SWOT คืออะไร มีอะไรบ้าง วิธีวิเคราะห์ SWOT Analysis ฉบับปี 2024

SWOT คืออะไร

SWOT มีอะไรบ้าง วิเคราะห์ดี มีชัยไปกว่าครึ่ง

ความสำคัญอย่างหนึ่งของการบริหารธุรกิจ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ SME ธุรกิจ Start-up หรือธุรกิจขนาดใหญ่ คือการมีเครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ ซึ่งเครื่องมืออย่างหนึ่งที่เป็นที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายคงไม่พ้นเครื่องมือ SWOT หรือที่เราอ่านกันว่า “สวอต” เป็นเครื่องมีวิเคราะห์ธุรกิจที่มีประโยชน์มากจากการใช้งานและเป็นเครื่องมือที่ง่ายต่อการเข้าใจกันในองค์กร แล้ว SWOT คืออะไร วิธีและขั้นตอนในการวิเคราะห์ SWOT มีอะไรบ้าง?

swot มีอะไรบ้าง

เครื่องมือวิเคราะห์ธุรกิจ SWOT คืออะไร?

เครื่องมือ SWOT คือการวิเคราะห์ประเมินศักยภาพในการทำธุรกิจและสภาพแวดล้อมจากปัจจัยภายนอก เครื่องมือนี้ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อการค้นหาความได้เปรียบทางธุรกิจและลดความเสี่ยงในการล้มเหลวของธุรกิจที่เราสร้าง โดยเครื่องมือ SWOT จะแบ่งออกเป็นปัจจัยภายในและปัจจัยภายนอก แต่ละปัจจัยสามารถเพิ่มเติมข้อมูลโดยการวิเคราะห์ SWOT เชิงปริมาณได้

ปัจจัยภายใน : จุดแข็ง กับ จุดอ่อน เป็นปัจจัยที่สามารถควบคุมได้ เช่น ประเภทของสินค้า กลยุทธ์การทำการตลาด การเลือกจ้างพนักงาน ช่องทางการจัดจำหน่าย ที่ตั้ง เป็นต้น

ปัจจัยภายนอก : โอกาส กับ อุปสรรค เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาของวัตถุดิบ พฤติกรรมการซื้อสินค้าหรือบริการของลูกค้า สภาพเศรษฐกิจที่มีการเปลี่ยนแปลงเสมอ คู่แข่ง เป็นต้น

เครื่องมือ SWOT มีอะไรบ้าง?

Strength (จุดแข็ง) เป็นปัจจัยภายในอย่างหนึ่งที่มีความเหนือกว่าคู่แข่ง เป็นเหมือนสิ่งชูโรงสำหรับธุรกิจที่ตัวเองมี แตกต่างจากคู่แข่งและเลียนแบบยาก เช่น คุณภาพของสินค้าหรือบริการมีความ unique เป็นของตัวเอง สามารถขายได้เร็วกว่าคู่แข่ง หรือการมีค่าใช้จ่ายน้อยกว่า เป็นต้น

Weakness (จุดอ่อน) เป็นปัจจัยภายในที่บ่งบอกถึงข้อด้อยของธุรกิจที่เสียเปรียบคู่แข่ง มีจุดบกพร่องที่ต้องได้รับการแก้ไข เช่น ช่องทางการจัดจำหน่ายน้อยกว่า ขายได้ช้ากว่า จัดส่งช้า มีคนรู้จักสินค้าหรือบริการของเราน้อยกว่า รวมถึงสินค้าที่มีความหลากหลายน้อยกว่าคู่แข่ง เป็นต้น

Opportunity (โอกาส) เป็นปัจจัยภายนอกสภาพแวดล้อมของธุรกิจ ซึ่งในข้อนี้ จะเป็นการวิเคราะห์โอกาสต่าง ๆ ที่อาจส่งผลดีต่อธุรกิจ และเป็นโอกาสในการพัฒนาธุรกิจให้มีความได้เปรียบต่อคู่แข่งมากยิ่งขึ้น เช่น ตลาดอยู่ในช่วงขาขึ้นจนทำให้สินค้าขายดี คู่แข่งอยู่ในช่วงประสบปัญหาภายในหรือเกิดกระแสไม่ดี รัฐบาลสนับสนุนโครงการบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจของเรา เป็นต้น

Threat (อุปสรรค) เป็นปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งที่วิเคราะห์ถึงอุปสรรคที่อาจทำให้เกิดผลลบต่อองค์กร ทำให้องค์กรทางธุรกิจของเราต้องปรับตัวเสมอ เช่น เทคโนโลยีใหม่ที่เข้าสู่ตลาดที่อาจทำให้สินค้าขายดีของเราต้องหยุดชะงัก หรือการที่มีคู่แข่งหน้าใหม่เข้ามาตีตลาดหรือธุรกิจทุนสูงเข้ามาตีตลาด คู่แข่งมีการเปิดตัวสินค้าใหม่เข้ามาแย่งพื้นที่ตลาด เป็นต้น

วิธีการวิเคราะห์ SWOT

การทำ SWOT อย่างมีประสิทธิภาพ จำเป็นอย่างมากที่ทุกภาคส่วนของธุรกิจต้องเข้ามาช่วยกันวิเคราะห์องค์ประกอบของ SWOT วิธีการวิเคราะห์ SWOT จะมีดังนี้

จุดแข็ง

Strength (จุดแข็ง)

การวิเคราะห์จุดแข็งภายในองค์กรและการวิเคราะห์คู่แข่ง รวมถึงคนในอุตสาหกรรมและลูกค้าด้วย เพื่อให้เข้าใจถึงจุดแข็งของธุรกิจอย่างถ่องแท้ เราต้องตั้งคำถามกับธุรกิจของเราดังนี้

–   จุดขายทางธุรกิจของเรา คืออะไร?

–   จุดขายที่คนอื่นไม่สามารถทำตามเราได้ มีอะไรบ้าง?

–   ความแตกต่างของสินค้าหรือบริการระหว่างคู่แข่ง มีอะไรบ้าง?

–   ข้อได้เปรียบของธุรกิจเรา คืออะไร?

–   อะไรที่ทำให้สินค้าหรือบริการของเรา ขายได้?

–   คนในองค์กร หรือลูกค้า มีความเห็นอย่างไรต่อจุดแข็งของเรา?

อาจลองนึกถึงทักษะของพนักงานที่เรามี เส้นสายหรือสิ่งต่าง ๆ ที่คู่แข่งไม่มี หรือกระบวนการลดต้นทุนต่าง ๆ ที่เราสามารถทำได้ เป็นต้น

วิเคราะห์จุดอ่อน

Weakness (จุดอ่อน)

ให้ลองมองจากมุมมองของคู่แข่ง คนในองค์กร หรือจากลูกค้า การยอมรับจุดอ่อนของตัวเองไม่ได้ ก็มีโอกาสสูงที่ธุรกิจของเราจะโดนคู่แข่งแซง เพราะฉะนั้น การวิเคราะห์จุดอ่อนของธุรกิจ ต้องคิดอย่างตรงไปตรงมา โดยการตั้งคำถามดังนี้

–   เทียบกับคู่แข่ง อะไรคือสิ่งที่คู่แข่งมี แต่เราไม่มี?

–   อะไรที่ทำให้เสียลูกค้า หรือไม่สามารถปิดการขายได้?

–   คนในองค์กร หรือลูกค้า คิดว่าส่วนไหนเป็นจุดอ่อนของธุรกิจเรา?

–   ควรเลี่ยงอะไรบ้าง เพื่อให้ธุรกิจกระเตื้องมากขึ้น?

–   มีอะไรบ้างที่ต้องพัฒนา? กระบวนการไหนที่ไม่มีประสิทธิภาพ?

จุดอ่อนที่มี ต้องได้รับการแก้ไขเพื่อพัฒนาให้ดีขึ้นและไม่เป็นต้นตอของปัญหาในอนาคต

โอกาสทางธุรกิจ

Opportunity (โอกาส)

คือโอกาสที่สิ่งดี ๆ สามารถเกิดขึ้นกับธุรกิจของเราได้ หรือปัจจัยภายนอกอย่างหนึ่งที่เป็นด้านบวก ต้องจับตาดู ซึ่งยิ่งรู้เยอะ โอกาสก็จะยิ่งเยอะขึ้นด้วย ซึ่งการวิเคราะห์โอกาสที่มีประสิทธิภาพ สามารถดูได้จากจุดแข็งของเราเป็นอันดับแรก และจุดแข็งเหล่านั้นสามารถสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้เราได้มากแค่ไหน นอกจากนั้นก็สามารถวิเคราะห์โอกาสจากจุดอ่อนเพื่อลดจุดอ่อนได้ด้วยเหมือนกัน ซึ่งคำถามที่เราควรตั้งเพื่อวิเคราะห์ มีดังนี้

–   พฤติกรรมและนิสัยในการซื้อของลูกค้า จะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง?

–   โอกาสทางธุรกิจที่เราสามารถเข้าหาได้ง่าย มีอะไรบ้าง?

–   เทคโนโลยีจะมีการเปลี่ยนแปลงอีกมากน้อยแค่ไหน?

–   เทรนทางธุรกิจอะไรที่ส่งผลดีต่อธุรกิจของเราบ้าง?

–   เหตุการณ์อะไรที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจเราบ้าง?

–   กฎหมายและการเมือง ส่งผลหรือมีความเกี่ยวข้องอย่างไรต่อธุรกิจของเรา?

อุปสรรคทางธุรกิจ

Threat (อุปสรรค)

มีโอกาส ก็อาจมีอุปสรรคได้เช่นกัน ปัจจัยภายนอกด้านลบอะไรบ้างที่ส่งผลเสียต่อธุรกิจของเรา หรืออะไรบ้างที่ต้องจับตาเป็นพิเศษเพื่อป้องกันความเสี่ยง เราสามารถตั้งคำถามได้ดังนี้

–   คู่แข่งกำลังพัฒนาอะไรอยู่?

–   เทคโนโลยีใหม่ที่กำลังมา จะส่งผลอย่างไรต่อธุรกิจเรา?

–   มาตรฐานขององค์กร มาตรฐานของสินค้าหรือบริการตกไปหรือเปล่า?

–   อุปสรรคโดยรวมที่ต้องเจอ มีอะไรบ้าง?

–   จุดอ่อนของเราที่เป็นอุปสรรคต่อธุรกิจ มีอะไรบ้าง?

การวิเคราะห์ swot

 ขั้นตอนในการวิเคราะห์ SWOT

การวิเคราะห์ธุรกิจด้วยเครื่องมือ SWOT ควรทำตามขั้นตอน ด้วย 8 ขั้นตอน ดังนี้

1 . วัตถุประสงค์ของ SWOT คืออะไร?

การวิเคราะห์ SWOT เราทำเพื่ออะไร? ปัจจัยต่าง ๆ ที่เราอยากแก้ปัญหาคืออะไร? การตอบคำถามตรงนี้ให้ได้ จะทำให้เราสามารถเลือกปัจจัยต่าง ๆ มาสรางเป็นแผนธุรกิจได้ง่ายมากขึ้น เช่น การวิเคราะห์เพื่อการส่งเสริมสินค้าใหม่เข้าไปในตลาด การเปลี่ยนแปลงวิธีการขายหลัก การเพิ่มยอดขาย เป็นต้น

2 . ทำความเข้าใจตลาด ธุรกิจ

การเปรียบเทียบกับคู่แข่ง เป็นสิ่งสำคัญในการวิเคราะห์ SWOT ทั้งปัจจัยภายในและภายนอก การเข้าใจธุรกิจและตลาด รวมถึงอุตสาหกรรม เลยเป็นสิ่งสำคัญที่ตามมา โดยการทำวิจัยตลาดเพื่อหาข้อมูลให้ได้มากที่สุด ให้ได้ไอเดียมากที่สุด

3 . คิดจุดแข็งเป็นอันดับแรก

ปัจจัยบวกภายในอย่างจุดแข็ง เป็นสิ่งที่เราสามารถพูดถึงได้ง่ายที่สุด เพราะการพูดถึงข้อดีเป็นสิ่งที่เราน่าจะเข้าใจได้มากที่สุด ทั้งเรื่องงของที่ตั้งธุรกิจ ข้อได้เปรียบทางต้นทุน คุณภาพสินค้าหรือพนักงาน การเงิน และความสามารถในตลาด เป็นต้น

4 . ยอมรับการวิเคราะห์จุดอ่อน

ถ้าจุดแข็งพูดง่าย จุดอ่อนก็อาจจะพูดยากหน่อย แต่จะไม่พูดถึงก็ไม่ได้ อะไรบ้างที่เป็นจุดอ่อน อะไรบ้างที่เป็นจุดเสียเปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่ง เช่น คุณภาพของพนักงานไม่ดี จุดกระจายสินค้าน้อย สต็อกสินค้าน้อยเกินไป เป็นต้น

5 . วิเคราะห์โอกาส

ปัจจัยภายนอกอย่างโอกาส เป็นสิ่งที่ต้องวิเคราะห์เพื่ออนาคต เพราะโอกาสอาจส่งผลดีต่อธุรกิจได้ไม่มากก็น้อย เช่น คู่ค้าใหม่ เทคโนโลยีที่เป็นผลดีต่อธุรกิจ การสนับสนุนที่มากขึ้น เป็นต้น

6 . การเข้าใจอุปสรรค

อุปสรรคจะอยู่ตรงข้ามกับโอกาส เมื่อมีโอกาสก็อาจมีอุปสรรคอยู่ด้วยเช่นกัน เช่น คู่แข่งหน้าใหม่ คู่แข่งเปิดตัวสินค้าใหม่ รวมถึงสถานการณ์ทางการเมืองและเศรษฐกิจ เป็นต้น

7 . จัดความสำคัญในปัจจัยต่าง ๆ

อะไรบ้างที่สามารถทำได้เลย อะไรบ้างที่ทำทีหลังก็ได้หรือใช้กระบวนการในการคิด ตัดสินใจนาน รวมถึงการจำความสำคัญว่าอะไรต้องแก้ปัญหาเป็นอันดับแรก เช่น ปัจจัยภายในอย่างจุดอ่อน เป็นสิ่งที่ต้องแก้ไขอันดับแรกเพื่อให้ธุรกิจทัดเทียมกับคู่แข่ง

8 . ปิดท้ายด้านการสร้างกลยุทธ์

–   จุดแข็งของเรา เปลี่ยนเป็นโอกาสได้ไหม?

–   จุดแข็งของเรา แก้อุปสรรค์ได้ไหม?

–   โอกาสที่มี จะลดจุดอ่อนได้หรือเปล่า?

–   การผ่านอุปสรรค จะลดจุดอ่อนได้ไหม?

แผนการเหล่านี้ คือผลจากการวิเคราะห์ SWOT อย่างมีขั้นตอน เพื่อให้สามารถมองปัจจัยได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

เครื่องมือการวิเคราะห์ธุรกิจ SWOT ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น เป็นเครื่องมือที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายในแวดวงธุรกิจ เพราะนอกจากจะทำให้เห็นมุมมองทางตลาดได้อย่างกว้างแล้ว ก็ทำให้เข้าใจธุรกิจของตัวเองมากขึ้นด้วยเช่นกัน ซึ่งการวิเคราะห์อย่างสม่ำเสมอ จะทำให้เราสามารถติดตามการเติบโตของธุรกิจของเราได้ รวมถึงการรู้จุดแข็ง จุดอ่อนเป็นอย่างดี ทำให้เครื่องมือ SWOT เป็นเครื่องมือที่ขาดไม่ได้สำหรับเหล่านักธุรกิจ แต่ SWOT ข้อดี ข้อเสียของกลยุทธ์นี้ก็มีเช่นกัน ทำให้เราต้องศึกษากลยุทธ์ SWOT อย่างลึกซึ้งเป็นพิเศษ


อ่านบทความเพิ่มเติม :

SWOT กับ TOWS ต่างกันอย่างไร (การใช้งานและตัวเลือกอื่น)

PESTEL Analysis คืออะไร? วิธีวิเคราะห์ปัจจัยภายนอกที่ดี

วิธีวางแผนการตลาดออนไลน์ (ที่เพิ่มยอดขายได้จริง)

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด