งบกําไรขาดทุน (Income Statement) พื้นฐานที่ควรรู้

งบกําไรขาดทุน (Income Statement)

งบประมาณกําไรขาดทุน เป็นหนึ่งในสามงบประมาณทางการเงินที่นักธุรกิจและนักลงทุนใส่ใจ การทำความเข้าใจกําไรขาดทุน ก็คือจุดเริ่มต้นของการเข้าใจวิธีบริหารธุรกิจ งบกําไรขาดทุนจะเป็นการวิเคราะห์ที่บอกว่าธุรกิจมีกำไรและโอกาสในการเติบโตมากแค่ไหน

หากคุณไม่รู้เรื่องบัญชีและการเงินอะไรเลย สิ่งแรกที่คุณควรศึกษาก็คือเรื่องงบประมาณกำไรขาดทุนนั่นเอง ในบทความนี้เรามาศึกษากันว่างบกำไรขาดทุนคืออะไรเราสามารถใช้งบกำไรขาดทุนทำอะไรได้บ้าง

งบประมาณกําไรขาดทุน (Income Statement) คืออะไร

งบประมาณกำไรขาดทุน (Income Statement) คือรายงานแสดงยอดขายและค่าใช้จ่ายของบริษัทเพื่อแสดงให้เห็นกำไรสุทธิหรือการขาดทุนสุทธิในแต่ละงวดบัญชี เช่น รายเดือน รายไตรมาส หรือ รายปี การวิเคราะห์งบประมาณกำไรขาดทุนทำให้กิจการสามารถปรับปรุงการดำเนินงาน และ คาดการณ์ผลการดำเนินงานในอนาคต

บางคนก็เรียกงบประมาณกำไรขาดทุนว่า Profit and Loss Statement ครับ

ธุรกิจที่ดำเนินการแล้วไม่ได้กำไร ก็คือธุรกิจที่มีค่าใช้จ่ายมากกว่ารายได้ บางคนก็เรียกธุรกิจแบบนี้ว่า ‘ขาดทุน’ หรือคำว่า ‘ใกล้เจ๊ง’ หากใครสนใจเรื่องการพัฒนาธุรกิจให้ฟื้นจากอาการขาดทุนสามารถอ่านบทความนี้ของผมได้ หมดปัญหาธุรกิจขาดทุน! สุดยอดคู่มือฟื้นฟูกำไร

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าร้านขายขนม ซื้อขนมมาขาย 10 ชิ้นได้ราคาชิ้นละ 10 บาท หรือก็คือมีค่าใช้จ่าย 100 บาท ราคาขายขนมได้เพียงแค่ 3 ชิ้นในราคา 20 บาท หรือก็คือมีรายได้แค่ 60 บาท ร้านขายขนมก็จะ ‘ขาดทุน’ ไป 40 บาท เพราะมีเงินไปจมอยู่กับขนมที่ขายไม่ออก 7 ชิ้น 

เราจะเห็นได้ว่าองค์ประกอบหลักของงบประมาณกำไรขาดทุนมีดังนี้

รายได้ (Income) – หมายถึงรายได้ที่ธุรกิจได้จากการขายสินค้าหรือบริการต่างๆ และก็รวมรายได้จากการลงทุน จากการเช่า หรือจากช่องทางอื่นด้วย
รายจ่าย หรือค่าใช้จ่าย (Expense) – หมายถึงรายจ่ายหรือต้นทุนจากการขาย จากการบริหาร หรือกิจกรรมอื่นๆที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ
กำไร (Profit) – หมายถึงกำไรที่ได้ ซึ่งก็คือรายได้ทั้งหมดหักลบกับค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั่นเอง

สามตัวเลขด้านบนจะเป็นคำศัพท์ที่ธุรกิจค้าขายใช้กันเยอะมาก แต่ยิ่งองค์กรมีขนาดใหญ่ ยิ่งรูปแบบการทำธุรกิจมีความซับซ้อน การวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนก็จะยิ่งต้องลงรายละเอียดเยอะขึ้น

ต้นทุนขาย (Cost of Goods Sold) – หมายถึงต้นทุนในการได้มาของสินค้า เช่นราคาสินค้าที่ซื้อมา หรือสำหรับธุรกิจการผลิตก็คือราคารวมของวัตถุดิบทั้งหมด
กำไรเบื้องต้น (Gross Profit) – หมายถึงกำไรที่ได้จากการขาย หลักจากที่หักค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการขายไปแล้ว เช่นต้นทุนสินค้า
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (Other Expenses) – หมายถึงค่าใช้จ่ายอื่นนอกเหนือจากต้นทุนการขาย เช่นค่าจ้างพนักงาน ภาษี ค่าเช่าตึก และค่าใช้จ่ายอื่นๆทั้งหมดที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ
กำไรโดยรวม (Total Profit) – หมายถึงกำไรที่ได้จากรายได้ทั้งหมด หักด้วยค่าใช้จ่ายทั้งหมด

ซึ่งรายละเอียดในงบกําไรขาดทุน ก็จะเป็นตัวบอกให้เรารู้ได้ว่าธุรกิจมีจุดแข็งส่วนไหนและควรจะปรับปรุงด้านไหน 

การที่เราจะทำให้ธุรกิจมีกำไรนั้น หากผู้โดยรวมแล้วก็มีวิธีอยู่แค่ 2 อย่าง นั่นก็คือการเพิ่มรายได้และการลดค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาของคนทำธุรกิจส่วนมากก็คือ ไม่รู้ว่าจะเพิ่มรายได้ยังไงและจะลดค่าใช้จ่ายได้ยังไง และคำตอบส่วนมากก็อยู่ที่งบกําไรขาดทุน เราสามารถดูได้ว่าการขาดทุนนั้น มาจากค่าใช้จ่ายส่วนไหนมากกว่า เป็นต้น

ในโลกของธุรกิจและการเงิน ‘คำศัพท์เฉพาะทาง’ นั้นมีเยอะมาก ซึ่งส่วนมากก็เป็นคำที่ถูกคิดขึ้นมาเพื่อทดแทนส่วนตัวเลขต่างๆ เพื่อหวังว่าจะ ‘ง่ายต่อการสื่อสาร’ ในบทความนี้หากมีคำศัพท์คำไหนที่ฟังดูเข้าใจยาก ก็สามารถคอมเม้นท์ถามด้านล่างได้ครับ

การคำนวณอาจจะยากง่ายขึ้นอยู่กับแต่ละคน สำหรับการทำธุรกิจคำนวณผิดนิดเดียวก็ขาดทุนแล้ว ในส่วนนี้ผมได้ทำ คู่มือเรื่องการคำนวณในธุรกิจ มาให้ทุกคนโหลดอ่านฟรีกันครับ

ตัวอย่างงบกำไรขาดทุน

ตัวอย่างแนวทางการเขียน งบกำไรขาดทุนของบริษัททั่วไปจะเป็นแบบนี้ บางธุรกิจก็อาจจะไม่มี ‘เงินปันผลรับ’ หรือ ‘รายได้ค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับอัตราแลกเปลี่ยน’ เพราะฉะนั้นแต่ละธุรกิจก็ต้องปรับ รายได้ค่าใช้จ่าย ของตัวเองให้เหมาะสมกับหมวดหมู่

ตัวอย่างงบกำไรขาดทุน income statement บริษัท cp all

ที่มา

หากคุณอยากที่จะเขียนงบกำไรขาดทุน ก็เรียงตามตัวอย่างข้างบนได้เลย แต่อาจจะเพิ่มลดส่วน รายได้ค่าใช้จ่าย ให้สมเหตุผลตามความเป็นจริงของธุรกิจ

ความสำคัญของงบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุน เป็นหนึ่งในวิธีดู ‘สุขภาพทางการเงิน’ ของบริษัท โดยรายได้ ค่าใช้จ่าย และกำไรของบริษัท สามารถนำมาวิเคราะห์เปรียบเทียบกับผลประกอบการของบริษัทในช่วงเวลาอื่น หรือเทียบกับผลประกอบการบริษัทอื่นที่คล้ายคลึงได้

ซึ่งประโยชน์และความสำคัญของการวิเคราะห์งบกำไรขาดทุนได้แก่

จัดเก็บข้อมูลเพื่อให้ง่ายต่อการดูแลและพัฒนา – ยิ่งธุรกิจมีการจัดเก็บข้อมูลการเงินและบัญชีเยอะ ธุรกิจก็จะสามารถชี้วัดผลได้ว่าข้อดีข้อเสียของบริษัทอยู่ที่จุดไหน เป้าหมายของบัญชีกำไรขาดทุนก็คือการหาวิธีเพิ่มกำไรของกิจการให้มากที่สุด ในขณะเดียวกับบริษัทก็ควรหาช่องทางการเพิ่มรายได้ ปีต่อปีด้วย

ธุรกิจ SME บางรายไม่ค่อยได้เก็บข้อมูลด้วยซ้ำว่ารายจ่ายเท่าไร รายได้เท่าไร ซึ่งธุรกิจประเภทนี้จะสามารถใช้ประโยชน์จากการเริ่มทำงบกำไรขาดทุนได้มากสุด ส่วนธุรกิจที่จัดเก็บข้อมูลเรียบร้อยดีอยู่แล้วก็สามารถนำข้อมูลนี้มาเปรียบเทียบเพิ่มเติมได้

เปรียบเทียบผลประกอบการกับบริษัทอื่น – สาเหตุที่นักธุรกิจสร้าง ‘มาตรฐาน’ ขึ้นมาก็เพื่อที่จะทำให้ ‘การเปรียบเทียบ’ นั้นง่ายขึ้น ไม่เพียงแค่ว่าเราต้องเปรียบเทียบผลประกอบการบริษัทกับในอดีต เรายังต้องเปรียบเทียบผลประกอบการกับคู่แข่งและกับอุตสาหกรรมโดยรวมอีกด้วย

หากคู่แข่งของบริษัทไม่ใช่บริษัท มหาชน ที่มีผลประกอบการธุรกิจที่หาดูได้ง่าย เราก็สามารถดูข้อมูลคู่แข่งบางบริษัทได้จาก กรมพัฒนาธุรกิจ ที่จะมีรายงานของบริษัทส่วนมากอยู่

นอกจากนั้นแล้ว หากธุรกิจเป็นบริษัทที่ต้องทำการยื่นภาษี การทำงบกำไรขาดทุนเก็บไว้เป็นหลักฐานอยู่เรื่อยๆก็จะทำให้สามารถเตรียมเอกสารได้พร้อมเวลาที่ต้องการได้

ฉลาดรู้ ฉลาดทำธุรกิจ

ข้อดีและข้อเสียของงบกำไรขาดทุน

งบกำไรขาดทุน เป็นแค่หนึ่งในสามงบประมาณการเงินเท่านั้น การที่เจ้าของธุรกิจและนักลงทุนจะสามารถวิเคราะห์สุขภาพทางการเงินของบริษัทได้อย่างชัดเจน เราก็จำเป็นต้องดูข้อมูลทางการเงินและทางบัญชีชนิดอื่นด้วย ในบทความส่วนนี้เรามาดูกันว่า ข้อดีและข้อเสียของงบกำไรขาดทุน มีอะไรบ้าง

กำไรขาดทุน เทียบกับเงินหมุน (Profit vs Cash flow)

งบประมาณกำไรขาดทุนนั้นอาจจะไม่รวมถึง ‘เงินหมุน’ ของคุณ ซึ่งส่วนนี้ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดคำว่า ‘ขายดีจนเจ๊ง’ ขึ้นมาได้

สำหรับคนที่ซื้อมาขายไปเป็นเงินสดก็คงไม่เข้าใจความหมายของเงินหมุนเท่าไร แต่คนที่ใช้บัตรเครดิต หรือคนที่ซื้อสินค้าเป็นเครดิต หรือปล่อยบัญชีให้กับลูกค้าเป็นเครดิตก็จะเข้าใจประโยชน์ของเงินหมุนเป็นอย่างดี

หัวใจของเงินหมุนก็คือ ‘ความเชื่อใจ’ หากธุรกิจมีความน่าเชื่อถือสูง ธุรกิจก็จะสามารถกู้ยืมเงินจากธนาคารหรือจากซัพพลายเออร์ได้เยอะ การกู้ยืมจะทำให้ธุรกิจสามารถเติบโตได้ในความเร็วที่มากกว่าเดิม แต่ก็ต้องแลกมาด้วยค่าใช้จ่ายบางอย่างเช่นดอกเบี้ย ในทางตรงข้าม การปล่อยให้ลูกค้ายืม ก็คือการแลกรายได้มากับความเสี่ยงที่เพิ่มเติม

บัญชีกำไรขาดทุนส่วนมาก จะรายงานการขายเมื่อ ‘สินค้าถูกส่งมอบให้กับลูกค้า’ หรือ ‘ลูกค้ามาใช้บริการเสร็จสิ้น’ แต่หากธุรกิจมีการขายแบบเครดิตให้กับลูกค้า เงินที่เข้ามาในบัญชีก็จะหมุนเข้ามช้ากว่าเงินที่เราใช้ไป เราส่งสินค้าให้กับลูกค้าแล้ว มีการซื้อวัตถุดิบ มีการจ้างพนักงาน มีการผลิตแล้ว แต่ลูกค้าโอนเงินให้ตามมาทีหลัง เท่ากับว่าลูกค้ายืมเงินเราไปใช้นั้นเอง

ส่วนมากแล้ว ธุรกิจที่ต้องการเงินหมุนมากที่สุด ก็คือธุรกิจที่มีกำไรน้อย ไม่มีกำไรในระยะสั้น เช่น ธุรกิจซื้อมาขายไปเป็นต้น 

กำไรขาดทุน เทียบกับทรัพย์สิน (Income vs Balance Sheet)

ทรัพย์สินของธุรกิจ ก็เป็นอีกหนึ่งอย่างที่งบประมาณกำไรขาดทุนไม่สามารถแสดงให้เห็นได้ ซึ่งแน่นอนว่า ทรัพย์สินของกิจการนั้นสามารถนำมาใช้ประกอบธุรกิจได้หลายอย่างเลย

สำหรับธุรกิจซื้อมาขายไปเบื้องต้น ทรัพย์สินที่ต้องพิจารณาอย่างแรกก็คือสต๊อกสินค้า หรือจำนวนสินค้าที่เราซื้อมาเก็บไว้แต่ยังไม่ได้ขายไปนั่นเอง 

และทรัพย์สินก็ยังรวมถึงของมีมูลค่าอย่างอื่นในบริษัท ตั้งแต่ที่ดิน ตัวอาคาร เฟอร์นิเจอร์ต่างๆ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์ หรือแม้แต่กระดาษไม่กี่แผ่นอย่างเศษทรัพย์สินทางปัญญา

ธุรกิจที่ซื้อสินค้ามาสต๊อกไว้เยอะ เพื่อให้ได้ส่วนลดตามจำนวน อาจจะมีทรัพย์สินเยอะ แต่มีเงินหมุนน้อยเพราะเอาเงินไปลงกับการซื้อของมาขายหมด ในกรณีนี้บริษัทก็ต้องพิจารณาเองว่า กำไร เงินหมุนและทรัพย์สิน ในระดับไหนถึงจะทำให้สถานะการเงินอยู่ใน ‘สภาพคล่อง’ มากที่สุด โดยอาจจะเทียบกับธุรกิจที่ใกล้เคียงก็ได้ 

หากเราดูแค่งบกำไรขาดทุนอย่างเดียว ธุรกิจที่ขายทรัพย์สินทุกอย่างเพื่อให้ได้รายได้เข้ามาในระยะสั้น อาจจะดูเหมือนเป็นธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ แต่ในความเป็นจริงแล้วธุรกิจนั้นอาจจะไม่มีทรัพย์สินเหลือที่สามารถต่อยอดได้ในอนาคตเป็นต้น

ซึ่งก็เป็นเหตุผลให้นักวิเคราะห์การเงินต้องดูงบกําไรขาดทุน ควบคู่ไปกับบัญชีเงินหมุนและบัญชีทรัพย์สินต่างๆ เพื่อที่จะทำให้เห็นภาพรวมของธุรกิจที่ชัดเจนมากขึ้น 

หากใครสนใจศึกษาเพิ่มเติมเรื่องการทำบัญชี ผมแนะนำให้อ่านบทความนี้ครับ วิธีทำบัญชีที่ใครก็ทำได้ (พร้อมตัวอย่างการทำบัญชีร้านค้าปลีก)

การดูแค่รายงานกำไรขาดทุนอย่างเดียว อาจทำให้คุณ ‘หลงทาง’ ไปกับตัวเลขกำไรเบื้องต้นได้ ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจที่เหมือนจะขายดีอาจจะเป็นการปล่อยเครดิตให้ลูกค้ามากเกิน ซึ่งทำให้มีความเสี่ยง หรือธุรกิจที่กำไรเยอะ แต่ก็มีทรัพย์สินส่วนสต๊อกเยอะ ก็อาจจะตกอยู่ในสภาวะ ‘เงินจม’ ได้ง่าย

แน่นอนว่าการที่เราต้องดูรายงานการเงินหลายบัญชีหลายฉบับก็ต้องอาศัยทั้งประสบการณ์และความรู้เฉพาะทางเป็นอย่างมาก สาเหตุนี้เองที่ทำให้การลงทุน การทำบัญชี และการบริหารธุรกิจกลายเป็นเรื่องที่ยากสำหรับคนทั่วไป

สำหรับคนที่ชอบบทความบนบล็อกนี้แล้วรู้สึกว่าอยากอ่านเพิ่ม ผมได้ทำ ‘สารบัญ’ ที่เรียบเรียงบทความพื้นฐานในการทำธุรกิจมาให้ทุกคนแล้ว สามารถ โหลดฟรีได้ที่นี่ ครับ

ข้อมูลในการทำธุรกิจอื่นๆที่เราแนะนำ



Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด