส่งเข้ามาให้กับโรงงานผลิตสาย กระบวนการผลิตก็จะช้าลง การขนส่งก็จะช้าลง และสุดท้ายลูกค้าก็จะได้รับสินค้าช้าลง 

กระบวนการโลจิสติกส์ที่ไม่ดีจะทำให้ค่าใช้จ่ายของธุรกิจเยอะขึ้น ซึ่งแน่นอนว่าปัญหาส่วนนี้สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัยเลยตั้งแต่เครื่องจักรไม่ดี ระบบการทำงานไม่ดี พนักงานไม่มีวินัย

เพื่อที่จะแก้ปัญหาเหล่านี้และลดค่าใช้จ่ายส่วนลดโลจิสติกส์ให้น้อยที่สุด องค์กรควรที่จะศึกษาการจัดการโลจิสติกส์ และเปรียบเทียบกระบวนการของตัวเองกับคู่แข่งต่างๆหรือบริษัทเทียบเคียงในอุตสาหกรรม นอกจากนั้นแล้วองค์กรก็ควรขอความร่วมมือจากทั้งซัพพลายเออร์และจากลูกค้าเพื่อที่จะทำให้การเคลื่อนย้ายสินค้าและข้อมูลทั้งหมดเรียบง่ายและรวดเร็วที่สุด การจัดการโลจิสติกส์ที่ยอดเยี่ยมจะเป็นความได้เปรียบทางการแข่งขันของธุรกิจที่คนอื่นจะลอกได้ยากครับ

สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด