โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ต่างกันอย่างไร? กลยุทธ์บริหาร

โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน ต่างกันอย่างไร

การบริหารการปฏิบัติการส่วนมาก ก็คือการทำให้กระบวนการของเราถูกกว่า เร็วกว่า หรือไม่ก็ดีกว่าเดิม แน่นอนว่าการบริหารโลจิสติกส์และโซ่อุปทานก็ไม่ต่างกัน

โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน เป็นกระบวนการที่เกี่ยวข้องกับการจัดซื้อ การผลิต การจำหน่าย การจัดเก็บและการขนส่ง สำหรับแต่ละธุรกิจแล้วการบริหารโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะเป็นการบริหารพนักงานไม่กี่คน หรืออาจจะเป็นการจัดระบบให้สำหรับคู่ค้าธุรกิจหลายร้อยเจ้าสามารถประสานงานร่วมกันได้ นับว่าเป็นกระบวนการที่มีความท้าทายพอสมควร 

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า โลจิสติกส์และโซ่อุปทานแตกต่างกันอย่างไร และกลยุทธ์หลักการการบริหารโลจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นมีอะไรบ้าง

โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน แตกต่างกันอย่างไร (Logistics and Supply Chain Management) 

โลจิสติกส์ แปลเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารโซ่อุปทาน โลจิสติกส์ จะเน้นไปที่การบริหารด้านการขนส่ง ส่วนโซ่อุปทานเป็นหลักการบริหารที่กว้างกว่า กระบวนการตั้งแต่การจัดซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ ไปจนถึงการส่งมอบสินค้าให้กับลูกค้า

สำหรับหลายคน การบริหารโลจิสติกส์และโซ่อุปทานอาจจะดูเหมือนว่าเป็นกระบวนการที่คล้ายๆกัน แต่หากลองมาดูธุรกิจที่มีการบริหารการจัดการที่ซับซ้อน เช่นธุรกิจที่มีสินค้าหลายชนิด มีวัตถุดิบหลายชนิด มีซัพพลายเออร์หลายเจ้า ความแตกต่างระหว่างโลจิสติกส์และโซ่อุปทานก็จะเห็นได้ชัดมากขึ้น 

ความหมายของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีดังนี้ครับ

โลจิสติกส์ (Logistics) รวมถึงการวางแผน การปฏิบัติ และการควบคุมประสิทธิภาพประสิทธิผลของกระบวนการการไหลของสินค้า บริการ แล้วข้อมูลตั้งแต่จุดเริ่มต้น ไปถึงจุดสุดท้ายตามความต้องการของผู้บริโภคหรือลูกค้า โดยที่โลจิสติกส์ก็เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน

โซ่อุปทาน (Supply Chain) คือการเพิ่มคุณค่าและประสิทธิภาพของการเพิ่มคุณค่าให้กับผู้บริโภคผ่านการทำงานร่วมกันระหว่างบริษัท ซึ่งรวมถึง ซัพพลายเออร์ ลูกค้า และ และคู่ค้าทางธุรกิจ 

และหลักการบริหารโซ่อุปทาน (Supply Chain Management)  ก็รวมถึงขั้นตอนการทำธุรกิจหลายอย่าง ตั้งแต่ นวัตกรรมและการพัฒนาสินค้า การจัดซื้อ การผลิตการปฏิบัติการต่างๆ โลจิสติกส์และการกระจายสินค้า การบริการลูกค้า และการกระจายสินค้าทั่วประเทศ 

หากโลจิสติกส์ คือการดูประสิทธิภาพประสิทธิผลของการไหลของสินค้า โซ่อุปทานก็คือการ ‘เพิ่มคุณค่า’ ให้กับกระบวนการส่วนนี้

เราจะเห็นได้ว่ากระบวนการหลายอย่างในองค์กรสามารถถูกแบ่งประเภทได้ว่าเป็นการบริหารโลจิสติกส์หรือการบริหารโซ่อุปทานได้อย่างชัดเจน แต่หลายกระบวนการก็ไม่สามารถถูกแบ่งแยกได้ชัดเจนขนาดนั้น

หัวข้อที่ใกล้เคียงกับ Logistics และ Supply Chain มีอีกมากมายครับ หากใครสนใจผมแนะนำให้ศึกษาเรื่องนี้เพิ่มเติมได้ 5ส คืออะไร? และ การบริหารสินค้าคงคลัง คืออะไร

ความแตกต่างของโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ในยุคปัจจุบัน กระบวนการหลายอย่างในธุรกิจที่เมื่อก่อนอาจจะมีความแตกต่างอย่างชัดเจน เริ่มมีความคล้ายคลึงกันมากขึ้น เนื่องจากว่าเมื่อการแข่งขันมีมากขึ้น ลูกค้าต้องการมากขึ้น ทำให้กระบวนการต่างๆในธุรกิจนั้นต้องพัฒนาตามด้วย เช่นการขายกับการตลาด การบัญชีและการเงิน เริ่มมีความแตกต่างน้อยลงเรื่อยๆ 

และโลจิสติกส์กับโซ่อุปทานก็เช่นกัน 

ถึงแม้ว่าโลจิสติกส์และโซ่อุปทานจะมีความเหมือนกันมากแค่ไหน เราก็ไม่ควรนำคำศัพท์สองคำนี้มาใช้ทดแทนกันโดยสิ้นเชิง ในส่วนนี้เรามาลองดูกันว่าข้อแตกต่างระหว่างโลจิสติกส์และโซ่อุปทานมีอะไรบ้าง 

เป้าหมาย – เป้าหมายของโซ่อุปทานคือการ ‘สร้างความได้เปรียบทางธุรกิจ’ เช่นการลดค่าใช้จ่าย การสร้างเครือข่ายที่คู่แข่งไม่สามารถลอกเลียนแบบได้ แต่เป้าหมายหลักของโลจิสติกส์ก็คือการ ‘เพิ่มความพึงพอใจ’ ให้กับลูกค้า เช่นส่งสินค้าให้เร็วขึ้น ส่งสินค้าให้ถูกคน 

กระบวนการ – โลจิสติกส์หมายถึงการบริหาร ‘การเคลื่อนไหว’ ของวัตถุหรือข้อมูลต่างๆ ในระหว่างที่การบริหารโซ่อุปทานคือการเชื่อมโยงกระบวนการทางธุรกิจหลายๆอย่างจากหลายๆองค์กรเข้าด้วยกัน 

หมวดหมู่ – โลจิสติกส์เป็นหนึ่งในกระบวนการของโซ่อุปทาน 

โลจิสติกส์เป็นคำศัพท์ที่เก่ากว่า ในสมัยที่หลักการบริหารธุรกิจนั้นยังไม่ได้ซับซ้อนมาก แต่ในยุคที่บริษัททำงานกับคู่ค้าธุรกิจหลายคน และขายสินค้าให้กับลูกค้าในหลายที่หลายประเทศ หลักการบริหารอย่างโซ่อุปทานก็ถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการใหม่ๆของธุรกิจ 

กลยุทธ์โลจิสติกส์และโซ่อุปทาน – หลักการ และ หัวใจของการจัดการ

หากเราเข้าใจแล้วว่าโลจิสติกส์เป็นส่วนหนึ่งของโซ่อุปทาน กลยุทธ์โลจิสติกส์และโซ่อุปทานก็คือการพัฒนาทั้งสองส่วนนี้เพื่อให้สามารถเลือกอำนวยกันมากขึ้น โดยกลยุทธ์โลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้แก่ 

การวางแผนตามอุปสงค์หรือความต้องการลูกค้า (Demand Planning) – หมายถึงการเข้าถึงข้อมูลความต้องการของลูกค้าให้เร็วมากขึ้น เผื่อที่องค์กรจะสามารถวางแผนการปฏิบัติการในส่วนโลจิสติกส์และโซ่อุปทานได้เร็วและแม่นยำมากขึ้น 

ยกตัวอย่างเช่น โรงงานที่ผลิตสินค้า อาจขายให้กับตัวแทนจำหน่าย แล้วตัวแทนจำหน่ายก็จะขายให้กับร้านขายปลีกอีกที ในกรณีนี้โรงงานสามารถพัฒนาระบบไอทีที่จะทำให้ร้านขายปลีกสามารถให้ข้อมูลกับโรงงานผลิตสินค้าได้รวดเร็วมากขึ้น เป็นการลดขั้นตอนการสื่อสารแล้วก็ยังทำให้โรงงานผลิตสินค้าได้รับข้อมูลตลาดได้ตามความต้องการของลูกค้า 

ปัญหาด้านการไหลลื่นของข้อมูลในโซ่อุปทาน ทำให้เกิดปัญหาที่เรียกว่าปรากฏการณ์แส้ม้า (Bullwhip  Effect) ที่มักทำให้ผู้ผลิต ผลิตสินค้ามากเกินไปหรือน้อยเกินไป เพราะไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลผู้บริโภคปลายโซ่อุปทานได้รวดเร็วพอ

กระบวนการทำงานของโซ่อุปทานที่ประหยัดขึ้นแบบลีน (Lean Supply Chain) – โซ่อุปทานแบบลีน คือการเพิ่มประสิทธิภาพให้กระบวนการผ่านการลดของเสีย ลดการกระทำที่ไม่เกิดประโยชน์ 

การเพิ่มประสิทธิภาพของกระบวนการทำงานในธุรกิจนั้นทำได้หลายอย่าง ตั้งแต่การพัฒนากระบวนการจัดซื้อ การพัฒนาการจัดเก็บสินค้า หรือการพัฒนาการจัดส่งสินค้า อาจจะเป็นการพัฒนากระบวนการง่ายๆอย่างการส่งอีเมลแทนส่งเอกสารกระดาษเพื่อให้ทำงานเร็วมากขึ้น หรืออาจจะเป็นการพัฒนาระยะยาวของการวางจัดเก็บสินค้าและขนส่ง 

โดยเครื่องมือและหลักการแบบลีนที่นิยมใช้กันก็คือ Kaizen 5ส และ Six Sigma

กระบวนการทำงานของโซ่อุปทานที่เร็วขึ้นแบบอไจล์ (Agile Supply Chain) – อไจล์เป็นแนวความคิดใหม่ ที่ให้ความสำคัญกับความรวดเร็ว การตอบสนอง และความยืดหยุ่นของกระบวนการ ในขณะเดียวกันเราก็ต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายและประสิทธิภาพด้วย 

หากเรามองว่าการทำงานแบบลีน คือการนำข้อมูลเก่าเพื่อมาใช้พัฒนากระบวนการอย่างต่อเนื่อง หลักการของอไจล์ก็คือการเข้าถึงข้อมูลล่าสุดให้รวดเร็วที่สุดเพื่อที่ธุรกิจจะสามารถปรับตัวได้ทันที เช่นการเข้าถึงข้อมูลความต้องการของลูกค้าทันที 

องค์กรที่ใช้กระบวนการแบบลีนเพื่อที่จะสามารถส่งสินค้าให้กับลูกค้าได้ทันเวลาและทันที มักจะมีปัญหา ‘สินค้าคงคลังมากเกินไป’ (สต๊อกของไว้เยอะเวลาลูกค้าต้องการอะไรจะได้มีส่งได้ทันที) ซึ่งการทำแบบนี้จะเป็นภาระทางการเงินเพราะจะทำให้เงินจม ในทางตรงกันข้าม อไจล์ก็คือการเก็บสต๊อกให้หน่อย แต่รู้ก่อนว่าลูกค้าอยากได้อะไร เราจะได้ผลิตหรือจัดหาสินค้าภายในเวลาที่น้อยกว่า 

ประสานงานระหว่างฝ่ายขายและฝ่ายปฏิบัติการ (Sales & Operations Integration) – ปัญหาหลักของการบริหารการจัดการส่วนมากก็คือข้อมูลและการสื่อสาร โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับองค์กรที่มีหลายแผนก และแต่ละแผนกสื่อสารกันไม่ชัดเจน 

เป็นเรื่องง่ายที่ กระบวนการฝ่ายขายและฝ่ายปฏิบัติการจะขัดแย้งกันเอง ฝ่ายขายที่ถูกวัดผลการทำงานด้วยยอดขายก็มีแรงจูงใจที่จะสัญญากับลูกค้าให้สุดความสามารถของบริษัทเสมอ ในทางตรงข้ามฝ่ายปฏิบัติการที่ถูกวัดผลด้วยความแม่นยำและความเร็วก็จะรู้สึกกดดันทุกครั้งที่ฝ่ายขาย ‘สัญญากับลูกค้ามากเกินไป’

ในส่วนนี้ไม่ใช่ว่าฝ่ายขายหรือฝ่ายปฏิบัติการที่ผิด แต่เป็นกระบวนการการสื่อสารภายในองค์กรที่ไม่สามารถเชื่อมโยงทุกอย่างเข้าด้วยกันได้ ฝ่ายขายไม่รู้ว่าสินค้าคงคลังมีเท่าไหร่ การจัดส่งตามความเป็นจริงเร็วได้แค่ไหน และปัญหาการประสานงานเหล่านี้สามารถแก้ได้อาจจะผ่านการสร้างระบบการสื่อสารที่ชัดเจนมากขึ้น (เช่นฝ่ายขายต้องโทรประสานงานก่อนถึงจะสัญญากับลูกค้าได้) หรืออาจจะผ่านการทำระบบไอทีที่ชัดเจน อย่าง CRM ERP 

อุปทานที่คาดการณ์ได้ (Predictable Supply) – อีกหนึ่งส่วนที่ต้องมีการบริหารจัดการเป็นพิเศษก็คือการจัดซื้อ ในโลกที่สมบูรณ์แบบซัพพลายเออร์ขององค์กรก็จะมีสินค้าครบทุกอย่างและสามารถจัดส่งได้ทันทีเสมอ แต่จากที่เราเห็นแล้วว่า ‘โซ่อุปทาน’ นั้นมีปัญหาหลายอย่าง ทำให้ส่วนมากการจัดซื้อวัตถุดิบอาจจะมีการล่าช้า และจะกระทบต่อการผลิตและการจัดส่งให้ลูกค้า

ในส่วนนี้หากองค์กรไม่อยากเก็บสินค้าคงคลังมากขึ้น ก็จำเป็นที่จะต้องสื่อสารกับซัพพลายเออร์ให้รวดเร็วมากขึ้น โดยอาจจะมีการพัฒนาวิธีการสื่อสารระหว่าง ผู้บริโภค ลูกค้าองค์กร ตัวองค์กรเอง และซัพพลายเออร์

สรุปเรื่องโลจิสติกส์และโซ่อุปทาน

ในบทความนี้เราจะเห็นแล้วว่าโลจิสติกส์และโซ่อุปทานนั้นถึงแม้จะมีหลายวิธีการทำงานที่คล้ายคลึงกัน แต่ทั้งสองอย่างก็มีความแตกต่างในเป้าหมาย กระบวนการทำงาน และหมวดหมู่การบริหารธุรกิจ หากเราอยากจะแก้ปัญหาธุรกิจให้ถูกจุด เราก็ต้องเข้าใจความแตกต่างทั้งสองอย่างนี้

ซึ่งถ้าเรารู้แล้วว่าปัญหาของธุรกิจอยู่ที่ไหน เราก็จะสามารถเลือกกลยุทธ์ของโลจิสติกส์และโซ่อุปทานที่เหมาะสมมาแก้ไขได้

สำหรับคนที่อ่านบทความนี้แล้วได้ความรู้เยอะ ผมก็แนะนำให้ดูคู่มือความรู้แจกฟรีอันนี้ของเว็บไซต์เรานะครับ หรือหากอยากสนับสนุนเว็บไซต์ก็สามารถดู EBook ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจของเราได้

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

การจัดการโลจิสติกส์ (Logistics management) คืออะไรนะ?
Supply Chain คืออะไร? 5 กระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน
ประสิทธิภาพ ประสิทธิผล ต่างกันอย่างไร – มี KPI อะไรบ้าง

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด