11 เคล็ดลับทำให้ธุรกิจมีกำไร แก้ปัญหาขาดทุนแน่นอน

11 เคล็ดลับทำให้ธุรกิจมีกำไร แก้ปัญหาขาดทุนแน่นอน

ปัญหาธุรกิจกำไรน้อย ขายของขาดทุน คือสิ่งที่ใกล้ตัวเรามากกว่าที่คิด บางธุรกิจขายไม่ได้เลย บางธุรกิจก็ขายของได้เยอะ แต่สุดท้ายกำไรน้อย สิ่งที่น่ากลัวสำหรับ ‘การขาดทุน’ ก็คือการที่เราไม่สามารถวัดจากยอดขายและจำนวนลูกค้าได้ทันที เพราะเราต้องคำนึงถึงค่าใช้จ่ายด้วย

เหตุผลที่ทำให้ธุรกิจขาดทุนอาจจะมีเยอะ บางทีก็มีเยอะมากเกินกว่าที่เราจะคำนึงถึงได้หมด แต่นั่นก็ไม่ได้แปลว่าเราควรจะล้มเลิกความคิดที่จะทำให้ธุรกิจขาดทุนน้อยลงและกำไรมากขึ้น ในบทความนี้ผมมี 11 สิ่งที่คุณควรทำและคำนึงถึงเพื่อทำให้ธุรกิจกลับมากำไร เรามาดูกันเลยครับ

ทำอย่างไรให้ธุรกิจได้กำไร? ทำอย่างไรให้ไม่ขาดทุน?

ก่อนที่เราจะไปดูวิธีทำให้ธุรกิจกำไรได้ เราต้องเข้าใจก่อนว่าคำว่ากำไรหรือขาดทุนประกอบไปด้วยปัจจัย 2 ส่วนในการทำธุรกิจก็คือยอดขายและค่าใช้จ่าย การขาดทุนก็หมายถึงการที่ค่าใช้จ่ายเยอะกว่ายอดขาย ส่วนกำไรก็หมายถึงสิ่งที่ตรงกันข้าม เรามีกำไรเพราะยอดขายเรามากกว่าค่าใช้จ่าย

นอกจากปัจจัยทางธุรกิจแล้ว อีกสิ่งที่เราควรคำนึงถึงก็คือทักษะของผู้ประกอบการ ที่จะช่วยให้เจ้าของธุรกิจสามารถพลิกสถานการณ์แก้ปัญหาสภาวะขาดทุนให้กลายเป็นกำไรได้ 

ในบทความนี้ผมจะแยกคำแนะนำมาเป็น 3 ส่วน ก็คือการช่วยธุรกิจเพิ่มยอดขาย ช่วยลดค่าใช้จ่าย และ ช่วยพัฒนาทักษะในการบริหารธุรกิจ 

บริษัทขาดทุน ทําอย่างไร – ขายของยังไง ให้ได้กําไร

3 วิธีเพิ่มยอดขาย ให้ธุรกิจกลับมากำไร

เวลาที่ธุรกิจขาดทุน ทางออกแรกที่เจ้าของธุรกิจมักจะคิดถึงก็คือการเพิ่มยอดขาย เพราะแน่นอนว่าไม่มีความรู้สึกไหนที่ทำให้เรามีความสุขมากกว่าการที่ยอดขายเพิ่มขึ้น กำไรก็เพิ่มขึ้น ใช่ไหมครับ

#1 ขายดีแต่ขาดทุน เป็นปัญหาของการตั้งราคาถูกไป

‘ขายดีแต่ขาดทุน’ นับว่าเป็นเรื่องน่ากลัวของเจ้าของธุรกิจ เพราะส่วนมากเรารู้ตัวอีกที ยอดขายที่ได้มาก็ต้องเอาไปจ่ายเจ้าหนี้ แถมถ้าเราขายสินค้าหมดสต็อกพออยากจะแก้ปัญหาก็ไม่สินทรัพย์เหลือ ทำให้เกิดปัญหาทั้งเรื่องหนี้และเงินหมุน

ขายดีแต่ขาดทุน เป็นปัญหาของการตั้งราคาถูกไป ส่วนมากจะมาจากการที่ร้านค้าไม่สามารถหาลูกค้าได้มากพอ จนต้อง ‘ลดราคา’ เพื่อแข่งกับคู่แข่ง เพื่อแย่งลูกค้าไม่กี่คน นอกจากนั้น บางธุรกิจก็คำนวนต้นทุนสินค้ายากทำให้ขายของในราคาน้อยกว่าต้นทุนโดยไม่รู้ตัว

ในกรณีนี้การบอกให้ปรับราคาเพิ่มขึ้นเป็นแค่ข้อแนะนำส่วนเดียว ข้อแนะนำอีกส่วนก็คือเราต้องลองหาลูกค้ากลุ่มใหม่ ช่องทางใหม่ที่เอื้ออำนวยให้เราขายของมีกำไรได้เยอะมากขึ้นด้วย

ธุรกิจส่วนมากมีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) เช่น ค่าเช่าที่ ค่าจ้างพนักงาน ต่อให้ขายดีขายไม่ดี ค่าใช้จ่ายพวกนี้เราก็เลี่ยงไม่ได้ บางธุรกิจเลิกเลือกที่จะแก้ปัญหาระยะสั้นด้วยการตัดราคาตัวเองเพื่อขายสินค้าหาเงินหมุนมาครอบคลุมค่าใช้จ่ายส่วนนี้

ส่วนมากแล้ว การทำแบบนี้จะทำให้คุณปรับราคากลับมาเหมือนเดิมได้ยาก ทำให้กลายเป็นว่าต้องขายในสภาพขาดทุนในระยะยาวไปเลย เพราะฉะนั้นก่อนที่จะเริ่มปรับราคาแบบนี้ให้พิจารณาก่อนนะครับว่าคุณจะดึงราคากลับมาได้ง่ายแค่ไหน

#2 ขายของได้กำไรน้อย ส่วนมากเพราะคุณขายจำนวนน้อยเกินไป

หากคุณขายของได้กำไรน้อย คุณก็ต้องกลับมาดูรูปแบบการทำธุรกิจ (business model) ของคุณ ว่าคุณเป็นธุรกิจประเภทที่ขายจำนวนเยอะเพื่อให้ได้กำไร (ร้านซื้อมาขายไป โรงงานต่างๆ) หรือเป็นประเภทที่ขายน้อยแต่ขายในราคาแพงเพื่อกำไรเยอะ (สินค้าไฮโซราคาแพง สินค้าพรีเมี่ยม)

สินค้าส่วนมาก ยิ่งมีความแตกต่างน้อย ยิ่งหาซื้อได้ง่าย ก็จะยิ่งขายได้กำไรน้อย สินค้าจำพวกนี้ไม่ได้แปลว่าไม่น่าขาย แต่คุณต้องปรับโครงสร้างธุรกิจให้เหมาะกับการขายสินค้าพวกนี้ในปริมาณเยอะๆ หากคุณขายสินค้าราคาร้อยบาทเพื่อกำไรห้าบาท คุณก็ต้องขายให้ได้หลักแสนถึงจะได้กำไรเป็นก้อนเยอะๆ 

ซึ่งก็หมายความว่าคุณต้องหาลูกค้าให้ได้เยอะขึ้น (ธุรกิจขายปลีก แบบร้านใหญ่ๆในห้าง) หรือจะขายในจำนวนเยอะต่อลูกค้าหนึ่งคน (ธุรกิจขายส่ง) ถ้าคุณจะขายลูกค้าเยอะๆ คุณก็ต้องทำการตลาด เตรียมพนักงานไว้ตอบลูกค้าให้เยอะ ถ้าคุณจะขายส่ง คุณก็ต้องหาคนวิ่งเข้าหาลูกค้าธุรกิจอื่น (กลายเป็นธุรกิจ B2B)

การเพิ่มจำนวนขาย ก็เป็นกลยุทธ์ลดต้นทุนสินค้าได้อย่างดีด้วย ในส่วนล่างของบทความนี้ ผมได้เขียนอธิบายเพิ่มไว้แล้วครับ รออ่านได้เลย

คำว่า ‘กำไรน้อย’ ขึ้นอยู่กับนิยามของแต่ละคน สำหรับร้านค้าห้องแถว กำไรหลักแสนก็เยอะแล้ว สำหรับห้างอย่างเซ็นทรัลกำไรไม่กี่ล้านก็ถือว่าเป็น ‘เศษเงิน’ ในส่วนนี้คุณเปรียบเทียบเองว่าตัวเลขไหนที่คุณพอใจ และคุณคิดว่าวิธี ‘เพิ่มจำนวนขาย’ แบบไหนที่เหมาะสมกับตัวคุณ

#3 ทำความเข้าใจกลยุทธ์การตลาดที่เหมาะกับคุณ

การตลาดเป็นกลยุทธ์เพิ่มยอดขาย ในส่วนนี้ใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว แต่สิ่งที่คุณอาจจะลืมคิดไปก็คือประสิทธิผลของการทำการตลาดของคุณ ในส่วนนี้เรามาตรวจสอบสถานะของการตลาดของคุณก่อน

ช่องทางการขาย ช่องทางการตลาด – การปรับปรุงช่องทางการขายและการตลาดที่มีอยู่แล้วก็เป็นวิธีเพิ่มยอดขายแบบเล็กๆน้อยๆ ส่วนมากแล้วหากคุณอยากจะเพิ่มยอดขายแบบเยอะๆ คุณก็ต้องหาช่องทางการขาย ช่องทางการตลาดใหม่ๆ ถึงแม้วิธีนี้อาจจะใช้เวลาและมีค่าใช้จ่ายเบื้องต้นเยอะ แต่หากคุณอยู่กับช่องทางการขายการตลาดเก่าๆมานานหลายปีแล้ว คุณก็ควรทดสอบวิธีใหม่ๆด้วยเพื่อลดความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกที่เปลี่ยนแปลงเสมอ

การหาลูกค้าสำหรับธุรกิจขนาดเล็ก (Niche Market) – หลายธุรกิจเลือกที่จะลงไปแข่งในช่องทางการตลาดที่มีลูกค้าอยู่เยอะ เพราะคิดว่าน่าจะหาลูกค้าในง่าย แต่ส่วนมากตลาดแบบนี้จะมีคุ่แข่งอยู่เยอะ จนทำให้เราขายของไม่ได้ในราคาที่ดี ในทางกลับกัน หากเราเลือกตลาดหรือช่องทางที่มีขนาดเล็กหน่อย เราจะสามารถขายของได้เยอะขึ้น กำไรมากขึ้น ในส่วนนี้ผมแนะนำให้อ่านบทความของผมเรื่อง การหา Niche Market ที่เหมาะกับธุรกิจของคุณ นะครับ

ลูกค้าใหม่-ลูกค้าเก่า – หากเป้าหมายของคุณคือการสร้างกำไร สิ่งที่คุณควรให้ความสำคัญมากที่สุดก็คือลูกค้าเก่าและการสร้างฐานลูกค้า ลูกค้าเก่าโดยรวมแล้วจะใช้ค่าการตลาดน้อยกว่า และส่วนมากมักจะซื้อในปริมาณที่มากกว่า ทำให้เราได้กำไรเยอะ ในระยะยาวคุณก็ต้องหาวิธีเรียกลูกค้าใหม่เพิ่มขึ้นเพื่อที่จะเปลี่ยนให้ลูกค้าใหม่จะเป็นลูกค้าเก่าในระยะยาว หากในแต่ละเดือน ยอดขายจากลูกค้าใหม่และลูกค้าเก่ามีความใกล้เคียงกัน ก็ถือว่าคุณบริหารได้ดีแล้ว

นอกจากนั้นแล้วคุณก็ควรจะตรวจสอบค่าใช้จ่ายในการตลาด ที่สามารถบานปลายได้ง่ายหากคุณไม่ใช่คนที่ชอบวัดผลและวิเคราะห์ข้อมูล ซึ่งก็เป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้หลายธุรกิจขาดทุนเช่นกัน

วิธีการเพิ่มยอดขายนั้นมีอยู่เยอะมาก หาคุณสนใจผมแนะนำให้ศึกษาบทความนี้ของผมเพิ่มเติม 11 เคล็ดไม่ลับทําให้ธุรกิจเติบโต เทคนิคเพิ่มยอดขาย ซึ่งจะลงรายละเอียดการช่วยคุณเพิ่มยอดขายไว้มากกว่า 

4 วิธีลดค่าใช้จ่าย เพิ่มกำไรแบบจับต้องได้

อีกหนึ่งปัจจัยในการสร้างกำไรให้กับธุรกิจก็คือการควบคุมค่าใช้จ่าย ตัดภาระที่ไม่จำเป็นออกไป เบื้องต้นแล้วคุณต้องรู้จักการทำบัญชีและการจัดเก็บข้อมูลธุรกิจให้ได้เสียก่อน เพื่อที่จะทำให้คุณเห็นภาพรวมของค่าใช้จ่ายทั้งหมด ในส่วนนี้ผมแนะนำให้ศึกษาบทความเรื่อง การทำบัญชีธุรกิจ ที่จะอธิบายขั้นตอนแบบเรียบง่ายเหมาะสำหรับมือใหม่นะครับ 

หากคุณทำได้แล้วก็สามารถทำตามขั้นตอนด้านล่างได้เลย 

#1 กำไร เงินสด และมูลค่าปัจจุบันสุทธิของเงิน

พื้นฐานของการเงินบอกไว้ว่าเงินในปัจจุบันมีค่ามากกว่าเงินในอนาคต 

เนื่องจากว่าหัวใจของบทความนี้คือการสร้างกำไร แก้ปัญหาขาดทุน คุณต้องทำความเข้าใจก่อนว่า ’เงินสด’ และ ’กำไร’ ไม่เหมือนกันเสมอไป ขายของได้เงินมาเยอะ แต่ขายได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน ก็จะทำให้เรารู้สึกว่ามีเงินหมุนเข้าตัวเยอะแต่พอไปหักค่าใช้จ่ายจริงๆก็จะไม่เหลืออะไรเลย

หากคุณดำเนินการธุรกิจมาสักพักแล้ว คุณก็คงสามารถเจรจาต่อรองขอเครดิตจากผู้จัดจำหน่ายได้ เช่นจ่ายเงินหลักรับสินค้า 14วัน หรือ 1เดือน ส่วนมากการจัดซื้อก็จะเล่นอยู่กับสองอย่างคือ ระยะเวลาชำระเงิน และ ส่วนลด หากเราจ่ายเงินสด ส่วนมากเราก็ได้ราคาถูก หากเรายืดเวลาจ่าย เราก็ต้องจ่ายแพงขึ้นหน่อย ถ้าคุณขายเครดิตให้ลูกค้าด้วย คุณก็ต้องดูตัวแปรด้านตรงข้ามเช่นกัน

ถ้าคุณอยากได้กำไรเยอะ คุณก็ต้องเสียสละเงินสด แต่ก็ไม่ใช่ว่าทางเลือกจะมีแค่ไม่เอาเครดิตเลย กับเอาเครดิตยาว เราต้องปรับส่วนลดกับระยะเวลาชำระเงินให้เหมาะสมกับสภาพธุรกิจปัจจุบัน

#2 บัญชีเป็นหัวใจของธุรกิจ

หัวใจหลักของการทำบัญชีก็คือการเรียบเรียงข้อมูลให้คุณรู้ว่าจุดอ่อนของบริษัทอยู่ที่ไหน เรามีรายได้เท่าไร ค่าใช้จ่ายเท่าไร และมีเงินหมุนพอหรือเปล่า

สุดท้ายแล้วถ้าเราไม่รู้ว่าส่วนไหนที่ทำให้ขาดทุน เราก็คงไม่สามารถตัดหรือลดส่วนนั้นได้ คุณอาจจะจ้างพนักงานมากไป ใช้เงินกับการตลาดอย่างไม่มีประสิทธิภาพ หรือมีช่องทางการขายที่ไม่สร้างกำไรก็ได้

ทางออกของ ‘ส่วนของธุรกิจ’ ที่ไม่ได้กำไร ก็มีแค่สองอย่างคือทำให้ดีขึ้น หรือตัดทิ้ง หากคุณเห็นภาพรวมแล้วว่าส่วนไหนไม่ได้กำไรคุณก็จำเป็นที่จะต้องซื่อสัตย์กับตัวเอง มองให้ออกว่าส่วนนี้เป็นจุดอ่อนที่สามารถพัฒนาได้จริงหรือเปล่า แล้วคุณจะให้โอกาสตัวเองเพื่อแก้ไขปัญหานี้นานแค่ไหน อาจจะเป็น 3 เดือนหรือ 3 ปี ซึ่งทางออกอาจจะเป็นอะไรง่ายๆ เช่นเปลี่ยนไปขายสินค้าตัวอื่น หรืออาจจะเป็นอะไรที่ทำใจได้ยาก เช่นการปิดสาขาที่ไม่สร้างกำไร 

ยิ่งธุรกิจเปิดมานาน เจ้าของธุรกิจก็จะยิ่งรู้สึกผูกพัน บางครั้งเวลามีปัญหาจนทำให้ธุรกิจขาดทุน เจ้าของธุรกิจก็ไม่ยอมปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน เอาเงินเก็บของตัวเองมาช่วยหมุนเวลาขาดทุน สุดท้ายผ่านไป 5 ปี 10 ปี ก็จะกลายเป็นธุรกิจที่เจ๊งพร้อมกับบุคคลล้มละลาย เพราะฉะนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้คุณจำเป็นที่จะต้องตั้งเป้าหมายและระยะเวลาในการแก้ปัญหาอย่างชัดเจน หากถึงเวลาคุณแก้ไม่ได้ คุณก็ต้องเลือกตัดสินใจ

#3 สินค้าค้างสต็อก และเงินจมที่หายไป

อีกหนึ่งกรณีที่เราเห็นได้บ่อยก็คือการขายในราคาที่สูงกว่าต้นทุน แต่ธุรกิจก็ไม่กำไรอยู่ดีเพราะจัดซื้อมามากเกินไป จนทำให้เงินไปจมอยู่กับสต๊อกหรือสินค้าคงคลัง

เบื้องต้นแล้ว เราต้องปรับความคิดสองอย่างในการบริหารสินค้าคงคลัง อย่างแรกก็คือสินค้าคงคลังปัจจุบันที่คุณมีอยู่ หากไม่ได้มีการหมุนเวียนมานานแล้วก็ควรถูกนำไปขายเพื่อนำเงินส่วนนี้มาใช้ทำอย่างอื่นที่ทำให้เกิดกำไรมากกว่า ธุรกิจซื้อมาขายไปส่วนมากไม่ควรจะมีสินค้าที่ค้างสต๊อกเกิน 3 เดือนหรือครึ่งปี เพราะเงินส่วนนี้สามารถนำไปซื้อสินค้าที่ขายดีได้มากกว่า 

ให้นำสินค้าค้างสต๊อกมาจัดโปรโมชั่น นำมาลดแลกแจกแถม รีบขายนำเงินมาหมุนก่อน อย่ายึดติดกับคำว่าเดี๋ยวก็ขายออก จนบางคนเก็บไว้เป็นปีก็ยังขายไม่ได้ ความคาดหวังที่ผิดๆจะทำให้คุณตัดสินใจผิดพลาดได้นะครับ

ความคิดอีกอย่างก็คือการเลิกจัดซื้อมากเกินไป หากคุณมีเงินหมุนไม่พอ การจัดซื้อมากเกินไปเพื่อให้ได้ในต้นทุนที่ถูกลงอาจจะไม่ใช่ความคิดที่ดีนะ อย่างไรก็ตามหากคุณยังยืนยันที่จะต้องได้ต้นทุนในราคานี้จริงๆ คุณก็ควรที่จะหาหุ้นส่วนร่วมซื้อสินค้า เช่นการเข้าไปคุยกับร้านค้าคู่แข่งที่คุณรู้จัก ถ้าเราอยากประหยัดต้นทุนเราอย่าอยู่เฉยๆ อย่าขี้อาย 

ในส่วนที่ผมแนะนำให้ทุกคนอ่านบทความของผมเรื่อง การบริหารสินค้าคงคลัง และ วิธีลดภาระจากการสต๊อกมากเกินไป ที่จะช่วยให้คุณเปลี่ยนแปลงวิธีบริหารสร้างกำไรได้นะครับ

#4 การจัดซื้อจำนวนมาก และการประหยัดต่อขนาด

ผมได้อธิบายไปเบื้องต้นแล้วว่ายิ่งเราซื้อสินค้าเยอะ เราก็ยิ่งได้ส่วนลดเยอะ ทำให้เราสามารถประหยัดต้นทุนได้

ตรงกันข้ามกับข้อที่แล้วที่เราสต๊อกสินค้ามากเกินไปจนไม่มีเงินหมุน ในกรณีนี้หากคุณมีสายป่านยาว มีเงินหมุนเยอะ คุณก็อาจจะเลือกลงทุนเพื่อจัดซื้อจำนวนมาก ลดค่าใช้จ่ายในระยะยาว การประหยัดต่อขนาดมาได้ในหลายรูปแบบ เช่นการประหยัดต้นทุนสินค้าเบื้องต้น การประหยัดเวลาจัดซื้อหลายๆรอบ การประหยัดค่ารถค่าขนส่ง หรือแม้แต่การประหยัดค่าจัดเก็บสินค้าต่อชิ้น เพราะเรามีงานให้พนักงานเฝ้าโกดังทำมากขึ้น

กลยุทธ์นี้เป็นกลยุทธ์ของคนที่มีสายป่านยาว (อย่าลืมว่ามีทุนเยอะ มีเงินหมุน ไม่ได้แปลว่าธุรกิจกำไรดี) แต่ถึงแม้ว่าคุณจะเป็นคนที่มีเงินเยอะ คุณก็ไม่ควรจัดซื้อจำนวนมากโดยใช่เหตุ เบื้องต้นเลยก็คือคุณต้องมั่นใจก่อนว่าสินค้านี้เป็นสินค้าที่คุณสามารถขายได้ สามารถระบายออกได้ก่อนที่สินค้าจะเสื่อมสภาพ ตกเทรนด์ หรือโดนพนักงานขโมย

4 ทักษะที่ผู้บริหารต้องมีเพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจ

ส่วนนี้เป็นส่วนที่ผมคิดว่าจำเป็นสำหรับผู้บริหารทุกคน แต่ไม่ค่อยมีใครสอนเวลาคนบอกว่าอยากเพิ่มกำไร ลดต้นทุน การบริหารธุรกิจไม่ใช่แค่กดปุ่มในคอมพิวเตอร์ที่คุณสามารถปรับอะไรก็ทำได้เลย ทุกอย่างขึ้นอยู่กับทักษะผู้บริหารด้วย หากผู้บริหารไม่มีทักษะเหล่านี้ กลยุทธ์เทคนิคหรือข้อแนะนำต่างๆที่ผมเขียนไว้ก็จะถูกนำไปใช้ได้ยาก

ผู้บริหารต้องเรียนรู้ทักษะเหล่านี้เพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจนะครับ

#1 การเจรจาต่อรองธุรกิจ

การเจรจาต่อรองเป็นทักษะที่ใช้ได้กับทั้งผู้จำหน่ายสินค้าและลูกค้าของคุณ ซึ่งก็หมายความว่าคุณจะใช้การเจรจาต่อรองธุรกิจเพื่อเพิ่มยอดขายและลดค่าใช้จ่ายได้พร้อมกัน

พื้นฐานของการเจรจาต่อรองธุรกิจก็คือการสร้างทางเลือกให้กับตัวเอง คนที่มีทางเลือกก็คือคนที่มีอำนาจการต่อรองสูง หมายความว่าหากคุณสามารถหาลูกค้าได้หลายคน มีซัพพลายเออร์หลายเจ้า คุณก็จะสามารถต่อรองราคาได้ง่ายขึ้น

สำหรับคนที่สนใจทักษะการเจรจาต่อรองธุรกิจเพื่อเพิ่มกำไรให้กับธุรกิจของคุณ สามารถศึกษาบทความเรื่อง การเจรจาต่อรองธุรกิจแบบละเอียด ของผมได้ครับ

#2 ทักษะการขายและการตลาด 

สำหรับคนที่เจอปัญหาถูกลูกค้าต่อราคาบ่อย ไม่สามารถขายสินค้าในราคาที่ทำกำไรเพียงพอได้ บางครั้งการกลับมาพิจารณาทักษะการขายและการตลาดเบื้องต้นก็เป็นสิ่งที่จำเป็น

สุดท้ายแล้วไม่ว่าจะเป็นเคล็ดลับ เทคนิค หรือวิธีการเพิ่มกำไรแก้การขาดทุนแบบไหน หากพื้นฐานการทำธุรกิจของคุณยังไม่แน่นพอ คุณก็คงไม่สามารถนำเคล็ดลับเทคนิคพวกนี้มาใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

สำหรับคนที่เพิ่งเริ่มต้น ผมแนะนำให้เริ่มศึกษาทีละอย่างก่อน เริ่มจากการพัฒนาทักษะการขายการตลาดในช่องทางที่สำคัญที่สุดของคุณก่อน ทำสิ่งที่ใกล้ตัวให้ดีแล้วค่อยศึกษาให้กว้างมากขึ้น เรียนรู้ทักษะใหม่ๆที่คู่แข่งของคุณจะตามไม่ทัน

#3 ทักษะการพยากรณ์ยอดขาย

ผมคิดว่าปัญหาหลายอย่างในการทำธุรกิจคงจะหมดไปถ้าคุณรู้ว่าอนาคตจะเกิดอะไรขึ้นบ้าง ซึ่งแน่นอนว่าไม่มีใครคาดเดาอนาคตได้แต่หลายคนชอบลืมไปว่าเราสามารถพยากรณ์ผลประกอบการบริษัทล่วงหน้าผ่านข้อมูลในอดีตได้

ธุรกิจส่วนมาก โดยเฉพาะธุรกิจที่เปิดมานานแล้ว ย่อมรู้จักพฤติกรรมลูกค้าและเทรนด์ในอุตสาหกรรมตัวเองดี ส่วนมากจะรู้ว่าเดือนไหนขายดี เดือนไหนขายไม่ดี และสินค้าแบบไหนที่เป็นที่นิยม

ในส่วนนี้เราต้องหาวิธีแปลงข้อมูลจากประสบการณ์ที่อยู่ในหัวของเราออกมาเป็นตัวเลขที่ใช้งานได้จริง ซึ่งสามารถเริ่มได้ง่ายๆผ่านการจดตัวเลขออกมาในแต่ละเดือน ว่าคุณคิดว่าสินค้าแต่ละชนิดจะสามารถขายได้มากแค่ไหน เพียงแค่นี้คุณก็จะมีตัวเลขให้เปรียบเทียบเวลาคุณอยากจัดซื้อเกินจำนวน หรือทำโปรโมชั่นลดราคามากเกินไปแล้ว

ในส่วนนี้ใครที่ยังไม่ถนัดเรื่องการพยากรณ์ยอดขาย ผมแนะนำให้อ่านบทความเรื่อง การพยากรณ์ยอดขายแบบง่ายๆ ของผมนะครับ

#4 ทักษะการบริหารการปฏิบัติการและบริหารสินค้าคงคลัง 

ทักษะสุดท้ายที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของคุณก็คือการบริหารการปฏิบัติการ (operations management) 

‘ประสิทธิภาพ’ เป็นหัวใจหลักของกำไร หาก เราทำงานได้มากขึ้น ใช้ทรัพยากรน้อยลง กำไรก็จะเป็นผลลัพธ์ที่ตามมาอย่างแน่นอน ยิ่งคุณเป็นธุรกิจที่มีกำไรน้อย คุณก็ต้องยิ่งให้ความสำคัญกับประสิทธิภาพการทำงาน 

หลักการและทฤษฎีเกี่ยวกับการบริหารการปฏิบัติการมีอยู่เยอะ ซึ่งผมแนะนำให้ทุกคนที่สนใจลองศึกษาบทความด้านล่างของผม (มีอยู่เยอะมาก) แต่ในเบื้องต้น สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือวินัย

Kaizen คืออะไร? กลยุทธ์การใช้งาน และ ตัวอย่างที่ทำตามได้จริง
5ส คืออะไร? (ประวัติ ตัวอย่าง กลยุทธ์ ประโยชน์ การใช้งาน) [5S]
Lean คืออะไร – 7 ความสูญเปล่า และ หลักการ 5 ประการ

วินัยเป็นสิ่งที่จะช่วยให้คุณสามารถทำตามกฎเกณฑ์ต่างๆได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น ตามหลักการ ‘พัฒนาอย่างต่อเนื่อง’ แบบบริษัทยักษ์ใหญ่พันล้านที่ญี่ปุ่น

สุดท้ายนี้เกี่ยวกับกำไรและขาดทุน

บทความนี้แต่เดิมผมตั้งใจว่าจะเขียนเป็นบทความสั้นๆ หวังไว้ว่าความรู้ในบทความจะใช้ช่วยกอบกู้สถานการณ์ขาดทุนของธุรกิจหลายๆที่ได้ แต่พอผมใช้เวลาสรุปข้อมูลจริงๆแล้ว กลับรู้สึกว่าปัจจัยที่ใช้เพื่อทำให้ธุรกิจมีกำไร แก้ปัญหาขาดทุน นั้นต้องพิจารณาจากหลายอย่าง หลายมุมมองเลย ไม่สามารถเหมารวมกลยุทธ์เดียวใช้ได้กับทุกที่ได้

เพราะฉะนั้นสิ่งที่ผมอยากจะทิ้งท้ายในบทความนี้ก็คือ หากคุณเป็นธุรกิจที่ประสบปัญหาขาดทุน หรือกำไรน้อย คุณจำเป็นที่จะต้องออกจาก comfort zone ของตัวเอง หันมามองมุมต่างๆของธุรกิจของคุณ (ที่น่าจะเป็นตัวถ่วงให้คุณไม่มีกำไร) แล้วเริ่มใส่ใจกับการแก้ปัญหาวันละเล็กวันละน้อย เราค่อยๆแก้ปัญหาอย่างตั้งใจทุกวัน เดี๋ยวกำไรก็จะมาเองครับ

Tiger

เจ้าของบล็อก TWN ชอบอ่านหนังสือและข่าวธุรกิจทั้งในไทยและนอกประเทศ พออ่านมาเยอะก็เลยอยากนำความรู้มาแบ่งปัน

บทความล่าสุด