5 ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ออนไลน์ สร้างได้ง่าย อยู่ได้นาน

5 ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ออนไลน์ สร้างได้ง่าย อยู่ได้นาน

โลกออนไลน์มีลูกค้าเยอะ แต่ก็มีคู่แข่งเต็มไปหมด ซึ่งคำถามที่เราจะตอบในวันนี้ก็คือ เราจะสร้างแบรนด์ออนไลน์ หรือมีตัวตนในโลกออนไลน์ได้อย่างไร ในโลกที่มีเสียงรบกวนเต็มไปหมด 

การสร้างแบรนด์ออนไลน์ นับว่าเป็นหัวข้อการตลาดออนไลน์ที่มีความน่าสนใจและน่าท้าทายเป็นอย่างยิ่ง เพราะในระหว่างที่ตัวเลขหลายอย่างเช่น การเข้าถึง (Reach & Impression) การแสดงความสนใจ (Click) หรือ ยอดขาย (Conversion) สามารถถูกแปลงให้กลายเป็นตัวเลขที่วัดผลได้อย่างชัดเจน คำว่าแบรนด์ก็คือสิ่งที่นักการตลาดออนไลน์อยากได้ แต่ก็ไม่สามารถนิยามได้อย่างแท้จริงสักที 

บทความนี้เป็นเรื่องของการสร้างแบรนด์ออนไลน์ ซึ่งจะพูดถึงขั้นตอนการการสร้างแบรนด์ออนไลน์จากศูนย์ และข้อแนะนำต่างๆที่คุณควรรู้ รออ่านกันได้เลยครับ

5 ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ออนไลน์

ขั้นตอนการการสร้างแบรนด์ออนไลน์ นั้นเป็นส่วนประกอบของเรื่องการสร้างแบรนด์และเรื่องการตลาดออนไลน์ หมายความว่าคุณต้องเข้าใจทั้งพื้นฐานการตลาดและตามโลกเครื่องมือออนไลน์ต่างๆให้ทันด้วย ในส่วนนี้หากใครอยากศึกษาเรื่องพื้นฐานก่อน ผมแนะนำให้อ่านบทความของผมเรื่อง วิธีการสร้างแบรนด์ และเรื่อง การตลาดดิจิตัล รูปแบบและช่องทางต่างๆ ก่อนนะครับ

เตรียมตัวก่อนการสร้างแบรนด์ออนไลน์

สิ่งแรกที่เราต้องทำความเข้าใจก่อนก็คือ การสร้างแบรนด์ใช้เวลา และถ้าคุณอยากจะให้เข้าถึงคนจำนวนเยอะๆ ภายในเวลาอันสั้น คุณก็ต้องเตรียมตัวเรื่องการใช้เงินด้วย 

นอกจากนั้นแล้ว คุณก็ต้องเตรียมตอบคำถาม (ที่ทำให้นักการตลาดทั่วโลกหนักใจ) ว่าแบรนด์ของคุณคืออะไร และที่สำคัญกว่าก็คือ ‘คุณจะวัดผลแบรนด์ได้อย่างไร’ เพราะสุดท้ายแล้ว หากคุณอยากได้แค่ยอดขาย อยากได้กำไรเยอะๆ คุณก็เน้นที่การขายอย่างเดียวจะดีกว่ารึเปล่า

หากจะให้ผมช่วยตอบ แบรนด์ก็คือภาพลักษณ์ และภาพลักษณ์ที่ดีก็จะทำให้ลูกค้าจำเราได้ กลับมาซื้อของเราเยอะๆ ถ้าคุณโอเคกับผลลัพธ์เหล่านี้ เราก็ไปดูขั้นตอนการการสร้างแบรนด์ออนไลน์กัน (แต่หาวิธีวัดผลว่าลูกค้าจะจำเราได้ และลูกค้ากลับมาซื้อซ้ำไว้ด้วยนะ)

#1 เรียบเรียงข้อมูลและวิจัยตลาด

แบรนด์ก็คือภาพลักษณ์ หมายความว่าคุณต้องคิดก่อนว่าคุณอยากให้ลูกค้าจดจำคุณว่าอะไร วิธีที่ดีที่สุดก็คือการเรียบเรียง จุดอ่อน จุดแข็ง และ ข้อได้เปรียบของแบรนด์คุณ ซึ่งสิ่งที่คุณต้องทำก็คือการวิจัยตลาด ผ่านการสัมภาษณ์ลูกค้าและทำแบบสอบถาม

ในส่วนนี้ ถึงแม้คุณยังไม่มีผลิตภัณฑ์ที่พร้อมขายก็ไม่เป็นไร เราสามารถเก็บข้อมูลผ่านคำพูดและวิธีอธิบายคร่าวๆได้ แต่คุณต้องจำไว้ว่าจุดอ่อนจุดแข็งต้องถูกเปรียบเทียบกับคู่แข่ง หากคุณบอกว่าคุณมีสินค้าคุณภาพดี นั่นก็แปลว่าสินค้าของคู่แข่งคุณภาพแย่

ในตอนจบของขั้นตอนนี้ คุณต้องสามารถวาดภาพออกมาได้ว่ากลุ่มลูกค้าหลักของคุณคืออะไร และ กลุ่มลูกค้านี้ชอบสินค้าแบบไหน (ที่คู่แข่งของคุณทำไม่ได้) อย่าลืมนะครับว่าต่อให้เป็นแบรนด์อย่าง Apple Nike หรือ H&M ก็ไม่ได้ถูกสร้างมาสำหรับลูกค้าทุกคน

หากคุณอยากได้เครื่องมือช่วยวิเคราะห์จุดอ่อน จุดแข็ง และ ตำแหน่งในตลาด ผมแนะนำให้ศึกษาบทความของผมเรื่อง การทำ SWOT หาจุดอ่อนจุดแข็ง และ การวิเคราะห์ STP เพื่อหาตำแหน่งตลาด

#2 การลงทุนกับการสร้างภาพลักษณ์

ยกเว้นว่าคุณจะเก่งเรื่องการออกแบบและเป็นคนดังที่ทุกคนรู้จัก คุณก็ต้องลงทุนทั้งเรื่องการออกแบบและการตลาด แต่ก่อนที่คุณจะเริ่มเสียเงินสร้างอะไรออกมา คุณต้องมั่นใจก่อนนะครับว่าขั้นตอนข้อที่ 1 เรื่องการวิจัยตลาดคุณได้ทำออกมาดีแล้ว ไม่อย่างนั้นคุณได้เปลี่ยนการออกแบบหลายรอบแน่ๆ

ส่วนแรกที่เราต้องสร้างก็คือ ภาพลักษณ์ภายนอก หมายถึงสี โลโก้ และ เว็บไซต์ ของคุณ 

สี – ทำง่ายที่สุดก็คือการเลือกสีตรงข้ามกับคู่แข่ง (เช่น เป๊ปซี่สีน้ำเงิน เพราะโค้กสีแดง) เหมาะมากเวลาที่คุณมีช่องทางการขายเหมือนกัน เพราะสีเป็นสิ่งแรกที่จะทำให้ลูกค้ารู้สึกว่าแบรนด์เราแตกต่างกับคู่แข่ง

โลโก้ – การออกแบบโลโก้เป็นทั้งศาสตร์และศิลป์ ถึงแม้ว่าคุณจะมีสีในใจแล้ว การออกแบบโลโก้ให้ถูกใจลูกค้าก็ทำได้ยาก ข้อดีของแบรนด์ออนไลน์ก็คือเราไม่ได้มีค่าใช้จ่ายจำพวก ‘สิ่งพิมพ์’ ทำให้การเปลี่ยนโลโก้ภายหลังทำได้ง่ายขึ้น เอาเป็นว่าโลโก้แรกของคุณควรจะดูดี แต่ไม่จำเป็นต้องแพงมากก็ได้ หากคุณขายได้กำไรระดับหนึ่งแล้วค่อยจ้างคนออกแบบใหม่ในราคาที่แพงขึ้น (ออกแบบให้คล้ายของเดิมแต่ดีกว่า ลูกค้าจะได้ไม่สับสน)

เว็บไซต์ – แบรนด์ออนไลน์ยังไงก็ต้องมีเว็บไซต์ ไม่ว่าช่องทางการขายของคุณคิออะไรก็ตาม อย่างไรก็ตามหากคุณไม่ได้ใช้เว็ปไซต์ในการขายหลัก คุณก็ไม่จำเป็นต้องใช้เงินหลายหมื่นบาทในการสร้างเว็บ ในส่วนนี้คุณจ้างฟรีแลนซ์ออกแบบเว็บไซต์ wordpress ในราคาไม่กี่พันบาทก็ได้ ทำแค่หน้าหลัก หน้าข้อมูลสินค้า หน้าข้อมูลบริษัท และหน้าที่มีลิงค์ไปช่องทางการขายก็พอ

ภาพลักษณ์ที่มองไม่เห็น – สิ่งสุดท้ายที่ต้องพิจารณาคือภาพลักษณ์ที่มองไม่เห็น เช่น โทน อารมณ์ และความรู้สึก ซึ่งจะถูกถ่ายทอดผ่านวิธีการสื่อสารต่างๆ ในส่วนนี้เป็นข้อแนะนำของการทำแบรนด์ทั่วไปมากกว่า ผมแนะนำให้อ่านเพิ่มที่บทความนี้นะครับ วิธีสร้างแบรนด์

#3 หาช่องทางออนไลน์ของคุณ

ถ้าคุณอยากจะสร้างแบรนด์ออนไลน์ คุณก็ต้องคิดถึงวิธีเข้าหาลูกค้าผ่านช่องทางออนไลน์ต่างๆ และแน่นอนว่าช่องทางที่ทำให้คุณสามารถสื่อสารกับลูกค้าได้เยอะ (ในราคาที่ถูก) จะคงดีกว่า

ข้อแนะนำในการเลือก Social Media ก็คือ คุณไม่ควรลองทุกอย่างพร้อมกัน เพราะจะทำให้คุณสามารถควบคุมได้ยาก ในกรณีนี้การจับแค่ช่องทางเดียว ไม่ว่าจะเป็น Facebook Instagram Twitter หรือ Pinterest ก็เพียงพอแล้ว แน่นอนว่าคุณก็ต้องไปศึกษาวิธีสื่อสารลูกค้าผ่านช่องทางเหล่านี้เอง

ข้อเสียก็คือ ช่องทางใหญ่ๆอย่าง Facebook นั่นได้ลด organic reach ลงถึง 1% หมายความว่าถ้าคุณไม่เสียเงินยิงแอด โอกาสที่คุณจะคุยกับผู้ติดตามเพจคุณก็มีน้อย ในส่วนนี้คุณสามารถลองทำได้ แต่ผมไม่แนะนำให้ใช้เป็นช่องทางหลักในการติดต่อ (ยกเว้นจะใช้เงินยิงแอด)

ในการเลือกช่องทางการติดต่อลูกค้าของแบรนด์ออนไลน์ ให้พิจารณาข้อแนะนำเหล่านี้

วิธีการปิดการขาย – คุณอาจจะมีระบบชำระเงินบนเว็บไซต์ตัวเอง อาจจะพึ่งพา Lazada Shopee หรือที่ทำได้ง่ายมากสุดก็คือการเปิด LINE OA ของแบรนด์คุณ เพราะช่องทางปิดการขายนี้จะเป็นสิ่งที่คุณต้องโน้มน้าวให้ลูกค้าจากช่องทาง Social Media ต่างๆเข้ามาหาคุณให้ได้

กลุ่มลูกค้า – พฤติกรรมและลักษณะของลูกค้าในแต่ละช่องทางไม่เหมือนกัน Pinterest จะมีผู้หญิงเยอะ Instagram เหมาะสำหรับการโพสรูปและวิดีโอ และลูกค้ากลุ่มวัยรุ่นก็จะชอบเล่นแอพ Social Media ใหม่ๆ อย่าง Snapchat TikTok หรืออะไรที่เป็นกระแสสมัยนั้น

คอนเทนต์ที่จะแบ่งปันกับลูกค้า – ไม่ว่าจะเป็น Social Media แบบไหน สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือ ‘ความเสมอต้นเสมอปลาย’ และ ‘คุณค่าของลูกค้า’ หมายความว่าคุณไม่สามารถโพสต์ขายของได้อย่างเดียว ข้อแนะนำที่ดีกว่าก็คือให้คิดคอนเทนต์ในการโพสต์ทุกวันหรืออย่างน้อยทุกอาทิตย์ และแต่ละคอนเทนต์ควรจะให้ความรู้ หรือให้คุณค่ากับลูกค้ามากกว่าการขอให้ลูกค้ามาซื้อสินค้าเรา 
ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ศึกษาบทความเรื่อง การตลาดผ่าน Social Media ของผมนะครับ

#4 การตลาดออนไลน์ 

สุดท้ายแล้ว ถ้าคุณมีของที่อยากขาย มีแบรนด์เป็นของตัวเอง แต่ปัญหาก็คือคุณจะทำยังไงให้ลูกค้าสามารถเข้าถึงแบรนด์ของคุณได้ 

รูปแบบการสร้างแบรนด์ออนไลน์’ ที่เราจะเห็นได้ง่ายที่สุดก็คือ 

ขั้นตอนที่ 4.1 – การเรียกร้องความสนใจจากลูกค้า ผ่านโฆษณา การทำ Social Media หรือ การทำ SEO 
ขั้นตอนที่ 4.2 – การทำให้ลูกค้าเหล่านี้การเป็น ‘ทรัพย์สิน’ ของเรา เช่นการเก็บอีเมล การขอให้ลูกค้าแอดไลน์
ขั้นตอนที่ 4.3 – การสื่อสารกับลูกค้าที่เป็น ‘ทรัพย์สิน’ อย่างต่อเนื่อง ให้ความรู้ 70% และขายของ 30%

แน่นอนว่าถึงแม้ว่าจะเป็นการสร้างแบรนด์ออนไลน์ แต่คุณก็ไม่ได้ต้องจำกัดตัวเองแค่เครื่องมือออนไลน์ คุณจะไปออกอีเวนต์ต่างๆ หรือจะไปจ้าง Influencer ช่วยรีวิวก็ได้ครับ

ให้ลองอ่านบทความเรื่อง การตลาดออนไลน์และการตลาดดิจิทัล ของผมดูนะครับ ในบทความนี้จะแนะนำช่องทางการตลาดต่างๆและก็กลยุทธ์พื้นฐานในการหาลูกค้าจากช่องทางเหล่านี้

#5 การสร้างแบรนด์ออนไลน์อย่างยั่งยืน

สุดท้ายแล้ว แบรนด์ควรจะเป็นสิ่งที่อยู่ได้นานหลายสิบปี หากคุณสร้างอะไรออกมาแล้วดังเปรี้ยงเดียวแล้วคุณหาทางรักษาสิ่งนี้ไว้ไม่ได้ คุณก็จะเสียโอกาสในอนาคตไปมาก (และอาจไม่คุ้มกับเงินที่ใช้สร้างแบรนด์ในช่วงแรกๆด้วย) หากคุณเริ่มสร้างแบรนด์ได้ซักพักแล้วรู้สึกว่ามีทุนพร้อมที่จะทำต่อในระยะยาว ให้พิจารณาเครื่องมือออนไลน์เหล่านี้

Google SEO – เป็นเคล็ดลับในการหาลูกค้าเลย เพราะคนส่วนมากไม่ให้ความสนใจกัน อย่างไรก็ตามการจัดอันดับคำค้นหาของ ‘ผลิตภัณฑ์’ หรือ ‘ชื่อแบรนด์’ นั้นอาจจะยากไป ในส่วนนี้ให้เริ่มจากการเรียกคนที่สนใจเข้ามาก่อนผ่านการทำบทความให้ความรู้ เช่น หากคุณทำ เครื่องสำอาง ก็ให้เขียนบทความเรื่องวิธีการแต่งหน้า หากใครสนใจให้ลองอ่าน ‘วิธีการทำ Keyword Research’  สำหรับ SEO ได้ที่บทความนี้ การทำ SEO 

YouTube – เป็นอาวุธลับของธุรกิจออนไลน์เลย ปัญหาของธุรกิจออนไลน์หลายที่ก็คือ ‘ความน่าเชื่อถือ’ และ ‘ความสัมพันธ์’ เพราะในฐานะลูกค้าเราไม่รู้จักธุรกิจนี้ ไม่รู้ว่าน่าเชื่อถือแค่ไหน ไม่รู้ว่ามีตัวตนจริงหรือเปล่า ในกรณีนี้การทำวิดีโอออกมาเป็นวิธีสร้างความแตกต่างได้ง่ายที่สุด ซึ่งวิดีโอนี้คุณก็สามารถใช้ได้ใน Facebook Instagram หรือจะส่งให้ลูกค้าดูทางไลน์ก็ได้ แน่นอนว่าวิดีโอให้ความรู้ย่อมมีคนดูมากกว่าวิดีโอการขายครับ

ฐานลูกค้า – ไม่ใช่แค่ข้อแนะนำสำหรับการสร้างแบรนด์ออนไลน์ แต่เป็นข้อแนะนำสำหรับการทำธุรกิจทุกชนิด หากคุณไม่มีฐานลูกค้า คุณก็จะไม่มีลูกค้าประจำ ซึ่งก็แปลว่าคุณจะไม่มีรายได้ที่สามารถคาดเดาได้ทุกเดือน แปลว่าคุณจำเป็นที่จะต้องพึ่งพาการซื้อโฆษณาเรื่อยๆ และหากโฆษณาแพงขึ้นหรือเว็บโฆษณาเปลี่ยนกฎเกณฑ์ ธุรกิจของคุณก็จะมีความเสี่ยงสูง เพราะฉะนั้นให้เริ่มเก็บข้อมูลลูกค้าไว้ให้ดี 

สิ่งที่คุณต้องเตรียมใจไว้ก่อนเลยก็คือ ข้อแนะนำเหล่านี้จะส่งผลตอบแทนให้คุณในระยะยาว อย่างน้อยที่สุดก็ต้องใช้เวลา 5-6 เดือน หากคุณยังไม่อยากลงทุนเยอะในช่วงแรก ก็ให้ลองควบคุมค่าใช้จ่ายดูก่อน อาจจะยังไม่ต้องลงทุนทำวีดีโอแพงมาก หรืออาจจะเขียนบทความด้วยตัวเอง เพราะหัวใจหลักก็คือการทำอย่าง ‘เสมอต้นเสมอปลาย’ ทำทุกอาทิตย์ อาทิตย์ละนิดหน่อย

หากคุณทำได้ คุณก็จะสังเกตว่าลูกค้าเข้ามาหาคุณเอง คุณแทบไม่ต้องซื้อโฆษณาอะไรเลย

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับการสร้างแบรนด์ออนไลน์

ในยุคนี้แบรนด์คือสิ่งเดียวที่จะทำให้เราแตกต่างได้ ธุรกิจคู่แข่งเราสามารถเข้าถึงวัตถุดิบหรือผู้ผลิตเดียวกันได้หมด ความได้เปรียบเดียวของธุรกิจออนไลน์ก็คือการสร้างแบรนด์ เพราะไม่มีใครเป็นเหมือนเราได้อย่างตัวเรา 

สุดท้ายนี้การสร้างแบรนด์ออนไลน์นั้นใช้ทั้งเวลา ความพยายาม และเงินเยอะมาก หากคุณตั้งใจจะสร้างแบรนด์ออนไลน์ ข้อแนะนำที่ดีที่สุดก็คือใส่ใจกับมัน เพราะคงไม่มีที่ปรึกษาหรือนักการตลาดคนไหนที่จะรักแบรนด์ออนไลน์ของคุณเท่ากับตัวคุณเองแล้ว

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด