อยากเป็นพ่อค้าแม่ค้า แต่ใจไม่กล้าพอ เพราะกลัวขายไม่ได้
หลายคนชอบถามว่า อยากทำธุรกิจของตัวเอง แต่ไม่กล้าเริ่มไม่รู้จะเริ่มยังไง กลัวขายไม่ได้ ใจไม่กล้าพอ
ความกลัวเป็นสิ่งที่ไม่ว่าใครก็มีกัน ทุกครั้งที่ผมลองอะไรใหม่ผมก็มีความกลัวเสมอ แต่ผมคิดว่าความกลัวก็เป็นสิ่งที่ดีอย่างหนึ่งเพราะมันช่วยทำให้เราคิดให้รอบคอบก่อนจะทำอะไร
แต่สำหรับบางคน ความกลัวที่มากไปก็จะทำให้ไม่กล้าเริ่มอะไรใหม่ซักที
หมายเหตุ: วันนี้ผมขออธิบายแค่ความกลัวในการขายนะครับ หากคุณมีความกลัวเรื่องอื่นในการทำธุรกิจและอยากปรึกษาหรืออยากให้ผมเขียนเพิ่มสามารถคอมเม้นมาได้
Table of Contents
กลัวขายไม่ได้ ไม่มีตลาด แก้ยังไงดี
วิธีแก้ความกลัวในการขายสินค้าใหม่หรือในการเริ่มธุรกิจ ก็คือการเริ่มอะไรซักอย่างทีละน้อย เช่นด้วยการทำอะไรง่ายๆ ลงทุนไม่เยอะก่อน เพื่อทดสอบสินค้าและตลาดของเราก่อนที่จะเริ่มขายแบบจริงจัง ให้ถือว่าเวลาและเงินทุนที่ใช้ตอนต้นเป็นการซื้อข้อมูลอย่างหนึ่ง
ในวันนี้เรามาดูวิธีเอาชนะความกลัวและหาวิธีศึกษาตลาดที่ใครก็ทำได้ และที่สำคัญคือใช้เงินไม่เยอะด้วยครับ
สาเหตุที่เรากลัวว่าจะขายไม่ได้
ก่อนอื่นเลยเราต้องทำความเข้าใจตัวเองก่อนว่าเรากังวลเรื่องไหนมากสุด และ ‘ข้อจำกัด’ ในการ ‘เริ่มขาย’ ของเรามีอะไรบ้าง คนที่กลัวการขายส่วนมากจะให้เหตุผลว่า กลัวลูกค้าไม่ชอบ กลัวขายไม่ได้ กลัวไม่มีตลาด และไม่รู้จะกำไรไหม
และผมก็คิดว่ามันเป็นความกังวลที่สมเหตุผล เพราะไม่ว่าใครก็ไม่อยากทำผิดพลาดกันทั้งนั้น
แต่หากมาลองคิดดีๆแล้ว คำถามพวกนี้แม้ดูต่างกันแต่ในมุมมองของการขายมีคำตอบเดียวเลย ก็คือเราต้อง ‘หาวิธีทดสอบ’
แน่นอนว่า วิธีการทดสอบตลาด มันฟังดูยากและน่ากลัวเหมือนกันใช่ไหมครับ ก็เราไม่เคยทำมาก่อน ถ้าทำผิดจะทำไง
ไม่เคยทำมาก่อน ทำผิดจะทำไง
คำตอบก็คือ ทำผิดก็แค่เสียเวลาไม่กี่ชั่วโมงและทุนไม่กี่พันบาท ครับ
เปรียบเทียบง่ายๆ บางคนนั่งรถไปทำงาน เจอรถติดในกรุงเทพยังใช้เวลามากกว่าเลย หรือบางคนไปเที่ยวต่างจัดหวัดตอนวันหยุดยังใช้เงินมากกว่าด้วยซ้ำ ใช่ครับ การทดสอบตลาดทำได้เร็วและใช้เงินไม่เยอะ ต่อให้พลาดเราก็ไม่เจ็บตัวมาก
วันนี้ผมมีหลายวิธีการทดสอบตลาดเพื่อเอาชนะการ “กลัวขายไม่ได้” หรือ “กลัวไม่มีลูกค้า” สามารถเลือกได้ตามความสะดวกในการใช้ครับ อันไหนเราถนัดหรือเคยทำที่คล้ายกันมาแล้วให้ลองก่อนได้เลย
วิธีทดสอบตลาดแบบใช้ทุนไม่มาก
ผมเข้าใจว่าแต่ละคนมีความสามารถบางด้านไม่เท่ากัน บางคนถนัดอย่างหนึ่งบางคนถนัดอีกอย่าง ผมเลยจะนำเสนอหลายวิธีหน่อยเพื่อให้ทุกคนมีตัวเลือกที่มากขึ้น
หากใครยังคิดไม่ออกอีกว่าจะเริ่มยังไง เลือกไม่ถูก ก็ให้ลองเลือกจากบนลงล่างเลยนะครับ อันไหนง่ายกว่าหรืออันไหนที่เราคิดว่าน่าจะพอทำได้บ้างเหล่ะ ก็เริ่มทำได้เลย ไม่ต้องพิจารณาทุกอย่างก่อนทำก็ได้เพราะหัวข้อในวันนี้คือ ‘การทำให้ง่ายและได้ข้อมูลเร็วที่สุด’
การหาข้อมูลทดสอบตลาดอย่างรวดเร็ว
หัวข้อ | วิธีการ | ข้อดี | ข้อเสีย |
---|---|---|---|
หาข้อมูลออนไลน์ | ให้ลองหาข้อมูลสินค้าจาก Google/Facebook/YouTube/Pantip ดูได้ว่าคนให้ความสนใจมากแค่ไหน | ทำได้ง่ายและสามารถทำได้จากบ้านเลย ที่สำคัญคือฟรี | ไม่สามารถบอกได้ว่าคนอยากซื้อได้ที่ราคาเท่าไร หรือสินค้าล้นตลาดหรือยัง |
สัมภาษณ์ลูกค้า | ลองจินตนาการดูว่าสินค้าที่คุณอยากขายใครจะเป็นลูกค้า เช่นคุณแม่ เจ้าของน้อยหมา หรือคนอยากกินก๋วยเตี๋ยวในซอย หากรู้แล้วให้ลองเข้าหาและสอบถามลูกค้าพวกนี้ | สามารถหาข้อมูลได้เยอะมากตามเท่าที่คุณสามารถที่จะถาม ไม่ว่าจะเป็นวิธีการซื้อ ความต้องการลูกค้า หรือราคาที่พร้อมจะจ่าย ฟรีเหมือนกัน | ต้องใช้เวลาเตรียมคำถามนิดหน่อย สามารถหาอ่านได้ออนไลน์ในเรื่องวิธีสัมภาษณ์ลูกค้า |
เซอร์เวย์ คนรู้จัก | จะเหมือนการทำเซอร์เวย์แต่เน้นไปที่การคุยกับคนที่เรารู้จักและคนใกล้ตัวมากกว่า | จะให้ข้อมูลเราได้เยอะกว่าการสำภาษณ์ลูกค้าทั่วไป และใช้ความกล้าน้อยกว่าในการเริ่มเข้าหา ฟรีเหมือนกัน | คนที่เรารู้จักอาจจะมีจำนวนน้อยทำให้ข้อมูลน้อยตาม |
ลองขายเลย | ให้ลองขายแบบใช้งบน้อยๆเช่นฝากร้านอื่นขาย ขายลง Facebook/IG ขายลง Shopee/Lazada หรือเช่าที่ขายในตลาดแบบรายวัน | ทำให้เราได้ทดสอบสินค้าในหลายตลาดและได้ข้อมูลการขายในตลาดจริง | ต้องมีการสต็อกสินค้านิดหน่อย หากยังไม่สามารถซิ้อหรือผลิตแบบมีจำนวนได้ให้ ขายเท่าทุนไปก่อน ขายของบางที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต้องศึกษาให้ดีก่อนที่จะเริ่มขายปริมาณเยอะ |
ลองขายสินค้าใกล้เคียง | ให้ลองขายสินค้าที่มีราคาถูกกว่าสินค้าที่เราอยากขาย เพื่อทดสอบตลาด สามารถเลือกช่องทางได้ตามด้านบนเหมือนกัน | ทำให้เราได้ทดสอบสินค้าในหลายตลาดและได้ข้อมูลการขายในตลาดจริง และใช้เวลาเตรียมสินค้าน้อยกว่าเพราะสามารถซื้อของที่มีในตลาดมาขายได้ทันทีทำให้สต็อกน้อย | ต้องมีการสต็อกสินค้านิดหน่อย หากยังไม่สามารถซิ้อหรือผลิตแบบมีจำนวนได้ให้ ขายเท่าทุนไปก่อน ขายของบางที่อาจจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมต้องศึกษาให้ดีก่อนที่จะเริ่มขายปริมาณเยอะ |
ข้อสำคัญในการทดสอบตลาดสำหรับคนที่ไม่มีงบก็คือ เราไม่ควรสร้างหนี้เพิ่มนะครับ อันไหนที่ใช้เงินเกินงบใช้จ่ายทั่วไปของคุณ ตัดไปได้เลย
หากธุรกิจของคุณเป็นธุรกิจเฉพาะพื้นที่ คุณก็แค่ลองหาข้อมูลในพื้นที่หรือคุยกับลูกค้าประจำพื้นที่พอครับ เดินเข้าไปถามคนแปลกหน้าบนถนนเลยก็ได้
สำหรับคนที่ไม่รู้วิธีเข้าหาลูกค้าหรือคนแปลกหน้าสามารถลองอ่านบทความนี้ได้ 23 คำถามที่ควรถามลูกค้า ใช้ได้สำหรับทุกกรณี
กลัวขายไม่ได้ ไม่ดีจริงหรือ
ผมเห็นว่าความกลัวมันไม่ใช่สิ่งไม่ดี กลัวการขายหรือกลัวไม่มีตลาดเป็นเรื่องปกติที่เราจะรู้สึกกัน
สิ่งที่เราควรจะต้องปรับ ก็คือแนวคิดว่ากลัวแล้วต้องอยู่เฉยๆ
หากเรากลัวที่จะทำอะไร เราควรจะหาวิธีอื่นวิธีใดก็ได้ ที่สามารถทำให้เราเริ่มต้นสิ่งที่เหมือนกันหรือใกล้เคียงที่สุด เพื่อจะทดสอบว่าความกลัวของเราถูกต้องหรือเปล่า หากความกลัวของคุณถูกต้องสินค้าขายไม่ได้จริง หรือไม่มีตลาดจริง คุณก็ควรที่จะหยุด แต่คุณไม่ควรหยุดก่อนที่จะทำอะไรเพราะกลัว
สิ่งที่ผมแนะนำไปด้านบนก็คือวิธีเอาชนะความกลัวด้วยการเริ่มต้นทำอะไรก็ได้ที่ทำได้ง่ายและใช้ทุนไม่เยอะ เพื่อที่จะตอบคำถามในใจของคุณได้ให้ได้ เช่น กลัวขายไม่ได้ และ กลัวไม่มีตลาดแก้อย่างไรดี
ถ้าเรากลัวขายไม่ได้มากเกินไป
เรารู้วิธีแก้ความกลัวแล้วและเข้าใจแล้วว่า ‘การกลัวขายไม่ได้’ หรือ ‘กลัวไม่มีตลาด’ ไม่ควรเป็นสิ่งที่จะหยุดคุณ หากคุณกำลังรู้สึกกลัวจนเริ่มอะไรไม่ถูก ผมคิดว่าคุณกำลังกลัวหรือกังวลมากไปและให้ลองเริ่มอะไรดูแบบง่ายๆเพื่อเอาชนะความกลัวทีละนิด
สัญญาณบอกว่าคุณกำลังกลัวการขายมากไป
- คุณยังไม่ได้ลองเริ่มอะไรเลย – คนส่วนมากตกม้าตายตอนเริ่ม คือการคิดไว้เยอะเตรียมนู่นเตรียมนี่และลองศึกษาข้อมูลมากมาย เข้างานสัมมนาก็แล้ว ดูวีดิโอหาข้อมูลในยูทูปก็แล้ว อ่านกระทู้พันทิปก็แล้ว แต่ยังไม่เริ่มซักที
- คุณเริ่มแล้ว แต่เลิกตอนครึ่งทาง – บางคนเริ่มเก็บข้อมูลลูกค้าด้วยการทำจริงแล้วแต่ก็เลิกเพราะมันลำบากหรือไม่ชอบเวลาลูกค้าปฏิเสธ อันนี้ให้ลองคิดดูครับว่าคุณอยู่ในสภาพที่ไม่สามารถเริ่มต่อได้จริงไหม ชีวิตตอนนี้สบายอยู่หรือยุ่งเกินไป แต่ถ้าคุณค้นพบแล้วว่าคุณไม่ชอบทำธุรกิจอันนี้ผมว่าก็เลิกได้เราไม่ว่ากันครับ
- คุณเก็บข้อมูลเสร็จแล้ว แต่ไม่ยอมไปต่อ – หากคุณได้ข้อมูลมาแล้วว่าลูกค้ามีอยู่จริง ตลาดมีอยู่จริง และลูกค้ามีกำลังซื้อ แต่คุณยังไม่ยอมไปต่อ คุณกำลังปล่อยให้เงินหนีคุณไปครับ ถ้าคุณคิดแล้วว่าคุณไม่ชอบทำธุรกิจจริงๆ หรือไม่มีเวลา หรือรับความเสี่ยงไม่ได้จริงๆ ให้ลองชวนเพื่อนหรือหาคนมาทำแทนดูครับ
ย่อยปัญหาใหญ่ให้กลายเป็นเรื่องเล็ก
ท้ายที่สุดนี้คุณจำเป็นต้องตอบคำถามว่าคุณกลัวอะไร
หากคุณรับความเสี่ยงไม่ได้ หรือที่ไม่กล้าลองทำอะไรใหม่ๆ ให้คุณลองย่อยปัญหาที่ดูเหมือนโลกแตกของคุณให้เป็นหัวข้อย่อยแล้วเอาวิธีที่เรานำเสนอมาใช้ตอบครับ
แก้ความกลัวการขายให้ตรงโจทย์
- กลัวขายไม่ได้ – ลองหาข้อมูลสินค้าก่อนเริ่ม และสัมภาษณ์ลูกค้าหรือคนรู้จักก่อนเริ่ม อย่างเพิ่งลงทุนเยอะ จนกว่าจะเข้าใจว่าลูกค้าอยากได้แบบไหน
- กลัวขายไม่ดี – หากได้ข้อมูลมาแล้วว่าคนซื้อ แต่กลัวคนซื้อไม่เยอะพอที่จะกำไรให้ลองทำอะไรในขนาดเล็กดูก่อน เช่นขายออนไลน์หรือฝากคนอื่นขาย อยากทำร้านส้มตำก็ไปลองตำให้ร้านอื่นก่อน ถ้าปริมาณมากพอที่คุณจะมั่นใจได้แล้วว่าขายดีก็สามารถเริ่มลงทุนเพื่อขยายได้
- กลัวลูกค้าไม่ชอบ – ถ้าเริ่มขายแล้วลูกค้าไม่ชอบแต่เค้ายังกลับมาซิ้อเรื่อยๆเพราะราคาคุณดี หรือคุณบริการสะดวกก็ยังไม่ต้องถอดใจครับ ให้ลองคุยกับลูกค้าเพื่อพัตนาสินค้าและการบริการของคุณ ปัญหานี้เริ่มขายแล้วค่อยกังวลนะครับ ถ้ายังไม่เริ่มก็ยังไม่ต้องคิดเลย
- กลัวโดนลูกค้าปฏิเสธ – หากลองปรึกษาบางคนอาจจะได้คำตอบว่าให้ทนๆเอา แต่ถ้าทนไม่ไหวก็ให้ลองเปลี่ยนมาขายออนไลน์แทน หรือลองลงทุนซักเดือนสองเดือนจ้างพนักงานมาคุยกับลูกค้าแทน แต่อย่างไรก็ตามช่วงแรกถ้าคุณไม่มีเงินหรือไม่มีคนช่วยคุณก็ต้องทำเอง
- กลัวเงินจม – กลัวเงินจมคือการกลัวว่าเราขายสินค้าไม่ได้ เงินจมแปลว่าเราสต็อกสินค้าเยอะเกินที่จะขายในระยะที่เรารับได้ อันนี้ต้องค่อยๆปรับ สินค้าไหนขายไม่ได้เกินหนึ่งเดือนก็ควรจะระบายทิ้ง แค่ไม่ขายขาดทุนก็โอเคแล้วครับ เอาเงินไปลงทุนสินค้าใหม่ดีกว่า
- กลัวโดนลอก – ปัญหาโลกแตก แต่ถ้าคนจะลอกคุณได้แปลว่าคุณต้องขายดีในระดับหนึ่งแล้ว เท่ากับว่าคุณจะต้องมีฐานลูกค้าและเงินเก็บพอสมควร ให้ลองทำแบรนด์สินค้าตัวเองและการตลาดเพิ่มดูครับ
ผมมีสองบทความแนะนำเกี่ยวกับการแก้ความกลัวในการทำธุรกิจ การกลัวโดนลอกดังนี้ แนะนำให้ศึกษาดูนะครับ โดนก๊อปสินค้า ธุรกิจโดนลอก ต้องทำยังไงดีนะ และ 7 ขั้นตอนการสร้างแบรนด์ที่ลูกค้าติดใจ (และทำได้จริง)
จบด้วยการเริ่มที่ละน้อย
ทุกปัญหาที่ดูใหญ่ส่วนมากจะมาจากปัญหาย่อยหลายอย่างที่เราแก้ไม่ได้
ทุกครั้งที่คุณมีปัญหาที่ไม่รู้จะแก้ยังไงให้เริ่มจากการทำอะไรก็ได้ที่ทำได้ง่ายที่สุดและมีข้อเสียน้อยที่สุด (เช่นใช้เงินลงทุนน้อย) เพื่อทดสอบและเก็บข้อมูลสำหรับการแก้ปัญหาที่ใหญ่กว่านั้นภายหลัง
หลายคนเข้าใจผิดว่าการทำธุรกิจคือทำใจรับความเสี่ยงให้ได้ แต่สิ่งที่สำคัญกว่าก็คือการหาวิธีลดความเสี่ยงและความกลัวเพื่อที่จะแก้ปัญหาให้มีประสิทธิ์ภาพมากที่สุด สำหรับคนที่เข้าใจความเสี่ยงแล้ว สามารถอ่านบทความนี้ของผมเพื่อศึกษาวิธีเริ่มต้นทำธุรกิจ เริ่มกิจการยังไงไม่ให้ล่ม – สุดยอดคู่มือเริ่มต้นธุรกิจ และ 19 ตัวอย่าง Business Model จากทั่วโลก ทำตามได้จริง!