Personal Branding คืออะไร? วิธีสร้าง Personal Branding

Personal Branding คืออะไร? วิธีสร้าง Personal Branding

ในยุคที่อินเตอร์เนตทำให้การสื่อสารง่ายขึ้น เราก็จะเห็นได้ว่าโอกาสที่ ‘บุคคล’ จะกลายเป็นที่รู้จัก มีภาพลักษณ์ที่คนส่วนมากสามารถจดจำได้ก็มีเยอะ ซึ่งก็ทำให้หลายคนให้ความสนใจกันสิ่งที่เรียกว่าการสร้างแบรนด์ส่วนบุคคลหรือ Personal Branding

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า Personal Branding คืออะไร สำคัญอย่างไร และ เราจะสร้าง Personal Branding แบบง่ายๆได้อย่างไร

Personal Branding คืออะไร

Personal Branding หรือการสร้างแบรนด์บุคคล หมายถึงการนำเสนอภาพลักษณ์ของคุณให้ผู้อื่นรู้ ผ่านวิธีการตลาด อย่าง การเล่าเรื่อง โดยตัวตนหรือแบรนด์ของคุณมาจากทักษะ ประสบการณ์ และบุคลิก หรือจากวิธีที่คุณพูด การปฏิบัติ และ แนวคิดต่างๆ ที่ทำให้คุณแตกต่างจากผู้อื่น 

เช่นเดียวกับการสร้างแบรนด์ธุรกิจ แบรนด์บุคคลสามารถช่วยสร้างความแตกต่างให้กับตัวบุคคลได้ แน่นอนว่าบุคคลที่มี Personal Branding ที่ดีส่วนมากก็มักที่จะเชื่อมโยงแบรนด์บุคคลเข้ากับแบรนด์ธุรกิจ เพราะแบรนด์ที่ดีและการสร้างความแตกต่างก็จะทำให้ธุรกิจสามารถทำการขายและการตลาดได้ง่ายขึ้น

โดยช่องทางการสร้าง Personal Branding ที่เราเห็นได้บ่อยก็คือ Social Media ต่างๆ เช่น Facebook Instagram หรือ YouTube ซึ่งบุคคลที่มีชื่อเสียงในช่องทางเหล่านี้ก็มีอีกชื่อหนึ่งว่า Online Influencer (ผู้มีอิทธิพลบนสื่อออนไลน์) สาเหตุง่ายๆก็เพราะช่องทางเหล่านี้เอื้ออำนวยให้บุคคลสามารถสื่อสารกับคนส่วนมากได้ในงบประมาณที่ย่อมเยา

อย่างที่ได้อธิบายไปแล้ว Personal Branding ก็คือตัวตนของบุคคลที่สังคมส่วนมากรับรู้และจดจำ ถึงแม้ว่า Personal Branding ที่ดีควรจะเป็นตัวตนเดียวกับสิ่งที่คุณเป็นจริงๆ แต่เราก็เห็นได้บ่อยๆในโลกออนไลน์ว่าดารา นักธุรกิจ หรือคนดังหลายคน ‘ตัวจริงไม่ตรงปก’

ซึ่งก็เป็นเรื่องที่เกิดได้บ่อย เพราะ Personal Branding ก็คือเรื่องของการตลาด และการตลาดก็คือการบริหารจัดการ ‘มุมมอง’ ของคนอื่น

ในส่วนถัดไปเรามาดูเหตุผลที่เราต้องสร้าง Personal Branding กันบ้างครับ

ทำไมต้องสร้าง Personal Branding

ในเบื้องต้นนั้น เราต้องเข้าใจก่อนว่า ‘คนที่สังคมรู้จัก ย่อมสามารถโน้มน้าวคนอื่นได้ง่ายกว่า’ หลักการตลาดและการโน้มน้าวผู้คนนั้นได้วิจัยเรื่องนี้มานานหลายสิบปีแล้ว 

นั่นก็หมายความว่า การสร้างตัวตนที่คนสามารถจดจำได้ (และจดจำได้ด้วยความรู้สึกที่ดี คงเส้นคงวากับสิ่งที่อยากขาย) ก็ถือว่าเป็น สินทรัพย์ (หรือความได้เปรียบทางการตลาด) ที่คนอื่นไม่สามารถลอกได้ 

เพราะสุดท้ายแล้ว ต่อให้ธุรกิจอื่นขายสินค้าเหมือนกัน มีบริการระดับเดียวกัน แต่ธุรกิจอื่นก็ไม่ได้เป็นเหมือนเรานั่นเอง 

‘ความเชี่ยวชาญ’ และ ‘ความน่าเชื่อถือ’ เป็นสองสิ่งที่ผู้บริโภคจะได้จาก Personal Branding ที่ดี ผู้บริโภครู้ว่าดาราดังที่ตัวเองชอบสนับสนุนแบรนด์สินค้าดัง ผู้บริโภคก็จะมีแนวโน้มที่จะซื้อสินค้านี้มากกว่า ในขณะเดียวกัน ดาราที่คนไม่ชอบ คนไม่เชื่อถือ คนไม่รู้จัก ก็จะไม่มีใครอยากรับฟัง

โดยตัวอย่างของบุคคลที่มี Personal Branding ดีๆในก็มีหลายคน ตั้งแต่ Elon Must ที่ถูกคนยกย่องว่าเป็นนักสร้างนวัตกรรมระดับโลก บางคนก็บอกว่าเป็น Iron Man ในชีวิตจริง ในขณะเดียวกับนักธุรกิจในไทยอย่างคุณตันก็เป็นคนที่มีคนรู้จักในระดับกว้างเช่นกัน อะไรที่คุณตันทำก็ย่อมมีคนจดจำ

หรือหากคุณอยากจะหาตัวอย่างนอกเหนือโลกธุรกิจ เราก็เห็นได้ว่า ‘นักการเมือง’ ทั้งหลายก็มี Personal Branding ที่ดี เราจะเห็นได้ว่าช่องเลือกตั้งนั้น นักการเมืองแต่ละคนจะมี ‘ตำแหน่งตลาด/Positioning’ ที่ชัดเจนมาก 

ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ศึกษา บทความของผมเรื่อง Positioning เพิ่มเติมนะครับ จะอธิบายเรื่องตำแหน่งตลาดไว้อย่างดีเลย

ข้อเสียของ Personal Branding

ถึงแม้ว่า Personal Branding จะมีข้อดีเยอะ และสามารถช่วยธุรกิจได้มากมาย แต่การสร้าง Personal Branding ก็มีข้อเสียอยู่ดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่เราสร้าง Personal Branding อย่างผิดๆ จนทำให้เกิดภาพลักษณ์ที่กลับมาทำร้ายเราภายหลังได้ โดยข้อเสียและความเสี่ยงของ Personal Branding มีดังนี้ครับ

การลงทุนระยะยาว – Personal Branding เป็นการลงทุนในระยะยาว และใช้เงินลงทุนเยอะ สำหรับธุรกิจคุณต้องออกสื่อบ่อยๆ ให้สัมภาษณ์ ออกงานอีเวนต์ ซึ่งบางคนใช้เวลาสร้างเป็นเวลาหลายสิบปีเลยทีเดียว วิธีที่จะก้าวผ่านข้อจำกัดนี้ได้ในเบื้องต้นก็คือ ในเลือกสื่อที่กลุ่มลูกค้าเราสนใจเท่านั้น ยิ่งเรานิยามและจำกัดกลุ่มลูกค้าได้ชัดเจนแค่ไหน เราก็จะสามารถประหยัดเวลาและงบเราได้มากขึ้นเท่านั้น

การคง Personal Brand ในระยะยาว – หากเรามองว่ามนุษย์นั้นเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา เรามีลูก มีครอบครัว ทำงาน ทำผิดพลาด เกษียร เราก็จะเข้าใจว่าหากเราจะคง Personal Branding ที่ดีได้ในระยะยาวนั้น เราอาจจะต้องละทิ้งตัวตนที่แท้จริงของตัวเองไป ปัญหานี้จะเห็นได้บ่อยในดาราหรือแม้แต่ YouTuber ที่คนส่วนมากจดจำจากภาพลักษณ์ในวัยเด็ก และคาดหวังให้เราเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ แม้จะผ่านไปสิบปี ยี่สิบปี นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นของอาการ Burnout ในหมู่คนดังเลย

ขายมากไปจะทำให้ดูไม่น่าเชื่อถือ – คนทั่วไปคงไม่ได้ว่าอะไรหากธุรกิจจะขายของเยอะ เพจธุรกิจจะโพสขายเท่าไรก็ได้ จะจ้างพรีเซนเตอร์ช่วยขายก็ได้ แต่สำหรับตัวบุคคลนั้น หากเราขายมากเกินไป ความน่าเชื่อถือของเราก็จะลดไปทันที และความน่าเชื่อถือจาก Personal Branding นั้นกู้รักษากลับได้ยากมาก ในส่วนนี้หลายคนถึงกับต้องจ้าง PR ส่วนบุคคลเพื่อดูแลภาพลักษณ์ไม่ให้แย่ลงในระยะยาว ข้อแนะนำง่ายๆก็คือ ขายของได้ แต่ให้ประโยชน์คนอื่นบ้าง

ปัญหาเวลาขยายธุรกิจ – การมี Personal Branding ก็คือการให้คนจดจำสิ่งที่เราทำ และบริษัทของเราว่าเป็นของเรา หมายความว่าในขณะที่เวลาคุณมีจำกัด คุณก็คงไม่สามารถออกงานได้หลายที่ ในกรณีทั่วไปธุรกิจกก็คงสามารถจ้างคนอื่นในการไปออกงานได้ แต่หากคนอยากฟังคุณเพราะ Personal Branding ของคุณ ปัญหาเรื่องการรับลูกค้าก็เป็นสิ่งที่เห็นได้บ่อย

Personal Branding สร้างอย่างไร

เราได้อธิบายไปแล้วว่า Personal Branding นั้นมีประโยชน์อะไรบ้าง และมีข้อเสียในด้านไหนบ้าง ในส่วนนี้เรามาทำความเข้าใจขั้นตอนการสร้าง Personal Branding ที่จะอยู่ได้ยาวนาน และลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเสียในด้านบนกันครับ

#1 เริ่มจากการหา ‘ตัวตน’ ที่คุณอยากจะสื่อสาร 

แบรนด์ที่ดีควรจะเริ่มจากตัวตนที่ชัดเจน ซึ่งก็คือการตอบคำถามว่า ‘ตัวตน’ แบบไหนที่เราอยากให้สังคมจดจำ แน่นอนว่าตัวตนที่สร้างได้ง่ายที่สุดก็คือตัวตนของคุณเอง หรือถ้าพูดตามภาษาคนทั่วไปก็คือ ‘เป็นตัวของตัวเองดีที่สุด’ 

อย่างไรก็ตามในบางครั้งเราก็เห็นได้ว่า ‘ตัวตน’ ที่ถูกสร้างขึ้นมาให้เหมาะสมกับแบรนด์ธุรกิจ ก็อาจจะทำให้เราขายดีได้มากขึ้นได้เหมือนกัน (ยกตัวอย่างเช่น ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ใช่คนกินอาหารคลีน แต่คุณก็อยากจะบอกว่าตัวเองรักสุขภาพ หรือคุณอาจจะไม่ได้เก่งเรื่องไอที แต่อยากให้คนจดจำว่าเก่งด้านเทคโนโลยี)

สำหรับคนที่เริ่มสร้างตัวตน (เพื่อการสร้างแบรนด์) ครั้งแรก ให้เริ่มจากการทำความเข้าใจ ทักษะและความน่าเชื่อถือต่างๆของตัวเอง ประสบการณ์ชีวิต และสิ่งที่คุณเชื่อมั่นและนับถือก่อน เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่อธิบายความเป็นตัวคุณได้ดีที่สุด 

#2 หากลุ่มเป้าหมายที่ตัวตนนี้จูงใจได้ง่ายสุด

กลุ่มเป้าหมายก็คือกลุ่มคนที่คุณคิดว่าจะตอบรับกับสิ่งที่คุณอยากสื่อสารและนำเสนอได้ดีที่สุด ซึ่งก็จะเป็นกลุ่มคนที่น่าจะเข้าใจเรื่องเล่าชีวิต เป้าหมายและประสบการณ์ต่างๆ ที่คุณพบเจอมาได้ง่ายกว่ากลุ่มคนอื่นๆ

สิ่งที่เราต้องนิยามให้ได้ก็คือ ภูมิประชากรศาสตร์ (Demographic) ของกลุ่มเป้าหมายเรา คนเหล่านี้น่าจะอายุเท่าไร เพศอะไร เรียนสูงระดับไหน มีรายได้เท่าไร ทำงานอะไร 

นอกจากนั้นเราก็ควรทำความเข้าใจเกี่ยวกับความคิดความรู้สึกของกลุ่มเป้าหมายด้วย คนเหล่านี้มีเป้าหมายอะไรในชีวิต วางแผนอนาคตไว้อย่างไรบ้าง และมีปัญหาอะไรที่เราสามารถเข้าไปช่วยแก้ไขให้ได้บ้างหรือเปล่า

#3 สร้าง ‘ข้อเสนอ’ จากตัวคุณไปสู่กลุ่มเป้าหมาย

คนส่วนมากที่อยากสร้าง Personal Brand ก็เพราะอยากจะขายอะไรซักอย่าง อาจจะเป็นนักธุรกิจที่อยากขายของ ดาราที่อยากให้คนจดจำ หรือนักการเมืองที่อยากให้คนสนับสนุน การสร้างแบรนด์นั้นใช้ทั้งเวลาและความพยายามอย่างมาก ส่วนมากแล้วเจ้าของแบรนด์ก็คงอยากได้อะไรตอบแทน

ในส่วนนี้หากคุณทำการบ้านของสองมาดีแล้ว คุณก็จะรู้ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณมีปัญหาอะไรบ้าง หลักจากนั้นก็เป็นแค่การ ‘หาทางแก้ปัญหา’ ให้กับคนเหล่านี้ อาจจะเป็นการให้ความรู้ การแนะนำวิธีแก้ปัญหา หรือการขายของก็ได้ หลักการธุรกิจเรียกสิ่งนี้ว่า Value Proposition หรือการนำเสนอคุณค่า (อ่านเพิ่มเติมได้ที่นี่)

และข้อเสนอที่ดีที่สุดก็คือข้อเสนอที่มาจากจุดแข็งของคุณ เป็นสิ่งที่คุณเคยทำมาก่อน เคยเจอมาก่อน และเป็นสิ่งที่คุณสามารถเล่าเรื่องได้จากประสบการณ์ชีวิตของคุณว่าคุณเข้าใจปัญหาของอีกฝ่ายดี 

เราไม่ได้ต้องเก่งกว่า ฉลาดกว่า หรือมีทักษะมากกว่าคนในกลุ่มเป้าหมายเราก็ได้ หลายๆครั้งที่มนุษย์ให้ความสำคัญกับ ‘คนทั่วไป’ เพราะคนแบบนี้น่าจะเข้าใจเราได้ สามารถเป็นกระบอกเสียงให้เราได้ ซึ่งก็เป็นสาเหตุที่การเป็นตัวของตัวเองก็คือ Personal Branding ที่ดี เพราะเราจะดึงดูดคนที่ชอบในตัวเราจริงๆ รักเราไม่ใช่เพราะเราเก่ง แต่เป็นเพราะเราเป็นเหมือนคนเหล่านั้น

#4 สร้าง ‘คลังข้อมูล’ ที่ผู้ติดตามสามารถเสพได้

หลังจากที่คุณได้สร้างตัวตนและเลือกกลุ่มเป้าหมายแล้ว ขั้นตอนหลังจากนี้ก็คือการทำให้ผู้คนสามารถจดจำคนได้ 

อย่างที่ทุกคนคงรู้กัน เราต้องเน้นย้ำข้อความเดิมๆซ้ำให้คนฝังหลายๆครั้งเพื่อให้เขาสามารถจดจำเราได้ง่ายขึ้น

ซึ่งก็เป็นหน้าที่ของการสร้าง ‘คลังข้อมูล’ ที่จะทำให้คนสามารถค้นหาคุณได้ง่ายขึ้น เหมาะสำหรับการให้คนมาติดตามข่าวสารเกี่ยวกับคุณเพิ่มเติม โดยที่คุณไม่ต้องเสียเงินซื้อโฆษณา

คลังข้อมูลในที่นี้ก็คือการสร้าง Facebook Page, Instagram และ YouTube ยิ่งคุณสามารถบริหารเวลาสร้าง content ไปลงบนเว็บไซต์พวกนี้ได้เยอะเท่าไหร่ โอกาสที่คุณจะสามารถสื่อสารให้กับกลุ่มเป้าหมายคนรับฟังได้ก็มีเยอะขึ้น

ในเบื้องต้น ให้เตรียมวีดีโอ ภาพ และ ข้อมูลอื่นๆไว้ 5-10 โพสก่อน อาจจะเป็น content ที่ใช้อธิบายประวัติของคุณ หรืออาจจะเป็น content ที่เกี่ยวกับการสอน การแก้ปัญหาให้กับกลุ่มเป้าหมายก็ได้ แล้วก็นำ content เหล่านี้ไปโพสต์ให้ครบทุกช่องทาง

#5 กลยุทธ์การสร้างคอนเทนต์

หลังจากที่เราได้เตรียมช่องทางการติดต่อต่างๆไว้เรียบร้อยแล้ว หลังจากนั้นก็คือการวางแผนสำหรับอนาคต ซึ่งในส่วนนี้ก็คือการสร้างปฏิทินคอนเทนต์ (Content Calendar)

พูดง่ายๆก็คือ ทุกๆสิ้นเดือน คุณต้องวางแผนว่าใน 30 วันข้างหน้าคุณจะโพสต์เรื่องอะไรบ้าง ในช่องทางไหนบ้าง

ในโลกของการสร้าง content ยิ่งคุณสามารถผลิตได้เยอะก็ยิ่งดี

Youtube – 1-2 video ทุกอาทิตย์
Instagram – โพสต์ภาพและ Instagram Story ทุกวัน
Facebook – 1-3 โพสต์ทุกวัน (วีดีโอหรือภาพ)

ในส่วนนี้ก็ขึ้นอยู่กับว่าคุณมีทีมงานเยอะแค่ไหน และคุณมีทักษะในการสร้าง content เดียวแค่ไหน แน่นอนว่าหากคุณมีการวางแผนที่ดี และมีทีมงานช่วยบ้าง การสร้าง content ก็จะทำได้ง่ายขึ้น

#6 เลือกช่องทางการสื่อสารเพิ่มเติม

นอกจากการทำ content ในช่องทางต่างๆของเราแล้ว เราก็ต้องหาวิธี ‘เพิ่มการมองเห็น’ ให้กับตัวเองด้วยการเข้าหาช่องทางอื่นๆด้วย

ยกตัวอย่างเช่น การทำวีดีโอร่วมกับเพจอื่นๆ การไปออกสัมภาษณ์ หรือการไปออกงานต่างๆ 

ในตอนเริ่มแรก งานส่วนนี้ก็อาจจะยากหน่อยหาคุณไม่ได้มีเส้นสายหรือประสบการณ์มาก่อน อย่างไรก็ตามหาคุณทำไปเรื่อยๆ พอคนส่วนมากเริ่มจำคุณได้ พอเพจต่างๆของคุณเริ่มมีคนติดตามเยอะ คนอื่นๆก็จะมาชวนคุณไปออกงานเอง

#7 เริ่มเก็บฐานกลุ่มเป้าหมาย

หากคุณทำได้ถึงขั้นตอนนี้คุณก็คงมีผู้ติดตามเพจมากประมาณหนึ่ง อย่างไรก็ตามผู้ติดตามเพจก็เป็นแค่คนที่รู้จักคุณเพียงผิวเผิน 

ในส่วนนี้ เป้าหมายของคุณก็คือการสร้างฐานกลุ่มลูกค้า หรือที่หลายคนเรียกกันว่าแฟนคลับนั่นเอง

ซึ่งก็คือกลุ่มคนที่ชื่นชอบคุณเป็นพิเศษ อยากติดตามคุณเป็นพิเศษ (นอกเหนือจากช่องทางปกติอย่างเพจของคุณ)

วิธีที่ดีที่สุดสำหรับลูกค้ากลุ่มในไทย ก็คือการสร้าง Facebook Group ลับ (Private) หรือการสร้างกรุ๊ปไลน์ส่วนตัว ที่จะมีแค่แฟนคลับเท่านั้นที่จะเข้ามาได้ และสำหรับกลุ่มคนเหล่านี้คุณก็สามารถแจกคอนเทนต์พิเศษ หรือจัดงานต่างๆได้ ลองนึกภาพพวกดาราที่จัด event เล็กๆให้แฟนคลับตัวเอง

ในขณะที่แฟนคลับของคุณก็มีหน้าที่ในการสนับสนุนคุณ คุณก็ต้องมีหน้าที่ในการสนับสนุนและคอยช่วยเหลือแฟนคลับเช่นกัน

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ Personal Branding

อย่างที่ผมได้บอกไปในตอนแรก โลกออนไลน์ทำให้การสร้างแบรนด์ส่วนบุคคลนั้นทำได้ง่ายขึ้นมาก แต่เพียงแค่คุณมีโอกาสก็ไม่ได้แปลว่าคุณจะสามารถสร้างแบรนด์ได้ดี 

เราจะเห็นได้บ่อยว่าในประเทศไทย มี ‘คนดัง’ หลายคนสร้างแบรนด์แบบไม่มีประสิทธิภาพ พอมีผู้ติดตามมากๆแล้วก็ไม่หาวิธีต่อยอด หรือหาวิธีต่อยอดได้แต่ก็ดำเนินการผิดๆจนทำให้ผู้ติดตามผิดหวัง กลายเป็นการ PR ตัวเองในด้านลบ

ในบล็อกนี้ผมได้เขียนเกี่ยวกับเรื่องการสร้างแบรนด์ไว้เยอะมาก ผมแนะนำให้ทุกคนลองเลือกหัวข้อที่ตัวเองสนใจได้เลยนะครับ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด