SME คืออะไร – ลักษณะ ประเภท ข้อดีข้อเสียของ SME

SME คืออะไร - ลักษณะ ประเภท ข้อดีข้อเสียของ SME

ธุรกิจมีหลายขนาด หลายประเภท แน่นอนว่าธุรกิจที่เราคุ้นเคยอาจจะเป็นธุรกิจดัง แบรนด์ใหญ่ แต่อีกหนึ่งส่วนของธุรกิจที่น่าสนใจก็คือธุรกิจประเภท SME นั่นเอง และถึงแม้ว่า SME อาจจะดูเหมือนไม่สำคัญ มีขนาดเล็ก แต่หากเรามาลองทำความเข้าใจกันจริงๆแล้ว SME ก็เป็นฟันเฟืองของทุกอย่างรอบตัวเราเลย

ในบทความนี้เรามาดูกันว่า SME คืออะไร สามารถถูกจำแนกประเภทได้ด้วยเกณฑ์อะไรบ้าง มีลักษณะข้อดีข้อเสียอะไรบ้าง และส่งผลยังไงต่อสังคมกับเศรษฐกิจ

SME คืออะไร

SME (Small and Medium Enterprises) หมายถึงวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม ซึ่งในประเทศไทย แต่ละกลุ่มธุรกิจจะถูกจำแนกผ่านตามจำนวนการจ้างงานและจำนวนสินทรัพท์ ธุรกิจ SME ที่อยู่ในเกณฑ์รายได้และเกณฑ์ทุนจดทะเบียนตามกรมสรรพากรก็จะได้สิทธิประโยชน์ทางภาษี

ซึ่งการแยกระหว่างวิสาหกิจขนาดเล็กและขนาดกลางจะเป็นดังนี้

การแยกประเภทของวิสาหกิจขนาดเล็ก (Small Enterprises)

การผลิต: สินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 50 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ไม่เกิน 50 คน
การบริการ: สินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 50 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ไม่เกิน 50 คน
การค้าส่ง: สินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 50 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ไม่เกิน 25 คน
การค้าปลีก: สินทรัพย์ถาวร ไม่เกิน 50 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ไม่เกิน 15 คน

การแยกประเภทของวิสาหกิจขนาดกลาง (Medium Enterprises)

การผลิต: สินทรัพย์ถาวร ระหว่าง 51-200 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ระหว่าง 51-200 คน
การบริการ: สินทรัพย์ถาวร ระหว่าง 51-200 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ระหว่าง 51-200 คน
การค้าส่ง: สินทรัพย์ถาวร ระหว่าง 51-100 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ระหว่าง 26-50 คน
การค้าปลีก: สินทรัพย์ถาวร ระหว่าง 31-60 ล้านบาท, จำนวนพนักงาน ระหว่าง 16-30 คน

หากมีกรณีไหนที่มีองค์กรอาจจะมีสินทรัพย์ถาวรหรือจำนวนพนักงานผ่านเกณฑ์หนึ่งแต่อีกอย่างไม่ผ่านเกณฑ์ (เช่นสินทรัพย์ถาวรอยู่ในเกณฑ์ธุรกิจขนาดกลาง จำนวนพนักงานอยู่ในกลุ่มธุรกิจขนาดเล็ก หรือสลับกัน) ก็ให้ถือจำนวนการจ้างงานหรือมูลค่าสินทรัพย์ถาวรที่น้อยกว่าเป็นเกณฑ์การพิจารณา 

วิธีแยก SME แบบนี้ทางรัฐบาลอาจจะใช้ในการคัดกรองธุรกิจเพื่อทำการช่วยเหลือหรือเยียวยาในเวลาที่จำเป็น (ขึ้นอยู่กับข้อจำกัดแต่ละโครงการ) เป็นการกำหนดลักษณะธุรกิจ ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 

แต่พระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ก็มีอีกวิธีในการแยก SME ซึ่งเป็นวิธีที่กรมสรรพากรใช้ในการเลือกธุรกิจเพื่อให้การสนับสนุนส่งเสริมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษี (หากธุรกิจอยู่ในเกณฑ์ ก็จะจ่ายภาษีในสัดส่วนที่น้อยกว่า) ดูได้ในหัวข้อถัดไปนะครับ

ธุรกิจ SME มีลักษณะอย่างไร (ตามกรมสรรพากร)

ลักษณะของธุรกิจ SME ตามกรมสรรพากร ก็คือธุรกิจที่มีรายได้ต่ำกว่า 30 ล้านบาทต่อปี และ มีทุนจดทะเบียนไม่เกิน 5 ล้านบาท ซึ่งธุรกิจที่เข้าเกณฑ์รายได้และเกณฑ์ทุนจดทะเบียนทั้งสองเงื่อนไขก็จะได้ สิทธิประโยชน์ทางภาษีที่ อัตราภาษี 0% สำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และ 15% กำไรระหว่าง 300,001 – 3,000,000 บาทต่อปี

อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการให้ข้อมูลอย่างชัดเจนที่สุด สามารถดูรายละเอียดตามพระราชบัญญัติส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม พ.ศ.2543 ที่กรมสรรพากรเป็นเกณฑ์ได้ดังนี้

  • เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและบริการในรอบระยะเวลาบัญชีไม่เกิน 30 ล้านบาท
  • เป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลมีสินทรัพย์ถาวรไม่รวมที่ดินไม่เกิน 200 ล้านบาทและจ้างแรงงานไม่เกิน 200 คน
  • เป็นกิจการขายสินค้าหรือให้บริการที่อยู่ในบังคับภาษีมูลค่าเพิ่มที่มีรายรับไม่เกิน 1.8 ล้านบาทต่อปีหรือต่อรอบระยะเวลาบัญชีได้รับการยกเว้นภาษีมูลค่าเพิ่ม

โดยกรมสรรพากรระบุไว้ดังนี้ (ที่มา)

การให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีจะกำหนดหลักเกณฑ์ธุรกิจ SMEs ลักษณะใดลักษณะหนึ่ง ในการให้สิทธิประโยชน์นั้น ๆ 

เช่น บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วในวันสุดท้ายของรอบระยะเวลาบัญชี ไม่เกิน 5 ล้านบาท และมีรายได้จากการขายสินค้าและให้บริการไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อรอบระยะเวลาบัญชี จะได้สิทธิประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสำหรับกำไรสุทธิ 300,000 บาทแรก 

หรือบริษัทฯ ที่มีแรงงานไม่เกิน 200 คน จะได้รับสิทธิประโยชน์ทางภาษีหักค่าสึกหรอ และค่าเสื่อมราคา ในอัตราเร่ง เป็นต้น

อย่างที่ได้อธิบายไว้ครับ ลักษณะของธุรกิจ SME แบบนี้คือที่กรมสรรพากรใช้เป็นหลักเกณฑ์ ซึ่งสิทธิประโยชน์ทางภาษีของ SME จะอยู่ที่อัตราภาษี 0% สำหรับธุรกิจที่มีกำไรไม่เกิน 300,000 บาทต่อปี และ 15% สำหรับธุรกิจที่มีกำไรระหว่าง 300,001 – 3,000,000 บาทต่อปี

เราดูกันเรื่องคำนิยามและเกณฑ์ลักษณะกันมามากแล้ว ต่อไปเรามาดูเกี่ยวกับเรื่องข้อดีข้อเสีย และ ประโยชน์ของธุรกิจ SME บ้าง

SME มีความแตกต่างจากธุรกิจอื่นอย่างไร

ทำไม SME ถึงแตกต่างจากธุรกิจอื่น

จำนวนพนักงาน – เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่าจำนวนพนักงานที่น้อยคือคุณลักษณะอย่างแรกของ SME ซึ่งยกเว้นว่าจะเป็นธุรกิจประเภทออนไลน์ที่งานและหน้าที่หลายๆอย่างมีเครื่องมือคอยช่วยเหลือ จุดนี้จะเป็นจุดแรกที่ทำให้องค์กรขนาดเล็กและขนาดกลางไม่สามารถเติบโตได้อย่างรวดเร็ว การจ้างงานนั้นใช้เวลา ต่อให้เป็นธุรกิจที่มีเงินลงทุนเยอะก็ไม่สามารถทำได้ทันที

ขนาดของตลาด – โดยรวมแล้ว ธุรกิจขนาดเล็กจะอยู่ได้อย่างสุดจากการครอบครองตลาดขนาดเล็ก ซึ่งเป็นตลาดที่ทำกำไรได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้ใหญ่มากจนบริษัทอื่นๆที่ทุนเยอะกว่าจะอยากเข้ามาแทรกแซง อย่างไรก็ตาม ธุรกิจที่มีเส้นสายหรือมีสินทรัพย์ที่มีค่าทางธุรกิจ (รู้จักลูกค้าใหญ่ มีที่ดินทำเลดี) ก็จะสามารถเติบโตได้อย่างแข็งแรงมากขึ้น เป็นความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive Advantage) อย่างหนึ่ง

พื้นที่และการเข้าถึง – ด้วยงบประมาณที่จำกัด SME ส่วนมากจะเป็นธุรกิจที่มีหน้าร้านเดียว (แต่เทรนด์ออนไลน์ก็ทำให้ธุรกิจสามารถประกอบการได้จากบ้านหรือห้องเล็กๆด้วยซ้ำ) ข้อเปรียบเทียบที่เราต้องเข้าใจก็คือธุรกิจร้านขายของหน้าปากซอยที่มีหน้าร้านเดียว กับ 7-11 ที่มีทั่วประเทศ

เงินลงทุน – โดยรวมแล้ว SME เป็นกิจการที่มีเงินลงทุนน้อยกว่า ทำให้ไม่สามารถขยายตัวได้ง่าย ธุรกิจขนาดใหญ่มีวิธีหาเงินลงทุนเพิ่มหลายวิธีกว่ามาก 

หากเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่ SME ก็มีหลายจุดที่แตกต่าง ซึ่งคุณลักษณะที่แตกต่างเหล่านี้ก็จะทำให้เกิดข้อดีข้อเสียหลายอย่าง และเจ้าของธุรกิจ SME ที่ดีก็ควรทำความเข้าใจข้อได้เปรียบและข้อจำกัดเหล่านี้เพื่อนำไปประกอบธุรกิจให้ประสบความสำเร็จมากที่สุด

ข้อดีของธุรกิจ SME

ความคล่องในการปรับตัว – SME เป็นธุรกิจที่มีขนาดเล็ก มีจำนวนพนักงานน้อยกว่าและมีค่าใช้จ่ายคงที่บางส่วนน้อยกว่า ทำให้สามารถปรับตัวได้ง่ายกว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาวะวิกฤต เหมาะสำหรับการหาตลาดใหม่ การหากลุ่มลูกค้าใหม่ หรือการเปลี่ยนกลยุทธ์อย่างรวดเร็ว

ความใกล้ชิดลูกค้า – SME โดยรวมแล้วจะครอบคลุมพื้นที่ที่น้อยกว่าธุรกิจขนาดใหญ่ ซึ่งทำให้มีฐานลูกค้าน้อยกว่า แต่ข้อดีก็คือธุรกิจแบบนี้จะบริการและให้ความสำคัญกับกลุ่มลูกค้าเฉพาะทางได้ดีกว่ามาก ร้านค้าเล็กๆจะสามารถจำได้ว่าลูกค้าแต่ละคนคือใคร ชอบอะไร ซึ่งธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีหลายสาขาก็จะไม่สามารถให้ความรู้สึกพิเศษนี้กับลูกค้าได้

ตลาดเฉพาะกลุ่ม (Niche Market) – โดยรวมแล้ว ตลาดเฉพาะกลุ่มจะมีขนาดเล็กแต่มีคู่แข่งน้อย เป็นตลาดที่เจ้าใหญ่จะไม่อยากลงมาแข่งขันด้วยเพราะไม่สามารถสร้างกำไรได้มากพอ แต่สำหรับ SME ตลาดเฉพาะกลุ่มคือฐานลูกค้าที่ดี เหมาะสำหรับการรอขยายไปสู่ตลาดที่ใหญ่ขึ้นในวันที่พร้อม สามารถศึกษาเพิ่มเติมได้ที่บทความนี้ Niche Market คืออะไร

การสื่อสารที่เร็วกว่า – เนื่องจากว่า SME มีจำนวนพนักงานน้อยกว่า ทำให้การสื่อสารหลายๆอย่างในองค์กรทำได้เร็วมากขึ้น (เปรียบเทียบองค์กรที่มี 30 คนกับองค์กร 10,000 คน) หมายความว่าการเปลี่ยนกระบวนการต่างๆ ก็ทำได้ง่ายขึ้น แน่นอนว่าหากเราสื่อสารกับพนักงานได้เร็ว เราก็จะสื่อสารกับลูกค้าได้เร็วเช่นกัน

ข้อเสียของธุรกิจ SME

ทักษะน้อย – ธุรกิจ SME เป็นธุรกิจขนาดเล็ก มีการจ้างงานพนักงานน้อย มีการอบรมพนักงานน้อย และไม่มีทุนทรัพย์ในการจ้างพนักงานที่มีทักษะสูง หมายความว่าทักษะโดยรวมขององค์กรจะมีน้อย ซึ่งก็จะเป็นข้อจำกัดในการทำธุรกิจบางประเภท

กระบวนการไม่ชัดเจน – องค์กรที่มีพนักงานน้อยอาจมีความหละหลวมเรื่องการสร้างกระบวนการทำงานที่ชัดเจน หมายความว่า SME บางที่อาจจะไม่สามารถควบคุมคุณภาพของกระบวนการบางอย่างได้ ซึ่งก็มักจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดความผิดพลาด และไม่สามารถรับลูกค้าบางประเภทได้ 

ทรัพยากรน้อย – รวมถึงทรัพย์สินในองค์กร เงินสด หรือแม้แต่พนักงานในองค์กร องค์กรที่มีทรัพยากรเยอะก็สามารถทำงานได้หลายอย่าง ในทางตรงข้าม SME ที่ถูกจำกัดด้วยทรัพยากรก็จำเป็นที่จะต้องจัดลำดับความสำคัญของแต่ละหน้าที่ให้ดี

โอกาสในการล้มเหลว – ด้วยปัจจัยทั้งหมดรวมกัน ก็เป็นเรื่องน่าเศร้าที่ธุรกิจ SME นั้นมีโอกาสในการล้มเหลวสูง ธุรกิจขนาดเล็กและธุรกิจเปิดใหม่มีอัตราการปิดตัวมากกว่าธุรกิจที่ก่อตั้งมานานแล้ว 

ความท้าทายของ SME ก็คือการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ และนำจุดแข็งจุดอ่อนของตัวเองมาพิจารณาเสมอก่อนที่จะทำการตัดสินใจหลายๆอย่าง โดยเฉพาะการตัดสินใจที่เกี่ยวกับด้านการลงทุนเพิ่มเติม

ในบทความนี้ผมได้อธิบายหลายๆอย่างเกี่ยวกับธุรกิจ SME ไปแล้ว ในหัวข้อถัดไปเรามาลองดูประโยชน์ของธุรกิจ SME ที่มีต่อสังคมและเศรษฐกิจโดยรวมบ้างครับ

ประโยชน์ของธุรกิจ SME

การสร้างงานใหม่ – ในประเทศไทยนั้น สัดส่วนของธุรกิจ SME มีมากถึง 90% ถ้าเทียบกับธุรกิจขนาดอื่นๆ ซึ่งก็ได้มีรายงานประเมินแปลว่า SME ทำให้มีการจ้างงานเกือบถึง 10 ล้านคน ถึงแม้ว่าแต่ละบริษัทอาจจะจ้างงานคนไม่เยอะ แต่หากรวมทุก SME แล้วก็ถือว่าสามารถจ้างงานคนได้หลากหลาย และครอบคลุมหลายพื้นที่

นวัตกรรม – หลายคนอาจจะมองนวัตกรรมว่าเป็นสิ่งที่เกิดจากองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีเงินลงทุนมหาศาลเท่านั้น แต่ความจริงแล้วทุกบริษัทยักษ์ใหญ่ก็ต้องเริ่มมาจากการเป็นธุรกิจขนาดเล็กเท่านั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคสมัยนี้ ที่ธุรกิจสามารถเข้าถึงเงินลงทุนได้ง่าย ทำให้ธุรกิจขนาดเล็กที่มีไอเดียดีก็สามารถทำให้นวัตกรรมกลายเป็นจริงได้ง่ายขึ้น

ลดการผูกขาด – การที่มีธุรกิจใหม่ๆอย่าง SME เปิดตัวเรื่อยๆก็จะทำให้การแข่งขันในตลาดมากขึ้น ถึงแม้ว่าพ่อค้าแม่ค้าอาจจะไม่ถูกใจสิ่งนี้ แต่สำหรับผู้บริโภคและสำหรับเศรษฐกิจแล้ว การที่มีธุรกิจใหม่ๆเปิดตัวขึ้นตลอดเวลาก็เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ทำให้ธุรกิจผู้ขาดยากขึ้น ซึ่งข้อเสียของการผูกขาดก็คือการที่ผู้บริโภคมีตัวเลือกน้อยลง ทำให้ราคาสินค้าแพงขึ้น

ตัวผลักดันเศรษฐกิจ – ทั้งการสร้างงานใหม่ นวัตกรรม และการแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นปัจจัยที่ทำให้เศรษฐกิจของประเทศเติบโตขึ้น หมายความว่าเงินจะไหลคล่องมากขึ้น และรายได้ของประชากรโดยรวมก็จะมากขึ้นด้วย

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับ SME

สิ่งที่ผมคิดไม่ถึงมาก่อนก็คือ บทความเรื่อง SME นั้นมีอะไรให้เขียนมากกว่าที่คิด ที่สำคัญก็คือข้อมูลหลายๆอย่างไม่ได้ถูกเรียบเรียงให้ผู้อ่านสามารถศึกษาได้ง่ายเลย ทั้งๆที่ SME ก็เป็นสิ่งที่มีมานานแล้ว (และมีความสำคัญสำหรับธุรกิจเป็นอย่างมาก)

ส่วนตัวผมเองก็โตมาในครอบครัวที่ทำธุรกิจขนาดเล็ก และก็รักธุรกิจประเภทนี้มาก ผมรู้สึกว่า SME นั้นมีความ ‘น่าค้นหา’ และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับสังคมได้มาก เพียงแต่ธุรกิจ SME ส่วนมากไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลได้เพียงพอ จนทำให้ SME ส่วนมากต้องปิดตัวไป ซึ่งก็เป็นเรื่องที่น่าเศร้า

สุดท้ายนี้ผมก็หวังว่าทุกคนจะได้ประโยชน์จากบทความนี้ไม่มากก็น้อยนะครับ

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

เริ่มกิจการยังไงไม่ให้ล่ม – สุดยอดคู่มือเริ่มต้นธุรกิจ
7 วิธีขายของออนไลน์ ให้ขายดี (แบบทำได้จริง)
ธุรกิจค้าขาย คืออะไร? เริ่มต้นยังไง? มีตัวอย่างอะไรบ้าง?

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด