หลายคนที่กำลังเริ่มหรือเพิ่งเริ่มทำธุรกิจอาจยังไม่รู้จักเรื่องการทำบัญชีมากนัก หลายคนขายดีแต่ไม่มี เงินเก็บ ขายดีแต่ไม่มีกำไร ในบทความนี้เรามาดูกันว่าวิธีแยกทุนกำไรจากการค้าขายทำยังไง กำไรจากการขายคำนวนยังไง และกำไรที่ได้จากการขายควรไปทำอะไร
วิธีคิด ต้นทุน กำไร – ทุนและกำไร แยกยังไง
กำไรจากการทำธุรกิจก็คือ ส่วนต่างระหว่าง ยอดขาย และ ค่าใช้จ่าย โดยที่่ค่าใช้จ่ายต้องรวมถึงต้นทุนสินค้า เงินเดือนเจ้าของและพนักงาน และค่าใช้จ่ายอื่นๆ เช่น ค่ารถ ค่าเช่าที่ ค่าการตลาด ค่าน้ำค่าไฟ หากซื้อของมา 1000 ขายไปในราคา 3000 ก็จะมีกำไร 2000
กำไร = ยอดขายรวม – ค่าใช้จ่าย
หมายความว่า ถ้าเราซิ้อเสื้อมาในราคา 100 บาท (ค่าใช้จ่าย) และ ขายไปในราคา 200 (ยอดขาย) กำไรของเราก็คือ 200 – 100 หรือ ก็คือ 100 บาท นั่นเอง
หากเราเข้าใจวิธีคิดกำไรแบบพื้นฐานแล้ว เรามาลองทำความเข้าใจการคำนวณที่จะเหมาะสมกับการทำธุรกิจมากขึ้นกัน
ตัวอย่างที่เราเห็นด้านบนก็เป็นการคิดแบบพื้นฐานที่สุด การค้าขายต้องมีค่าใช้จ่ายมากกว่า ‘ต้นทุนวัตถุดิบ’ อยู่แล้ว ยกตัวอย่างเช่น ค่าเช่าที่ เงินเดือนเจ้าของ หรือค่าการตลาด
เพราะฉะนั้นกำไรจากการทำธุรกิจจะแยกได้เป็น
กำไรเบื้องต้น = ยอดขายรวม – ต้นทุนสินค้า
กำไรรวม = กำไรเบื้องต้น – ค่าใช้จ่ายอื่นๆ
คนส่วนมากก็เข้าใจพื้นฐานว่า การทำกำไรก็คือ ‘การขายในราคาที่สูงกว่าต้นทุนสินค้า’
คนที่ทำการค้าขาย ส่วนมากจะคิดถึงแค่ ‘กำไรเบื้องต้น’ ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นการทำธุรกิจที่ดี เพราะหลายธุรกิจเกิดปัญหา ‘ขายดีจนเจ๊ง’ ก็เพราะขายราคาต่ำไป (ส่วนมากจะเป็นธุรกิจที่ต้องผลิตอะไรสักอย่าง ทำให้คำนวณต้นทุนสินค้ายาก)
อย่างไรก็ตาม กำไรเบื้องต้นอย่างเดียวก็ไม่เพียงพอสำหรับ ‘การทำธุรกิจแบบจริงจัง’ เพราะการค้าขายมีค่าใช้จ่ายมากกว่ากําไรหักต้นทุนสินค้า หากเราขายของที่ตลาดเราก็ต้องมีการเสียค่าเช่าที่ หากเราขายของออนไลน์เราก็อาจจะมีค่าโฆษณาค่าการตลาด
และถ้าเราอยากจะทำอาชีพค้าขายเต็มตัว เป็นงานประจำ เราก็ต้องคำนวณได้ว่า เงินเดือนของตัวเองคือเท่าไหร่ แล้วเราจะต้องมีการจ้างและจ่ายเงินเดือนพนักงานหรือเปล่า
ขายของยังไงไม่ให้ขาดทุน
การขายของให้ไม่ขาดทุน ต้องทำยอดขายให้มากกว่าค่าใช้จ่าย ซึ่งเจ้าของกิจการก็ต้องทำความเข้าใจค่าใช้จ่ายต่างๆ นอกจากนั้นแล้ว ยังต้องมีการคำนึงถึงปัจจัยอื่นที่เกี่ยวข้องกับการทำธุรกิจ เช่น เงินหมุน ทุนสำรอง และ การทำบัญชี
ในส่วนที่แล้วผมได้อธิบายวิธีการคำนวณพื้นฐานแล้ว สำหรับส่วนนี้เรามาลองดูว่าค่าใช้จ่ายที่พ่อค้าแม่ค้าส่วนมากต้องคำนึงถึง มีอะไรบ้าง ให้ลองพิจารณาต้นทุนและค่าใช้จ่ายดังนี้ นะครับ
ต้นทุนสินค้า (ซื้อมาเท่าไร)
ค่าการตลาด/ค่าเช่าที่
เงินเดือนเจ้าของ
เงินเดือนพนักงาน
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ (ภาษี ค่ารถ ค่าน้ำค่าไฟ)
ยกตัวอย่างเช่น หากภายใน 1 เดือน ธุรกิจของคุณเป็นดังนี้
ยอดขายรวม 30,000 บาท
ต้นทุนสินค้า 10,000 บาท
กำไรเบื้องต้น 20,000 บาท (30,000 – 10,000)
ค่าการตลาด 2,000 บาท
เงินเดือนเจ้าของ 10,000 บาท
ค่าใช้จ่ายอื่นๆ 5,000 บาท
กำไรโดยรวม 3,000 บาท (20,000 – 17,000)
ในส่วนนี้ ผมได้ทำคู่มือการทำบัญชีแบบละเอียดไว้ สามารถดูได้ที่นี่นะครับ วิธีทำบัญชีที่ใครก็ทำได้ (พร้อมตัวอย่างการทำบัญชีร้านค้าปลีก)
หากมีการซื้อสินค้าเพิ่มจะแบ่งทุนกับกำไรยังไง
วิธีที่อธิบายไปในส่วนที่แล้วจะเป็นการคำนวณที่ธุรกิจทั่วไปใช้กัน แต่ในความเป็นจริงแล้วธุรกิจซื้อมาขายไปต้องมีการเติมสต๊อกอยู่ตลอดเวลา หมายความว่าตอนแรกต้นทุนสินค้าเราอาจจะมีแค่หมื่นเดียว แต่ก่อนที่เราจะขายสินค้าหมดเราก็ต้องเติมสต๊อกอีกรอบ
กำไรจากการขายคิดจากสินค้าที่ขายไปแล้ว ให้เอายอดขายมาหักลบกับต้นทุนสินค้า ส่วนเงินที่นำมาซื้อสต็อกเพิ่ม ให้คิดแยกเป็น ‘สินค้าคงคลัง’ แทน กำไร ไม่จำเป็นต้องเท่ากับ ‘เงินสดในมือ’ เพราะธุรกิจมีสต็อกหรือทรัพย์สินอื่นด้วย
งบกำไรขาดทุนส่วนมากจะไม่มีข้อมูลของสต๊อกหรือสินค้าคงคลัง เพราะการทำบัญชีที่แท้จริงต้องแยกทำ ‘งบกำไรขาดทุน’ ‘เงินหมุน’ และ ‘ทรัพย์สิน’ เป็นข้อมูลทางการเงิน 3 อย่างที่แยกกัน
หากหลักการนี้ฟังดูยุ่งยากไปนิดนึงก็ไม่เป็นไร ให้เราเข้าใจว่าเรากำไรจากการขายสินค้ามากกว่าราคาต้นทุน แต่เราก็ต้องมีงบสำรองไว้สำหรับการซื้อทรัพย์สินอย่างสต๊อกเพิ่ม และถ้ามีการขายเครดิตเราก็ต้องคำนึงถึงการหมุนด้วย
สรุปก็คือ เราต้องพิจารณาปัจจัยพวกนี้ด้วย
เงินหมุน – เช่น ต้องจ่ายค่าเช่าที่วันไหน จ่ายเงินเดือนพนักงานวันไหน แล้วถ้าเราซื้อวัตถุดิบแบบมีเครดิตมา เราก็ต้องประเมินยอดขายเบื้องต้นให้ทายว่าจะมีเงินหมุนมาจ่ายพอหรือเปล่า บางธุรกิจขายกำไรเยอะแต่เงินหมุนน้อย บางธุรกิจขายกำไรน้อยแต่เงินหมุนเยอะ
สต็อกสินค้า – ธุรกิจค้าขายส่วนมากจะเอาเงินไปจมกับสต๊อกสินค้า เพราะสต๊อกสามารถนำมาสร้างเงินใหม่ในอนาคตได้ การซื้อสต๊อกมากไปก็จะทำให้เงินจม หากธุรกิจทีภาระค่าใช้จ่ายเยอะก็จะทำให้เงินหมุมไม่พอได้ ซื้อสต็อกน้อยไปก็จะเสียโอกาสในการขาย เป็นการลดยอดขายตัวเองทางอ้อม
เงินสำรอง – เงินสำรองมีไว้ใช้สำหรับค่าใช้จ่ายในกรณีฉุกเฉิน อาจจะเป็นช่วงขายไม่ดีจนทำให้หมุนเงินไม่ทัน หรือเวลาที่อยากจะขยายธุรกิจ เช่นการจ้างพนักงานเพิ่ม การซื้อสต๊อกเพิ่ม การขยายสาขา ธุรกิจใหม่ควรจะมีเงินสำรองเผื่อฉุกเฉินเสมอ แล้วก็ควรมีการออมเงินจากกำไรการขายมาเป็นเงินสำรองเพิ่มด้วย
ตัดบัญชีรายวันและรายเดือน – ทำธุรกิจยังไงก็ต้องคอยดูบัญชีและงบกำไรขาดทุน การตัดบัญชีรายวันจะทำให้รู้ว่ามีเงินหมุนเท่าไหร่ รายการตัดบัญชีทุกเดือนจะเป็นการสรุปงบกําไรขาดทุนของธุรกิจ
เรื่องสินค้าค้างสต็อกเป็นปัญหาหลักของคนทำธุรกิจขายของเลย ในบทความนี้จะไม่ได้ลงรายละเอียดมากนัก แต่ผมแนะนำให้อ่านบทความดังนี้นะครับ การจัดการสินค้าค้างสต็อก
กำไรจากการขายของควรเอาไปทำอะไร
สุดท้ายแล้ว หากค้าขายมีกำไร กำไรที่ได้มาควรจะเอาไปทำอะไร? เก็บไว้เท่าไร และ เงินเดือนของเจ้าของควรจะเท่าไรกัน
ในช่วงปีแรกๆของการทำธุรกิจ เราอาจจะรู้สึกว่าขายได้น้อย กำไรน้อย ซึ่งก็เป็นธรรมชาติของการเริ่มธุรกิจใหม่ การที่กำไรน้อยหมายความว่าการเจียดเงินออกมาลงกับธุรกิจเพิ่ม หรือการจ่ายเงินเดือนให้ตัวเองก็ดูเป็นเรื่องยาก
ซึ่งก็เป็นเหตุผลที่คนส่วนมากนิยมที่จะมี ‘ทุนสำรอง’ ไว้ก้อนหนึ่งก่อน เผื่อว่าธุรกจขายได้กำไรน้อย เจ้าของธุรกิจก็จะได้มีเงินหมุน มีเงินไว้ให้ตัวเองซื้อข้าวกินได้ เพราะการที่ร้านค้าจะขายดีตั้้งแต่วันแรกเป็นเรื่องที่ยากมาก แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
สรุปก็คือ กำไรจากการขาย ควรทำมาไว้เป็นทุนสำรองหนึ่งก้อน เงินเดือนเจ้าของใช้เองหนึ่งก้อน และ ไว้ลงทุนกลับไปยังธุรกิจอีกหนึ่งก้อน หากใครรู้สึกว่าเงินส่วนนี้ยังน้อยไป ก็ต้องหาวิธีเพิ่มเงินทุนตัวเอง หรือหาวิธีเพิ่มยอดหายให้ธุรกิจอยู่รอดได้นะครับ