ทําไมบริษัทต้องรับคุณเข้าทํางาน ? ตอบยังไงให้ได้งาน

ทําไมบริษัทต้องรับคุณเข้าทํางาน ? ตอบยังไงให้ได้งาน

“ทําไมบริษัทต้องรับคุณเข้าทํางาน ?” ตอนผมเริ่มสมัครงานใหม่ๆ คำถามนี้ฟังดูง่ายมาก แต่พอถึงเวลาสัมภาษณ์งานจริง ๆ ผมก็คิดไม่ออกว่าจะพรีเซนตัวเองยังไงดี มาคิดได้อีกทีตอนออกจากห้องสัมภาษณ์งานว่าน่าจะแบบนั้นแบบนี้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการสมัครงาน

ในบทความนี้เรามาดูกันครับว่าผู้สัมภาษณ์มีจุดประสงค์อะไร และควรตอบอย่างไรให้ได้งานที่ต้องการ

ทําไมบริษัทต้องรับคุณเข้าทํางาน ?

จุดประสงค์ในการถามคำถามนี้ก็คือ ประเมินการแสดงออกของผู้สมัครงานว่า มีทัศนคติ การแสดงออก และมีความแตกต่างจากผู้สมัครงานคนอื่นอย่างไร พร้อมกันนี้ยังเป็นการดูว่ามีความเหมาะสมกับองค์กรและตำแหน่งงานที่สมัครไปมากน้อยแค่ไหน

ซึ่งสิ่งที่จะช่วยให้เราโดดเด่นและสร้างความประทับใจผู้สัมภาษณ์งานได้ ต้องเป็นสิ่งที่แสดงให้ถึงความสามารถและมีผลงานให้เห็นชัดเจน เช่น กล่าวถึงทักษะหรือจุดแข็งของตัวเอง แล้วเล่าถึงการนำไปปรับใช้ที่ช่วยให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้

วิธีตอบ ทำไมต้องรับเข้างาน

1. เล่าถึงประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมา

หากเคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ให้นำส่วนนี้มาเล่าได้เลยว่า ที่มาผ่านตัวเรามีประสบการณ์การทำงานอะไรมาบ้าง โดยเริ่มจากการทำงานในอดีตจนถึงงานปัจจุบบันหรืองานล่าสุดก่อนที่จะมาสมัครงาน ทั้งตำแหน่ง ลักษณะการทำงาน รวมไปถึงทักษะอื่น ๆ ที่ได้ศึกษาเพิ่มเติมระหว่างการทำงาน

สำหรับคนที่ต้องการเปลี่ยนสายงาน เคยทำงานมาแล้ว แต่อาจจะยังไม่เคยมีประสบการณ์งานที่สมัครมาก่อน อย่าเพิ่งลดความมั่นใจตัวเอง ให้เล่าประสบการณ์ทำงานหรือทักษะการทำงานในอดีตมาประยุกต์หรือปรับใช้กับงานที่ต้องการสมัครได้อย่างไร

เช่นเดียวกับเด็กจบใหม่ แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์การทำงานมาก่อน ให้เล่าถึงความสนใจเกี่ยวกับบริษัท หรือทักษะความรู้ที่เราคิดว่าสามารถจะนำมาปรับใช้กับการทำงานได้ เพื่อสร้างความมั่นใจและแสดงถึงความมุ่งมั่นให้แก่ผู้สัมภาษณ์เห็น

2. กล่าวถึงผลงานหรือความสำเร็จที่ผ่านมา

เพราะเป็นอีกหนึ่งจุดที่จะแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นว่า หากรับเข้าทำงานแล้วเรามีศักยภาพในช่วยเหลือทีมหรือสามารถทำให้บริษัทบรรลุเป้าหมายได้มากน้อยแค่ไหน ฉะนั้นนอกจากผลงานต่าง ๆ ที่เขียนไปในเรซูเม่แล้ว ควรเตรียมตัวในเล่ารายละเอียดถึงขั้นตอนการทำงาน อุปสรรคหรือปัญหาที่เจอ และวิธีการที่นำมาใช้แก้ปัญหา รวมถึงความสามารถที่คิดว่าเป็นจุดเด่นของตัวเองที่ทำให้งานประสบผลสำเร็จ

ผลงานไม่ได้รวมถึงแค่สิ่งที่เราทำในที่ทำงาน สำหรับหลายคน ผลงานอาจจะรวมถึงงานฟรีแลนซ์ที่เราเคยทำหรืองานอาสาสมัครที่เราทำนอกเวลาด้วย

หากเป็นไปได้ให้เล่าสิ่งที่คุณเคยทำล่าสุดมาก่อนเสมอ (2-3 ปีที่ผ่านมา) หากเราเล่าสิ่งที่เก่าเกินไป ผู้สัมภาษณ์อาจจะคิดว่าเราไม่ได้มีผลงานหรือประสบการณ์ใหม่ๆที่เกี่ยวข้องเลย

3. โฟกัสความสนใจเกี่ยวกับงาน

ก่อนจะไปสัมภาษณ์ควรเตรียมตัวศึกษารายละเอียดเกี่ยวกับบริษัทและรายละเอียดที่ต้องรับผิดชอบ แม้ในประกาศรับสมัครจะมีอธิบายไว้อยู่แล้ว ควรอ่านให้ละเอียดพร้อมเตรียมคำถามที่สงสัยไว้ถามเมื่อถึงเวลาที่ผู้สัมภาษณ์เปิดโอกาสให้ถามคำถามเพิ่มเติม

เพราะแม้จะเป็นสายงานเดิม แต่อาจจะมีขั้นตอนการทำงานที่แตกต่างออกไป หรือรายละเอียดอื่น ๆ ที่เราควรต้องรู้เอาไว้ก่อน เพื่อให้ทราบความชัดเจนขอบเขตของเนื้องาน และแสดงให้เห็นว่าเราสนใจที่จะทำงานนี้จริง ๆ

ยกตัวอย่างเช่น หากคุณทำงานบัญชีบริษัทรถยนต์ คุณอาจจะรู้สึกว่างานบัญชีของบริษัทร้านอาหารเป็นงานที่เกี่ยวข้อง แต่จริงๆแล้ว ทักษะและความรู้เฉพาะทางด้านสินค้าที่บริษัททำก็สำคัญไม่แพ้ความรู้ตามตำราที่คุณเรียนมาเลย

4. หาจุดสำคัญของงานให้เจอ

จุดสำคัญที่ว่านี้ก็คือ ความรู้หรือทักษะที่ผู้สัมภาษณ์ให้ความสำคัญมากที่สุด เช่น ทักษะด้านบริการ ทักษะด้านการบริหาร ทักษะด้านการติดต่อสื่อสาร แล้วลองคิดดูว่าตัวเองมีความโดดเด่นในด้าน Soft Skill หรือ Hard Skill ในด้านใดบ้าง แล้วนำมาเชื่อมโยงกับงาน เพื่ออธิบายต่อว่าทำไมเราเหมาะสมกับตำแหน่งนี้ และหากได้ทำงานนี้จะสร้างความท้าทาย หรือนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาตัวเอง พร้อมกับช่วยบริษัทให้ก้าวหน้าได้อย่างไรบ้าง

เช่น หากมีการสมัครงานหาตำแหน่ง ‘กราฟฟิกกราฟิกดีไซน์’ แต่จริงๆแล้ว บริษัทอยากจ้างเราไปตัดต่อวิดีโอเพราะบริษัทขาดคนส่วนนี้พอดี (ไม่ได้สนใจเรื่องแต่งรูป หรือ ทำเว็บไซต์) ถ้าเราเก่งด้านนี้ ตอบคำถามได้ตรงจุดส่วนนี้ โอกาสที่เราจะสมัครงานผ่านก็มีสูง

เพราะฉะนั้น เราก็ควรทำความเข้าใจความต้องการของหน้าที่แต่ละอย่างให้ดี ส่วนมากจะเป็นการพูดคุยกับฝ่ายบุคคลเบื้องต้นก่อน หรือหากเรามีเส้นสายก็สามารถพูดคุยกับพนักงานคนอื่นในบริษัทได้ ว่างานแต่ละหน้าที่ต้องการ ‘จุดสำคัญ’ อะไรบ้าง

5. ถ่อมตนแต่ไม่ลดคุณค่าของตัวเอง

อย่างที่บอกไปว่า คำถามนี้เราจำเป็นต้องแสดงให้ผู้สัมภาษณ์เห็นทักษะที่โดดเด่น เพื่อสร้างความแตกต่างจากคาดิเดตคนอื่น จึงควรตอบคำถามด้วยความมั่นใจ อย่าอายที่จะพรีเซนต์ตัวเองในสิ่งที่ถนัดและทำได้จริง ๆ โดยเตรียม Portfolio ไปประกอบด้วย พร้อมกันนี้ควรทำให้ผู้สัมภาษณ์เห็นถึงความกระตือรือร้นที่อยากจะร่วมงานกับบริษัทด้วย ก็จะช่วยเพิ่มโอกาสมากขึ้น

การสัมภาษณ์งานไม่ใช่เรื่องยาก และทุกคนมีโอกาสได้งานมากขึ้น หากเข้าใจถึงจุดประสงค์ของคำถามและตอบได้ตรงประเด็น โดยแสดงให้เห็นถึงการนำความรู้ความสามารถที่มีมาปรับใช้และเป็นประโยชน์กับงานให้ได้มากที่สุด เพียงเท่านี้ก็ช่วยให้ได้งานที่ต้องการไม่ยากแล้วล่ะครับ

บทความอื่นๆที่เราแนะนำ

5 วิธีตอบข้อดีของตัวเอง ในการสัมภาษณ์งาน (ใช้ได้จริง)
7 วิธีตอบคำถาม ‘ทำไมถึงอยากเปลี่ยนงาน’ ?
ไม่มีประสบการณ์ทํางาน จะหางานอย่างไร | คู่มือเด็กจบใหม่

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด