Supply Chain คืออะไร? 5 กระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

Supply Chain คืออะไร? 5 กระบวนการจัดการห่วงโซ่อุปทาน

สำหรับคนที่อยู่ในวงการธุรกิจ หรือคนทั่ว ๆ ไปที่ให้ความสนใจในด้านที่เกี่ยวข้องมักเคยได้ยินคำว่า Supply Chain กันอยู่บ่อย ๆ เนื่องจากคำนี้ไม่ใช่แค่ถูกคิดค้นขึ้นมาเพื่อให้ดูโก้หรู ทว่าในความเป็นจริงมีความหมายลึกซึ้งที่จะส่งผลให้การบริหารจัดการมีประสิทธิภาพสูงสุด เป็นเรื่องสำคัญที่ทุกธุรกิจจำเป็นต้องทำศึกษาเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความพึงพอใจมากที่สุด ขณะเดียวกันกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิตทั้งหลายก็จะได้ประโยชน์จากเรื่องนี้ในเรื่องต้นทุนมากขึ้นไปอีก

การทำธุรกิจที่ดีต้องมองภาพให้รอบด้านไม่ใช่แค่มุ่งเน้นเรื่องของผลกำไรเพียงอย่างเดียว หลาย ๆ คนไม่ได้ใส่ใจกับเรื่อง Supply Chain จนทำให้เกิดปัญหาตามมามากมาย โดยเฉพาะเรื่องสภาพคล่องทางการเงิน ส่งผลต่อระบบต่าง ๆ ที่จะได้รับผลกระทบแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพื่อให้เกิดความกระจ่างในเรื่องนี้มาทำความรู้จักกับ Supply Chain ให้มากขึ้นกว่าเดิมได้เลย

Supply Chain คืออะไร

Supply Chain หรือ ห่วงโซ่อุปทาน คือกระบวนการตั้งแต่การติดต่อซัพพลายเออร์เพื่อนำวัตถุดิบจนเข้าสู่กระบวนการผลิตด้วยเทคโนโลยีต่าง ๆ การจัดเก็บ จนถึงขั้นตอนการนำส่งถึงมือลูกค้า เป็นสิ่งสำคัญที่ธุรกิจจำเป็นต้องศึกษาเพื่อลดค่าใช้จ่ายและเพิ่ทโอกาสแห่งการเติบโตในอนาคต

หากแปลอย่างเข้าใจง่าย Supply Chain คือ ห่วงโซ่อุปทาน หมายถึง กระบวนการต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อนผลิตสินค้ากระทั่งนำสินค้าไปสู่กลุ่มผู้บริโภคเพื่อความพึงพอใจสูงสุด ไม่ว่าจะเป็นการจัดซื้อวัตถุดิบ, การผลิต, การจัดเก็บ, การนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาเป็นตัวช่วย, จัดจำหน่ายสินค้า, การขนส่งสินค้า ซึ่งตรงนี้หากสังเกตดี ๆ จะเห็นว่าทุกกระบวนการมีความเชื่อมโยงถึงกันทั้งหมด และต้องผ่านขั้นตอนตามมาตรฐานเพื่อให้ผู้บริโภคเกิดความประทับใจต่อผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

อย่างไรก็ตามแม้โดยพื้นฐานเรื่องนี้จะเหมือนเป็นเรื่องเข้าใจง่าย ทว่าเมื่อเข้าสู่กระบวนการแต่ละขั้นตอนจริง ๆ แล้วมีรายละเอียดปลีกย่อยต่าง ๆ ที่คนทำธุรกิจประเภทนั้นจำเป็นต้องศึกษาและเรียนรู้เพื่อให้เกิดความเข้าใจมากที่สุด เพราะหากเกิดข้อผิดพลาดในส่วนใดขึ้นมาก็มีโอกาส่งผลกระทบในทุกภาคส่วน

ตัวอย่างเช่น การจัดซื้อวัตถุดิบไม่เพียงพอ ส่งผลให้การผลิตล่าช้า ซึ่งมันกระทบเป็นลูกโซ่ไปจนถึงลูกค้าได้รับสินค้าช้าลง กลายเป็นความไม่พึงพอใจ ธุรกิจเสียภาพพจน์จากการบอกต่อแบบปากต่อปาก นำมาซึ่งรายได้หดหาย เสียโอกาสในการทำเงิน และความเสียหายอื่น ๆ อีกมากมาย ดังนั้นอย่ามองข้ามเรื่องของ Supply Chain เป็นอันขาด

Supply Chain มีประโยชน์อย่างไร

เมื่อรู้ถึงความหมายของ Supply Chain กันแล้ว คราวนี้ก็มาเข้าเรื่องราวของประโยชน์ที่จะช่วยให้เห็นภาพชัดเจนยิ่งขึ้นว่า หากมีระบบ Supply Chain ซึ่งจริง ๆ รวมถึง Supply Chain Management หรือ ระบบบริหารจัดการห่วงโซ่อุปทาน ที่ดี ย่อมช่วยส่งเสริมความสำเร็จให้กับองค์กรได้เยอะมาก และนี่คือประโยชน์ของ Supply Chain

1. มีระบบขั้นตอนการทำงานที่ชัดเจน

เมื่อทุกอย่างถูกวางเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิตด้วยซ้ำ นั่นคือจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ ไปจนถึงกระบวนการจัดเก็บ, การซื้อขายสินค้า, การขนส่ง ท้ายที่สุดคือไปถึงมือลูกค้า นั่นแสดงให้เห็นว่าหากมีวิธีบริหารจัดการ supply chain ที่ดีจะช่วยให้การทำงานคล่องตัว มีความเป็นขั้นตอนชัดเจน พนักงานทำงานง่ายขึ้น ตัวผู้บริหารรับรู้ถึงปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่แก้ไขได้รวดเร็ว

2. องค์กรเดินหน้าได้เร็วกว่าคู่แข่ง

เมื่อระบบจัดการต่าง ๆ มีประสิทธิภาพย่อมเป็นเรื่องปกติที่จะทำให้องค์กรสามารถเดินหน้าได้เร็วกว่าคู่แข่งของตนเอง เรื่องนี้เป็นสิ่งเพิ่มโอกาสแห่งความสำเร็จให้กับคนทำธุรกิจได้เป็นอย่างดี เพราะทุก ๆ องค์กรย่อมมีเป้าหมายของตนเองชัดเจนอยู่แล้ว เมื่อนำระบบจัดการที่มีมาตรฐานเข้ามาเสริมอีก คราวนี้ก็เดินหน้าแบบก้าวกระโดดกันเลย

3. ประหยัดต้นทุนมากขึ้น

เรื่องต้นทุนเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการทำธุรกิจ เพราะยิ่งต้นทุนสูงแต่ราคาขายเท่าเดิม หมายถึง การขาดทุนกำไร แต่เมื่อกำไรก็ไม่มีแต่ต้นทุนยังสูงเหมือนเดิม เท่ากับการขาดทุนแบบจริงจัง ดังนั้นระบบ Supply Chain จะช่วยให้คุณรู้ว่าแต่ละขั้นตอนนั้นมีค่าใช้จ่ายหรือต้นทุนที่เกิดขึ้นเท่าไหร่ สามารถควบคุมหรือลดปริมาณต้นทุนบางส่วนที่ไม่จำเป็นลงได้

4. สร้างความพึงพอใจสูงสุดให้กับลูกค้า

ท้ายที่สุดการมีระบบ Supply Chain ที่ดีจะช่วยให้ลูกค้าเกิดความพึงพอใจและอยากกลับมาซื้อสินค้าของคุณอยู่เรื่อย ๆ ตรงนี้ย่อมส่งผลดีต่อธุรกิจที่จะเติบโตไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง ซึ่งเป็นเรื่องที่ใคร ๆ ก็คาดหวังอยากให้เกิดขึ้นทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้การบริหารจัดการระบบ Supply Chain ให้ถูกต้อง จะช่วยให้องค์กรก้าวไปตามจุดมุ่งหมายที่คาดหวังเอาไว้ได้จริง

องค์ประกอบของ Supply Chain มีอะไรบ้าง

ในด้านองค์ประกอบของระบบ Supply Chain คือ รูปแบบการทำงานในขั้นตอนต่าง ๆ ที่มีความเชื่อมโยงเพื่อเข้าสู่เป้าหมายเดียวกัน นั่นคือ ความพึงพอใจของลูกค้า ตั้งแต่เริ่มต้นจัดหา จัดซื้อวัตถุดิบ, การผลิต ไปจนถึงขั้นตอนต่าง ๆ หลังการผลิตและถึงมือลูกค้า ซึ่งหลัก ๆ แล้วสามารถแยกออกได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ คือ

1. Upstream Supply Chain

ห่วงโซ่อุปทานที่เตรียมเข้าสู่ขั้นตอนการผลิต ตรงนี้ปัจจัยหลัก ๆ ขององค์ประกอบก็คือ การจัดหาซัพพลายเออร์ (Supplier) ที่ดี เพื่อการจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพและได้มาตรฐาน ราคาคุ้มค่า เหมาะกับการนำมาใช้เพื่อเข้าสู่ขั้นตอนการผลิตต่อไป

2. Internal Supply Chain

ห่วงโซ่อุปทานในระหว่างขั้นตอนการผลิต อธิบายให้เข้าใจง่ายก็คือ การเปลี่ยนจากวัตถุดิบที่จัดซื้อเข้ามาสู่ผลิตภัณฑ์ที่ต้องการออกสู่ท้องตลาด หลัก ๆ เลยจะต้องมีผู้ผลิต, การนำเอาเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาประกอบเพื่อให้ผลิตภัณฑ์ตรงกับความต้องการของลูกค้า และเป็นไปตามมาตรฐานที่วางเอาไว้มากที่สุด ไปจนถึงขั้นตอนการจัดเก็บสต็อกสินค้าอย่างมีระเบียบ มีพื้นที่เหมาะสม

3. Downstream Supply Chain

ห่วงโซ่อุปทานเข้าสู่ขั้นตอนส่งถึงมือลูกค้า หลังจากผ่านการนำเข้าวัตถุดิบจนถึงการผลิต ท้ายที่สุดผลิตภัณฑ์ก็ต้องถูกส่งให้ถึงมือลูกค้า ซึ่งจะมีส่วนเกี่ยวข้องหลัก ๆ คือ ช่องทางการซื้อ-ขาย, การขนส่งสินค้า และความพึงพอใจของลูกค้าเมื่อได้ใช้งานผลิตภัณฑ์ดังกล่าว

การจัดการ Supply Chain 5 กระบวนการ

ท้ายที่สุดเพื่อสร้างระบบ Supply Chain อย่างมีประสิทธิภาพ มาทำความเข้าใจกับแนวทางการจัดการทั้ง 5 กระบวนการ เพื่อเป็นตัวช่วยให้ธุรกิจก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคง

1. การจัดซื้อวัตถุดิบ Purchasing

ส่วนสำคัญมาก ๆ ในเรื่องนี้คือการจัดหาซัพพลายเออร์ที่มีคุณภาพ พร้อมทั้งทีมฝ่ายจัดซื้อต้องมีความเชี่ยวชาญ สามารถต่อรองราคาได้ในจำนวนที่เหมาะสม คุ้มค่ากับต้นทุนที่จ่ายไปจริง ๆ นี่คือปัจจัยสำคัญลำดับแรกของกระบวนการจัดการ Supply Chain

2. การผลิต Manufacturing

เมื่อได้วัตถุดิบมาแล้วก็เข้าสู่กระบวนการผลิต ตรงนี้จะมีเรื่องของเทคโนโลยีและระบบสารสนเทศต่าง ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเพื่อเป็นตัวช่วยในการผลิตให้เกิดความทันสมัย สินค้าออกมามีคุณภาพ ได้มาตรฐานตามความพึงพอใจของลูกค้า เป็นอีกสิ่งสำคัญที่ห้ามมองข้ามเด็ดขาด

3. การตลาด Marketing

แม้ว่าการผลิตสินค้าจะยังไม่เสร็จดีแต่กระบวนการต่อมาของ Supply Chain ที่ต้องทำรอเอาไว้ล่าวงหน้าเลยคือ ช่องทางการตลาด หรือบางคนอาจเรียกแค่ช่องทางการซื้อ-ขายก็พอได้ หลักคือทำให้คนหันมาสนใจและยินดีใช้สินค้าของธุรกิจมากที่สุด เช่น มีการโฆษณา, สร้างโปรโมชั่น, กำหนดราคาสินค้าให้เหมาะสม เป็นต้น กระบวนการเหล่านี้คืออีกหัวใจสำคัญที่จะช่วยให้ธุรกิจสามารถดำเนินไปได้อย่างคุ้มค่า เพราะถ้าผลิตมาแต่การตลาดไม่ดีก็มีสิทธิ์จมทุน

4. การกระจายสินค้า Distribution

ต้องแยกความต่างจากการขนส่งก่อน การกระจายสินค้าในระบบ Supply Chain จะเน้นไปที่เรื่องของสต็อกสินค้าเป็นหลัก อธิบายแบบเข้าใจง่ายคือ หลังการผลิตสินค้าเสร็จอาจมีการกระจายสินค้าไปไว้ตามสต็อกหลาย ๆ แห่ง เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งในลำดับต่อไป ซึ่งคลังสินค้าจะต้องมีมาตรฐานเพื่อให้สินค้าไม่เกิดความเสียหาย

5. การขนส่ง Logistics

ท้ายที่สุดของกระบวนการ Supply Chain คือ การขนส่งสินค้าไปยังลูกค้า ซึ่งในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ผู้บริโภคคนสุดท้ายเสมอไป แต่อาจเป็นช่องทางการจัดจำหน่ายที่ได้ตกลงกันไว้ อาทิ ร้านสะดวกซื้อ, ร้านโชห่วยต่าง ๆ เป็นต้น ซึ่งความสำคัญของระบบขนส่งคือ ต้องตรงเวลา สินค้าไม่เกิดความเสียหาย

ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของ Supply Chain เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มความเข้าใจให้กับธุรกิจได้มากขึ้นกว่าเดิม และอย่าลืมว่านี่เป็นระบบที่มีความสำคัญมาก ๆ ดังนั้นอย่าคิดแค่การทำแบบผิวเผินเท่านั้น แต่ต้องเจาะลึกในขั้นตอนต่าง ๆ อย่างถูกต้อง เพียงเท่านี้ก็จะช่วยให้ธุรกิจเดินไปข้างหน้าอย่างมั่นคงไม่ยาก

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด